มุมมอง บุคคลที่ 1 : First Person Point of View : ผม ฉัน ข้าฯ กู

อะไรคือ มุมมอง บุคคลที่ 1 ผู้เขียนคือผู้สร้างผู้บรรยาย เชื่อมโยงข้อมูลจากมุมมอง บอกเล่าถึงความคิด ประสบการณ์ เมื่อนักเขียนเขียนผู้อ่านจะมองเห็นชีวิตของตัวละคร
First Person Point of View

มุมมอง บุคคลที่ 1 เป็นเสมือนน้ำเสียงจากผู้เขียน นักเขียนสร้างผู้บรรยายของเรื่อง โดยเล่าเรื่องจากมุมมองบุคคลที่หนึ่ง ข้อมูลของเรื่องทั้งหมดมาจากมุมมองผู้บรรยาย ไม่ว่าจะเล่าเรื่องจากอดีต หรือเหตุการณ์ในปัจจุบัน ไม่ว่าจากสิ่งที่เห็น สิ่งที่ผู้บรรยายคิด สรรพนามหลักในงานเขียนคือ “ผม ฉัน ข้าพเจ้า หรือกู” มุมมองบุคคลที่หนึ่ง : First person point of view โดยปกติ ผู้บรรยาย ‘ฉัน’ จะพูดถึงตนเอง บอกเล่าถึงความคิดเห็น หรือประสบการณ์ เมื่อไหร่ก็ตามที่นักเขียนต้องการแบ่งปันชีวิตของคนอื่น คุณจะเห็นผู้บรรยาย ด้วยมุมมองบุคคลที่หนึ่ง ทุกคนที่อ่านเนื้อเรื่องจะมองเห็นชีวิตของตัวละคร

การเขียนในมุมมองบุคคลที่หนึ่งมีลักษณะดังนี้

ลักษณะการเขียนด้วยมุมมองบุคคลที่หนึ่งไม่เคยตกยุค นักเขียนทุกคนเคยผ่านการเขียนจากมุมมองนี้ และหลายคนมีความเชี่ยวชาญในมุมมองนี้เป็นพิเศษจนกลายเป็นธรรมชาติของพวกเขา

ทำไม มุมมอง บุคคลที่ 1 ถึงทรงพลัง

การบรรยายด้วยมุมมมองบุคคลที่หนึ่ง ทำให้ข้อมูลที่นักเขียนนำเสนอมุ่งตรงไปยังผูุ้อ่านโดยตรง มุมมองที่หนึ่งมีประโยชน์มากสำหรับการเล่าเรื่องที่เป็นประสบการณ์ต่างๆ ของตัวละครเอก เหตุการณ์ทั้งหลายของเรื่องถูกสร้างให้เหมือนจริง บางครั้งผู้อ่านจะคิดว่าเป็นเรื่องจริงจากผู้เขียน ตัวละครในมุมมองบุคคลที่หนึ่งจึงทรงพลัง เมื่อกลไกการเล่าเรื่องทำงานถูกต้อง ในฐานะเรื่องเล่าที่เหมือนจริง มีความน่าเชื่อถือ แน่นอนว่าแม้จะมีข้อดีมากมาย แต่มุมมองนี้มีข้อจำกัดในเรื่องมุมมองของผู้บรรยาย ไม่สามารถมองเห็นความคิดของตัวละครตัวอื่น ถ้าจะล่วงรู้ความคิดผู้อื่นก็เป็นเพียงการคาดเดา

การใช้มุมมองนี้จึงไม่เหมาะกับงานเขียนทุกประเภท (genre) มุมมองที่หนึ่งจะไปได้ดีกับเรื่องเล่า ประสบการณ์ชีวิต หรือนิยายกระแสสำนึก ที่เล่าเรื่องจากภายในจิตใจ ในส่วนของมุมมองบุคคลที่สามแบบจำกัดมุมมอง หรือมุมมองพระเจ้า จะไปได้ดีกับเรื่องราวที่มีรายละเอียดสูง เรื่องที่มีตัวละครหลายตัว ดังนั้นก่อนเริ่มต้นงานเขียนทุกหมวดหมู่ ทุกรูปแบบ ทุกประเภท การเลือกมุมมองการเล่าเรื่องมีความสำคัญในลำดับต้นเสมอ

first person point of view
ผม ฉัน ข้าพเจ้า กู

มุมมอง บุคคลที่ 1 ก่อให้เกิดความดื่มด่ำ

หนึ่งในประโยชน์ที่ได้จาก POV มุมมองที่หนึ่งคือความใกล้ชิดระหว่างตัวละครกับนักอ่าน เราเรียกสิ่งนั้นว่า ระยะห่างความสัมพันธ์ นักอ่าน และนักเขียนหลายคนชอบใช้มุมมองบุคคลที่หนึ่งด้วยเหตุนี้ ความชิดใกล้ช่วยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างนักอ่านกับตัวละครมีแรงดึงดูดถึงกัน เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวละคร ผู้อ่านจะเอาใจช่วยให้พวกเขาผ่านวิกฤติเหล่านั้นไปให้ได้ 

การเขียนด้วยบุคคลแรกช่วยให้เข้าถึงความคิด และความรู้สึกของตัวละครได้ง่าย ผู้เขียนจะกลายเป็นตัวละคร และบางครั้ง เมื่อผู้อ่านมีประสบการณ์คล้ายกับตัวละคร พวกเขาก็เป็นเหมือนหนึ่งในตัวละครนั้นไปด้วย หรือบางครั้งคนอ่านจะรู้สึกว่าผู้บรรยายเป็นเหมือนเพื่อน หากโครงเรื่องยิ่งเจาะลึกเข้าไปยังจิตใต้สำนึก มันเป็นการตอบคำถามว่า “ฉันไม่ได้โดดเดี่ยวลำพัง” แต่ยังมีตัวละคร หรือผู้เล่าเป็นเหมือน “ฉัน” ประสบการณ์ดังกล่าวชวนให้เกิดความดื่มด่ำ ซึ่งต่อมาคือทำให้เกิดความรักในหนังสือได้ไม่ยาก

ไม่ได้หมายความว่า มุมมอง บุคคลที่ 2 หรือ บุคคลที่ 3 ไม่สามารถสร้างระยะห่างความสัมพันธ์ แต่บุคคลแรกมีความใกล้ชิดผู้อ่านมากกว่า เนื่องจากทุกๆ ข้อมูลมุ่งสู่ผู้อ่านโดยตรง และเรื่องราวดังกล่าวยังเต็มไปด้วยเรื่องจริง (ในโลกนิยาย) มีความจริงใจ และสร้างความเห็นอกเห็นใจได้ง่ายกว่ามุมมองอื่น หรือที่เรารู้สึก “สงสาร” ตัวละคร เราอยากปกป้องพวกเขาจากอะไรก็ตามที่ทำให้เจ็บปวด หรือบาดเจ็บ ก็ล้วนมาจากการเล่าแบบบุคคลที่หนึ่ง

ในสารคดี หรือบทความ เสียงบรรยายด้วยบุคคลที่หนึ่งให้ความน่าเชื่อถือกับงานเขียน “ฉันรู้ว่าทั้งหมดเป็นความจริง เพราะฉันเห็นสิ่งเหล่านั้นจริงๆ” ผู้อ่านจะได้ประสบการณ์จากข้อมูลหลักชั้นต้นโดยตรง จากผู้รู้ (เห็น) เป็นผู้เล่า สู่ผู้ฟัง แน่นอนว่า เรื่องแต่ง (fiction) แตกต่างจาก สารคดี (non-fiction) ผู้อ่านจะเกิดอคติ ถ้าผู้บรรยายขาดความน่าเชื่อถือ

มุมมอง บุคคลที่ 1 ใน Note from underground

นิยายขนาดสั้นคลาสสิกเรื่อง Note from Underground ของ ฟีโอดอร์ ดอสโตยเยียฟสกี้ เป็นงานที่มีโครงสร้างของเรื่องแปลกประหลาด ภาคแรกเกี่ยวกับคำสารภาพของชายที่อยู่ห้องใต้ถุนนานถึง 40 ปี ส่วนภาคสองส่วนใหญ่เป็นการถกปัญหาทางปรัชญา ในคืนที่ผู้เล่าเรื่องประสบกับพายุหิมะและฝนตกหนัก 

งานชิ้นนี้มีลักษณะพิเศษ เหมือนเป็นงานกึ่งอัตชีวประวัติของดอสโตยเยียฟสกี้ มุมมองการเล่าเรื่องที่เหมือนคำสารภาพในภาคแรก แม้เราจะไม่รู้ว่าเขาสารภาพกับใคร แต่จากน้ำเสียงที่เล่า เราพบว่ามันนำพาให้คนอ่านเข้าถึงความรู้สึกของตัวละคร อาจจะถือได้ว่าถ้อยคำ ความคิดของตัวเอกในเรื่อง Note from Underground เป็นเสียงตัวแทนเสียงเล่าของดอสโตยเยียฟสกี้เอง บางทีเราอาจจะต้องตอบคำถาม ทั้งรับรู้ และปฏิเสธไปพร้อมกัน 

ดอสโตยเยียฟสกี้ชอบให้ตัวละครมีอิสะมีชีวิตเป็นของตัวเอง โดยเฉพาะในเรื่องนี้ผู้เขียนกำกับเอาไว้ว่าเป็นเรื่องแต่ง ตัวละครถูกสมมติขึ้น แต่เมื่อดอสโตยเยียฟสกี้เริ่มบรรยายเรื่อง เรารู้ทันทีว่าเขาอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของ “คนใต้ถุนสังคม” ในนวนิยายเล่มนี้

มุมมมอง บุคคลที่ 1 ทำเรื่องให้น่าสนใจผ่านผู้บรรยายที่โน้มเอียง

การเล่าเรื่องด้วยมุมมอง บุคคลที่หนึ่ง เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมสำหรับสร้างความประทับใจ และแรงดึงดูด ให้กับผู้อ่าน เพราะมุมมองนี้ทำให้ผู้บรรยายเป็นธรรมชาติมากกว่ามุมมองอื่น แต่กระนั้นสิ่งที่ผู้เขียนเล่า เป็นเรื่องราวที่เป็นจริง ซื่อตรง และเป็นกลาง แค่ไหน ผู้บรรยายปิดบังอะไรในตัวเรื่องหรือไม่ หรือเป็นการดึงเอาม่านบางๆ มาปิดไว้ที่ดวงตาผู้อ่าน ทำให้ผู้อ่านมองเห็นความจริงเลือนลางกว่าเดิม

เนื่องจากมุมมองบุคคลที่หนึ่งส่วนใหญ่จะถูกจำกัดมุมมองการเล่า ตัวละครผู้บรรยายอาจจะมีความโน้มเอียงทางความคิด หรือมีมูลเหตุจูงใจส่วนตัว ที่ต้องการปกปิดการกระทำบางอย่าง โดยที่ผู้อ่านไม่สามารถล่วงรู้ถึงตัวตนจริงๆ ของผู้เล่าเรื่อง ถ้าเขาไม่บรรยายสิ่งที่ซ่อนอยู่ เราก็ไม่อาจรู้เรื่องราวจริงๆ ทั้งหมด ผมขอยกตัวอย่างเช่น 

ผมต้องถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนร่วมงาน เพราะพวกเขาอิจฉาในความสำเร็จของผม พวกเขาพยายามทำลายผมทุกวิถีทาง แน่ล่ะ ถ้าผมล้มลงเมื่อไหร่ พวกเขาจะเหยียบผมจมธรณี

ผมต้องถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนร่วมงาน เพราะพวกเขาอิจฉาในความสำเร็จของผม พวกเขาพยายามทำลายผมทุกวิถีทาง แน่ล่ะ ถ้าผมล้มลงเมื่อไหร่ พวกเขาจะเหยียบผมจมธรณี

เราจะเห็นได้ว่าผู้บรรยายชักจูงให้คนเชื่อว่า ตัวเขาโดนกลั่นแกล้ง จากความอิจฉาในความสำเร็จจากเพื่อนร่วมงาน ผู้เขียนสามารถวางอุบายได้ง่ายๆ ผ่านผู้บรรยายที่มีความโน้มเอียงทางความคิด นี่เป็นการเล่าที่ไม่ซื่อสัตย์ แต่เขาก็สร้างความสำคัญให้กับตัวละคร ผู้อ่านจะพบว่าผู้บรรยายบอกเล่าเรื่องราวไม่หมด (หรือไม่) นั่นจะเป็นคำถามตลอดเวลาสำหรับผู้อ่าน และมันจะสร้างความน่าตื่นเต้นเป็นพิเศษ 

เมื่อเนื้อเรื่องมาถึงครึ่งทาง แล้วคุณพบว่าผู้บรรยาย ไม่ได้เป็นอย่างที่เขาเล่า ดังตัวอย่างด้านบนเช่น การที่เขาโดนเพื่อนร่วมงานกลั่นแกล้ง เป็นเพราะเขาต้องการใช้คนอื่นเป็นสะพานไปสู่ความสำเร็จ เขาเหยียบหัวคนอื่นเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง เขาเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่หมด ทำให้ผู้อ่านเห็นพฤติกรรมจากมุมมองของเขาเพียงมุมเดียว

แม้การเล่าเรื่องที่มีความโน้มเอียงทางความคิดจะเป็นอันตรายกับหนังสือประเภทสารคดี เพราะจะทำให้สารคดีขาดความน่าเชื่อถือ แต่สำหรับเรื่องแต่ง ผู้บรรยายที่มีความโน้มเอียง ทำให้ผู้อ่านอยู่ระหว่างความจริง กับความลวง ความไม่น่าเชื่อถือจึงเป็นกลไกหนึ่งในงานวรรณกรรมที่สามารถสร้างความน่าสนใจขึ้นมาได้ (ถ้าทำให้ถูกต้อง)

สำหรับนักเขียนมือใหม่ (หรือนักเขียนที่มีประสบการณ์สูงก็ตาม) หากคุณต้องการเล่นกับมุมมองบุคคลที่หนึ่ง โดยใช้เทคนิคเล่าเรื่องให้ผู้บรรยายมีความโน้มเอียงทางความคิด หากทำได้ไม่ถึง ตัวละครของคุณอาจจะไม่น่าเชื่อถือ โลกนิยายที่คุณสร้างอาจไม่สมจริง แทนที่จะกลายเป็นซ่อนเร้นความลึกลับ กลับสร้างความตึงเครียด และทำให้นิยายเปลี่ยนไปจากเดิม

เปลี่ยนข้อจำกัดในการรับรู้ไปสู่การสร้างสรรค์

สิ่งที่ดูเหมือนเป็นข้อจำกัดของ POV จากมุมมองบุคคลที่หนึ่ง คือการถูกจำกัดมุมมอง ผู้อ่านสามารถรับรู้ข้อมูลได้เพียงมุมมองเดียวจากผู้บรรยาย แต่คุณสามารถเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส เปลี่ยนข้อจำกัดให้กลายเป็นงานสร้างสรรค์ อย่าลืมว่านิยาย เรื่องสั้น และบทกวี เป็นงานศิลปะอย่างจริงแท้ แน่นอนว่ามีศาสตร์ และไวยากรณ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ บางครั้งการสร้างสรรค์ที่ยอดเยี่ยมคือการแหกกฎ หรือฝ่าข้อจำกัดที่มีเพื่อสร้างทฤษฏีใหม่ๆ หรือความสดใหม่ในเรื่องเล่า

คุณอาจจะเคยพบผู้บรรยายที่เป็นเหมือนมุมมองพระเจ้า โดยยืนดูเหตุการณ์และกลายเป็นผู้เล่าเรื่องราวทั้งหมด (ซึ่งแน่นอนจะมีประเด็นเรื่องความโน้มเอียง และความเป็นกลางของผู้เล่าเข้ามาเกี่ยวข้อง) หรือการให้สัตว์เลี้ยงเป็นผู้เล่าเรื่อง รวมถึงการใช้ตัวละครหลายๆ ตัวเล่าเรื่องของตนจากความทรงจำที่มีความขัดแย้งกัน (ราโชมอน) หรือแม้แต่ผู้บรรยายจะเป็นวิญญาณ พระเจ้า ผู้รอบรู้ทุกสิ่งอย่าง

The Lovely Bones : Alice Sebold

มุมมอง บุคคลที่ 1 ในแบบมุมมองพระเจ้า (First person omniscient)

ผู้บรรยายบุคคลที่หนึ่งที่สามารถรอบรู้ในทุกเรื่องราว เข้าถึงทุกความคิด การกระทำ และแรงจูงใจของตัวละครอื่น อย่างที่ผมกล่าว มีกฎบางข้อได้รับการยกเว้น แต่กระนั้นวิธีนี้เป็นเรื่องยากที่จะทำให้นิยายมีความน่าเชื่อถือ มีโอกาสสูงที่จะทำให้เรื่องราวในเรื่องขาดความสมจริง เพราะโดยธรรมชาติมนุษย์เราไม่สามารถมีเจโตปริยญาณ หรือล่วงรู้จิตใจผู้อื่นได้ 

อย่างไรก็ตามในบางกรณี มีนิยายที่น่าสนใจหลายเรื่อง ใช้บุคคลที่หนึ่งแบบมุมมองพระเจ้าเล่าเรื่อง ตัวอย่างเช่น The Lovely Bones เขียนโดย Alice Sebold นวนิยายเรื่องแรกของเธอกลายเป็นหนังสือขายดีทันทีที่วางขาย ในตอนเปิดเรื่องผู้บรรยายบุคคลที่หนึ่ง “ฉัน” แนะนำตัวเองด้วยการบอกชื่อและนามสกุล ซูซี่ถูกข่มขืน และฆาตกรรม เธอเล่าเรื่องตัวเองผ่านวิญญาณที่อยู่บนสวรรค์

อลิซ ซีโบลด์ ไม่เชื่อว่าเมื่อมนุษย์จะต้องสูญเสียและเจ็บปวด ต้องรวดร้าวไปตลอดชีวิต ในชีวิตจริงเธอถูกข่มขืนในสมัยเรียนมหาวิทยาลัย เธอไม่คิดสั้น มีสติตลอดเวลาตอนที่โดนข่มขืน เธอไม่ขัดขืนเพราะเกรงว่าจะถูกทำร้ายถึงชีวิต เธอเชื่อว่า “คนที่ขอสู้จนตัวตายดีกว่ายอมถูกข่มขืนเป็นเรื่องเสียสติ เธออาจจะโดนย่ำยีเป็นพันครั้งดีกว่าต้องตาย” เธอเป็นนักสู้ที่ยืนหยัดเพื่อมีชีวิต อลิซไม่เชื่อในเรื่องการแก้แค้น เพราะสิ่งนั้นไม่ทำให้พ้นทุกข์ และจะส่งผลให้มีความทุกข์เพิ่มขึ้น

ใช้สำนวนร้อยแก้วเป็นตัวขับเคลื่อนตัวละคร

การขับเคลื่อนตัวละครด้วยสำนวนร้อยแก้วที่เรียบง่ายและธรรมดา เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียง หรือรูปแบบ ทั้งหมดได้รับการกำหนดโดยผู้บรรยาย รวมถึงโลกทัศน์ แรงจูงใจ และความชั่วร้าย ในทุกจุดของโครงเรื่อง ไม่เพียงแค่การเปิดเผยจิตใจภายในเท่านั้น แต่สไตล์ที่มีความเรียบง่าย ยังสามารถเข้าถึงความรู้สึกของตัวละคร สร้างเอกลักษณ์เฉพาะของพวกเขาขึ้นมาได้อย่างชัดเจน

The Adventures of Huckleberry Finn : Mark Twain

การผจญภัยของฮัคเคิลเบอร์รี่ ฟินน์ โดยมาร์ก ทเวน เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในการใช้ POV มุมมองบุคคลแรกที่ใช้น้ำเสียงและสไตล์ที่เรียบง่าย นิยายเรื่องนี้เล่าถึงการผจญภัยของเด็กหนุ่มที่ล่องไปตามแม่น้ำมิสซิงซิปปี้พร้อมกับทาสที่หลบหนี 

นอกจากมุมมองของฮัคค์ และภาษาที่เขาใช้แล้ว ข้อความนี้ไม่เพียงจับใจวิญญาณแบบเด็กๆ ของผู้บรรยายเท่านั้น แต่ยังจับความรู้สึกของห้วงเวลาในยุคสมัยนั้น รวมถึงสถานที่ที่เป็นฉากของเรื่องได้แตกต่างจากนวนิยายเรื่องอื่น แรงกระตุ้นเร้าดังกล่าวอวลอยู่ตลอดทั้งเรื่องจนกลายเป็นจุดแข็งของฮัคเบอร์รี่ ฟินน์ ในช่วงหลายปีนับจากที่หนังสือเล่มนี้เคยตีพิมพ์ออกมา

มุมมองภายนอกทำให้เรื่องราวเผยออกมา

แม้การใช้มุมมองบุคคลแรกจะเน้นไปที่การบรรยายชีวิตจากห้วงคิดภายใน–ความรู้สึกและกระแสสำนึก แต่บางครั้งการบรรยายด้วยบุคคลที่หนึ่งก็ไม่ได้หมุนรอบตัวตัวละครหลักเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการถ่ายทำ (ด้วยกล้องถ่ายหนัง) ต่อสิ่งที่อยู่รอบตัวด้วยเหมือนกัน

มุมมองบุคคลที่สามสามารถเล่าเรื่องตัวละครอื่นได้ โดยไม่ต้องถูกกักกันด้วยเสียงภายใน  สำหรับบุคคลที่หนึ่ง เมื่อผู้บรรยายต้องเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตัวละครอื่น พวกเขาไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรง ตัวละครเหล่านั้นมีอิสระ พวกเขาอาจมีความโน้มเอียงในการเล่าโดยไม่จำต้องแบกรับเหมือนผู้บรรยาย ดังนั้น ขณะที่ผู้อ่านได้รับข้อความจากมุมมองภายในของผู้บรรยาย ผู้อ่านก็ได้รับมุมมองภายนอกจากเหตุการณ์สำคัญจากตัวละครอื่น

Mockingbird : Harper Lee

To Kill a Mockingbird เป็นเรื่องราวการพิจารณาคดีชายผิวสีที่ถูกกล่าวหาว่าข่มขืนผู้หญิงผิวขาวในยุค 1930 ทางตอนใต้ของอเมริกา เล่าโดยหญิงสาวที่ชื่อ สเกาซ์ เมื่อมองย้อนกลับไปถึงประสบการณ์ของตัวเองในวัย 6 ขวบของเธอ

ในขณะที่สเกาซ์เป็นศูนย์กลางของนวนิยายเรื่องนี้ ในหลายๆ ด้าน การกระทำของเธอสร้างความประทับใจให้กับผู้อ่าน แต่ดรามาที่แท้จริงเกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดี และส่วนใหญ่เป็นโลกของผู้ใหญ่–โลกที่เธอเข้าใจได้ก็ต้องรอจนกระทั่งเติบโตขึ้นมา เราจะเห็นได้ว่าสเกาซ์ให้ความเคารพและมองเห็นคุณค่าทางความคิดของแอตติคัด–พ่อของเธอมากเพียงใด เป็นการบอกใบ้ว่าเขาทำหน้าที่เป็นผู้นำทางทางศีลธรรมอันแข็งแกร่งได้อย่างไร แม้ว่าคนอื่นๆ ในเมืองจะต่อต้านเขาก็ตาม

ข้อผิดพลาด เมื่อเขียนด้วย มุมมอง บุคคลที่ 1

การเขียนแบบ บุคคลที่หนึ่ง เป็นวิธีการเขียนแรกที่เราเรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก นั่นคือการเขียนสมุดบันทึก การจดบันทึกเป็นเหมือนเทคนิคการเล่าเรื่องแบบอื่นๆ ที่มาพร้อมกับความท้าทาย แม้ความท้าทายนี้จะกลายมาเป็นบันไดก้าวแรก ที่สร้างโอกาสให้ความคิดสร้างสรรค์ถือกำเนิดขึ้นมา แต่สิ่งสำคัญ คุณต้องเรียนรู้วิธีกำจัดหลุมพราง และแนวคิดอนุรักษ์นิยมทิ้งไป ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เราจะสรุปต่อไปในบทด้านล่าง

ผู้บรรยายที่รอบรู้แต่เฉื่อยชา

เมื่อตัดสินใจใช้มุมมองบุคคลที่หนึ่งเล่าเรื่อง ปัญหาแรกคือ ขอบเขต – ผู้บรรยายจะสามารถล่วงรู้ข้อเท็จจริงต่อสิ่งที่เกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงไร

คำตอบคือ หากการบรรยายแบบมุมมองบุคคลที่หนึ่งกล่าวถึงชีวิตภายในของตัวละครอื่น จะต้องพิจารณาว่า การบรรยายนั้นเป็นการคาดเดา หรือการรับรู้ของตัวละครในมุมมองที่ไม่สมบูรณ์ ข้อมูลนั้นอาจไม่ใช่ความคิดของตัวละครอื่นที่ถูกต้องก็ได้ หรือเป็นความรู้สึกจริงๆ ของพวกเขา

คุณอาจจะคิดว่าสิ่งนี้เป็นข้อจำกัดที่ขวางการบรรยายให้สมบูรณ์ แต่นั่นเป็นกฎที่ทำให้สิ่งที่คุณเล่ามีความสมจริง หากคุณต้องการแสดงให้เห็นว่าตัวประกอบคิดอย่างไรในฉากใดฉากหนึ่งของเรื่อง อย่างไรก็ตาม ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า ผู้บรรยายของคุณสามารถแสดงความรู้สึกถึงตัวละครอื่นๆ ได้ เพียงแต่ว่าผู้บรรยายของคุณต้องเป็นผู้สังเกตการณ์ ตัวอย่างเช่น

ผมบอกกับสมศรีในสิ่งที่ได้ยินมา เกี่ยวกับข่าวฉาวๆ ของเธอ เธอรู้สึกประหม่ากับสิ่งที่ผมบอก

แน่นอนว่าผู้บรรยายบุคคลแรกของคุณไม่รู้ว่าสมศรีรู้สึกอย่างไร (เว้นแต่ว่าเขาจะมีเจโตปริยญาณ) แต่เพื่อถ่ายทอดความคิดในแบบเดียวกัน คุณอาจจะเขียนว่า :

ขณะที่ผมบอกข่าวที่เกี่ยวกับเธอ สมศรีเหม่อมองออกไปด้วยความประหม่า

The tin drum by Gunter Grass

กึนเทอร์ กราสส์ บรรยายจากมุมมองเด็ก โดยใช้บุคคลที่หนึ่ง แต่เรื่อง กลองสังกะสี เป็นนวนิยายเหนือจริง ผู้เขียนใช้ตัวเอกของเรื่องที่หยุดการเจริญเติบโตทางร่างกายตอนอายุสามขวบ ร่างกายของเขาหยุดเจริญเติบโตแบบนี้ไปอีกหลายปี เป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อถึงการไม่ยอมจำนน หรือคล้อยตามสังคม โดยไม่ร่วมประหัตประหารชีวิต และไม่เข้าร่วมสงคราม เมื่อตัวเอกโตขึ้น เขายึดอาชีพช่างสลักหินหลุมฝังศพ เมื่อเขาเติบโต แต่ร่างกายก็ยังเตี้ยล่ำ พิการ บ่งบอกว่าหลังสงครามชีวิตที่เป็นอยู่เต็มไปด้วยความแร้นแค้น และการเป็นช่างสลักหินหลุมศพ ก็อยู่ท่ามกลางซากแห่งความตาย

