คนบ้า กับการสื่อสารผ่านงานวรรณกรรมและสื่อบันเทิง

เมื่ออิสระทางการสื่อสารถูกตีกรอบด้วยกฎเกณฑ์ของสังคม คงไม่มีตัวละครไหนสามารถทลายข้อจำกัดทางการสื่อสารได้มากเท่าพวกเขา เหล่าตัวละครที่ได้ชื่อว่า คนบ้า อีกแล้ว

คนบ้า เป็นอีกหนึ่งตัวละครที่เราคุ้นเคย เพราะคนบ้าและความบ้าต่างก็แทรกซึมอยู่ในวรรณกรรมรวมถึงสื่อบันเทิงมาอย่างยาวนาน บทสรุปของนางร้ายในละครหลังข่าวที่เราดูตั้งแต่เด็กจนโต ลงท้ายไม่ตายก็เป็นบ้า ราวกับว่าความบ้าเป็นเสมือนบทลงโทษของคนที่ทำผิด แต่ถึงอย่างนั้นความบ้าก็ไม่ได้มาในรูปแบบของบทลงโทษเสมอไป หลายๆ ครั้งตัวละครคนบ้าในงานวรรณกรรมและสื่อบันเทิงก็มาพร้อมกับอำนาจและอิสระทางการสื่อสารที่เราไม่คาดคิด… 

วรรณกรรมและสื่อบันเทิงกับอิสระทางการสื่อสาร

ถ้าถามว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการสื่อสารคงไม่พ้นแนวคิดหรือแก่นของเรื่องที่ผู้ส่งสารต้องการนำเสนอ โดยส่วนใหญ่แก่นเรื่องของวรรณกรรมหรือสื่อบันเทิงเนื้อหาเข้มข้นก็จะมุ่งสื่อสารปัญหาหลายหลากที่เกิดขึ้นในสังคม เช่น ปัญหาชนชั้นแรงงาน ปัญหาชนชั้นกลาง ปัญหาเยาวชน นักศึกษา ตลอดจนปัญหาทางการเมือง บางครั้งผู้ส่งสารก็เลือกที่จะถ่ายทอดปัญหาผ่านการกล่าวถึงประเด็นนั้นๆ โดยตรง แต่บางครั้งก็เลือกที่จะนำเสนอโดยอ้อมผ่านการใช้สัญลักษณ์บางอย่าง แต่ไม่ว่าจะสื่อสารโดยตรงหรือโดยอ้อม ท้ายที่สุดเป้าหมายก็คือการชี้ให้เห็นอุปสรรคและปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมอยู่ดี

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายๆ ท่านอาจจะเกิดคำถามในใจว่า เอ้า! ในเมื่อสุดท้ายปลายทางของผู้ส่งสารคือการถ่ายทอดปัญหาเหมือนๆ กัน ทำไมไม่บอกมาตรงๆ ล่ะ จะพูดอ้อมโลกไปทำไม? การสื่อสารโดยอ้อมอาจเกิดจากการให้อิสระแก่ผู้รับสารในการตีความเพื่อให้ประเด็นที่ต้องการสื่อสารถูกหยิบมาพิจารณาในหลากหลายแง่มุม แต่บางครั้งก็เกิดจากข้อจำกัดบางอย่างที่ตีกรอบอิสระทางการสื่อสาร ทำให้การกล่าวถึงประเด็นอ่อนไหวกลายเป็นเรื่องต้องห้าม

ถึงจะจุกแต่ก็จริง เพราะในประเทศนี้ไม่ใช่ทุกปัญหาจะได้รับอนุญาตให้นำเสนอซะหน่อย โดยเฉพาะปัญหาที่เต็มไปด้วยประเด็นอ่อนไหวอย่างปัญหาทางการเมือง ซึ่งถือเป็นประเด็นสุ่มเสี่ยงตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ใครจะไปคิดว่ายุคหนึ่งประเทศไทยถึงกับมี พ.ร.บ.ว่าด้วยสมุด เอกสาร และหนังสือพิมพ์ พุทธศักราช 2546 หรือเรียกง่ายๆ ว่า กฎหมายคุมสื่อ ประกาศใช้ทั่วราชอาณาจักรด้วยซ้ำ ไหนจะ พ.ร.บ. การพิมพ์ พุทธศักราช 2484 หรือ กฎหมายล่ามโซ่แท่นพิมพ์ ที่เป็นฝันร้ายของนักเขียนอีก ที่ตลกร้ายคือ แม้จะผ่านมาร่วม 80 ปีแล้ว แต่กฎหมายที่มีลักษณะลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอกลับถูกนำมาพิจารณาอีกครั้งในนาม พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งต่อให้จะเปลี่ยนชื่อสักกี่ครั้งเนื้อในก็คือการคุมขังความจริงอยู่ดี

