Preface
Finding Vivian Maier ในบทความนี้ แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกบทวิเคราะห์หนังสารคดีเกี่ยวกับการค้นพบฟิล์มถ่ายภาพแนว street photo ที่ยังไม่ได้ล้างของ วิเวียน ไมเออร์ โดย John Maloof ที่ร่วมกำกับ โดย Charlie Siskel เป็นการสัมภาษณ์คนที่เคยพบ วิเวียน ไมเออร์ ในอดีต ส่วนที่สองของบทความ ตามหา วิเวียน ไมเออร์ นำเสนอชีวิตและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ วิเวียน ไมเออร์ เรื่องราวของเธอแปลกประหลาดน่าพิศวง เธอเป็นผู้หญิงที่มีแรงกระตุ้น มีความขัดแย้งในตัวเอง เธอไม่ประนีประนอมแต่ขี้เล่น อยากรู้อยากเห็นอย่างไม่รู้จบ มีความเป็นส่วนตัวอย่างเข้มข้น แม้จะเป็นผู้ดูแลเด็ก แต่เธอก็เป็นคนใจร้อน โหดร้าย และขี้รำคาญ เธอตระเวนไปตามถนนสกปรกของนิวยอร์กและชิคาโก ในวันที่น่าเบื่อหน่าย และจบวันด้วยภาพถ่ายที่ดูเหมือนจะไม่สิ้นสุด
สารบัญ
ภาค 1 : Finding Vivian Maier
ภาค 2 : Vivian Maier Life
- Vivian Maier Life
- About Vivian Maier : เกี่ยวกับ วิเวียน ไมเยอร์
- Early Years
- Later Years
- ชีวิตส่วนตัว
- About Jeanne Bertrand
ภาค 1 : Finding Vivian Maier
บางสิ่งที่คุณต้องทำไม่ใช่เพื่ออยู่
เมื่อจอห์น มาลูฟ (John Maloof) ตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ นักประวัติศาสตร์สมัครเล่น และนักสะสมของเก่า เข้าร่วมประมูลกล่องใส่อุปกรณ์ถ่ายภาพและเศษซากส่วนตัวที่ชานเมืองชิคาโกในปี ค.ศ. 2007 เขาตระหนักได้อย่างรวดเร็วว่าบังเอิญไปค้นพบช่างภาพสตรีทที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อน การถ่ายภาพแบบสแนปช็อตที่ทรงพลัง เขาพบชื่อของ วิเวียน ไมเออร์ บนเศษกระดาษท่ามกลางฟิล์มเนกาทีฟ ภาพพิมพ์ และม้วนฟิล์มที่ถ่ายแล้วแต่ยังไม่ได้ล้าง แต่เขากลับไม่พบบันทึกประวัติของวิเวียน เขาติดตามกล่องที่เหลือจากโรงเก็บของที่ถูกทิ้งร้าง รวบรวมคอลเลกชันหลายแสนเฟรมที่ถ่ายขึ้นในนิวยอร์ก, ชิคาโก, ฝรั่งเศส, อเมริกาใต้ และเอเชีย ระหว่างช่วงอายุ 1950 จนถึง 1970 สองปีหลังจากที่เขาซื้อกล่องแรก เขาค้นหาชื่อในกูเกิลอีกครั้ง และพบข่าวมรณกรรมที่ประกาศว่าวิเวียน ไมเออร์เสียชีวิตเมื่อสองสามวันก่อน ข้อความสั้นๆ นั้น มีข้อมูลเพียงพอที่มาลูฟ จะสรุปได้ว่า ไมเออร์ เคยทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็กในย่านชานเมืองชิคาโกมาก่อน
วิเวียน ไมเออร์ มีอาชีพแม่บ้านเลี้ยงเด็ก เธอเป็นคนธรรมดา ไม่ใช่ศิลปิน ไม่ใช่นักศึกษาศิลปะ ไม่เคยเรียนถ่ายภาพ ไม่เคยมีใครมองเห็นความสามารถอย่างอื่นของเธอ นอกจากการเป็นแม่นมคอยเลี้ยงดูเด็กๆ เธออาจจะเป็นคนแปลก ชอบเก็บตัว เป็นคนลึกลับ สวมเสื้อผ้าตัวใหญ่สวมหมวกปิดผม ไม่เคยเปิดเผยเรื่องส่วนตัว ใช้ชื่อปลอม มาลูฟเอ่ยขึ้นว่า “พี่เลี้ยงเด็กจะถ่ายรูปพวกนี้ไปทำไม” เรื่องราวธรรมดาของไมเออร์ ช่างภาพที่มีความทุ่มเทอย่างแรงกล้า มีวิสัยทัศน์ที่สร้างสรรค์ และมีทักษะในการถ่ายรูป ไม่ต่างไปจาก Robert Frank, Diane Arbus หรือ Garry Winogrand จึงไม่ได้รับการยอมรับ ในขณะที่เธอเลือกใช้ชีวิตเป็นเพียงแม่นมดูแลลูกๆ ของคนอื่น
ประเด็นของหนัง มาลูฟต้องการรู้ให้ได้ว่าเขาครอบครองฟิล์มนี้จากช่างภาพคนใด เพราะภาพถ่ายที่เขาประมูลมามีความงดงามเกินกว่าที่จะเป็นช่างภาพธรรมดาถ่ายเอาไว้ เมื่อเขายิ่งขุดค้นเข้าไปในชีวิตของวิเวียน เขายิ่งประหลาดใจ เพราะเธอเป็นมนุษย์ที่ต่างจากคนอื่น แน่นอนบางเบาะแสพบว่าเธอก็อยากจะเผยแพร่ผลงานของเธอ แต่มันก็มิได้มีอะไรแจ่มชัดนักว่า ในภาพยนตร์ งานบ้านเป็นงานที่มีความทะเยอทะยานทางศิลปะต่ำกว่างานถ่ายภาพ ราวกับว่าทั้งสองอย่างเข้ากันไม่ได้ แต่พวกเขาคิดว่า ช่างภาพแนวสตรีทมักถูกมองว่าเป็นเรื่องโรแมนติก ราวกับเป็นแสงแฟลนเนอร์ที่ลึกลับ ซึ่งจับภาพสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไม่เด่นชัด แต่การจับภาพนั้นเอาไว้ได้คือวินาทีประวัติศาสตร์
งานดูแลเด็ก เคยถูกผลักไสให้เป็นหน้าที่ของผู้หญิงชนชั้นแรงงาน ในสถานการณ์ที่ดีที่สุด เมื่อต้องอยู่ใกล้ชิดกับนายจ้างในขณะที่ยังเป็นลูกจ้าง พี่เลี้ยงจะต้องทำให้สมาชิกในครอบครัวไว้วางใจ เพื่อแลกกับตัวตนและความอิสระของตนเอง ความผูกพันกับคนที่เธอทำงานให้ แม้จะอยู่ภายใต้อิทธิพลนายจ้างก็ตาม ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด เธอสามารถทำบางอย่างง่ายๆ ทดแทนได้ เช่น การให้คำแนะนำ การอาบน้ำให้เด็กๆ เวลาอาหารเย็น และการจูบก่อนนอน เป็นงานที่ช่วยให้ชีวิตของเธอกับนายจ้างมีความสัมพันธ์ที่ดี
งานช่างภาพและพี่เลี้ยง ทำให้เกิดจินตนาการลึกลับที่มองไม่เห็น งานแม่บ้านเป็น “งานของผู้หญิง” มันถูกลดทอนคุณค่าลง และถูกละเลย ในขณะที่การแสวงหาของศิลปินชายในอดีต ถือเป็นพรสวรรค์ชั้นเลิศจากฟากฟ้า บางทีการเป็นพี่เลี้ยงอาจจะสมบูรณ์แบบขึ้นมาก็ได้ เมื่อการถ่ายภาพเป็นงานที่ไม่มีใครสังเกตเห็น บางทีสิ่งที่ทำให้ผู้คนจ้างเธอทำงานในฐานะพี่เลี้ยงเด็ก -ความตื่นตัวของเธอ “ความตื่นตัวต่อโศกนาฏกรรมของมนุษย์ ในช่วงเวลาแห่งความเอื้ออาทรและความหอมหวาน” ตามที่ช่างภาพสตรีทชาวอเมริกัน Joel Meyerowitz ว่าเอาไว้ในภาพยนตร์- สิ่งนั้นทำให้เธอเป็นศิลปินอย่างสมบูรณ์แบบ
ไม่ใช่เพียงภาพถ่าย เธอยังเก็บของมากมายเอาไว้ในห้อง จนเราเชื่อว่าอย่างน้อยเธอน่าจะมีอาการ Hoarders การเก็บของของเธอได้รับการพูดถึงบ่อยๆ จากนายจ้างที่เธอทำงานด้วย หนังไม่ได้พูดเพียงความสามารถอันน่ามหัศจรรย์ของเธอเพียงอย่างเดียว แต่เด็กที่เธอเลี้ยงมาให้สัมภาษณ์ว่าเธอมีด้านมืด โดยเฉพาะเด็กที่เธอเลี้ยงในช่วงหลังๆ ก่อปัญหาสภาพจิตให้พวกเขา นายจ้างคนสุดท้ายที่จ้างเธอไม่อยากรู้ว่าวิเวียนอัจฉริยะอย่างไร แต่อยากรู้ว่าเธอกำลังคิดอะไรอยู่ การค้นหาวิเวียนจึงไม่ใช่การรำพึงรำพันถึงความสามารถของเธอเพียงฟากเดียว แต่กลับค้นหาว่าเธอทำอย่างนี้เพื่ออะไร อะไรกันที่ผลักดันให้อัจฉริยะภาพต้องพบกับความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส และโดดเดี่ยวเพียงนี้ จนถึงบางครั้งเราไม่อาจเข้าถึงสิ่งที่เธอต้องการได้เลย รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างที่เธอมีกับผู้คนดูเหมือนจะต่ำกว่าปกติ ทว่าภาพถ่ายของเธอบนถนนกลับสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวา ทั้งเจาะลึกลงไปถึงอารมณ์ของตัวแบบ ซึ่งไม่ใช่ว่าช่างภาพทุกคนจะทำได้
คลังเอกสาร ฟิล์ม และการบันทึกเสียงของเธอ เผยให้เห็นถึงความหลงใหลในเรื่องราวอาชญากรรม และการข่มขืน การทำลายล้างในเมืองและความยากจน รวมถึงความไม่สงบทางการเมือง หนังสารคดีเรื่องนี้บอกเป็นนัยว่ามีบางอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่เธอสนใจ “ฉันบอกคุณแล้ว” เรื่องที่เปิดเผยก็คือ “ความโง่เขลาของมนุษยชาติ” “ความแปลกประหลาดของชีวิต ความไม่น่าดึงดูดของมนุษย์” เป็นหนึ่ง ในตัววิเวียน ที่ถูกอธิบายว่ามันเป็นอาการทางจิต
Finding Vivian Maier แสดงให้เห็นถึงเรื่องราวของผู้หญิงที่เต็มไปด้วยความยากลำบากอย่างตรงไปตรงมา แม้พวกเธอจะได้รับการยกย่องก็ตาม เรื่องราวทั้งหมดอาจจะไม่ได้เป็นไปตามแบบแผนของสังคม ในภาษาหนังอธิบายถึงความเจ็บป่วยทางจิต บาดแผล และการกดขี่ทางเพศ เป็นอาการทางพยาธิวิทยามากกว่าเป็นการตอบสนองต่อความท้าทายเชิงโครงสร้างหรือความพึงพอใจเพียงอย่างเดียว นักประวัติศาสตร์มักปฏิบัติต่อสตรีผู้มีชื่อเสียงในทางที่ไม่ดีนัก เช่น Yoko Ono, Marie Curie, Emily Dickinson และ Vivian Maier โดยตั้งข้อสังเกตว่าพวกเธอมีปัญหาทางจิตที่ต้องแก้ไข ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ว่า วิเวียน เป็นคนประหลาด เต็มไปด้วยแผล สิ่งที่เธอสนใจมีทั้งด้านมืดและด้านสว่าง เรื่องราวของเธอชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ ตัวเลือกบางอย่างของผู้หญิงบางคน เช่นการเป็นพี่เลี้ยงเพราะมันมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่าอรรถประโยชน์ทางอารมณ์
Janet Malcolm1 กล่าวเอาไว้ว่า “ตัวละครทุกตัวในชีวประวัติมีศักยภาพในการสร้างภาพย้อนกลับในตัวเอง” ลองวิเคราะห์ “การค้นหา วิเวียน ไมเออร์” ในทางกลับกัน: ไมเออร์ ท้าทายความคิดของปุถุชนว่าบุคคล ศิลปิน และโดยเฉพาะผู้หญิงควรเป็นอย่างไร เธอไม่ได้พยายามใช้ผลงานของเธอเพื่อปูทางไปสู่ทุนทางวัฒนธรรม หรือเศรษฐกิจ แต่ทำลงไปเพราะเป็นตัวเธอ เธอขัดสนแต่ไม่สนใจเรื่องเงิน เมื่อมาลอฟพยายามเจาะเข้าไปในบัญชีทรัพย์สินที่เธอมี เขาพบว่าเธอมีเงินหลายพันดอลลาร์ในเช็คประกันสังคมที่ยังไม่ได้ขึ้นเงิน เธอไม่ได้แต่งงานหรือมีลูก และเมื่อมีคนเรียกเธอว่านางไมเออร์ ผิด เธอก็จะตอบว่า “คุณไมเออร์ค่ะ ฉันภูมิใจ” ศิลปินหญิงอีกคนหนึ่งที่มักสั่งไม่ให้คนแปลกหน้าโทร. หา “Mrs. Stieglitz” แต่เป็น “Miss O’Keeffe” เธอเสียชีวิตก่อนที่จะล้างฟิล์มที่ถ่ายมาแล้วมากกว่าหนึ่งพันม้วน และไม่มีหลักฐานว่าเธอเคยพยายามที่จะติดต่อกับตัวแทนแสดงภาพ เพื่อแสดงงานหรือให้ตัวแทนจำหน่าย ทางเลือกของเธอเป็นผลจากบาดแผลทางอารมณ์ที่ยังไม่ถูกเปิดเผย มีการสันนิษฐานกันว่าชีวิตของเธอดำเนินไปโดยตอบสนองต่อความเจ็บปวด ชีวิตของเธอถูกดึงเข้าสู่ระบอบทุนนิยม และค่านิยมของชนชั้นนายทุนที่เธอหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อตอนที่ไมเออร์ยังเป็นเด็ก เธออาศัยอยู่ในช่วงเวลาสั้นๆ กับ Jeanne Bertrand ช่างภาพหญิงชื่อดังของชิคาโก ซึ่งอาจสอนให้ไมเออร์ถ่ายภาพในเวลานั้น เราไม่รู้ว่าจีนน์ได้สอนอะไรเธอบ้าง หรือบอกอะไรเกี่ยวกับการเป็นศิลปิน เราไม่รู้ว่าไมเออร์เติบโตมาอย่างไรในสิบปีที่ผ่านมา และอะไรที่เป็นอุปสรรค จีนน์ เบอร์ทรานด์เหมือนกับไมเออร์ คือไม่มีทั้งเงินและคอนเนคชั่น แต่เธอควบคุมได้ว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร มองอะไร และถ่ายรูปอะไร
บทสุดท้ายของ Finding Vivian Maier
ไมเออร์ ไม่ได้ปิดตัวเองเหมือน Henry Darger ศิลปินชาวชิคาโกอีกคนที่ได้รับการยกย่องหลังจากการตายของเขา ภาพถ่ายบนถนนในเมืองและชานเมืองของเธอ เป็นไปตามความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเมือง หลายปีที่ผ่านมาเธอพัฒนาทักษะภายในตัวเอง เธอเลือกงานพี่เลี้ยงไม่ใช่เพราะเธอรักเด็กเป็นพิเศษ แต่เพราะชีวิตของเธอทำให้เป็นแบบนั้น สิ่งที่ทำทำให้เธอมองเห็นคุณค่าเสรีภาพ เหนือสิ่งอื่นใดศิลปะและอาชีพของเธอมีความเหมือนกันมากกว่าที่เคยเป็นมา เธอเป็นคนนอกตลอดเวลา และเธอก็ชอบที่เป็นแบบนั้น เธอย้ายไปอยู่ท่ามกลางผู้คน แต่ไม่ได้เป็นพวกเดียวกับพวกเขา เธออยู่ใกล้แต่ไม่ผูกพัน เธอสามารถเดินออกไปได้เสมอ ในสารคดี เมื่อมาลอฟอธิบายว่า ไมเออร์ใช้เวลาช่วงอายุ 50-60 ปี เดินทางท่องเที่ยวและถ่ายภาพทั่วโลกเพียงลำพังได้อย่างไร เรื่องนี้ไม่ได้ทำให้เศร้าแม้แต่น้อย ดูเหมือนว่าในการเดินทางเหล่านั้น ไมเออร์เป็นอิสระอย่างที่สุด อิสระเท่าที่เธอเคยมีมา แม้จะเป็นวิธีที่ดูเห็นแก่ตัว แต่เธอก็ต้องทำ
เมื่อมาถึงตอนจบเราจะรู้สึกสะเทือนอารมณ์ไม่น้อย เพราะมันทำให้ไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าแท้จริงแล้วเธอเป็นใคร คิดอย่างไร หรือต้องการสิ่งใดกันแน่ หนังเพียงปะติดปะต่อเรื่องราวของเธอจากเรื่องเล่าของคนอื่น สิ่งที่เห็นอย่างแจ่มชัดที่สุดก็คือ ผลงานภาพถ่ายที่ยอดเยี่ยม ในฐานะที่เธอมีอาชีพที่บางคนอาจจะคิดว่ามันไร้ค่า เป็นเพียงอาชีพหนึ่งที่จะดำรงชีวิตในโลกใบนี้ได้ ทว่าเธอมิเคยอวดอ้างในสิ่งที่เธอทำลงไป งานที่เธอชอบจริงๆ งานที่เธอทำทุกวันอย่างมั่นคงไม่ลดหย่อน ถ่ายทุกสิ่งที่เห็น เก็บทุกอย่างที่เธอคิดว่าเธอรักมันอย่างไม่มีคำตอบ สิ่งนี้เองที่เราได้เรียนรู้จากเธอ แล้วสิ่งสำคัญที่สุดของงานถ่ายภาพที่เธอรัก มันไม่ใช่ผลตอบแทน ไม่มีชื่อเสียง ไม่มีเงิน ไม่มีชีวิตที่ดีกว่า มีเพียงแม่บ้านเลี้ยงเด็กไปตลอดชีวิต ทว่าเธอกลับยืนผงาดหลังความตาย ด้วยผลงานที่เธอไม่เคยให้ใครได้เห็น
การรับรู้เรื่องราวของไมเออร์ บางครั้งชี้ให้เห็นว่า เราควรรู้สึกเสียใจกับความโดดเดี่ยว ความโกรธเกรี้ยว ด้านมืด การดำรงอยู่อย่างอัตคัดขัดสนของเธอ เราจะทำให้เธอเป็นมรณสักขี หรือเราจะปล่อยให้เธอมีชีวิตที่ต้องการ? เธอมองเห็นตัวเองได้อย่างไร? เรารู้ว่าเธอกำลังดูอยู่เหมือนกัน—ภาพเหมือนตนเองมากมายพิสูจน์ให้เห็นแล้ว เธอมักจะถ่ายภาพท่าทางที่เหมือนสฟิงซ์ ภาพของเธอเงาสะท้อนในเงากระจกห้องน้ำ หน้าต่างรถ หน้าต่างร้านค้า เศษกระจก รวมถึงส่วนโค้งของอะลูมิเนียม เธอจับภาพเงาตัวเองที่กำลังคืบคลานข้ามกรอบ เพื่อสัมผัสทางเท้าที่ว่างเปล่า แมงดาทะเลตัวหนึ่ง สนามหญ้าที่บานสะพรั่ง รูปภาพเหล่านั้นช่วยให้เข้าใจใจว่า ในที่สุดไมเออร์ ไม่ปรากฏต่อสายอีกต่อไป ยกเว้นสำหรับเรา เธอจ้องมองดูตัวเองมาตลอดเวลา
DOCUMENTARY FILM: FINDING VIVIAN MAIER
ภาค 2 : Vivian Maier Life
Finding Vivian Maier Life
ถ้าหากเราพยายามที่จะรวบรวมชีวิตทั้งชีวิตของ วิเวียน ไมเออร์ เข้าด้วยกัน มันคงเป็นเรื่องที่ไม่ต่างจากนิยาย ไม่ยากเลยที่จะสดุดีเธอให้ยิ่งใหญ่ดุจเดียวเชอร์ชิล หากบวกบุคลิกความรู้สึกที่อ่อนไหวแบบชาวยุโรป หญิงสาวผู้รักอิสระ สำเนียงการพูดแบบนิวยอร์กปนฝรั่งเศส มันคงเป็นอะไรที่สนุกสนานรื่นรมณ์ยิ่ง ถ้ารู้ว่าเบื้องหลังอาชีพแม่บ้านที่รับดูแลเด็กๆ นั้น ได้กลายเป็นช่างภาพไปในที่สุด เธอถ่ายภาพเอาไว้มากมาย ฟิล์มที่อยู่ในตู้เก็บของเธอมีจำนวนมหาศาล อาจจะมีมากถึงแสนรายการก็เป็นได้
วิเวียนซึ่งเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายฝรั่งเศสและออสเตรีย-ฮังการี เธอมีชีวิตโลดแล่นไปมาระหว่าง ยุโรปและสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะกลับมาปักหลักที่นครนิวยอร์ก ในปี ค.ศ. 1951 สองปีที่นิวยอร์กเธอเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ขัดเกลาฝีมือทางด้านภาพถ่ายอย่างเต็มเปี่ยม เธอตระเวนไปทุกซอกมุมบนถนนของบิ๊กแอปเปิล
ปี ค.ศ. 1956 วิเวียนลาจากนิวยอร์ก ไปสู่ชายฝั่งตะวันออก–ชิคาโก ที่นั่นเธอใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตทำงานเป็นผู้ดูแลเด็ก ยามว่างเธอจึงออกถ่ายภาพอย่างกระตือรือร้น การถ่ายภาพแบบสแนปชอตในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ของเธอ ทำให้มีเนกามีฟสะสมมากกว่า 100,000 รายการ ฟิล์มเหล่านั้นทิ้งเอาไว้เบื้องหลังชีวิตของเธอ
ในชิคคาโกมีผู้คนกลุ่มต่างๆ ที่น่าสนใจอาศัยอยู่จำนวนมาก รวมถึงคนจรจัดผู้ยากไร้ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ได้ถูกรื้อถอน หรือแม้แต่สถานที่สุดโปรดของคนในชิคคาโก รูปถ่ายเหล่านั้นได้รับการถ่ายทอดอย่างพิถีพิถันผ่านสายของ วิเวียน ไมเยอร์ ทั้งสิ้น
จิตวิญญาณของวิเวียน เป็นจิตวิญญาณแห่งความรักอิสระ และทนงตน แม้เธอจะยากแค้นเพียงใด เธอก็ไม่ปริปาก เธอได้รับความช่วยเหลือจากเด็กๆ ที่เธอเป็นคนเลี้ยง พวกเขาช่วยกันจ่ายค่าอพาร์ตเมนต์ และดูแลเธอ โดยที่พวกเขาไม่รู้ว่าในอพาร์ตเมนต์นั้นวิเวียนได้เก็บฟิล์มเนกาทีฟที่ยังไม่ได้ล้างเอาไว้จำนวนมาก จนกระทั่งมีการผิดนัดชำระเงินค่าเช่า จึงได้มีการประมูลสิ่งของที่อยู่ในตู้นั้น และนั่นเป็นครั้งแรกที่ทำให้โลกได้ค้นพบอัจฉริยภาพของเธอจากภาพถ่าย
ภาพถ่ายของเธอเริ่มปรากฏขึ้นในปี ค.ศ. 2007 จากการประมูลบริษัทในท้องถิ่นทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของชิคาโก จากที่นั่น ก่อให้เกิดผลกระทบไปทั่วโลก และเปลี่ยนชีวิต John Maloof ผู้ซึ่งเป็นนักศึกษา กำลังเขียนรายงาน ไปตลอดกาล
“ฉันคิดว่าไม่มีอะไรคงอยู่ตลอดไป เราต้องสร้างที่ว่างให้คนอื่น เราเป็นเหมือนกงล้อที่ขับเคลื่อน คุณวิ่งไปได้ คุณต้องไปให้สุด ดังนั้นต้องมีใครสักคนได้รับโอกาสให้ไปถึงความสำเร็จตรงนั้น”
–วิเวียน ไมเออร์
About Vivian Maier : เกี่ยวกับ วิเวียน ไมเออร์
เกิดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1926 – 21 เมษษยน ค.ศ. 2009 เป็นช่างภาพแนวสตรีท ชาวอเมริกันที่เกิดในนิวยอร์ก แม้ว่าจะเกิดในสหรัฐอเมริกา แต่เธอไปเติบโตที่ฝรั่งเศส วิเวียนใช้เวลาในวัยสาวส่วนใหญ่ที่นั่น ก่อนเดินทางกลับสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.1951 เธอทำงานเป็นพี่เลี้ยงและผู้ดูแลเด็กตลอดชีวิต ในยามว่างเธอตระเวนถ่ายภาพอย่างต่อเนื่องนานถึงห้าทศวรรษ และทิ้งฟิล์มเนกาทีฟเอาไว้กว่าแสนภาพ ซึ่งส่วนใหญ่ถ่ายที่นิวยอร์ก และชิคาโก แม้กระนั้นยังมีภาพถ่ายทั่วโลกอีกจำนวนหนึ่ง รวมถึงประเทศไทย
Early Years Finding Vivian Maier
แม่ของวิเวียน ไมเออร์ เป็นชาวฝรั่งเศส ส่วนพ่อเป็นชาวออสเตรีย อาศัยในย่านบรอนซ์ ของนครนิวยอร์ก การสำรวจประชากรแม้จะมีประโยชน์ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ภาพร่างชีวิตของไมเยอร์ชัดเจน หรือสมบูรณ์ ตอนวิเวียนอายุสี่ขวบ เธออาศัยในนิวยอร์ก ภาพถ่ายของเธอมีเพียงแม่ และ จีนน์ เบอร์ทรานด์ ช่างภาพเหมือนเจ้าของรางวัล ภาพถ่ายนั้นไม่มีพ่อของเธออยู่ในนั้นแล้ว เธอย้ายไปฝรั่งเศส กับแม่ในปี ค.ศ. 1939 และกลับมานิวยอร์กในปี ค.ศ. 1951 ช่วงเวลานี้เธอสูญเสียแม่ไป
เวลาที่เธออยู่ในฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1949 วิเวียนเริ่มสนใจในการถ่ายภาพ กล้องตัวแรกของเธอคือ Kodak Brownie กล้องที่มีกลไกเรียบง่ายสำหรับมือสมัครเล่น กล้องที่มีความเร็วชัตเตอร์เดียว ไม่มีการปรับโฟกัส และไม่สามารถปรับรูรับแสงได้ ตัวกล้องมีขนาดกระทัดรัด ในปี ค.ศ. 1951 เธอเดินทางกลับนครนิวยอร์กด้วยเรือกลไฟ ‘De-Grass’ และอาศัยอยู่กับครอบครัวในเซาแธมป์ตันในฐานะพี่เลี้ยงเด็ก
ในปี ค.ศ.1952 วิเวียน ซื้อกล้อง Rolleiflex เพื่อเติมเต็มจินตนาการของเธอ เธออาศัยอยู่กับครอบครัวนี้ในนิวยอร์กเป็นส่วนใหญ่ จนถึงปี ค.ศ. 1956 เธอย้ายไปอยู่ที่ชานเมืองทางเหนือของชิคาโก ชิคาโกกลายเป็นบ้านหลังสุดท้ายของเธอ ที่นั่นเธอได้รับจ้างเพื่อดูแลและเป็นพี่เลี้ยงเด็กสามคน จนครอบครัวนี้กลายเป็นครอบครัวที่ใกล้ชิดที่สุด
Later Years Finding Vivian Maier
ที่ชิคาโก เธอใช้ห้องน้ำทำเป็นห้องมืดเพื่อล้างอัดฟิล์มขาวดำ ซึ่งทำให้เธอพัฒนาความสามารถทางการถ่ายภาพด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่อง เมื่อเด็กๆ ที่เธอเลี้ยงเริ่มเติบโต เธอต้องหางานใหม่ การย้ายจากครอบครัวหนึ่งไปอีกครอบครัวทำให้การถ่ายภาพของเธอหยุดชะงักไปพอสมควร ทำให้มีฟิล์มเนกาทีฟที่ยังไม่ได้ล้าง ภาพยังไม่ได้อัดออกมามากขึ้น
เมื่อเธอเริ่มเปลี่ยนมาใช้ฟิล์มสี ฟิล์มส่วนเป็น Kodak Ektachrome 35 มม. โดยใช้กับกล้อง Leica IIIc งานภาพถ่ายสีของเธอไม่เคยปรากฏมาก่อน ภาพถ่ายมีความเป็นนามธรรมมากขึ้น เมื่อเวลาผ่านไปภาพของเธอได้กลายเป็นตัวแทนของยุคสมัย ภาพถ่ายของเธอตัวแบบราวคืบคลานออกมาจากภาพอย่างเชื่องช้า ไม่ว่าจะเป็นถ่ายหนังสือพิมพ์ ภาพถ่ายกราฟฟิตี้ ทำนองเดียวกัน ภาพถ่ายของเธอแสดงในสิ่งที่เธอพบเห็น ถังขยะ คนจรจัดนอนริมถนน ล้วนถูกบันทึกอย่างพิถีพิถัน
ในช่วงทศวรรษ 1980 วิเวียนต้องเผชิญกับความท้าทายอีกครั้งกับงานของเธอ จากความเครียดทางการเงินและการขาดความมั่นคงทางอาชีพพี่เลี้ยงเด็ก ความลำบากนี้ทำให้เธอต้องหยุดชะงักการถ่ายภาพอีกครั้ง และม้วนฟิล์ม Ektachrome เริ่มกองโดยไม่มีการล้าง ในช่วงระหว่างปลายทศวรรษ 1990 ถึงปีแรกของสหัสวรรษใหม่ วิเวียน เก็บกล้อง เก็บข้าวของเอาไว้ในตู้เก็บของ เธอพยายามที่จะทรงตัวอยู่ให้รอด เธอถูกไล่ออกจากห้องเช่าเล็กๆ เหมือนคนเร่ร่อน ครอบครัวที่เธอเคยทำงานให้พยายามหาเงินมาช่วยเหลือ ด้วยหนทางอันน้อยนิด ภาพถ่ายในม้วนฟิล์มที่ยังไม่เคยถูกล้าง กลายมาเป็นความทรงจำที่สูญหาย จนกระทั่งฟิล์มเหล่านั้นถูกขายออกไป เนื่องจากการค้างค่าเช่าในปี ค.ศ. 2007 บริษัทจัดเก็บจึงนำฟิล์มเนกาทีฟไปประมูลให้กับ RPN Sales ซึ่งฟิล์มเหล่านั้นถูกคัดแยกกล่องออกจากการประมูลที่ใหญ่กว่า โดยมีผู้ประมูลไปได้หลายราย รวมถึง John Maloof
ในปี ค.ศ. 2008 วิเวียนลื่นล้มอย่างรุนแรง ศีรษะกระแทกกับแผ่นน้ำแข็งบริเวณตัวเมืองชิคาโก แม้ว่าเธอหวังว่าจะพักฟื้นแล้วรักษาหาย แต่สุขภาพของเธอกลับแย่ลง ทำให้วิเวียนต้องเข้าไปอยู่ในบ้านพักคนชรา เธอถึงแก่กรรมในช่วงเวลาสั้นๆ ในเดือนเมษายนปี ค.ศ. 2009 โดยทิ้งงานที่เก็บเอาไว้จำนวนมหาศาลไว้เบื้องหลัง
ชีวิตส่วนตัว
มักมีคนเปรียบเปรย Vivian Maier เหมือนกับ แมรี-พ๊อพพิน ด้านหนึ่งของเธอมีความประหลาด สมัยที่วิเวียนเลี้ยงดูเด็กสามคน เธอทำตัวเหมือนแม่ ช่วงนั้นเริ่มต้นปี ค.ศ. 1956 เธอเริ่มงานกับครอบครัวฐานะดีย่านชานเมืองชิคาโกฝั่งทะเลสาบมิชิแกน วิเวียนมีความเป็นแม่อยู่ในตัว เธอพาเด็กๆ ไปเที่ยวทุ่งสตรอว์เบอร์รีเพื่อเก็บผลเบอร์รี่ เธอพบงูตายอยู่ที่ขอบถนน และนำมันกลับบ้านเพื่ออวดเด็กๆ หรือจัดการแสดงละครกับเด็กๆ ทุกคนในตึก วิเวียนมีวิญญาณอิสระ เธอมีความอยากรู้อยากเห็นในทุกๆ เรื่อง ในทุกที่ที่เธอพาพวกเขาไป
เธอเล่าให้คนอื่นๆ ฟังว่า เธอเรียนภาษาอังกฤษจากโรงละคร และละครเวที สำหรับวิเวียน ชีวิตของเธอคือ “โรงละครแห่งชีวิต” เธอแสดงต่อหน้ากล้อง เพื่อให้กล้องจับภาพในช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด วิเวียนมีประวัติที่น่าสนใจ ภาพครอบครัวของเธอไม่สมบูรณ์มาตั้งแต่เธอยังเด็ก เธอถูกบังคับให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว อย่างที่เธอเป็นอยู่ไปตลอดชีวิต เธอไม่เคยแต่งงาน ไม่มีลูก หรือ ปราศจากเพื่อนสนิทที่รู้จักที่สามารถพูดคุยเรื่องส่วนตัวกันได้
ภาพถ่ายของไมเออร์ยังเผยให้เห็นความสัมพันธ์ต่อผู้ยากไร้ อาจเป็นเพราะความสัมพันธ์ทางอารมณ์ที่เธอผูกพันกับคนที่พยายามดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งฐานะ ความกระหายเหล่านี้พาเธอไปทั่วโลก ณ จุดนี้ เราทราบเรื่องการเดินทางไปแคนาดาในปี ค.ศ. 1951 และ ค.ศ. 1955 ในปี ค.ศ. 1957 ไปยังอเมริกาใต้ ในปี ค.ศ. 1959 ไปยังยุโรป ตะวันออกกลาง และเอเชีย ในปี ค.ศ. 1960 แล้วยังเดินทางไปฟลอริดา ในปี ค.ศ. 1965 เธอยังได้เดินทางไปหมู่เกาะแคริบเบียน และอื่นๆ และทั้งหมด เป็นที่น่าสังเกตว่าเธอเดินทางคนเดียว
การเดินทางของเธอ เป็นการเดินทางเพื่อไปค้นหาสิ่งแปลกใหม่ ไม่ต่างจากการสำรวจสิ่งผิดปกติในสวนหลังบ้านของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความโศกเศร้าที่ถูกมองข้ามของเอมิเกรชาวยูโกสลาเวียที่กำลังฝังจักรพรรดิ์ของพวกเขา การฉายภาพยนตร์โปแลนด์ที่โรงภาพยนตร์ Milford Theatre’s หรือชาวชิคาโกต้อนรับลูกเรือ ยาน Apollo กลับบ้าน เธอเป็นผู้บันทึกภาพถ่าย และเป็นการบันทึกสิ่งที่ดึงดูดสายตา ทั้งในรูปแบบ ภาพถ่าย ภาพยนตร์ และเสียง
บันทึกส่วนตัวของคนที่รู้จักวิเวียนนั้นคล้ายกันมาก เธอเป็นคนพิลึก เข้มแข็ง มีความคิดเห็นหนักแน่น มีสติปัญญา และมีความเป็นส่วนตัวสูง เธอสวมหมวกฟลอปปี้ เดรสยาว เสื้อโค้ทขนสัตว์ รองเท้าผู้ชาย และก้าวย่างอย่างมีพลัง ทุกครั้งจะต้องมีกล้องคล้องคอก่อนออกจากบ้านเสมอ เธอจะถ่ายรูปอย่างหมกมุ่น แต่ไม่เคยแสดงรูปถ่ายให้ใครดู นี่คือแบบฉบับของเธอที่ไม่สะทกสะท้าน และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใด
About Jeanne Bertrand
จีนน์ เบอร์ทรานด์เป็นบุคคลสำคัญในชีวิตของวิเวียน บันทึกสำมะโนระบุว่าเธอเป็นหัวหน้าครอบครัว โดยอาศัยอยู่ร่วมกับวิเวียนและแม่ของเธอในปี ค.ศ. 1930 การอบรมเลี้ยงดูของจีนน์มีความคล้ายคลึงกับวิเวียน เธอเติบโตมากับครอบครัวที่ยากจน สูญเสียพ่อไปตั้งแต่ยังเด็ก และทำงานในโรงงานเข็ม ส่วนหนึ่งในโรงงานประกอบรถยนต์ ทว่าในปี ค.ศ. 1905 ผู้คนในชิคาโกสามารถอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับจีนน์ เบอร์ทรานด์ ได้ในหนังสือพิมพ์บอสตัน โกลบ ซึ่งเธอถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งในช่างภาพที่มีชื่อเสียงที่สุดของคอนเนตทิคัต สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้น่าประหลาดใจยิ่งกว่านั้นก็คือ เบอร์ทรานด์เพิ่งถ่ายภาพมาเพียงสี่ปีก่อนจะได้รับการยกย่อง แต่ถึงแม้เบอร์ทรานด์จะมีอิทธิพลในยุคแรกๆ กับวิเวียน แต่ก็ต้องสังเกตด้วยว่าเบอร์ทรานด์เป็นช่างภาพพอร์ตเทรต วิเวียนหยิบกล้องขึ้นมาเป็นครั้งแรกเมื่อครั้งเดินทางไปเทือกเขาแอลป์ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1949 ภาพถ่ายที่เธอถ่ายนั้นเป็นภาพบุคคลและภูมิทัศน์ที่ควบคุมได้ อาจเป็นไปได้ว่าจีนน์ สอนวิเวียนถ่ายภาพ
ในปี ค.ศ. 1951 วิเวียนมาถึงนครนิวยอร์ก เธอใช้เทคนิคเดียวกับที่เธอฝึกฝนในฝรั่งเศส โดยใช้กล้องโกดักบราวนี่ตัวเดียวกันในรูปแบบฟิล์ม 6×9 แต่ในปี ค.ศ. 1952 งานของวิเวียนเปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก เธอเริ่มถ่ายด้วยกล้อง Mediam Format รูปแบบภาพสี่เหลี่ยมจัตุรัส เธอซื้อกล้อง Rolleiflex ราคาแพงกว่า คุณภาพดีกว่า ซึ่งเป็นการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ จากกล้องสำหรับมือสมัครเล่นที่เธอใช้ครั้งแรก ดวงตาของเธอเปลี่ยนไป เธอกำลังจับภาพความเป็นธรรมชาติ ฉากท้องถนนที่ชวนให้นึกถึง Henri-Cartier-Bresson ภาพแนวสตรีทที่ชวนให้นึกถึง Lisette Model และองค์ประกอบที่ยอดเยี่ยมคล้ายกับ Andre Kertesz ภาพถ่ายของวิเวียนเริ่มเป็นรูปเป็นร่างในปี ค.ศ. 1952 จนกลายเป็นสไตล์คลาสสิกของวิเวียนมาจนถึงทุกวันนี้
อ่านบทวิจารณ์เพิ่มเติม: Movie Review: True Detective
เชิงอรรถ
1 Janet Clara Malcolm นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน ในแนวจิตวิทยา เขียนบทความใน New Yorker บทความนี้อ้างถึง Bloomsbury Group เรื่อง “A House of One’s Own”
[block id=”new-releases-for-footer”]