Second Person Point of View
Home Literature มุมมองการเขียน บุคคลที่ 2 ควรใช้ เมื่อใด : When to Use a Second Person Point of View?

มุมมองการเขียน บุคคลที่ 2 ควรใช้ เมื่อใด : When to Use a Second Person Point of View?

by Editor
731 views 5 mins read

โดยพื้นฐานแล้วเมื่อคุณเลือก มุมมองการเขียน บุคคลที่ 2 : Second POV ผู้เขียนจะพูดคุยโดยตรงกับผู้อ่าน โดยใช้สรรพนามว่า “คุณ” ซึ่งสรรพนามนี้จะดึงคนอ่านให้ใกล้ชิดกับเรื่องราวมากขึ้น เหมือนคนอ่านมีประสบการณ์เดียวกับตัวละคร มุมมองที่สองเป็นมุมมองที่เขียนยาก และทำให้สมจริงลำบากกว่ามุมมองอื่น จนเคยมีกฎต้องห้ามที่บรรณาธิการส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่า อย่าเขียนนิยายที่เล่าเรื่องด้วยมุมมองที่สองทั้งเล่ม

เพื่อความเข้าใจเพิ่มขึ้น ย้อนกลับไปอ่าน คู่มือในการเลือกทุกมุมมอง และ มุมมองการเขียน บุคคลที่ 1

แต่อย่างไรก็ตาม มักจะมีข้อยกเว้นเสมอ เมื่อ Jay McInerney นักเขียนนวนิยายชาวอเมริกัน ทำให้โลกวรรณกรรมตื่นตะลึง เมื่อตีพิมพ์นวนิยายเรื่องแรก Bright Lights, Big City ในปี ค.ศ. 1984 โดยใช้บุคคลที่สองดำเนินเรื่องทั้งเรื่อง ความสำเร็จอันเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่ซ้ำแบบใครนี้ เพื่อพิสูจน์ว่าไม่มีกฎข้อใดเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับงานสร้างสรรค์ และ Bright Lights, Big City ได้ทำสิ่งนั้นแล้ว

การเขียนโดยใช้มุมมองบุคคลที่ 2 แตกต่างจากการเขียนที่ผู้เขียนพูดกับนักอ่านโดยตรง ตัวอย่างนักเขียนคลาสสิกเช่น Charles Dickens และ Jane Austen พูดกับผู้อ่านโดยตรง แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงเรื่องหรือตัวละคร บล็อกเกอร์และนักเขียนสารคดีร่วมสมัย ใช้ “คุณ” (กับผู้อ่านโดยตรง) เมื่อต้องการเพิ่มเติมคำแนะนำหรือข้อมูลเชิงลึให้กับเรื่องราว

สิ่งสำคัญคือต้องแยกแยะระหว่างมุมมองบุคคลที่สอง จากมุมมองของบุคคลที่หนึ่งที่กล่าวถึงผู้อ่านโดยตรง ตัวอย่างเช่น “คุณชอบขับรถคลาสสิกเหมือนผมไหม” เป็นคำถามโดยผู้บรรยายบุคคลแรกที่รักรถคลาสสิก ในทางกลับกัน “คุณชอบรถคลาสสิก คุณน่าจะลองขับในคืนนี้” เป็นตัวอย่างของการใช้มุมมองบุคคลที่ 2

ในการแนะนำ POV บุคคลที่สอง เราจะพิจารณาเหตุผลที่ควรใช้ ควบคู่ไปกับเหตุที่ควรหลีกเลี่ยง เพื่อจพได้มีข้อเปรียบเทียบก่อนที่คุณจะลงมือเขียนงาน

อะไรคือเหตุผลให้คุณเลือกใช้มุมมองบุคคลที่ 2

ผู้เขียนหลายคนกล้าใช้มุมมองบุคคลที่สองเขียนนิยาย หรือเรื่องสั้น สิ่งที่นักเขียนเหล่านั้นพยายามอาจจะบรรลุผล และทำไมคุณจึงไม่กล้าเสี่ยง แม้ว่ามันจะยากก็ตาม จากนี้จะเป็นการมองหาเหตุผลดีๆ ในการเขียนด้วยมุมมองบุคคลที่สอง เรามาลองดูกันว่ามีอะไรบ้าง

Second Person Point of View

เพื่อให้ผู้อ่านใกล้ชิดกับเรื่องราวมากขึ้น

เมื่อเราพูดถึง POV เรามักพูดถึงความใกล้ชิด และความสัมพันธ์ ระหว่างตัวละครกับผู้อ่าน อย่างที่เราทราบกันดีว่า การเล่าเรื่องของบุคคลที่หนึ่งมักจะให้ความใกล้ชิดมากกว่าบุคคลที่สาม ขณะเดียวกันมุมมองบุคคลที่สองใกล้ชิดผู้อ่านยิ่งขึ้น ความใกล้ชิดดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร

มุมมองบุคคลที่สองมีความใกล้ชิดมากกว่ามุมมองบุคคลที่หนึ่ง เพราะผู้อ่านคือตัวละครจริงๆ ที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม สำนวนที่ถูกสร้างขึ้นให้มีระยะห่างน้อยสุดระหว่างผู้อ่านและตัวละคร คือ “ฉันคิด” ขณะที่ POV ที่มองผ่านแว่นกรองผู้บรรยายได้รับการขัดเกลาเพิ่มเติมในบุคคลที่สอง ไม่มีความใกล้ชิดใดมากไปกว่า “คุณคิด”  (เราจริงๆ คิด) 

ตัวอย่างในเรื่อง Bright Lights, Big City ยกระดับความสัมพันธ์ และความสนิทสนม ระหว่างผู้บรรยายกับคนอ่านให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อผู้อ่านถูกผลักเข้าสู่บทบาทของตัวละครสิบแปดมงกุฏอย่างต่างเนื่อง

เราไม่แน่ใจว่าทำไม Jay McInerney ผู้เขียน Bright Lights, Big City ไม่เลือกใช้มุมมองบุคคลที่หนึ่ง แทนมุมมองบุคคลที่สอง แต่ที่เรารู้ “ฉันไม่ใช่คนที่จะทำแบบนั้น แต่ฉันก็อยู่ในคลับ…”

ในกรณีข้างต้นนี้ มุมมองบุคคลที่หนึ่งกำลังเชื้อเชิญให้ผู้อ่านเชื่อในสิ่งที่พวกเขากำลังเล่า (ฉันไม่ใช่คนแบบที่จะเป็นแบบนี้ แต่ฉันก็เป็น) ส่วนมุมมองบุคคลที่สองเป็นการตั้ง ‘คำถาม’ ไม่มีการโต้แย้งว่าคุณเป็นคนแบบไหน หรือการกระทำเหล่านี้เกิดขึ้นหรือไม่ คุณเป็นและพวกเขาทำ เรารู้เพราะว่าไม่มีความแตกต่างในฟังค์ชั่นการใช้งานระหว่างผู้อ่านกับตัวละคร

ผู้บรรยายบุคคลที่สองสามารถก้าวข้าม ‘ความไม่น่าเชื่อถือ’ ของผู้บรรยายบุคคลที่หนึ่งไปได้ เมื่อตัวละครบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง เรามักจะสงสัยว่า ความจริงของเรื่องจะถูกแว่นกรองของผู้บรรยายคัดออกไปอย่างไร เมื่อเลือกใช้ผู้บรรยายมุมมองบุคคลที่สอง ผู้อ่านจะได้รับการบอกเล่าว่าต้องรู้สึก ต้องนึกคิด และเห็นอะไร พวกเขาจะไม่มีเหตุผลที่จะสงสัยในเรื่องดังกล่าว  ไม่ว่าจะโดยการเลือกจากรายละเอียดของเรื่อง หรือความครุ่นคำนึงภายใน