คนบ้า
ภาพประกอบจาก Joker (2019)

คนบ้า กับอิสระและอำนาจทางการสื่อสารในงานวรรณกรรมและสื่อบันเทิง

เมื่อไม่สามารถสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาได้เนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎหมาย ผู้รับหน้าที่ส่งสารคนสำคัญของสังคม อย่างผู้ผลิตวรรณกรรมและสื่อบันเทิงในอดีตจึงเลือกที่จะสื่อสารผ่านการใช้ตัวละคร หากพูดเองไม่ได้ก็ต้องอาศัยตัวละครพูด แล้วตัวละครประเภทไหนล่ะที่ได้รับอภิสิทธิ์ทางการสื่อสารโดยไม่ต้องคำนึงถึงบริบทกฎเกณฑ์ของสังคม ตัวละครแบบไหนกันที่จะมีอิสระและอำนาจทางการสื่อสารอย่างเต็มที่

ใช่แล้วล่ะ ไม่มีตัวละครไหนจะได้รับอภิสิทธิ์ทางการสื่อสารโดยไม่ต้องคำนึงถึงบริบทกฎเกณฑ์ของสังคมไปมากกว่า “คนบ้า” อีกแล้ว โดยเฉพาะสังคมไทย หากได้ชื่อว่าคนบ้าไม่ว่าจะพูดหรือสื่อสารอะไร ก็ล้วนไม่มีน้ำหนักและไร้ความน่าเชื่อถือไปเสียหมด ตัวละครกลุ่มนี้จึงมีสิทธิพิเศษในการพูดไปโดยปริยาย ไม่ใช่เฉพาะปัญหาทางการเมืองที่สื่อสารอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้เท่านั้น แต่ปัญหาที่ไม่มีใครพูดถึงเพราะเป็นเรื่องอ่อนไหวในสังคมก็มักจะถูกหยิบมานำเสนอใหม่ผ่านทรรศนะของตัวละครกลุ่มนี้  

แม้ปัจจุบันจะไม่มีกฎหมายคุมสื่อมาคุมเข้มเท่ากับในอดีตแต่ตัวละครคนบ้าก็ยังถูกหยิบยกมาใช้ในการนำเสนอปัญหาในสังคมอยู่เสมอ เพราะนอกจากอิสระทางการสื่อสารแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ตัวละครคนบ้ามีมากกว่าตัวละครปกติคืออำนาจทางการสื่อสารที่ทรงพลัง ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะลักษณะนิสัยที่สุดขั้วของตัวละครในการคิด ตัดสินใจ และแสดงออกนั่นแหละที่ทำให้ตัวละครคนบ้ากลายเป็นตัวละครที่มีอำนาจในการสื่อสารมากกว่าตัวละครอื่นๆ 

ไม่มีตัวละครไหนจะได้รับอภิสิทธิ์ทางการสื่อสารโดยไม่ต้องคำนึงถึงบริบทกฎเกณฑ์ของสังคมไปมากกว่า “คนบ้า” อีกแล้ว

ตัวละครคนบ้าที่ทุกคนรู้จักเป็นอย่างดีคงไม่พ้น โจ๊กเกอร์ (Joker) วายร้ายในคราบตัวตลกจิตไม่ปกติ สิ่งที่น่าประหลาดใจสำหรับตัวร้ายตัวนี้ คือเขาเป็นวายร้ายที่ทำให้หลายคนหลงรัก ภาพยนตร์ที่โจ๊กเกอร์ไปปรากฏตัวมีอยู่หลายเรื่อง แต่เรื่องที่บอกที่มาที่ไปของเขาได้ชัดเจนที่สุดน่าจะเป็น “Joker 2019” ผลงานจากค่ายดีซีคอมิกส์ (DC Comic) ที่เปิดเผยจุดเริ่มต้นความบ้าแบบหลุดโลกพร้อมกับถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตสุดดาร์กของโจ๊กเกอร์ไว้ได้อย่างดีเยี่ยม

ภาพยนตร์เรื่อง “Joker 2019” แสดงให้เราเห็นว่านรกบนดินทำให้คนธรรมดากลายเป็นคนบ้าได้อย่างไร ผ่านการชี้ให้เห็นปัญหาสังคมยุค 80 ที่เกิดขึ้นในเมืองก็อธแธม (Gotham city) อาทิ ปัญหาอาชญากรรม ความรุนแรง ความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ตลอดจนความเห็นแก่ตัวในจิตใจของมนุษย์ โดยถ่ายทอดผ่านตัวละครคนบ้าอย่างโจ๊กเกอร์ ในฐานะของผู้ถูกกระทำที่จะไม่ยอมถูกกระทำอีกต่อไป เรียกได้ว่าแค่เสียงหัวเราะ สีหน้า และท่าทางของตัวละครคนบ้าตัวนี้ก็ทรงพลังมากพอที่จะพาคุณดำดิ่งไปกับสาระสำคัญอย่างปัญหาสังคมที่หนังต้องการจะถ่ายทอดตลอดสองชั่วโมงแล้ว

อย่างไรก็ดี นอกจากตัวละครที่มีลักษณะความบ้าแบบหลุดโลกแบบโจ๊กเกอร์แล้ว ก็ยังมีตัวละครคนบ้าอีกประเภทหนึ่งที่มีลักษณะชวนให้คิดว่าสุดท้ายตัวละครตัวนี้เป็นบ้าจริงๆ หรือเพียงแค่เป็นบ้าเพราะคิดต่างจากคนทั่วไปกันแน่ ตัวอย่างที่ชัดเจนสำหรับการนิยามคนบ้าประเภทนี้ น่าจะเห็นได้อย่างชัดเจนในภาพยนตร์เรื่อง “บ้าก็บ้าวะ” (One Flew over the Cuckoo’s Nest 1975) ที่บอกเล่าเรื่องราวของการต่อสู้ของผู้ป่วยจิตเวชกับสถานบำบัดอาการทางจิตในอดีตที่เต็มไปด้วยระเบียบและกฎเกณฑ์อันเข้มงวดซึ่งระเบียบและกฎเกณฑ์อันเข้มงวดเหล่านั้น บางครั้งก็ทำให้คนดีกลายเป็นคนบ้าและทำให้คนบ้ากลายเป็นคนบ้ามากขึ้นไปอีก 

ภาพประกอบจาก One Flew over the Cuckoo’s Nest (1975)

พูดกันตามตรง พวกเขาไม่ได้คิดจะรักษาคนกลุ่มนี้ตั้งแต่แรก โรงพยาบาลบ้าเป็นเพียงสถานที่สำหรับกักขังคนที่ต่างออกไปจากสังคมเพียงเท่านั้น เมื่อมองเผิน ๆ หนังเรื่องนี้จึงเป็นแค่หนังที่บอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของผู้ป่วยจิตเวชกับระบบการรักษาแบบผิด ๆ ในโรงพยาบาล แต่หากพิจารณาลึกลงไปเราจะเห็นการต่อสู้ที่ลึกซึ้งกว่านั้น การต่อสู้ระหว่างคนกับสังคมและอำนาจที่คอยกดทับพวกเขาไว้ ภาพยนตร์เรื่อง “บ้าก็บ้าวะ” (One Flew over the Cuckoo’s Nest 1975) อาจไม่ได้นำเสนอปัญหาที่เป็นภาพใหญ่ในสังคมโดยตรง แต่การบอกเล่าปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลผ่านบรรดาผู้ป่วยจิตเวชก็มากพอที่จะเป็นภาพจำลองให้ผู้ชมเห็นปัญหาต่าง ๆ ในสังคมที่ถ่ายทอดออกมาผ่านตัวละครคนบ้าแล้ว

ในส่วนของวรรณกรรม การใช้ตัวละครที่มีลักษณะของความบ้าก็มีตัวอย่างให้เห็นเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ“แฮมเล็ต” (Hamlet) บทละครแนวโศกนาฏกรรมที่ได้รับความนิยมของวิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการล้างแค้น โดยเป็นการล้างแค้นของแฮมเล็ต (หลาน) ที่มีต่อคลอเดียส (ลุง) เพราะเขารู้ความจริงว่าคลอเดียสคือคนที่สังหารพ่อของตนเพื่อขึ้นเป็นกษัตริย์ แฮมเล็ตจึงตัดสินใจสืบหาเรื่องราวทั้งหมดผ่านการแสร้งคลุ้มคลั่งเพื่อไม่ให้ผู้อื่นสงสัยการสืบหาความจริงของเขา

เมื่อพวกเขาต้องการทำอะไรที่แหกไปจากกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของสังคมเพื่อส่งสารบางอย่าง ไม่เพียงแต่ตัวละครในวรรณกรรมและสื่อบันเทิงเท่านั้นที่ต้องบ้า

แฮมเล็ตใช้ความบ้าบังหน้า แสดงกิริยาอาการที่แปลกไปจากปกติ เขาคลุ้มคลั่ง ผลักไสโอฟิเลียหญิงสาวที่รัก จนหลายคนห่วงกังวลกับความผิดเพี้ยนที่เขาแสดงออกมา แต่ทั้งหมดนั่นก็แลกมากับการที่เขาสามารถเข้าใกล้ความจริงมากยิ่งขึ้น การแกล้งบ้าของตัวละครแฮมเล็ตชี้ให้เห็นว่า หากต้องการทำอะไรที่แหวกออกไปจากขนบกฎเกณฑ์ทางสังคม ความบ้า ก็ดูจะเป็นประโยชน์อยู่เหมือนกัน อย่างน้อยๆ มันก็ให้อภิสิทธิ์เขาในการเสาะหาความจริงอย่างไม่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดต่างๆ ที่คนทั่วไปสื่อสารและแสดงออกมาไม่ได้

ภาพยนตร์และวรรณกรรมที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างที่แสดงให้เห็นอิสระและอำนาจทางการสื่อสารของตัวละครคนบ้าเท่านั้น นอกจาก “Joker 2019” “บ้าก็บ้าวะ” (One Flew over the Cuckoo’s Nest 1975) และแฮมเล็ต (Hamlet) ยังมีวรรณกรรมและสื่อบันเทิงประเภทอื่น ๆ ที่ใช้ตัวละครคนบ้าในการสื่อสารประเด็นสังคมอีกมาก อาจจะฟังดูตลก แต่บางครั้งคนดีอาจจำเป็นต้องเป็นคนบ้า เมื่อพวกเขาต้องการทำอะไรที่แหกไปจากกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของสังคมเพื่อส่งสารบางอย่าง ไม่เพียงแต่ตัวละครในวรรณกรรมและสื่อบันเทิงเท่านั้นที่ต้องบ้า ในชีวิตจริงคนธรรมดาอย่างเราๆ ก็จำเป็นต้องบ้าหรือถูกยัดเยียดให้บ้าเมื่อเราต้องการสื่อสารบางอย่างเหมือนกัน

ตัวละคร คนบ้า จำเป็นแค่ไหนในงานวรรณกรรมและสื่อบันเทิง

ตัวละครคนบ้าอาจจะเป็นตัวละครที่สามารถสื่อสารได้อย่างอิสระและมีอำนาจทางการสื่อสารที่ทรงพลัง เป็นตัวละครที่สามารถนำเสนอปัญหาต่างๆ ในสังคมได้อย่างเข้มข้นตรึงใจผู้รับสาร แต่ถ้าถามว่าตัวละครกลุ่มนี้จำเป็นมากน้อยแค่ไหน เราอาจต้องย้อนไปพิจารณาที่จุดเริ่มต้นว่าเหตุผลที่เราจำเป็นต้องใช้ตัวละครคนบ้าคืออะไร ซึ่งจริงๆ หลักๆ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวละครคนบ้าถูกนำมาใช้เนื่องจากผู้ส่งสารไม่สามารถสื่อสารได้อย่างอิสระ คนบ้าที่มีลักษณะเป็นตัวละครชายขอบที่อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ของสังคมจึงถูกหยิบมาใช้เป็นตัวแทน ดังนั้น หากเราสามารถสื่อสารได้อย่างตรงไปตรงมาบางทีคนบ้าอาจไม่จำเป็นในงานวรรณกรรมและสื่อบันเทิงเลยก็ได้

Hamlet
ภาพประกอบจากละครเวที Bell Shakespeare’s Hamlet (2020)- Peter Evans , Hamlet (1993) – Donmar Warehouse

บทสรุป

กล่าวโดยสรุปคือ ตัวละคร “คนบ้า” มีส่วนในการสร้างมิติตลอดจนมุมมองใหม่ๆ ให้กับวงการวรรณกรรมและสื่อบันเทิง ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงอิสระทางการสื่อสารที่ถูกจำกัดภายใต้กฎเกณฑ์ของสังคม การถ่ายทอดปัญหาสังคมผ่านตัวละครกลุ่มนี้จึงทำให้ผู้ชมเห็นถึงทรรศนะที่แหวกออกไปจากขนบ แม้จะบิดเบี้ยวหรือผิดเพี้ยนไปบ้างแต่ก็เข้มข้นและเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก คนบ้าจึงเป็นตัวละครที่น่าสนใจ พิเศษ และมาพร้อมกับอิสระตลอดจนอำนาจทางการสื่อสารที่ทรงพลัง


About the Author
About the Author

บทความนี้เขียนและสร้างสรรค์โดย ธุวพร มีโพธิ์ นักศึกษาปี 3 – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชา: ภาษาไทย


About the illustrator
About the illustrator

ภาพประกอบบทความนี้ออกแบบและสร้างสรรค์โดย รุจาภา พรหมวิเศษ นักศึกษาปี 3 – มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม สาขาวิชา: ภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล – เอก : การผลิตภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล


บทความอื่นๆ

Hamlet

อ่านตัวอย่างหนังสือเรื่อง โศกนาฏกรรมของแฮมเล็ต องค์ชายแห่งเดนมาร์ก : แฮมเล็ต ฉบับแปลไทย

Comments 1
Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *