อะคุตะงาวะ มูราคามิ
Home Literature Akutagawa Murakami

Akutagawa Murakami

by Editor
159 views

Akutagawa Murakami อะคุตะงาวะ กับ มูราคามิ เป็นสองนักเขียนญี่ปุ่น ที่มีผลงาน และประวัติ ที่น่าสนใจ ริวโนะซุเกะ อะคุตะงาวะ คือหนึ่งนักเขียนที่มีชื่อเสียงตั้งแต่เริ่มเขียนงานตั้งแต่ในวัยหนุ่ม เขาเป็นนักเขียนที่เป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างคนรุ่นใหม่กับคุนรุ่นเก่า โดยเฉพาะ ฮารูกิ มูราคามิ ซึ่งเป็นนักเขียนร่วมสมัย อิทธิพลของอะคุตะงาวะดำรงอยู่แม้เขาจะจากโลกนี้ไปเร็วกว่าที่ควร

อย่างที่เราทราบกันดีว่าริวโนะซุเกะ อะคุตะงาวะ เป็นนักเขียนที่เสียชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย ในวัยเพียง 35 ปี ความตายของเขาเป็นเหตุการณ์ที่คนในแวดวงวรรณกรรมญี่ปุ่นและโลกให้ความสนใจ เขาวางแผนการตายมาเนิ่นนาน เขียนจดหมายลาตายให้เพื่อนเก่า และถูกนำไปอ่านในงานศพของอะคุตะงาวะ

ประวัติชีวิตของ อะคุตะงาวะ

อะคุตะงาวะเกิดเมื่อวันที่ 1 มีนาคมปี ค.ศ. 1892 ที่ตำบล โกบาชิ (kyobashi) ในเมืองโตเกียว เป็นลูกชายคนเดียวของพี่น้อง 3 คน เรียวโนะสุเกะมีความหมายว่า ลูกชายของมังกร เหตุทีได้ชื่อนี้เพราะเขาเกิดในปีมังกร เดือนมังกร วันและชั่วโมงของมังกร

แม่ของเรียวโนะสุเกะป่วยด้วยอาการทางประสาท จนเสียชีวิต ในวัยเด็กเขาจึงได้รับการอุปถัมภ์จากผู้เป็นลุง และที่นั่นเองที่ทำให้เขาสนใจวรรณกรรมคลาสิกของจีนในยุคต้นๆ สมัยเรียนมัธยมเขามีเพื่อนร่วมชั้นอย่าง kan kikuchi ,kume masao ซึ่งต่อมาเพื่อนๆ ในกลุ่มของเขากลายเป็นนักประพันธ์กันทั้งหมด

เรียวโนะสุเกะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโตเกียว อิมพีเรียลในปี ค.ศ. 1913 ด้านวรรณคดีอังกฤษเมื่อสำเร็จการศึกษาเขามีผลการเรียนในระดับที่ดีมากและทำงานเป็นครูสอนภาษาอังกฤษหลังจากนั้นก็ลาออกเพื่อเริ่มต้นทำงานเขียนอย่างจริงจัง เรียวโนะสุเกะแต่งงานในปี 1918 มีลูก 3 คนซึ่งต่อมาคนโตกลายมาเป็นนักแสดง ส่วนคนที่สองเสียชีวิตด้วยการถูกฆาตรกรรม และคนสุดท้องเป็นนักแต่งเพลง

เรียวโนะสุเกะถือว่าเป็นนักเขียนสมัยโทโช (ค.ศ. 1912 – 1926) กล่าวกันว่าการเสียชีวิตของเขาก็เปรียบดั่งการสิ้นสุดวรรณกรรมสมัยโทโชไปด้วย การปลิดชีวิตตัวเองด้วยสาเหตุเพราะหวาดหวั่นเหนื่อยหน่ายต่อมามีชีวิตอยู่ของเขานั้น สร้างความตื่นตะลึงให้กับปัญญาชนญี่ปุ่นสมัยนั้นเป็นอันมาก กล่าวกันว่า การฆ่าตัวตายของเรียวโนะสุเกะนั้น ไม่ใช่การฆ่าตัวตายแบบบ้าคลั่งอย่างยูคิโอะ มิชิมาในปี ค.ศ. 1970 ก่อนที่เรียวโนะสุเกะจะเสียชีวิต เขาได้เขียนคำว่า Vague Uneasiness เอาไว้ในวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1927 

เพราะในยุคสมัยที่เรียวโนะสุเกะมีลมหายใจอยู่นั้น ญี่ปุ่นเกิดเหตุการณ์วุ่นวายมากมาย เช่นเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ. 1914 และในปีถัดมาญี่ปุ่นกดดันทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับจีน ส่งกองทัพเข้าไปในไซบีเรีย และถือเป็นยุคของการรุกรานลัทธิจักรวรรดินิยม ภายในญี่ปุ่นเองก็เกิดเหตุการณ์ไม่สงบ กรรมกรก่อความวุ่นวาย มีจลาจลย่อยๆ อยู่ทั่วไปหมด 

บรรยากาศในมหาวิทยาลัยครั้งที่เรียวโนสุเกะร่ำเรียนอยู่นั้นก็มีการต่อต้านลัทธิการใช้กำลังทางทหารอย่างกว้างขวาง มีการรวมตัวกันตั้งสมาพันธ์กรรมกรและกสิกร และยังมีพรรคคอมมิวนิสต์ที่เป็นพรรคการเมืองใต้ดินมาก่อนก็รวมตัวตั้งเป็นพรรคโดยเปิดเผย ในปี ค.ศ. 1922 และมีการออกหนังสือ ธงแดง ในปีถัดมา หลังจากนั้นไม่นาน นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นในสมัยนั้นก็ถูกฆาตรกรรมอย่างลึกลับ อีกทั้งภัยพิบัติอย่างแผ่นดินไหวก็กระหน่ำซัดเข้ามาทางแถบโตเกียว มีคนตายและเมืองเสียหายยับเยิน

กระทั่งปี ค.ศ. 1925 มีการออกกฎหมายเพื่อทรงไว้ซึ่งความมั่นคงในการปกครอง คนญี่ปุ่นถือกันว่ากฎหมายฉบับนี้บีบบังคับเพื่อปิดกั้นเสรีภาพทางด้านความคิด เป็นยุคสมัยที่ปัญญาชนชาวอาทิตย์อุทัยต้องสงบปากสงบคำ ต่างๆ สภาพแวดล้อมในยุคสมัยเหล่านี้ ส่งผลให้เรียวโนะสุเกะ อะคุตะงาวะผลิตผลงานอันเลื่องชื่อ ที่วันนี้ เมื่อเราหยิบขึ้นมาอ่านแล้ว เหตุการณ์ต่างๆ ก็ไม่ล้าสมัยไปเลย

ในปีค.ศ. 1935 หลังการเสียชีวิตของเรียวโนะสุเกะ เพื่อนของเขา kan kikuchi ได้ก่อตั้งรางวัลวรรณกรรมสำหรับนักเขียนหน้าใหม่เพื่อเป็นเกียรติให้แก่เขา ในชื่อรางวัล Akutagawa Prize 

ผลงานเรื่องขัปปะ เล่มนี้เขาเขียนขึ้นก่อนจะฆ่าตัวตายเพียงสี่เดือน ในบทนำของเรื่องเล่าถึงคนไข้หมายเลข 23 ในโรงพยาบาลโรคจิตที่ถูกกำหนดให้มีอายุเกิน 30 ปี และมักจะเล่าเรื่องซ้ำๆให้ใครต่อใครฟัง เรื่องราวที่หลอมรวมจนกลายเป็นขัปปะคือความจริงที่ห้อมล้อมตัวนักเขียนผู้นี้อยู่ 

อย่างเช่นความเกรงกลัวในกรรมพันธุ์ ภาระหนักของการมีครอบครัวใหญ่ เช่นเขาได้สมมติตัวขัปปะที่ชื่อ ทคขึ้นมาให้ปฏิเสธระบบครอบครัวเพราะถือเป็นเรื่องทุกข์ทรมานและท้ายที่สุด ทค ก็ฆ่าตัวตายเพื่อแยกชีวิตออกจากการทำงานศิลปะ

เรื่องสั้นขนาดยาว ขัปปะนี้ คล้ายจะเป็นวรรณกรรมเชิงเสียดสีสังคม ที่กล่าวถึงความสิ้นหวังไม่คาดหวังกับสิ่งต่างๆที่เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ และคล้ายกับภาวะมืดบอดของใครคนใดคนหนึ่งที่ไม่อาจก้าวผ่านความมืดดำของปัญหาจนมาถึงปลายของอุโมงค์ได้..

อะคุตะงาวะ โด่งดังจากเรื่องสั้น Rashomon และ Yabuno Naka (In a Grove) โดยเฉพาะราโชมอนนั้น ได้ถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์และภาพยนตร์ได้รับรางวัล Golden Lion ในปี ค.ศ. 1951 จากยอดผู้กำกับชาวญี่ปุ่น Akira Kurosawa และยังได้รางวัลจากเวนิส ฟิล์ม เฟสติวัล รวมไปถึงรางวัลภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมจากออสการ์ในปีเดียวกัน

อะคุตะงาวะได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาเรื่องสั้นญี่ปุ่น” มีการจัดตั้งรางวัลอะคุตะงาวะ มอบให้กับนักเขียนหน้าใหม่ของญี่ปุ่น

ความสำคัญของสองนักเขียน Akutagawa-Murakami เป็นไม่ต่างจากไอคอนของนักเขียน ซึ่งส่งต่อไปสู่คนอ่านรุ่นใหม่

อ่านเพิ่มเติม: ขัปปะฉบับทดลองอ่าน>>

ขัปปะ
ขัปปะ ฉบับภาษาไทย
อะคุตะงาวะ
Ryūnosuke Akutagawa

ผลงานสำคัญ

ผลงานที่สำคัญของอะคุตะงาวะ ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษหลายสำนวน แต่เล่มที่สำคัญคือ “Rashomon and Seventeen Other Stories” แปลโดย Jay Rubin ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมญี่ปุ่น อดีตศาสตราจารย์จากมหาลัยฮาวาร์ด เล่มนี้จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เพนกวินในปี ค.ศ. 2006 นอกจากเจย์ รูบิน จะแปลงานของอะคุตะงาวะแล้ว เขายังแปลผลงานบางเรื่องของฮารุกิ มูราคามิ ด้วย เพราะที่ผ่านมางานแปลของอะคุตะงาวะมาเป็นภาษาอังกฤษเป็นเรื่องยากที่จะแปลออกมา ผลงานแปลงอะคุตะงาวะในเล่มนี้จึงเป็นความทะเยอทะยานของรูบินที่อยากจะทำให้สำเร็จ

Yasuyoshi Sekiguchi ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมของญี่ปุ่น จากมหาวิทยาลัยวาเซดะ ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับอะคุตะงาวะมากมายได้กล่าวว่า งานของอะคุตะงาวะไร้กาลเวลา เพราะงานเขียนกล่าวถึงความรู้สึกผิดและความรัก ความขัดแย้งจากภายใน ความไม่แน่นอน และสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล นอกจากนั้นยังเขียนถึงพระเจ้ากับปีศาจ งานของอะคุตะงาวะเข้าถึงผู้คนเพราะมีความกระชับ น่าสนใจ และง่ายที่จะทำความเข้าใจ งานของอะคุตะงาวะเป็นที่นิยมอยู่แล้ว หนังเรื่อง “ราโชมอน” ยังช่วยผลักดันให้งานของอะคุตะงาวะไปได้ไกลมากขึ้น จนได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ

ผลงานของอะคุตะงาวะไม่ได้ส่งผลสะเทือนเพียงผู้อ่านเฉพาะชาวญี่ปุ่นเท่านั้น แต่นักอ่านชาวต่างชาติก็รับรู้ถึงพลังงานของเขาได้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ‘Kumo no Ito’ (‘The Spider Thread’) หรือ ‘ราโชมอน’ เป็นผลงานที่แพร่หลายไปทั่วโลก เนื่องด้วยผู้คนต่างสนใจและอยู่ในห้วงเวลาที่วิตกกังวลต่ออนาคตที่ไม่แน่นอน ไม่ต่างจากยุคที่เขาต้องประสบ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอุบัติภัยทางธรรมชาติ แผ่นดินไหว สึนามิ ภาวะเศรษฐกิจซบเซา โรคร้าย อุบัติขึ้นพร้อมกันมากมาย

ในผลงานเรื่อง “Haguruma” (Spinning Gears) ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1927 ประเด็นของเรื่องเริ่มต้นที่ตัวละครหลักของหนังสือชื่อว่า I เป็นนักประพันธ์ที่มีชื่อเสียงแต่มีจิตใจอ่อนไหว มีความรู้ทางด้านวรรณคดีตะวันตกเป็นอย่างมาก รวมถึงนิยายเรื่อง “อาชญากรรมและการลงโทษ” ของ Fyodor Dostoyevsky (ค.ศ. 1821-81) เหตุการณ์ในเรื่องนี้ “ผม” อาศัยอยู่ในโรงแรมที่กรุงโตเกียวเพื่อเขียนเรื่องราว “ผม” เดินไปรอบเมืองเขากำลังทุกข์ทรมานจากการนอนไม่หลับ และ พยายามหาทางออก

มูราคามิ

Haruki Murakami – ฮารุกิ มูราคามิ

ฮารุกิ มูราคามิอ่านงานอะคุตะงาวะตั้งแต่เขาเริ่มเข้าเรียนหนังสือ ในสายตาของมูราคามิ อะคุตะงาวะมีความโดดเด่น มีสไตล์ที่ยอดเยี่ยม การใช้ภาษาญี่ปุ่นที่สลักสลวย เขาไม่เคยเบื่อที่จะอ่านงานของอะคุตะงาวะเลย อะคุตะงาวะเกิดมาเพื่อสร้างผลงานเรื่องสั้นที่ยอดเยี่ยม และประสบความสำเร็จมากกว่านักเขียนคนอื่น ผลงานของเขาจึงแผ้วถางทางให้กับนักเขียนรุ่นหลัง

มูราคามิ กล่าวสรรเสริญถึง “Spinning Gears” ในบทกล่าวนำของหนังสือ “Rashomon and Seveteen Other Stories” ว่าเป็นผลงานที่มีความเฉียบคม น่าสะพรึงกลัว และทรงพลังซึ่งมันจะตรึงตราอยู่ในใจผู้อ่านตลอดไป ยูมิโกะ คันดะ ศาสตราจารย์ จาก Toyo Gakuen University กรุงโตเกียว เสริมว่า ใน “Spinning Gears” การพรรณาถึงโคมไฟสีแดง และผู้หญิงในชุดแดง เป็นสัญลักษณ์สำคัญของความกลัว อาจารย์ยูมิโกะยังคาดเดาด้วยว่าการที่มูราคามิเลือกปกนิยายเรื่อง “Norwegian Wood” ในการพิมพ์ครั้งแรกด้วยสีแดง นั้นหมายถึง “เลือด” แล้วสีแดงของรถฮอนดา N360 ในนิยายยังหมายถึงสัญลักษณ์ที่เกี่ยวเนื่องด้วยการฆ่าตัวตาย อาจารย์ยูมิโกะยังชี้ให้เห็นถึงความคล้ายคลึงกันระหว่างเรื่อง “1Q84” ของมูราคามิ ที่จัดพิมพ์ในปี ค.ศ. 2009-2010 กับนิยายเรื่อง “ขัปปะ” (Kappa) ของอะคุตะงาวะในปี 1827

ใน “1Q84” เล่มสาม เมื่อพระเอกชื่อ Tengo ถาม Aomame นางเอก เกี่ยวกับสะพานเชื่อมระหว่างโลกที่แตกต่างและโลกแห่งความเป็นจริง

“คุณรู้เส้นทางออกจากโลกนี้หรือเปล่า” (Tengo ถาม)“เราจะใช้เส้นทางที่พาฉันมาสู่โลกใบนี้ เพื่อที่เราจะได้ออกไป นั่นเป็นทางออกเดียวที่ฉันสามารถคิดได้ “(Aomame ตอบ)

ในทำนองเดียวกันกับนิยายเรื่อง “ขัปปะ” อาจารย์ยูมิโกะระบุว่า หากลองสับตัวละครกันในขัปปะ ตัว “ข้าพเจ้า” กับ “ขัปปะชราเป่าขลุ่ย” ทั้งสองสนทนากันถึงทางออกจากโลกของขัปปะ กลับไปยังโลกมนุษย์ ขัปะชรายังถาม “ข้าพเจ้า” ให้แน่ใจด้วยว่าถ้าตัดสินใจออกไปสู่โลกมนุษย์แล้ว เขาจะไม่อาจหวนคืนสู่โลกขัปปะได้

“แต่ผมน่ะ ตกลงมาในประเทศนี้โดยบังเอิญจริงๆ ช่วยบอกทางให้ผมออกไปจากที่นี่หน่อยได้ไหม” (ข้าพเจ้าถาม)“ทางออกน่ะมีทางเดียวเท่านั้นละ” (ขัปปะเฒ่าที่กลับกลายเป็นเด็กตอบ)“ทางไหน”“ก็ทางที่เข้ามาน่ะซี”พอได้ยินคำตอบ ข้าพเจ้าก็ขนลุกชัน

“ขัปปะ”

อาจารย์ยูมิโกะยังคงกล่าวถึงความสัมพันธ์ที่คล้ายกันของนิยายทั้งสองเรื่องว่า มีอิทธิพลที่มาจากปัญหาของการดำรงชีวิตในเมือง การสูญเสียอัตลักษณ์ การสูญเสียคุณค่าในตัวตนของมนุษย์สำหรับโลกสมัยใหม่ และอธิบายถึงตัวละครที่พยายามหลบหนีจากสิ่งเหล่านั้นไปยังอีกที่

ตัวละคร “ข้าพเจ้า” ในขัปปะ ของอะคุตะงาวะพยายามจะหนีโลกที่ทำให้เขารู้สึกอึดอัด ซึ่งมันเกิดจากความจริงที่ว่าอะคุตะงาวะประสบกับปัญหาสุขภาพ เขาทุกข์ทนกับโรคนอนไม่หลับมาอย่างยาวนาน สิ่งเหล่านี้กัดกินตัวอะคุตะงาวะวันแล้ววันเล่า ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่า ซึ่งถ้าเทียบกับนวนิยายยุคใหม่ มันเป็นการแสวงหาตัวตน และกลายมาเป็นนิยายกระแสหลักมาตั้งแต่ 1900s ซึ่งเรียกกันว่า “I-novel”

Akutagawa Murakami

อาการป่วยของอะคุตะงาวะทำให้ชีวิตของเขาแย่ลง เขายุติการทำงานในฐานะนักข่าวของหนังสือพิมพ์ Osaka Mainichi Shimbun ในปี ค.ศ. 1921

นอกจากปัญหาสุขภาพของอะคุตะงาวะแล้ว. ปัญหาครอบครัวมากมายของเขาเช่นน้องเขยฆ่าตัวตายเพื่อหนีความผิดในคดีความ เขาต้องแบกภาระเลี้ยงดูน้องสาวโดยไม่ทันตั้งตัว ทั้งที่สภาพตัวเขาก็แย่อยู่แล้ว กลายเป็นแรงบีบคั้นที่เพิ่มอารมณ์ความหนักหน่วงขึ้นไปอีกระดับ

วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1927 อะคุตะงาวะกินยานอนหลับที่ร้ายแรง เขาศึกษาฤทธิ์ยามาอย่างละเอียด วางแผนฆ่าตัวตายอย่างเป็นขั้นตอน ข้างกายของเขาทิ้งพระคัมภีร์และบันทึกถึงเพื่อนเก่า อธิบายถึงการฆ่าตัวตาย ว่ามาจากความกังวลใจในอนาคตที่คลุมเครือ ต่อมาได้มีการค้นพบผลงานหลังจากเสียชีวิตของเขาเขียนเกี่ยวกับพระเยซูที่ชื่อว่า “Zoku Saiho no Hito” (Sequel to the Man of the West)

Sekiguchi จาก Tsuru University อธิบายว่าอะคุตะงาวะได้อ่านพระคัมภีร์ตั้งแต่เรียนมัธยม เขายังตั้งข้อสังเกตจากบทสุดท้ายของเรื่อง Sequel to the Man of the West ที่อะคุตะงาวะเขียนเอาไว้ว่า

“We cannot but seek Christ who burns our hearts, as travelers from Emmaus did.”

ทุกวันนี้ยังเป็นเรื่องที่ลึกลับมาโดยตลอด อะคุตะงาวะเชื่อในเรื่องการฟื้ืนชีพของพระเยซู ส่วนตัวเขาตัดสินใจฆ่าตัวตาย ความลึกลับนี้ดึงดูดให้ผู้คนกลับไปศึกษางานเขียนและชีวิตของเขา

แม้ว่าการฆ่าตัวตาย และผลงานบางชิ้นจะส่งผลให้ภาพลักษณ์ของเขาดูเป็นคนป่วยโรคซึมเศร้า แต่ก็ใช่ว่าจะมีแต่มุมที่มืดมนเสมอไป เขายังมีภาพของความโรแมนติก ซึ่งพบได้จากจดหมายที่เขียนถึงคนรัก จนกลายมาเป็นภรรยา เห็นได้จากประโยคหนึ่งของจดหมายเขียนเอาไว้ว่า

“คุณช่างน่ารักเสียจริง ถ้าหากคุณเป็นของหวาน ผมอยากจะกินคุณตั้งแต่หัวลงมา เชื่อสิผมไม่ได้โกหก”

1 comment

ความโหยหาของอิคารัส | โดย Kireina Kura | spikewrite.com 13/07/2024 - 14:51

[…] คำเตือน : มีเนื้อหาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายโปรดสังเกตสัญญะของดวงอาทิตย์คุณอย่าให้พวกเขาต้องกลายเป็นดาวดับแสงโปรดอย่าใช้ปีกนั้นโบยบินโปรดอย่าเป็นดาวดับแสงหรือดาวหางโปรดเป็นดวงจันทร์ทอแสงสีเงินโคจรอยู่รอบกันไม่จากไปไหน […]

Reply

Leave a Comment

You may also like

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More