Second Person Point of View : The Fifth Season

ตัวอย่างนิยายเรื่อง The Fifth Season ซึ่งได้รับรางวัลฮิวโก เขียนโดย N.K. Jemisin’s บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับโลกที่กำลังจะดับสูญ เล่าผ่านมุมมองของผู้หญิงสามคน ซึ่งหนึ่งในนั้นเขียนขึ้นจากมุมมองบุคคลที่สอง

มุมมองบุคคลที่ 2 ในนิยายเรื่องนี้ นำผู้อ่านเข้ามาใกล้ผู้บรรยายมากขึ้น เมื่อผู้บรรยายเปลี่ยนผู้อ่านให้กลายเป็นหนึ่งในตัวละคร ทำให้มีเกิดความสัมพันธ์เพิ่มขึ้นเป็นการส่วนตัว นักอ่านและตัวละครไม่แยกจากกัน  เป็นการสร้างประสบการณ์การอ่าน ทำให้รู้สึกถึงเรื่องราวได้ในทันทีและโอบล้อมด้วยบรรยากาศของเรื่อง

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ที่มากขึ้นไม่ใช่ผลลัพธ์ที่ดีเพียงอย่างเดียวของมุมมองนี้

เพื่อให้ผู้บรรยายอยู่ห่างจากประสบการณ์ของตนเอง

การบรรยายแบบบุคคลที่ 2 สามารถทำให้ผู้อ่านใกล้ชิดกับเรื่องราวมากขึ้นได้ แต่บางครั้งก็ใช้เพื่อสร้างความรู้สึกที่ออกห่างมากขึ้นด้วย ระหว่างผู้บรรยายที่แท้จริงกับเรื่องราวที่พวกเขาเล่า อย่างในกรณีนิยายเรื่อง Bright Lights, Big City

ใน Bright Lights, Big City มันเหมือนกับว่ามโนสำนึกของผู้บรรยายกำลังเขียนนิยายเรื่องนี้ ขณะเดียวกันก็มีข้อกล่าวหาในตัวเองอยู่บ้างเช่น “คุณทำพลาดแล้ว คุณทำเรื่องทั้งหมดเสียหาย”

มุมมองการเขียน บุคคลที่ 2

ในทำนองเดียวกัน คุณสามารถมองเห็นลำดับขั้นของการเมินเฉย ในเรื่องสั้น “คำสาปแช่งเชื่องช้าชั่วชีวิต” ของ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา เล่าเรื่องชายหนุ่มที่เติบโตมากับแม่ที่ไม่เคยมีความรักมอบให้ 

ตัวเอกไม่ได้หมายถึง “คุณ” ที่เป็นผู้อ่าน หรือ วิวัฒน์ ที่เป็นผู้เขียน แต่เป็นเรื่องราวของชายคนหนึ่งที่เต็มไปด้วยคำสาปแช่งเชื่องช้า เขาคิดว่าเป็นตัวประหลาดของสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับแม่เป็นไปอย่างย่ำแย่ มุมมองบุคคลที่สองทำให้เขาห่างไกลจากเรื่องราวทั้งของคุณผู้อ่านและผู้เขียน ในขณะเดียวกันเรารู้ว่า “คุณ” หมายถึงตัวเขาจริงๆ ดังนั้นเราจึงเข้าใจว่าการใช้มุมมองบุคคลที่สองถูกแทนที่ตัวเขา แทนที่จะใช้บุคคลที่หนึ่งโดยตรง ซึ่งถ้าใช้บุคคลที่หนึ่งโดยตรง เป็นเรื่องยากสำหรับเขาในการอธิบายในสิ่งที่เกิดขึ้น (งงไหม 555)

เพื่อให้ผู้บรรยายเป็นคนพูด

ตอนนี้เรากำลังเดินทางเข้าสู่พื้นที่สีเทา นวนิยายบางเล่มดึงผู้อ่านไปเป็นตัวละครโดยตรง แต่ไม่ได้เขียนโดยบุคคลที่สองอย่างเคร่งครัด หนังสือที่อยู่ในหมวดหมู่นี้จะมีลักษณะเล่าเรื่องแบบจดหมาย จากตัวละครตัวหนึ่งไปสู่อีกตัวหนึ่ง ตัวอย่างเช่น Dracula ของ Bram Stoker, The Color Purple ของ Alice Walker และ Thirteen Reasons Why ของ Jay Asher

ผลของการบรรยายแบบจดหมาย ให้ความรู้สึกของการแอบดู จ้องมอง ผู้อ่านรู้สึกราวกับว่ากำลังเฝ้ามองเข้าไปในชีวิตของคนอื่น ความตั้งใจส่วนใหญ่ของผู้บรรยายแบบนี้คือ ต้องการให้ผู้อ่านเข้าไปนั่งในจิตใจของตัวละคร สร้างความสัมพันธ์ ล่วงรู้การสมคบคิดระหว่างผู้บรรยายกับคนอ่าน

การสื่อสารแบบนี้ไม่จำเป็นต้องอาศัยการบรรยายในรูปแบบของตัวอักษร แต่เกิดขึ้นจากคำพูด เส้นแบ่งระหว่างบุคคลที่หนึ่ง และที่สองมีลักษณะเช่น เมื่อตัวเอกยืนอบู่บนถนน พูดคุยกับคนแปลกหน้า ขณะที่เรื่องราวดำเนินต่อไป “คุณ” ที่เป็นผู้อ่าน จะได้รับข้อมูลว่า “เรา”  คือ ตัวเอกหรือคนแปลกหน้า คุณเป็นใครในตัวละครของหนังสือเล่มนั้น และมีบทบาทอย่างไรในเรื่อง

ผู้บรรยายประเภทนี้ต่างจากมุมมองบุคคลที่หนึ่ง ที่มีความตรงไปตรงมา แต่ผู้บรรยายบุคคลที่สองแบบด้านบนนี้อาจจะมีวาระซ่อนเร้นบางอย่างเกี่ยวกับ “เรา” ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการโน้มน้าวเรา หรือทัศนคติที่มีต่อเรา ตัวละครในเรื่องทำให้เรารู้สึกมีส่วนร่วมมากขึ้น

ตอกย้ำแนวคิดในการขับเคลื่อนเรื่องราว

Kate Angelella บรรณาธิการหนังสือเด็กเคยกล่าวว่า “หากนักเขียนต้องการลองเขียนด้วยมุมมองบุคคลที่ 2 ก็ขอแนะนำให้พวกเขาทำเช่นนั้น ตราบใดที่มันเป็นทางเลือกที่มีจุดมุ่งหมาย หรือมีเหตุผลว่า ทำไม ‘มุมมอง’ นี้จึงทำงานได้ดีที่สุดสำหรับเรื่องราวของคุณ นอกเหนือไปจากสไตล์และความปรารถนาที่จะสร้างให้เป็นวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่”

มุมมองการเขียน บุคคลที่ 2

นิยายเรื่อง หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาวนักเดินทางคนหนึ่ง ของ อิตาโล คัลวีโน เล่นกับมุมมองบุคคลที่สอง กับความสัมพันธ์อันซับซ้อนทางวรรณกรรม เหตุการณ์เกิดขึ้นกับตัวเอก “คุณ” ที่เรียกว่าผู้อ่านชาย เพิ่งซื้อนวนิยายเล่มใหม่ของ อิตาโล คัลวีโน เรื่อง หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาวนักเดินทางคนหนึ่ง ซึ่งเป็นหนังสือเล่มเดียวกันกับที่ผู้อ่านจริงๆ (เรา) เป็นผู้อ่าน หลังจากที่เขาอ่านไปสักสามสิบหน้า เขาพบว่านวนิยายเรื่องดังกล่าวมีปัญหาในเรื่องการจัดพิมพ์ เขาเอาหนังสือไปเปลี่ยนที่ร้าน แต่ปรากฏว่าได้หนังสืออีกเล่มมา ทำให้เกิดความอลหม่าน

ทำให้ตลอดทั้งเรื่องผู้อ่านในโลกจริง และผู้อ่านในโลกนิยายต้องอ่านเนื้อหานิยายที่ไม่มีเรื่องใดเป็นตอนจบ และได้พาผู้อ่านไปพบนักเขียนนาม ไซลัส ฟลันเนอรี ซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนของอิตาโล ไซลัสนั้นถูกนำเสนอในฐานะที่เป็นนักเขียนที่ไม่ได้เก่งกาจอะไร เขาเขียนหนังสือไม่ออก ขาดพลังสร้างสรรค์ ซึ่งคล้ายกับอิตาโลในช่วงเวลาดังกล่าว

การเลือก POV ในนวนิยายเรื่องนี้เชื่อมโยงกับธีมหลักได้อย่างมีประสิทธิภาพ มุมมองบุคคลที่ 2 ทำให้ผู้อ่านมีส่วนร่วมในการค้นหาหนังสือที่ขาดหายไป โดยประสบกับเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับพวกเขา ราวกับว่าผู้อ่านกำลังดำเนินเรื่องไปพร้อมกัน และด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้อ่านมีส่วนเกี่ยวข้องในลักษณะที่แปลกประหลาด

ความสัมพันธ์ที่ก่อให้เกิดอำนาจของผู้เขียน เมื่อตอนจบตัวละครนักอ่านชายแต่งงานกับนักอ่านหญิง หากพิจารณาให้ดีตัวผู้แต่ง อิตาโล คัลวีโน เป็นผู้กำหนดให้ตัวละครทั้งสองมาลงเอยกัน ความปรารนานี้จึงมีความย้อนแย้งและซ่อนไว้ซึ่งความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจที่ผู้แต่งยังคงพยายามรักษาไว้ *

จากเหตุผลด้านบนที่คุณต้องการเลือกใช้มุมมองบุคคลที่สอง ถึงเวลานี้มาดูกันว่าทำไมเราไม่ควรเลือกใช้มุมมองนี้ และมีผลกระทบอย่างไรบ้าง

Second Person Point of View

ทำไมไม่ควรเลือก

เวบไซต์เกี่ยวกับบรรณาธิการ พูดคุยถึงนิยายที่ใช้บุคคลที่สอง โดยส่วนใหญ่แล้วพวกเขามีแนวคิดที่ไม่ดีเกี่ยวกับมุมมองนี้ถึง 99.9% จากทั้งหมด นี่คือเหตุผลบางประการ

ผู้อ่านจะตั้งคำถาม

สิ่งที่คุณต้องเจอเมื่อเขียนด้วยมุมมองบุคคลที่สองคือ เนื้อเรื่องสับสน? ทำให้ผู้อ่านเสียสมาธิ? ใช่หรือไม่ที่ตัวละครชอบอวดอ้างตน? ที่น่าแปลกก็คือ คุณเลือกใช้เทคนิคนี้เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ฉับไวระหว่างผู้บรรยายกับผู้อ่าน แต่กลับได้ผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บรรยายกับนักอ่านอยู่ตรงไหน คุณจะทำให้พวกเขาเชื่อได้อย่างไรว่าบทบาทที่พวกเขาอ่านในนิยายคือตัวเขาจริงๆ ในเรื่อง แทนที่จะพาคุณเข้าไปในโลกนิยาย คุณเอาแต่ตั้งถามกับตัวเองว่า นั่นดาบอะไร? จดหมายฉบับไหน? ม้าตัวนั้นเป็นอะไร? ฉันชื่ออะไร? อีกครั้งและอีกครั้ง สุดท้ายแล้วคุณรู้ว่า คุณไม่ใช่ตัวเอกของเรื่อง นี่คือเรื่องยากที่จะเขียน โดยไม่ให้ผู้อ่านตั้งคำถาม 

บางทีผู้อ่านอาจไม่มีจินตนาการเพียงพอ ถึงกระนั้น การใช้ “คุณ” ก็ไม่ทำให้ผู้อ่านกลายเป็นตัวละครไปได้ ไม่ว่าผู้เขียนจะพยายามขาย “คุณ” ให้ผู้อ่านมากขนาดไหน อันที่จริง การใช้คุณมากเกินไปจะทำลายสมาธิ สร้างความมึนงงในการอ่าน แม้ว่าคุณจะเขียนดีแค่ไหน

เสียโอกาสในการหาสำนักพิมพ์

มุมมองที่สองยากที่จะเขียนผลงานให้ออกมาดี และเกิดข้อผิดพลาดได้ง่าย โดยเฉพาะในการหาสำนักพิมพ์ที่จะจัดพิมพ์งาน หากคุณเป็นนักเขียนใหม่ อย่าสร้างอุปสรรคให้กับตัวเอง มันอาจะทำให้สำนักพิมพ์ไม่ตีพิมพ์นิยายของคุณเลยก็ได้

มุมมองการเขียน บุคคลที่ 2 เหมาะกับเรื่องสั้นมากกว่านิยาย

นวนิยายทั้งเล่มที่เล่าผ่านบุคคลที่สองอาจทำให้น่าเบื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตัวเอกของเรื่องไม่เป็นที่พอใจ หรือที่รักของคนอ่าน ด้วยเหตุผลนี้ คุณอาจพบว่าการเล่าเรื่องด้วยบุคคลที่สองทำงานได้ดีกว่าสำหรับเรื่องสั้น

ประเด็นสำคัญอื่นๆ ใน มุมมองการเขียน บุคคลที่ 2

ทั้งหมดที่กล่าวมา โปรดระลึกเสมอว่า นี่คือหนังสือของคุณ บางทีคุณอาจตั้งใจที่จะตีพิมพ์ผลงานด้วยตนเอง หรือไม่รังเกียจที่จะจำกัดนักอ่านที่มีโอกาสเข้าถึงผลงาน ดังนั้นคุณอาจไม่ค่อยให้ความสำคัญ หรือคาดหวังให้นวนิยายโด่งดังในเชิงพาณิชย์ บางทีเรื่องราวของคุณอาจไม่สามารถบอกเล่าด้วยวิธีอื่น หากนั่นเป็นวิธีเดียวที่สามารถอธิบายประสบการณ์ของตัวเองได้ หายใจเข้าลึกๆ ไม่ต้องสนใจผู้หวังดี และดำดิ่งลงไปในการเขียนจากมุมมองบุคคลที่สองให้สำเร็จเช่นนักเขียนท่านอื่น

ในทางกลับกัน หากผลตอบแทนที่เป็นไปได้นั้นไม่มีน้ำหนักของความเสี่ยง ให้กลับไปที่โพสต์ของเราในก่อนหน้านั้น มุมมองการเขียนบุคคลที่หนึ่ง หรือไปที่โพสต์ถัดไป เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเขียนใน บุคคลที่สาม 

*หากค่ำคื่นหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง ในฐานะวรรณกรรมหลังสมัยใหม่ โดย สุรเดช โชติอุดมพันธ์

แบบฟอร์มทดสอบการเลือกมุมมองการเขียน

ถ้าคุณกำลังเขียนนวนิยาย และยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกมุมมองการเขียนใด เรามีบททดสอบให้คุณได้ทดลองทำก่อนตัดสินใจ บททดสอบนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจว่าคุณชอบมุมมองใดเป็นพิเศษ และจะสามารถวางแผนในการเขียนได้ดีขึ้น

มุมมองไหนที่เหมาะกับนวนิยายที่คุณกำลังเขียน

Leave a Comment

You may also like

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More