ผู้บรรยายสลับกันเล่าเรื่อง

มุมมองบุคคลที่หนึ่งไม่จำเป็นต้องยึดติดกับว่า ตัวละครคนเดียวเป็นผู้เล่าตลอดทั้งเรื่อง นิยายยอดนิยมหลายเล่มใช้การบรรยายบุคคลที่หนึ่งแบบหลายตัว เพื่อขยายข้อจำกัด และขอบเขตให้กว้างขึ้น ถ้าทำให้ถูกต้อง จะเป็นการเพิ่มความหลากหลาย และความซับซ้อนในการเล่าเรื่องของคุณ ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านชอบ และเพลิดเพลินไปกับการติดตามเรื่องเป็นอย่างมาก แต่วิธีการนี้เป็นวิธีการที่ซับซ้อน มีความยากในการสร้างโครงสร้างของเรื่อง และถ้าคุณยังไม่ชำนาญพอก็อาจจะสับสนกับตัวเรื่อง

การเล่าเรื่องแบบบุคคลที่หนึ่งเป็นที่ชื่นชอบของนักเขียน เนื่องจากเสียงเล่าทำให้เหมือนเรื่องจริง เรื่องในโลกนิยายเหมือนโลกจริงๆ ที่ผู้เขียนไปประสบพบเจอ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณให้ผู้บรรยายบุคคลที่หนึ่งหลายๆ ตัว ด้วยสำนวน วลี โวหาร เหมือนๆ กัน จะทำให้เกิดปัญหา เนื่องจากดูไม่สมจริง ตัวละครแตกต่างจะสำนวนกลับเหมือนคนเดียวกัน (นักเขียนผู้บรรยาย) สิ่งที่คุณต้องทำคือต้องสร้างสไตล์ที่แตกต่างกันของตัวละครแต่ละตัว 

กายวิภาคของความเศร้า นิยายเรื่องนี้ของผมใช้การเล่าด้วยบุคคลที่หนึ่งหลายตัว ตัวละครไม่มีชื่อเช่น ช่างภาพ แม่บ้าน นางแบบ อาจารย์มหาวิทยาลัย พนักงานภาคพื้นดิน และนักเขียน พวกเขาสัมพันธ์กันผ่านร่องรอยกาลเวลานับสิบปี ลาจากกันและพบกัน สูญเสีย บอบช้ำ เจ็บปวด ผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองที่เต็มไปด้วยบาดแผล และยังคงทิ้งแผลเป็นความเจ็บปวดอย่างไม่อาจลืม

ผู้บรรยายของเรื่อง “ผม” ช่างภาพ ชีวิตจากอดีตคือความบอบช้ำ เขาอาจจะรักใครสักคน แต่เขาก็ไม่เคยรัก เขาทำให้คนอื่นรู้สึกแล้วจากไป “ฉัน” แม่บ้าน เธอเก็บงำความรักของตน เธอตัดสินใจเดินทางเพื่อตามหาตัวตนของเธอ หลังจากที่เธอพบว่าไม่ประสบความสำเร็จจากความสัมพันธ์ที่ไปไม่ถึง และกำแพงบางๆ ที่กันความรู้สึกให้ออกห่าง กุญแจของกายวิภาค ทำให้ผู้อ่านต้องการแสวงหาปมภายในใจของตัวละคร

มุมมอง บุคคลที่ 1

อุปสรรคเมื่อต้องบรรยายถึงตนเอง

ในการใช้บุคคลที่หนึ่ง คุณอาจจะประสบปัญหาในการอธิบายตัวเองผ่านสายตาผู้บรรยาย ผู้บรรยายสามารถเขียนถึงตัวละครอื่นๆ ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นฉากทุกฉาก รายละเอียดซับซ้อนต่างๆ ความสัมพันธ์ รวมถึงรูปลักษณ์ภายนอก แต่ผู้บรรยายจะบรรยายถึงตัวเองได้ไม่เต็มที่ เหมือนไม่สามารถมองเห็นตัวเอง เช่นเดียวกับที่ดวงตาของเราไม่สามารถมองเห็นจมูก หรือด้านหลังของตัวเอง

อุปสรรคในการบรรยายถึงตนเอง อาจจะทำให้รู้สึกถึงความไม่สมจริงในบางฉาก แต่เพื่อให้ผู้อ่านได้มองเห็นภาพของผู้บรรยายที่เป็นรูปธรรม หรืออธิบายรูปลักษณ์ภายนอก คุณอาจจะใช้วิธีให้ผู้บรรยายส่องกระจก และอธิบายผ่านความรู้สึกภายใน

เมื่อผมมองเข้าไปในกระจก สำรวจตรวจตราชุดที่สวม เน็คไทผ้าไหม สูทเข้มสีกรมท่าของอาร์มานี แน่นอนว่าชุดพวกนี้ไม่ได้มีความหมายกับผมมากไปกว่าคนธรรมดาคนหนึ่ง เครื่องแบบนี้เป็นเพียงคุณค่าภายนอก ผมก็เป็นเหมือนคนอื่นๆ ไม่ต่างกัน

ในสถานการณ์แบบนี้ คำถามคือ การบรรยายรูปลักษณ์ภายนอกของผู้บรรยายมีความสำคัญกับเรื่องแค่ไหน แม้ว่ามันจะเกี่ยวข้องกับปมปัญหาภายในของพวกเขา หรือคุณสมบัติที่ทำให้ดูฉลาด หรือมีบุคลิกภาพที่ดี แต่การบรรยายแบบนี้ก็ดูอึดอัด วิธีการที่ดีกว่านี้คือการผสมผสานวิธีการเล่าเรื่องในรูปแบบต่างๆ ให้เหมาะสม ใช้การแสดงที่ไม่บอก อาจจะใช้โครงเรื่อง บทสนทนาตอบโต้ จะช่วยลดความอึดอัดในการอธิบายตัวเองได้ดีกว่า

First Person Point of View
Point of View Flow Chart

ประโยคที่ใช้แว่นการกรองผ่านผู้บรรยายมากเกินไป

มาถึงบทสุดท้ายของ มุมมองบุคคลที่หนึ่ง ปัญหาที่นักเขียนประสบมากที่สุดคือการใช้แว่นการกรองผ่านผ่านผู้บรรยายมากเกินไปเช่น “ฉันเห็น” หรือ “ฉันได้ยิน” ตัวอย่างแบบนี้เป็นข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในงานเขียนเชิงร้อยแก้ว 

ประสบการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากตัวผู้บรรยาย ดังนั้นมันจึงเปล่งเสียงออกมาจากตัวพวกเขา หากผู้เล่าเรื่องต้องการถ่ายทอดประสบการณ์ของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องใช้โครงสร้าง “ฉันเห็นแล้ว” หรือ “ฉันได้ยิน” ซึ่งเป็นภาษาที่สร้างระยะห่าง ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างตัวละครกับผู้อ่าน 

เพื่อไม่ให้ประสบปัญหาดังกล่าว คุณไม่จำเป็นต้องใส่สำนวนลงท้ายประโยคที่เป็นความคิด รวมถึงบทสนทนาสำหรับบุคคลที่หนึ่ง คุณจะต้องระบุให้ชัดเจนว่ากำลังเขียนถึงความคิดของใคร ของตัวผู้บรรยาย หรือตัวละครอื่น 

ตัวอย่างง่ายๆ คือ “นกแก้วส่งเสียงร้องดังมาก” กับ “ฉันได้ยินเสียงนกแก้วร้องดังมาก” 

ประโยคแรก ทำให้คุณอยู่กลางประสบการณ์ที่ได้ยินจากตัวเอง ส่วนประโยคที่สอง เป็นบทสนทนา อาจจะมีใครสักคนหนึ่งมาบอกกับคุณ ถ้าคุณจะเขียนแบบนี้ จำเป็นต้องระบุให้ชัดว่าใครเป็นคนพูด ทั้งหมดนี้คนอ่านรับรู้อยู่แล้วว่า ข้อมูลทั้งหมดมาจากการบรรยายโดยบุคคลที่หนึ่ง ดังนั้นการใช้ความรู้สึกเชิงประจักษ์ของตัวละครจึงเป็นนัยนั่นเอง

ถึงตอนนี้คุณได้เรียนรู้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับมุมมองบุคคลที่ 1 แล้ว คุณอาจจะลองกลับไปทบทวน คู่มือในการเลือกทุกมุมมอง ในโพสต์ก่อนหน้านี้ ถ้าคุณยังกระหายที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ มุมมอง บุคคลที่ 2 และ มุมมองบุคคลที่ 3 อย่างละเอียดในโพสต์ถัดไป

แบบฟอร์มทดสอบการเลือกมุมมอง

ถ้าคุณกำลังเขียนนวนิยาย และยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกมุมมองการเขียนใด เรามีบททดสอบให้คุณได้ทดลองทำก่อนตัดสินใจ บททดสอบนี้จะช่วยให้คุณเข้าใจว่าคุณชอบมุมมองใดเป็นพิเศษ และจะสามารถวางแผนในการเขียนได้ดีขึ้น

มุมมองไหนที่เหมาะกับนวนิยายที่คุณกำลังเขียน

[penci_review]
Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *