การนำเอาประสบการณ์ชีวิตมาสร้างสรรค์เป็นผลงาน คือสไตล์การจรดปลายปากกาของนักเขียนนามว่า ภู่มณี ศิริพรไพบูลย์ เจ้าของนวนิวยายและเรื่องสั้นมากมาย เช่น “ผู้คนบนโลกนี้ต่างหวาดกลัวกันและกัน” รวมถึงงานแปลอย่าง “สู่หนไหน On the Road : the Original Scroll” ซึ่งล้วนแต่เป็นผลงานที่ออกมาจากแพสชันของตัวภู่มณีทั้งสิ้น ดังนั้น บทสัมภาษณ์ พิเศษจะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับนักเขียนผู้นี้ และร่วมค้นหาความหมายกับนวนิยายสั้นเรื่องใหม่ “ช่องว่างระหว่างความหมาย” ที่จะพาทุกคนหวนคืนสู่วัยเด็กของตน
Table of Contents
เกี่ยวกับ ภู่มณี ศิริพรไพบูลย์
อยากให้แนะนำตัวอย่างเป็นทางการสักหน่อย
ผม ภู่มณี ศิริพรไพบูลย์ ครับ ชื่อเล่น ภู่ พฤษภาคมนี้ก็จะอายุ 39 แล้ว เรียนประถมฯ และมัธยมฯ ที่จังหวัดตาก สอบติดรอบโควตารับตรงที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเลยได้ย้ายไปเชียงราย อยู่ที่นู่นสนุกมากเพราะเหมือนได้ออกจากบ้านครั้งแรก แต่ครั้งแรกจริง ๆ จะเป็นตอนไปกรุงเทพฯ ที่เขียนไว้ในนวนิยายเรื่อง “ช่องว่างระหว่างความหมาย” หลังจากเรียนจบก็ได้งานทำที่เชียงใหม่ เป็นอาจารย์สอนเด็กปวส. ฝึกงานและทำงานที่นี่เลย คิดว่าเขาน่าจะชอบเราแหละ (หัวเราะ) ตอนนั้นเรียนป.โทไปด้วย เรียนวิชาสื่อสารการศึกษาซึ่งคนละสายกับป.ตรี ทั้งเรียน ทั้งทำงานทำให้ได้เจอคนเยอะ ทีนี้ผมเลยเอาชีวิตตัวเองนี่แหละมาแปลงเป็นงานเขียน ยอมรับว่าตอนนั้นใช้ชีวิตเปลืองจริง ๆ แล้วยิ่งผมได้มาอยู่เมืองโรแมนติกอย่างเชียงใหม่อีก ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากมาย หมายถึงในเชิงวรรณกรรมนะ เพราะว่าพล็อตจะถูกขับเคลื่อนไปด้วยปัญหา ซึ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นก็จะถูกเขียนไว้ในหนังสือของผมแต่ละเล่ม
อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เริ่มเป็นนักเขียน
ตอนเรียนผมวางเป้าหมายไว้ว่า “อนาคตจะเป็นอะไร” จึงค้นหามาตลอดว่าเราถนัดอะไร อะไรที่ทำได้ดี เลยลองทำอะไรหลาย ๆ อย่างดู คราวนี้มันจะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่เว็บบอร์ดของสำนักพิมพ์ไต้ฝุ่นมีห้อง ‘ไต้ฝุ่นค่าเฟ่’ โดยเขาจะให้ส่งผลงานนักเขียนเข้าร่วมประกวด ถึงไม่ได้เงินแต่ว่าได้โอกาสเผยแพร่ผลงาน เพราะในยุคนั้นช่องทางออนไลน์มีน้อยมาก คนยังไม่รู้จักเรื่องโซเชียลกันเท่าไหร่ ตอนนั้นผมได้ส่งผลงานเขียนเกี่ยวกับภาพยนตร์ไป ซึ่งพอบทความตัวเองได้ลงเป็นครั้งแรกก็ดีใจมาก จริง ๆ ความฝันอย่างแรกสุดของผมคือการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ แต่พอมาลองทำงานเขียนรู้สึกว่ามันไม่เลว อีกอย่างเราก็ชอบอยู่กับตัวเอง ไม่ชอบเจอผู้คน หลังจากนั้นเดือนต่อ ๆ มาผมก็ส่งงานไปอีกและก็ได้ลงอีก เหมือนว่าบทความด้านภาพยนตร์จะไม่มีคนเขียนแข่งกับผมเลย ทำให้บทความของผมนั้นได้ลงทุกครั้งจนเว็บปิดตัวลง จึงได้รู้ตัวว่าตัวเองมีดีเหมือนกันนะ หลังจากนั้นก็เริ่มมีเครือข่ายกับนักเขียนคนอื่น ๆ ที่ติดต่อกันในเว็บบอร์ด จนได้ออกหนังสือเล่มแรกชื่อ “Notes on Cinema”
การแปลความหมาย และ การตีความความหมาย มันจะมีช่องว่างระหว่างวัฒนธรรม ภาษา และการข้ามจากอีกภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษาหนึ่งอยู่ เปรียบเสมือนมนุษย์เวลาสื่อสารกันที่ยังต้องมีการแปลความถึงจะเข้าใจ
ตอนที่หนังสือเรื่องแรกได้รับการตีพิมพ์มีความรู้สึกอย่างไรบ้าง
ใจฟูมาก อารมณ์เหมือนพวกดาราเด็ก ช่วงนั้นอายุ 20 กว่า ๆ เพิ่งจะเรียนจบแล้วมีงานที่ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกเลยหลงตัวเองมาก ๆ เป็นทั้งอาจารย์ทั้งนักเขียนด้วย ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองเท่มากขึ้นไปอีก แล้วในปีเดียวกันผมได้ออกรวมเรื่องสั้นอีกเล่ม ตอนนั้นผมไม่เคยเขียนเรื่องแต่งมาก่อนนะ แต่พอมีคนมาชวนให้ลองเขียนฟิกชันเลยลองเขียนดู หลังจากเขียนเสร็จก็ส่งให้คุณสุรชัย พิงชัยภูมิ ซึ่งเป็นบ.ก.อ่าน เขาบอกว่างานเราพออยู่รวมกันมันโอเค จึงได้ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ “1” แล้วนั่นยิ่งทำให้ผมใจฟูขึ้นไปอีก รู้สึกมั่นใจในตัวเองมาก ยิ่งตอนพี่จรูญพร ปรปักษ์ประลัย นักวิจารณ์อันดับต้น ๆ ของประเทศเขียนบทความวิจารณ์ลงในหนังสือพิมพ์ คือเกินความคาดหมายของผมไปเยอะมากเลย แล้วทุกคนก็เริ่มรู้จักผมตั้งแต่นั้น
นอกจากปัจจุบันที่ทำอาชีพนักเขียนที่ทำอยู่ ตอนนี้ยังทำงานประจำอื่นด้วยไหม
งานประจำของผมเกี่ยวกับอสังหาฯ ปล่อยห้องเช่า เป็นเอเจนซี หน้าที่หลัก ๆ ก็ตอบแชทลูกค้า รีเช็คแม่บ้าน ส่วนงานแปล งานเขียน กับงานบรรณาธิการสำนักพิมพ์ก็ไม่เชิงนับว่างานเพราะเราไม่ได้คิดถึงเรื่องเงิน ทำเพราะมันคือแพสชันของเรา รู้สึกว่าตัวเองน่าจะช่วยเหลือคนที่ต้องการจะตีพิมพ์หรือมีงานแปลออกมาได้
งานประจำมันเป็นอุปสรรคกับงานเขียนหรือไม่
ถ้าถามว่างานประจำเป็นอุปสรรคต่อการเขียนหรือไม่ คงบอกว่ายิ่งตัวเองทำงานเยอะยิ่งได้เรื่องมาเขียนเยอะเพราะต้องเจอคน โดยรวมจึงไม่มีอุปสรรคเลย และด้วยการที่มีงานประจำ มีรายได้พอสมควร เลยไม่ได้อดมื้อกินมื้อ ไม่ได้เป็นนักเขียนไส้แห้ง จึงรู้สึกว่าการเขียนนั้นไม่มีความเครียด พอเราไม่เครียดเราก็เขียนได้ดี สนุก ลื่นไหล สามารถสร้างงานที่ให้อารมณ์บวก ซึ่งงานเขียนแบบนี้จะทำให้เราซึมซับแต่สิ่งดี ๆ และไม่หดหู่
ในบรรดาผลงานที่เขียนมา ชอบเรื่องไหนมากที่สุดเป็นพิเศษไหม
ถ้าชอบที่สุดก็น่าจะเป็น “2020” เป็นหนังสือเล่มบาง ๆ ที่ออกกับสำนักพิมพ์ของตัวเอง ชอบเพราะรู้สึกว่าตัวเองคุม Rhythm ได้จนถึงฉากสุดท้าย ปกติแล้วผมจะมีปัญหากับตอนจบตลอด จบไม่ค่อยลง ตกม้าตายเสมอ แต่ว่าหลังจากทำ “2020” แล้วมาเขียน “ช่องว่างระหว่างความหมาย” ก็คิดว่าตัวเองเขียนตอนจบดีขึ้น
ใครคือไอดอลในเรื่องงานเขียนของคุณ
ถ้าฝั่งไทยผมชอบงานเขียนของคุ่น-ปราบดา หยุ่น ในสมัยนั้นเขามีอิทธิพลต่อผมมาก ที่ผมสนใจมาเขียนหนังสือเพราะได้อ่านงานของพี่คุ่นนี่แหละ ผมรู้สึกว่าคนคนนี้เขียนหนังสือประหลาดดี แบบนี้เป็นหนังสือด้วยเหรอ แบบนี้ก็เขียนได้เหรอ น้ำเสียงเขาดูเป็นคนรุ่นใหม่มาก คือเมื่อก่อนผมอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีคนอ่านหนังสือนะ จะมีอาผมอยู่คนหนึ่งเขาอ่านหนังสือเยอะ โดยส่วนใหญ่จะเป็นแนวโรมานซ์ ซึ่งผมไม่ค่อยชอบเพราะรู้สึกว่ามันไม่สนุกสำหรับผม แต่พอมาอ่านของปราบดา หยุ่นก็ชอบเลย เพราะมันมีประเด็นทำให้คิด ชวนไขปริศนา ชวนตีความเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งเราชอบอะไรแบบนี้ เลยรู้สึกว่าพี่คุ่นนี่แหละไอดอลเรา เวลาเขียนผมเลยลองพยายามก๊อบปี้แบบเนียน ๆ (หัวเราะ)
พอเขียนมาสักพักผมได้มีโอกาสอ่านงานของพวก เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) ตอนนั้นเรียนคลาส Literature ที่มหาลัย แล้วอาจารย์ให้อ่านงานของ เจมส์ จอยซ์ (James Joyce) แต่ผมไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ กลับไปชอบงานของเฮมิงเวย์มากกว่า ผมชอบคนเขียนสั้น ๆ แต่ต้องเท่และคมด้วย เราก็เริ่มเลียนแบบอีก อยากเขียนได้แบบเขา เลยลองเขียนในแบบของตัวเองดู แต่มันไม่ได้เรื่องเลยนะ (หัวเราะ) พอนาน ๆ เข้า มันก็กลายเป็นสไตล์ของเราไป พอเขียนไปได้สักพักประมาณ 4-5 ปี ผมก็เจอนักเขียนที่ชอบหัวปักหัวปำเลย เขาชื่อ ชาร์ลส์ บูคาวสกี (Charles Bukowski) เจ้าของหนังสือ “งานบัดซบ” ที่ผมเคยแปล คือตั้งแต่อ่านหนังสือมาในชีวิตรู้สึกว่าคนนี้เขียนสนุกที่สุดเลย ตลก หยาบโลน ใช้คำไม่เยอะ คล้ายงานเขียนของเฮมิงเวย์นั่นแหละ เขียนน้อย พูดน้อย แต่ละประโยคมันชุ่มฉ่ำไปหมด แล้วเราหลงใหลงานเขียนแบบนี้มาก หรืองานแบบ ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) ผมก็ชอบนะ การเอาพวกเพลงกับ Pop Culture มาใส่ในหนังสือก็ได้อิทธิพลมาจากคนนี้แหละ ผมว่าเขาเท่ดี
การทำงานร่วมกับสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมเป็นอย่างไรบ้าง
ผมว่าผมกับพี่นิวัตรู้ใจกันนะ เพราะเราต่างก็เป็นบรรณาธิการบริหารด้วยกันทั้งคู่ ผมทำงานบริหารให้กับสำนักพิมพ์ไลต์เฮาส์ (Lighthouse Publishing) เป็นคนคอยคัดเลือกต้นฉบับกับดูแลน้อง ๆ นักแปลและบรรณาธิการทั้งหมด ดูแลแทบทุกขั้นตอน แล้วผมก็มีสำนักพิมพ์ของตัวเองด้วย เลยทำให้รู้วิธีการทำหนังสืออย่างละเอียด กับพี่นิวัตมันเลยเหมือนจูนกันติด แต่ถ้าให้เปรียบเทียบคือ พี่นิวัตจะมองขาดกว่าผม สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ดีกว่า การพิมพ์หนังสือในยุคนี้มันไม่ง่ายนะ ถ้าคาดการณ์ พยากรณ์ถูก อย่างน้อยก็ไม่เข้าเนื้อ รอคอยจังหวะเวลาที่เหมาะสม พี่นิวัตแกเก๋าเกม รู้ว่าควรทำอะไร ไม่พูดเยอะ รักษาสัญญา เพราะฉะนั้นพวกเราเลยรู้ใจกัน พอรู้ใจกันอย่างนี้แล้ว ตัวเองก็รู้ว่าควรส่งต้นฉบับเข้าไปช่วงไหน ถ้างานสำนักพิมพ์ ยุ่งๆ ก็จะยังไม่ส่ง
เกี่ยวกับนวนิยายสั้นเรื่องใหม่ “ช่องว่างระหว่างความหมาย”
แรงบันดาลใจอะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขียนเรื่องนี้
เรื่องนี้ผมอยากเขียนถึงเพื่อนสนิทคนหนึ่ง ดูได้จากตัวนำของเรื่องที่ชื่อว่า “มิว สุขสวัสดิ์” ตัวละครนี้เขียนถึงใคร พูดถึงใคร เล่มนั้นก็มอบให้คนนั้นแหละ โดยปกติหนังสือแต่ละเล่มจะเขียนให้ใครสักคนในชีวิตอยู่แล้ว ผมอยากสะสางสิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจ ทบทวนอดีต และมองอดีตให้ชัดเจนขึ้น ซึ่ง “การเขียน” ทำหน้าที่นี้ได้ดีที่สุดเลย พอเขียนจบ ความข้องใจมันหายไป แล้วได้รู้ว่าสิ่งที่คิดกับเขา รู้สึกกับเขา มันเรียกว่าอะไร
ได้นำอัตชีวประวัติของตัวคุณมาใช้หรืออ้างอิงในเรื่องไหม
จริง ๆ ต้องบอกว่าใช้เยอะมาก เพราะว่าผมเขียนหนังสือแนวเซมิไบโอกราฟฟี่ (Semi Biography) หรือแบบกึ่งอัตชีวประวัติ มันจะมีคนนิยมเขียนแนวนี้อยู่ช่วงหนึ่ง แล้วผมก็นำเอาพวกเทคนิควิธีอะไรแบบนี้มาใช้
จุดเด่นของเรื่องนี้คืออะไร
คำถามนี้ถ้าจะให้ตอบมันเหมือนชมตัวเองนะ เวลาถูกถามถึงจุดเด่น แสดงว่าเราต้องรู้ว่าตัวเองมีดีอะไรสักอย่างในตัว ตอบไม่ได้หรอก ไม่ควรตอบด้วย คงต้องเป็นหน้าที่ของนักอ่านกับนักวิจารณ์ที่ต้องลองอ่านดูและหาว่าจุดเด่นของเรื่องนี้คืออะไร
ทำไมถึงตั้งชื่อเรื่องว่า “ช่องว่างระหว่างความหมาย”
จริง ๆ ผมมีปัญหากับการตั้งชื่อเรื่องมากเลยนะ คือผมเป็นคนที่มักคิดมากเกี่ยวกับการตั้งชื่อเรื่อง ยิ่งเรื่องไหนถ้าไม่นึกออกโดยบังเอิญแบบ ชื่อเรื่องนี้ดี ไม่ต้องไปตั้งอย่างอื่นแล้ว จะลำบากมาก อย่างเล่มนี้ก็ยากนะ ไม่รู้จะตั้งอะไร แต่พอเอาต้นฉบับร่างแรกไปให้พี่โย-กิตติพล ตรวจ เขาเสนอมาว่าชื่อเรื่องควรเป็นชื่อนี้ แล้วผมรู้สึกว่ามันเพราะดี เพราะในเรื่องมันเกี่ยวกับการแปลความหมายและการตีความความหมาย ซึ่งมันจะมีช่องว่างระหว่างวัฒนธรรม ภาษา และการข้ามจากอีกภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษาหนึ่งอยู่ เปรียบเสมือนมนุษย์เวลาสื่อสารกันที่ยังต้องมีการแปลความถึงจะเข้าใจ ขนาดมนุษย์ที่ใช้ภาษาเดียวกันสื่อสารยังต้องแปลซ้ำเลย ถ้าสังเกตดี ๆ บทสนทนาในเรื่องบางประโยคจะมีการซ่อนความหมายและนัยยะของบทสนทนาอยู่ ไม่ได้หมายความตามนั้นตรง ๆ ถ้าสมมติมันมีช่องว่างอยู่และเรารู้ว่าช่องว่างนั้นคืออะไร สามารถก้าวข้ามมันไปได้ เราก็จะสามารถเข้าใจตัวละคร รวมถึงความหมายของประโยคนั้นจริง ๆ ครับ
ทำไม “ขี้” ถึงเป็นประเด็นสำคัญในเรื่อง มีความหมายแฝงอะไรหรือไม่
ความหมายแฝงน่ะมีอยู่แล้ว แต่ว่าจริง ๆ ผมเล่นกับมันเพราะอยากให้คนอ่านรำคาญตามากกว่า อยากจะจำลองภาพและความรู้สึกของ ‘มิว’ ออกมาผ่านงานเขียนว่าสิ่งที่เขาเผชิญในชีวิตประจำวันมันทำให้เกิดความรำคาญกับตัวเขา อย่างบางคนจะมีโรคประจำตัว เช่น ภูมิแพ้ ไปที่ไหนก็จาม รู้สึกไม่สบาย เกิดความรำคาญที่ทำไมคนเราไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น มันคือการจำลองความรู้สึกของตัวละคร ว่า “Nobody is perfect” เรามีสิ่งที่ตัวเองยังรำคาญตัวเราเองเลย แต่เราจะจัดการชีวิตของตัวเองอย่างไรล่ะ ต้องลองไปอ่านในหนังสือดูนะ
เรื่องช่องว่างระหว่างความหมายต้องการจะสื่ออะไรให้กับผู้อ่าน
โดยรวมแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องของวัยรุ่น แต่ถ้าถามว่าอยากจะสื่ออะไร ก็คงอยากให้คนอ่านรู้สึกคิดถึงใครบางคนหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้มั้ง อาจจะคิดถึงเพื่อนสักคนที่เคยได้ใช้เวลาร่วมกันเหมือน ‘มิว’ กับ ‘ฟาง’ ผมอยากโฟกัสไปเรื่องนั้นมากกว่า เพราะหนังสือมันไม่ได้มีคติสอนใจ หรืออ่านแล้วต้องลุกขึ้นไปต่อต้านเผด็จการ เล่มนี้ถ้ามีการพูดในเรื่องการเมืองก็เป็นเพียงแค่การตั้งคำถามปลายเปิด ตัวละครก็เป็นแค่เด็กมัธยมในยุค 2000s เป็นเด็กเจนวาย ที่ไม่ได้รู้เรื่องอะไรมากเหมือนเด็กมัธยมสมัยนี้ เราต้องยอมรับว่าผู้ใหญ่รุ่นเราค่อนข้างห่วยแตกในเรื่องการเมือง ดังนั้น “ช่องว่างระหว่างความหมาย” จึงไม่มีข้อคิดแต่ชวนให้คิดถึงใครสักคนมากกว่า
นักเขียนนี่แหละที่ต้องตัดสินใจกับงานของตัวเอง ต้องมั่นใจในตัวเอง มั่นใจในเสียงเล่าของตัวเอง เพราะงานเขียนเป็นงานของตัวเองทั้งสิ้น ไม่มีใครมากำหนดเราได้
ในนวนิยายเล่มนี้มีการพูดถึงภาพยนตร์กับเพลงที่หลากหลาย เลยอยากทราบว่ามีภาพยนตร์เรื่องโปรดหรือเพลงที่ชอบบ้างไหม
คือจริง ๆ หนังเรื่องโปรดคงต้องเลือกตามแต่ละช่วงวัยเพราะผมดูหนังมาตั้งแต่เด็ก จำนวนเยอะมากจนนับไม่ถ้วน แต่ปกติผมจะดูหนังตามผู้กำกับนะ ผมชอบลักษณะการทำงานแบบมีลายเซ็นและสไตล์เป็นของตัวเอง อย่างในเล่มนี้จะพูดถึง เอ็ม. ไนท์ ชยามาลาน (M. Night Shyamalan) ผู้ที่ทำเรื่อง The Sixth Sense โดยในเรื่องมิวกับฟางจะไปดูหนังเรื่อง The Sighs กัน ผมชอบผู้กำกับคนนี้นะ ถึงเขาจะโดนวิพากษ์วิจารณ์ตลอดว่าทำหนังฝีมือตก แต่ผมรู้สึกว่ามันเป็นหนังที่เป็นลายเซ็นของเขา เพราะฉะนั้น มันไม่มีตกหรอก เพียงแต่เรื่องนั้นคุณอาจไม่ได้สนใจอยากจะทำความรู้จักกับมันก็ได้
ผู้กำกับคนอื่นที่ผมชอบก็จะมี เดวิด ลินซ์ อย่างในเล่มนี้มีพูดถึงหนังเรื่อง Mulholland Drive ที่เขากำกับด้วย เมื่อก่อนเขาทำซีรีส์ดังและเป็นที่ฮือฮามากว่าแปลกประหลาด อย่างเรื่อง Twin Peaks ก็มีความเซอร์เรียลริสติกที่ทั้งตลกและสนุกสนาน แต่ถ้าฝั่งยุโรปผมจะชอบ กซึชตอฟ กีแยชลอฟสกี (Krzysztof Kieślowski) ที่กำกับเรื่อง Blue White Red กับ The Double Life of Veronique ส่วนฝั่งของเอเชียจะเป็น ฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) แอนิเมชันของสตูดิโอจิบลิที่คนนี้ทำผมดูทุกเรื่องเลย ผลงานของเขามีลายเซ็นชัดเจน ดูแล้วเหมือนถูกชุบชีวิต รู้ว่าเขาเขียนถึงอะไร ซึ่งเราซึมซับมันได้จากผลงานของเขา
ส่วนเพลงที่ชอบ ผมจะฟังอยู่สองยุคคือยุค 60s กับ 70s ถ้ายุค 80s เป็นต้นไปจะไม่ค่อยฟังเท่าไหร่ แต่ผมยังตามฟังเพลงของนักร้องยุคเก่าที่ยังทำเพลงอยู่จนถึงตอนนี้เพราะเขาจะยังทำเพลงตามลายเซ็นของเขาเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นอิทธิพลในการฟังเพลงของผมจะอยู่ในช่วง 60s-70s นี่แหละ โดยส่วนตัวแล้วผมชอบฟังเพลงเป็นอัลบั้ม ไม่ชอบฟังเป็นซิงเกิล เพราะการฟังเป็นอัลบั้มมันให้ความรู้สึกเหมือนได้อ่านหนังสือ บางเพลงอาจจะไม่ได้เพราะ ไม่ได้ว้าว แต่พอฟังรวมกันตั้งแต่เพลงแรกจนถึงเพลงสุดท้ายมันจะได้ความหมายบางอย่าง ซึ่งจะต่างจากการฟังทีละเพลง มันจะให้ความรู้สึกอิ่มเอมใจมากกว่าเพราะโดยปกติเพลงพวกนี้มักจะทำโดยมีคอนเซ็ปต์ของอัลบั้ม ไม่ได้ทำโดยการเอาเพลงดังมารวมกัน อย่างอัลบั้มยุค 60s ผมจะชอบของวง The Beach Boys ในอัลบั้ม Pet Sounds และของวง ELO Electric Light Orchestra ในอัลบั้ม Out of the Blue ที่มีเพลงดังชื่อ Mr. Blue Sky ที่หลายคนน่าจะรู้จักดี โดยสรุปแล้วผมชอบฟังเพลงยุค 60s-70s แล้วก็ชอบฟังเพลงเป็นคอนเซ็ปต์อัลบั้มซึ่งแน่นอนว่าทั้งหมดนี้ล้วนมีอิทธิพลส่งต่อมาถึงงานเขียนของผม
เกี่ยวกับมุมมองต่าง ๆ และผลงานในอนาคตของ ภู่มณี ศิริพรไพบูลย์
คิดว่าในอนาคตแนวทางตลาดนวนิยายไทยจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร
อนาคตตลาดนิยายก็ขึ้นอยู่กับความสนใจของเด็กสมัยนี้แหละ เพราะว่าตลาดมันก็อยู่กับผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่สุด ซึ่งนักอ่านที่มีจำนวนมากที่สุดก็น่าจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นไม่ใช่คนรุ่นผมหรอก รุ่นผมนี่เขาหมดไฟกันไปหมดแล้ว ไม่แสวงหาแล้ว คนที่ยังแสวงหาอยู่ก็วัยรุ่นตั้งแต่มัธยมจนถึงวัยทำงานช่วงห้าหกปีแรก เกิน 30 ก็น่าจะฝ่อๆ แล้ว แนวทางตลาดนวนิยายก็ต้องทำมาเพื่อคนรุ่นนั้น เท่าที่ผมสังเกต แนวตลาดสมัยนี้จะเป็นแนวแฟนตาซีนะ คอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม LGBTQ+ ก็ขายดีเพราะว่าสังคมกดทับมานาน เลยเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ซี่งคนอยากรู้ว่าเป็นอย่างไร
เกี่ยวกับเรื่อง AI ที่สามารถสร้างผลงานเขียน ซึ่งเป็นกระแสมาเรื่อย ๆ จนถึงตอนนี้ คุณมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับ AI พวกนี้บ้าง และคิดว่าผลงานของ AI เหล่านี้ จะสามารถแทนที่ผลงานของนักเขียนในอนาคตได้หรือไม่
ผมคิดว่า AI มันประมวลผลจากสิ่งที่ดีที่สุดมาสร้างเป็นงาน แต่วรรณกรรมจริง ๆ แล้วไม่ใช่แบบนั้น บางทีงานเขียนก็เกิดจากความบกพร่องหรือความบังเอิญ งานของ AI อาจจะมีโครงสร้างที่ดี ยกตัวอย่างเช่น ถ้าให้ AI เขียนกลอนแปด มันก็จะสร้างกลอนแปดที่ถูกต้องตามหลักมาเลย ส่วนเนื้อหาก็อาจจะมีเนื้อหาที่คนส่วนใหญ่ชอบ มันประมวลผลได้นี่ แต่ที่เกินความสามารถของ AI คือ จินตนาการ เพราะงานของ AI รวบรวมมาจากข้อมูล ในขณะที่มนุษย์สามารถใส่จินตนาการเข้าไปได้อีก ซึ่งเรื่องพวกนี้มันเหนือประสบการณ์ ผมคิดว่านั่นคือความแตกต่างระหว่าง AI กับมนุษย์ พอได้ไปอ่านงานของ AI ก็รู้สึกว่ามันเขียนได้ดีจริง ๆ ถูกต้องตามไวยากรณ์ ส่วนงานของมนุษย์เขียนมันจะมีเสน่ห์เฉพาะตัว
มีข้อแนะนำเทคนิคการเขียนแก่นักเขียนมือใหม่หรือไม่
ผมว่าการเป็นนักเขียนที่ดีมันต้องใช้ชีวิตแล้วก็จดบันทึก จดจำความรู้สึกต่าง ๆ ให้ได้ แม้ว่าจะยากแค่ไหนก็ตาม การเขียนจะมีความพิเศษที่สามารถใช้สัญลักษณ์อย่างพวกภาษาภาพพจน์มาช่วยอธิบายถึงอารมณ์นั้น ๆ เพราะความรู้สึกมันเป็นเรื่องของนามธรรมซึ่งอธิบายได้ยาก นอกเสียจากว่าเราจะใช้ภาษาในการเปรียบเทียบ เปรียบเปรย เพื่อให้ความรู้สึกนั้นถูกถ่ายทอดออกมาได้ตรงตามความจริงมากที่สุด ฉะนั้น ข้อแนะนำแก่นักเขียนคือใช้ชีวิตให้คุ้ม จดบันทึก จดจำ อ่านให้เยอะ การอ่านจะช่วยเพิ่มทักษะการเล่าเรื่อง เพราะนักเขียนใหม่ ๆ มักไม่รู้ว่าต้องเล่าเรื่องอย่างไร วิธีการเล่าเรื่องในวรรณกรรมมีหลากหลายมาก ยิ่งเราอ่านเยอะ เราก็จะเห็นวิธีต่าง ๆ ในการเขียนเรื่อง ๆ หนึ่งว่า เรื่องนี้ควรเล่าออกมาแบบไหน น้ำเสียงแบบไหน บางเรื่องอาจจะต้องใช้การเล่าเรื่องแบบบุคคลที่ 1 บางเรื่องอาจต้องเล่าแบบบุคคลที่ 3 ต้องอ่านให้เยอะเพื่อข้อมูลและวิธีการหลากหลาย
อีกเรื่องที่สำคัญ คือ ต้องหัดรับฟังเสียงวิจารณ์ ยอมรับมันให้ได้ ต้องมีภูมิคุ้มกันเมื่อถูกวิจารณ์ อย่างน้อย ๆ ต้องรับฟังบ.ก. เพราะบ.ก.จะมองจากมุมนอกเข้ามา แล้วจะรู้ว่าอันนี้มันสื่อสารได้หรือไม่ได้ ข้อมูลมันผิดหรือไม่ และให้คำแนะนำกับเรา แต่ควรหาบ.ก.ที่เก่งกว่านักเขียนนะ บ.ก.ที่ดีต้องผลักดันศักยภาพของนักเขียนออกมาให้ได้มากที่สุด แต่สุดท้ายก็ต้องเป็นนักเขียนนี่แหละที่ต้องตัดสินใจกับงานของตัวเอง ต้องมั่นใจในตัวเอง มั่นใจในเสียงเล่าของตัวเอง เพราะงานเขียนเป็นงานของตัวเองทั้งสิ้น ไม่มีใครมากำหนดเราได้
เกี่ยวกับผลงานในอนาคต
ตอนนี้ผมสนใจเรื่อง Multiverse และกำลังเขียนนวนิยายเรื่องใหม่เกี่ยวกับพล็อตนี้ เพราะผมได้มีโอกาสไปขลุกอยู่ในโลกเกมออนไลน์ แล้วรู้สึกว่ามันเหมือนการย่อโลกใบหนึ่งไว้ ซึ่งน่าประหลาดมากเพราะมันเป็นโลกสมมติที่ชนชั้นและอายุนั้นไม่มีผลกับโลกนี้ ไม่มีใครสนใจว่าคุณจะแก่ จะเป็นคนดังมาจากไหน ทุกคนจะเท่าเทียมกันหมด แค่มุ่งทำภารกิจให้สำเร็จก็พอ นวนิยายที่วางแผนไว้พล็อตจะแหวกแนวหน่อย เป็นแนวไซไฟ กำลังเล็ง ๆ ว่าจะทำ แต่ยังไม่มีเวลาเขียน เวลาผมทำงานผมจะแพลนในหัวแล้วจดจำเอา พอวันไหนอยากเขียนก็สามารถเขียนได้เลย เรื่อง “2020” ที่ผมเคยเขียนก็เป็นแนวไซไฟ แต่ผมคงไม่เขียนซ้ำประเด็นเดิมแล้ว อยากไปเล่นกับประเด็นใหม่มากกว่า
จากบทสัมภาษณ์นี้คงจะทำให้ผู้อ่านได้รู้จักกับ ภู่มณี ศิริพรไพบูลย์ กันพอสมควร ประสบการณ์ชีวิต ความรัก และแพสชันในการเขียนได้หลอมรวมให้ภู่มณีได้สรรสร้างผลงานที่มีคุณภาพออกมาให้เราได้อ่านกันมากมาย โดยสำหรับผู้ที่อยากลองอ่านบันทึกเยาว์วัยของเด็กมัธยมปลายผู้เติบโตช่วงต้นทศวรรษ 2000’s นวนิยายสั้นเรื่องใหม่ “ช่องว่างระหว่างความหมาย” ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง ส่วนใครที่ได้อ่านงานเขียนเล่มนี้แล้ว ก็อย่าลืมติดตามผลงานต่อ ๆ ไปของเขาด้วยนะ