Table of Contents
กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ: สัจจะนิยมมหัศจรรย์
กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ: สัจจะนิยมมหัศจรรย์ บทสัมภาษณ์ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ในโครงการฉลองความสัมพันธ์ 35 ปี โคลัมเบีย -ไทย
เกี่ยวกับสุชาติ สวัสดิ์ศรี
- ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ 2554 ผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการ “จุดประกายความสนใจในงานของกาเบียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel García Márquez)
ให้กับวงการวรรณกรรมไทย และมีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้สัจนิยมมหัศจรรย์กลายเป็นทางเลือกหนึ่งของวรรณกรรมไทยร่วมสมัยยุคหลัง 6 ตุลา ในปี 2520 - บรรณาธิการบริหารนิตยสาร โลกหนังสือ รายเดือนที่เผยแพร่ความเคลื่อนไหวของวรรณกรรมต่างประเทศและเปิดมุมมองเกี่ยวกับลาตินอเมริกาให้แก่ผู้อ่านไทย
- คอลัมน์ “สิงห์สนามหลวง” ฉบับประจำเดือนธันวาคม 2521 มีการนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติกาเบรียล การ์เซีย มาเกซ และเนื้อหาในนวนิยายเรื่อง หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว เป็นครั้งแรก และหลังจากที่กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซได้รับรางวัลโนเบลไม่นาน ก็มีการจัดทำฉบับ “ลาตินอเมริกา: วรรณกรรมกับการเมือง” ที่กล่าวถึงสัจนิยมมหัศจรรย์ว่าเป็นลักษณะเฉพาะตัวของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซและวรรณกรรมลาตินอเมริกา
- ในฐานะบรรณาธิการนิตยสาร ช่อการะเกด เขาก็เป็นผู้ผลักดันให้นักเขียนไทยรุ่นใหม่หันมาสนใจแนวการเขียนดังกล่าว
เหตุใดคุณจึงสนใจแนวเขียนสัจนิยมมหัศจรรย์ของลาตินอเมริกาและผลงานของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นวนิยายเรื่อง หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว
ผมรู้จักงานของมาร์เกซก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ก่อนหน้านั้นเคยรู้จักงานเขียนลาตินอเมริกา เช่น ฆอร์เฆ หลุยส์ บอร์เคส (Jorge Luis Borges) ฆวน รุลโฟ (Juan Rulfo) และปาโบล เนรูดา [Pablo Naruda] ช่วงผมทำหนังสือ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ มีเพื่อนนักข่าว Bangkok Post ซึ่งเป็นหนอนหนังสือ ชื่อบ๊อบ ฮอลิเดย์ (Bob Holiday) เขาเป็นนักอ่านวรรณกรรมตัวยงและมีความสนใจงานเขียนทั้งของไทยและต่างประเทศ และที่ร้านดวงกมลของคุณสุข สูงสว่างก็มีหนังสือทั้งจากภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ผมพบงานของนักเขียนต่างประเทศหลายคน รวมทั้งของมาร์เกซที่เป็นฉบับภาษาอังกฤษด้วย ตอนนั้นผมเอียงไปทางวรรณกรรมเพื่อชีวิตในความหมายของงานแบบสัจจะสังคม [Social Realism] และสัจจะสังคมนิยม (Socialist Realism) จำได้ว่าคุณบ๊อบเคยวิจารณ์ว่าในบรรดาวรรณกรรมสัจนิยมทั้งหลายนั้น แนวการเขียนแบบสัจจะสังคมนิยมนั้นน่าเบื่อเป็นที่สุด และเขาได้เอ่ยแนะนำนักเขียนลาตินอเมริกาให้ทราบหลายคน เช่น โฆเซ โดโนโซ (José Donoso) และกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ผมจึงซื้อ The Obscene Bird of Night และ One Hundred Years of Solitude ฉบับภาษาอังกฤษเก็บไว้ ต่อมาเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ผมต้องหลบออกจากบ้าน และเลือกเอาหนังสือไปเล่มเดียวคือ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว นึกย้อนกลับไปอาจเป็นเพราะคำว่า “ความโดดเดี่ยว” ที่เป็นชื่อของหนังสือก็ได้ที่ทำให้ผมตัดสินใจเอาหนังสือเล่มนี้ไป คิดในใจว่าคงใช้เวลาอีกนานกว่าจะได้กลับมาใช้ชีวิตปกติกับเพื่อนๆที่หลบหนีเข้าป่า ได้ถกเถียงและได้นั่งดื่มเบียร์คุยกันเหมือนเดิม คิดไปว่าอาจใช้เวลาถึงร้อยปีก็เป็นได้ และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือหนังสือเล่มนี้ไม่มีใครรู้จัก ดังนั้นจึงน่าจะปลอดภัยกว่าเอาหนังสือที่มีความสุ่มเสี่ยงอย่างคาร์ล มาร์กซ์ หรือเหมา เจ๋อ ตุงออกจากบ้าน
หลัง 6 ตุลา ผมมีปัญหาทางความคิดกับกลุ่มซ้ายจัดที่สนับสนุนวรรณกรรมแนวสัจจะสังคมนิยม แม้ผมจะเอียงไปทางสังคมนิยมจากที่ผมทำหนังสือสังคมศาสตร์ปริทัศน์ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะเห็นด้วยกับวิธีการซ้ายจัดโดยเฉพาะมุมมองการสร้างงานศิลปะที่ต้องมีความเป็นอิสระ หลากหลายและไม่ซ้ำซากเป็นสูตรสำเร็จ ศิลปะจะเพื่ออะไรก็ตามมันต้อง “มีชีวิต” ให้ได้ก่อน ระยะแรกผมชื่นชมการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์สังคมนิยมของเช เกบารา (Che Guevara) และจิตร ภูมิศักดิ์ และเพราะ เช เกบารานี่ก็ได้ที่ทำให้ผมสนใจเรื่องราวในลาตินอเมริกาและการ์เซีย มาร์เกซ ผมคิดแตกต่างจากพวกซ้ายจัดแบบเหมา ซึ่งเป็นอุดมการณ์ของผู้นำในพรรคคอมมิวนิสต์ไทยระยะนั้น และมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำงานศิลปะด้วย ในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่าศิลปะเป็นการแสดงออกที่อิสระ ส่วนการเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นอีกเรื่องที่ต่างออกไป ศิลปะมีตัวตนของมันเอง ศิลปะควรมีความหลากหลาย เข้มข้นและไม่จำต้องให้คำตอบแบบสูตรสำเร็จ ผมถูกมองว่าเป็นพวกมีปัญหาทางความคิด สำหรับผมศิลปะควรมีความริเริ่มและทรงพลัง มาริโอ บาร์กัส โยซา (Mario Vargas Llosa) บอกว่านักเขียนควรจะเขียนตามความรู้สึกของเขาจริงๆ เฮ็มมิงเวย์ (Hemingway) ก็เคยพูดแบบนี้ ผมจึงคิดมาเรื่อยว่านักเขียนที่สร้างเรื่องให้มีพลังได้นั้นต้องนำเสนอสิ่งที่เขารู้สึกจริงๆ วิธีการอาจมีรายละเอียดแตกย่อยออกไปได้ไม่สิ้นสุดและไม่ขึ้นต่ออุดมการณ์ทางการเมือง ผมเลยถูกวิจารณ์ว่าเป็นพวกไม่เลือกข้าง เป็นศิลปินผู้เผชิญกับโรคประจำศตวรรษ (Mal du siècle) เห็นอะไรแปลกแยก ใช้สัญลักษณ์ซับซ้อน ไม่พูดตรงไปตรงมา แต่ที่สำคัญเขาอ้างจิตร ภูมิศักดิ์มาด่าผมทางอ้อมว่าเป็นพวกมองไม่เห็นชัยชนะของประชาชน
สำหรับผม “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” เป็นรูปแบบหนึ่งของนิยายการเมืองโดยนัย แต่วิธีเล่ามีความแตกต่างไปจากพวกสัจจะสังคมนิยม สำหรับผมเป็นสิ่งที่น่าพอใจ เพราะหนังสือเล่มนี้มีส่วนสะท้อนยุคสมัยของผมและความสนใจบางอย่างของผม เรื่องในมากอนโดก็สะท้อนอะไรคล้ายๆประวัติศาสตร์การเมืองของไทย เรื่องความขัดแย้งทางความคิดที่นำไปสู่สงครามกลางเมืองและความลุ่มหลงอำนาจ เรื่องการต่อสู้กันระหว่างขนบแบบเก่ากับความคิดเปิดกว้างแบบสมัยใหม่ แม้จะมีนิยายเล่มอื่นที่นำเสนอเรื่องเหล่านี้อยู่ไม่น้อย แต่ผมสนใจ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว เพราะมันให้ทางออกบางอย่างในประเด็น “ศิลปะมีชีวิต” ที่มาพร้อมกับรูปแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ แต่เดิมผมเคยบัญญัติศัพท์ Magical Realism ว่า อัตถนิยมมายา คือเห็นว่ามันเป็นตัวแบบของงานสัจนิยมสมัยใหม่ที่ไม่อยู่ในขนบเดิม และเป็นตัวแบบของงานทดลองที่ไม่ใช่ “วรรณกรรมเพื่อชีวิต” แบบตื้นเขิน หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว สามารถเล่าให้เห็นภาพได้อย่างมหัศจรรย์ ทำให้สามารถบอกกับตัวเองว่าเดินมาถูกทางแล้วในสิ่งที่เรียกว่า อำนาจวรรณกรรม ในความเห็นของผม สัจนิยมมหัศจรรย์ยังเป็นงานแบบสัจนิยม ที่การเขียนเรื่องสังคม-การเมืองไม่จำเป็นต้องเดินตามสูตรเพื่อชีวิตที่มีความเป็นกลไกสูง เช่นตัวละครเป็นวีรบุรุษนักปฏิวัติ (revolutionary hero) เป็นคนดี เป็นคนมองโลกในแง่บวก ตอนจบมีแต่ชัยชนะและความฮึกเหิม แต่สัจนิยมมหัศจรรย์กลับมีลักษณะไปทาง anti-hero ตัวละคร ไม่ใช่คนดีพร้อม เพราะเรื่องของชีวิตมันเป็นสีเทาๆมากกว่าสีขาวจัดดำจัด นอกจากนั้นสัจนิยมมหัศจรรย์ยังมีวิธีการที่ตรงกับความสนใจของผม คือวิธีการแบบเหนือจริง สิ่งที่เป็นความมหัศจรรย์เหล่านี้อยู่ในรากเหง้าของผมมานานตั้งแต่ตามแม่ไปวัดตอนเด็กๆ และได้ดูภาพจิตรกรรมฝาผนัง เช่น ภาพคนปีนต้นงิ้ว หรือเรื่องราวประเภทคน ผี ปีศาจทั้งหลาย
การ์เซีย มาร์เกซ เคยบอกว่างานเขียนนิยายเป็นงานรอง ส่วนงานหลักของเขาคืองานหนังสือพิมพ์ เพราะเป็นเหมือนพื้นฐานแบบโลกที่สามที่คนในสายงานด้านหนังสือยังชีพด้วยการทำงานหนังสือพิมพ์ ในไทยเองก่อนหน้าปี พ.ศ. 2500 ความเป็นนักเขียน นักประพันธ์ นักหนังสือพิมพ์จะอยู่ในร่างเดียวกัน เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์, มาลัย ชูพินิจ หรือ ยาขอบ บุคคลเหล่านี้ทำงานหนังสือพิมพ์เพื่อยังชีพ แต่เขียนนิยายเพื่อสนองความต้องการของตนเอง กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซก็คงจะรู้สึกแบบเดียวกัน งานหนังสือพิมพ์ทำให้เขามีมุมมองเชิงสมจริง แต่งานเขียนนิยายทำให้เขาเป็นอิสระไปจากความสมจริง เช่นใช้วิธีการที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าแบบเกินจริง ตำนาน จินตนาการพิสดาร และส่วนใหญ่มาจากมุขปาฐะที่เติมเสริมต่อกันจากคนรุ่นก่อน ทำให้ความเหนือจริงกลายเป็นความสมจริงอย่างมีชั้นเชิง และตรงนี้เองที่ผมคิดว่าเป็นหัวใจของคนทำงานศิลปะที่ต้องการความเป็นอิสระ
คุณคิดว่ามีงานเขียนของไทยที่มีลักษณะคล้ายสัจนิยมมหัศจรรย์ก่อนที่ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว จะเป็นที่รู้จักในไทยหรือไม่
เรื่องเล่าที่มีลักษณะ “มหัศจรรย์” นั้นมีอยู่ในทุกสังคม ทุกชนชาติทั้งเอเชีย ยุโรป อาฟริกา ลาตินอเมริกา ในแง่เรื่องเล่าของไทยแต่เดิม เราก็มีความมหัศจรรย์ปรากฏอยู่ในรูปแบบของชาดก ตำนาน พงศาวดาร นิทานพื้นบ้าน หรือเพลงกล่อมเด็กในรูปมุขปาฐะ เพราะเรื่องราวไม่ได้ถูกบอกเล่าตามความเป็นจริงที่ตาเห็น แต่ใส่ความเกินจริงเข้ามาเพื่อสร้างจินตนาการ ในหนังสือ ดรุโณวาทรายปักษ์ พ.ศ. 2417 ปรากฏเรื่องเล่าสั้นๆ ของไทย ชื่อ ชายหาปลาทั้งสี่ ที่ตัวละครมีความมหัศจรรย์ต่างๆ กันไป
น่าเสียดายที่เรื่องเล่าของเราไม่พัฒนาขึ้นมาจากรูปแบบตำนาน หรือเรื่องเล่าแบบเกินจริง ซึ่งจำเป็นต้องมีการต่อยอด และสั่งสมคุณภาพ โดยไม่ทอดทิ้งรากเหง้าดั้งเดิม
นับตั้งแต่เรารับอิทธิพลของฝรั่งที่มาพร้อมกับนักเรียนนอกรุ่นแรกๆ นักเขียนสมัยใหม่ของเรามักเห็นเนื้อหานิทานคำกลอนแบบชาวบ้านเป็นความล้าสมัย ทำให้ความมหัศจรรย์ไม่สามารถต่อยอดขยายออกไปเป็นงานแบบสมัยใหม่ และกลายเป็นข้อต่อที่หายไปตามกาลเวลา แต่ลาตินอเมริกาแม้จะมีการรับวัฒนธรรมมาจากหลายทาง ทั้งจากชนพื้นเมือง สเปน โปรตุเกส แอฟริกาและอเมริกาเหนือ แต่ก็มีการสั่งสมต่อยอดจนมีทัศนะเฉพาะของตนแม้จะอยู่ในภาวะของความด้อยพัฒนาและการครองอำนาจของกลุ่มทหารเผด็จการ
อย่างไรก็ตาม การให้ความสำคัญกับนิยายสัจนิยมมหัศจรรย์จากละตินอเมริกาในไทยที่เป็นจริงเป็นจังก็ต้องบอกว่าเริ่มต้นจากการ์เซีย มาร์เกซ ส่วนงานของนักเขียนลาตินอเมริกาอื่นๆที่มีการแปลเป็นภาษาไทยในช่วงใกล้เคียงกันก็เช่น ดอร์น่า ฟลอร์ หญิงสองผัว ของ จอร์จ อมาโด และ ต้นส้มแสนรัก ของ โฮเซ่ วาสคอนซีลอส แต่ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว ทำให้นักเขียนและนักอ่านในบ้านเราเห็นความสำคัญของคำว่าสัจจะนิยมมหัศจรรย์
อะไรคือปัจจัยที่ทำให้นักอ่านไทยให้ความสนใจแนวเขียนสัจนิยมมหัศจรรย์ของลาตินอเมริกา
ก่อนที่งานของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซจะเป็นที่รู้จักในหมู่นักอ่านบ้านเรา เราไม่ค่อยเห็นว่าสังคมไทยของเราก็มีความมหัศจรรย์ในเรื่องราวต่างๆ หลายอย่าง เราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความมหัศจรรย์ซึ่งปรากฏอยู่ในรากเหง้าของเราเอง คือเรามีสิ่งที่เป็นเนื้อหาแบบนี้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้ต่อยอดทำให้มีชีวิต งานของมาร์เกซเป็นตัวแบบที่เห็นว่าการกลับไปหาเรื่องราวแบบตำนาน [Mythology] นั้นน่าสนใจ และการที่เขาได้รับรางวัลโนเบล ทำให้มาร์เกซได้รับความสำคัญและทำให้นักเขียนไทยบางคนเริ่มกลับไปค้นหาสิ่งที่มีอยู่ในหมู่บ้านของตนเอง รากเหง้าเหล่านี้มีอยู่ในตำนาน พงศาวดาร เรื่องเล่าของคนเฒ่าคนแก่ การคิดค้นวิธีเล่าในมุมมองใหม่ที่แตกต่างไปจากมุมมองเก่าที่อิงอยู่กับเรื่องราวแบบซ้ำซาก แม้จะเรียกว่าเป็นสัจนิยม แต่เอาเข้าจริงกลับตื้นเขินและวนเวียนอยู่กับเรื่องเมโลดรามา “ชั้นสอง” หรือ “ชั้นสาม” ผมเสียดายที่มี “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว” ของมาร์เกซอยู่คนเดียวที่ได้รับการแปลและเป็นที่รู้จักกันในหมู่นักอ่านไทย น่าจะมีงานของนักเขียนในลาตินอเมริกาคนอื่นๆ ให้หลากหลายมากขึ้น
คุณเป็นผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งในการเผยแพร่และบ่มเพาะความสนใจกระแสสัจนิยมมหัศจรรย์ในกลุ่มนักเขียนไทยร่วมสมัย รวมถึงในการตัดสินรางวัลประกวดการเขียนวรรณกรรม เช่น รางวัลช่อการะเกด ท่านได้ให้เหตุผลที่ตัดสินให้ผลงานชนะเลิศว่ามีความเป็นสัจนิยมมหัศจรรย์ผสมผสานอยู่ด้วย ทั้งหมดนี้แสดงว่าท่านได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อกระแสงานเขียนดังกล่าวเป็นอย่างยิ่งเหนือกระแสอื่นๆ ใช่หรือไม่
ผมให้ความสำคัญกับงานทุกประเภทที่สามารถผลิตงานออกมาได้อย่างเร้าใจ และมีศิลปะการนำเสนอที่ลึกซึ้ง ซึ่งในความเห็นของผมคือ ความคิดริเริ่ม [Originality] ความเข้มข้น [Intensity] และความหลากหลาย [Variety] นี่คือหัวใจของการทำงานศิลปะทุกประเภท และผมให้ความคิดริเริ่มเป็นด้านหลัก เพราะเป็นจิตวิญญาณของคนทำงานศิลปะ และการมีกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ ปรากฏได้ทำให้สัจจะนิยมมหัศจรรย์กลายเป็นเหมือนของวิเศษไปทั่วโลก
…………………………………………………………………………
- เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์โดย ดร.ภาสุรี ลือสกุล แห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.โอฬาร พฤติศรัณยนนท์ แห่งคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- โครงการวิจัยฉลองความสัมพันธ์ 35 ปี โคลัมเบีย – ไทย สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 ที่หอศิลป์ g 23 ศูนย์ศิลปกรรมแห่งประเทศไทย มศว.ประสานมิตร
- เนื้อความโดยย่อของบทสัมภาษณ์ปรากฏอยู่ในหนังสือ Comlombia and Thailand : Geographical Farness,Thematic Nearness , In Celebration of the 35 th Anniversary of Diplomatic Relation Between the Republic of Combia and the Kingdom of Thailand ,In Collaboration with the Center of Latin American Studies,Faculty of Arts,Chulalongkorn University : Edited by Pasuree Luesakul and Nunghatai Rangponsamrit, First Edition, 2014