William Shakespeare
Home Literature Shakespeare After 400 : แรงบันดาลใจหลังยุคเช็คสเปียร์

Shakespeare After 400 : แรงบันดาลใจหลังยุคเช็คสเปียร์

by niwat59
260 views

Shakespeare After 400 : แรงบันดาลใจหลังยุคเช็คสเปียร์

  • ผู้อ่านบางคน: ยุคนี้ยังอ่าน ยังแปลงานเช็คสเปียร์กันอีกหรือ
  • ทำไมเช็คสเปียร์ยังสำคัญทั้งๆ ที่ งานของเขาผ่านมาหลายร้อยปี
  • แต่เชื่อไหมว่า แม้เช็คสเปียร์จะตายมาหลายร้อยปีแล้ว แต่งานของเขายังแปลเป็นภาษาไทยไม่กี่เรื่อง
  • เช็กสเปียร์คือพื้นฐานวรรณกรรมยุคใหม่แทบทั้งสิ้น และนักอ่านส่วนใหญ่ก็แทบไม่เคยอ่านงานของเขาอย่างจริงจัง

วิลเลียม เช็คสเปียร์ เป็นกวี นักเขียนบทละครเวที ชาวอังกฤษ เกิดวันที่ 23 เมษายน 1616 เขียนบทละครถึง 38 เรื่อง บทกวีชิ้นเล็ก 154 sonnets และบทกวีขนาดยาวอีกสองเรื่อง เป็นนักเขียนบทละครที่มีผู้วิจัยศึกษางานของเขาเป็นจำนวนมากจากทั่วโลก ผลงานของเช็คสเปียร์ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากมาย แม้การแปลบทละครของเขาจะเป็นภูเขาขนาดมหึมาก็ตาม การเรียนบทละครเช็คสเปียร์เป็นมาตรฐานการเรียนวรรณกรรม เขาคือนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งเท่าที่เคยมี ด้วยภาษา ลีลาการเขียน รวมถึงเนื้อหาที่นำเสนอล้วนแล้วแต่เจาะลึกเข้าไปสู่ภายในใจตัวมนุษย์อย่างถึงแก่น

สิ่งที่ทำให้ผลงานของเช็คสเปียร์ดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้ เกิดจากที่เขาศึกษาด้วยตัวเอง จากหนังสือที่อ่าน จากประสบการณ์ชีวิต เช็คสเปียร์ไม่เคยผ่านระบบการศึกษา จนเกิดทฤษฎีสมคบคิดขึ้นมาว่าเช็คสเปียร์ไม่มีตัวตนจริงๆ แต่เป็นชื่อที่ถูกอุปโลกย์ขึ้นในการเขียนบทละครที่ยอดเยี่ยมได้อย่างไร บ้างก็ว่ามีผู้เขียนอื่นที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัวเป็นคนเขียน เนื่องจากบทละครของเช็คสเปียร์ทุกเรื่องเสียดสีสังคม เรื่องที่เกิดในราชสำนักที่เต็มไปด้วยการแย่งชิงบัลลังค์ การทรยศหักหลัง การคบชู้ การทำสงคราม และความรักที่ไม่ลงเอย

บทละครทุกเรื่องของเช็คสเปียร์เป็นโศกนาฎกรรม หลายเรื่องเวทีมักนองไปด้วยโลหิตในตอนจบ หรือไม่ก็ยาพิษอันร้ายแรง

Note: อ่านประวัติของเช็คสเปียร์

ผลงานโดดเด่นของเช็คสเปียร์ อย่างเช่นเรื่อง Hamlet, King Lear, Macbeth, Othello และที่คนไทยรู้จักกันดี Romeo and Juliet สร้างพลังดึงดูดผู้ชม บทละครของเช็คสเปียร์ได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย เพราะความที่นำเสนอแก่นแท้ของจิตใจที่ยากจะปฏิเสธได้ว่ามนุษย์เราทุกคนรัก โลภ โกรธ หลง ว่ากันว่าโรงละคร Globe Theatre ของลอร์ด แชมเบอร์เลน ผู้จัดละครของเช็คสเปียร์ ได้รับความนิยมจากผู้ชมจำนวนมาก ไม่แพ้โรงหนังที่ยืนอย่างโดดดายในสมัยนี้

ในปัจจุบันบทละครเช็คสเปียร์ยังได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย แม้จะผ่านยุค ผ่านกาลเวลามายาวนานสี่ร้อยปี มีผู้ดัดแปลงบทละครของเขามาเป็นหนังใหญ่ เป็นละครบอร์ดเวย์ ทั้งเล่นตามตัวบท ดัดแปลงให้เข้ากับยุคสมัย การตีความบทละครเช็คสเปียร์ได้รับการทำซ้ำอย่างแพร่หลาย แล้วไม่ได้จำเพาะอยู่เพียงในเรื่องการแสดง แต่ยังรวมไปถึงงานจิตรกรรม ภาพวาดฉากต่างๆ จากบทละคร ดนตรีที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเช็คสเปียร์มีมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งที่นำบทละครมาทำเป็นโอเปร่า หรือแต่งเป็นเพลงที่มีเนื้อหาได้แรงบันดาลใจมาอย่างเต็มๆ

นักดนตรีหลายคนสืบค้นประวัติศาสตร์ผ่านดนตรีในยุคเดียวกับเช็คสเปียร์ เพื่อมองหาเสียง วิธีการบรรเลง การเล่น เทคนิคการแต่ง ล้วนแล้วแต่สร้างพลังงานของเสียงเพลงให้กับผู้ฟังร่วมยุคสมัยได้เป็นอย่างดี

ผู้เขียนได้ไปชมงานแสดงดนตรี Shakespeare After 400 บรรเลงโดยวง Mahidol Wind Orchestra กำกับวงโดย ดร.ธนพล เศตะพราหมณ์ วาทยากร และนักประพันธ์เพลงชาวไทยที่มีความสามารถมากๆ คนหนึ่งมีประสบการณ์ในการควบคุมวงดุริยางค์เครื่องลม และเคยได้รับรางวัลจากต่างประเทศมากมาย คอนเซ็ปต์ของงานนี้ก็คือการนำเสนอผลงานเพลงที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากผลงานของเช็คสเปียร์ ในงานแสดงชุดนี้ผู้เขียนได้ฟังการบรรเลงจากวงคุณภาพ แล้วต้องยอมรับว่าการพัฒนานักดนตรีของมหิดลมีพัฒนาการที่ดีมากๆ วงหนึ่ง

และไม่บ่อยครั้งที่จะมีโอกาสได้ชมการบรรเลงวงดุริยางค์ที่เป็นเครื่องเป่าโดยเฉพาะ ทำให้ผู้เขียนกลับมาติดตามฟังผลงานเพลงที่บรรเลงด้วยวงเครื่องเป่าอีกครั้ง ซึ่งอยากจะแนะนำผลงานที่บรรเลงในงาน Shakespeare After 400 ครั้งนี้เป็นแกนหลัก

เริ่มจากบทเพลงแรก The Sword and the Crown ประพันธ์โดย Edward Gregson เพลงนี้เป็นดนตรีประกอบจากการแสดงชุด Planttagents Trilogy ของวงรอยัลเช็คสเปียร์คอมปานี ในปี 1988 เพลงดังกล่าวผู้ฟังจะได้ยินเสียงท่วงทำนองเพลงสวดศพ ซึ่งสื่อถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าเฮนรีที่ห้า จากนั้นจะได้ยินเพลงมาร์ชฝรั่งเศส กับเพลงมาร์ชของอังกฤษที่กำลังยกพลบดขยี้ฝรั่งเศส เสียงทั้งสามสอดซ้อนทับกัน การบรรเลงด้วยวงเครื่องเป่า ทำให้มองเห็นภาพของสนามรบ ผสมผสานกับความเศร้าของงานศพ เป็นเพลงที่ทรงพลังไม่น้อยเลยทีเดียว

เพลงที่สอง A midsummer night’s dream ผลงานของเฟลิกซ์ เมนเดลโชน ในการแสดงคอนเสิร์ต ได้เลือกท่อน Nocturne มาแสดงเพื่อเปรียบเปรยห้วงเวลากลางคืน และเรียบเรียงเสียงประสานให้เล่นกับวงเครื่องเป่า เมนเดลโชนแต่ง A midsummer night’s dream overture ขึ้นเมื่ออายุสิบหกปีซึ่งถือว่ายังหนุ่มแน่น ท่อน Nocturne ถือเป็นการบรรยายเรื่องราวในห้วงเวลาหลับใหลได้อย่างงดงาม ส่วนท่อนที่ผู้คนจดจำเพลงได้คือท่อน The Wedding March

A midsummer night’s dream เป็นบทละครของเช็คสเปียร์ว่าด้วยเรื่องราวของคู่หนุ่มสาว เฮอร์เมียกับดิมิเทรียส ถูกบังคับให้แต่งงานกัน โดยเฮอร์เมียรักอยู่กับไลเซ็นเดอร์ ทั้งสองหนีเข้าป่าไปด้วยกัน ส่วนเฮเลนนา เพื่อนของเฮอร์เมียร์ หลงรักดิมิเทรียส ได้นำแผนการของคนทั้งสองไปบอกเฮอร์เมีย พวกเขาจึงตามเข้าไปในป่า ซึ่งเป็นสถานที่สิงสถิตของเหล่าภูตพราย เรื่องวุ่นๆ ในแบบรักสามเศร้าจึงเกิดขึ้นที่นี่

หากจะสืบค้นดนตรีร่วมยุคกับเช็คสเปียร์จริงๆ คงต้องลองฟังเพลงของ William Byrd ที่เกิดในช่วง 1543-1623 เพลงในยุคดังกล่าวจะมีลักษณะเสียงและการบรรเลงที่เรียบง่าย โดยเฉพาะเพลง Earle of Oxford เราจะสามารถจินตนาการถึงท่านเอิร์ลแห่งอ็อกฟอร์ด ผู้มีอุปการะคุณแก่เช็คสเปียร์ในเวลานั้นได้แจ่มชัดขึ้น การบรรยายภาพชีวิตผู้คนร่วมสมัยเช็คสเปียร์ ทำให้มองเห็นบรรยากาศ ได้แจ่มชัดเพลงดังกล่าวยังนำไปสู่การค้นหาภาพจินตนาการของเมืองเมื่อสี่ร้อยปีก่อน เป็นเพลงที่เกี่ยวกับละครของเช็คสเปียร์โดยตรง ได้บรรยายถึงบุคคลยุคนั้นได้เป็นอย่างดี

อีกบทเพลงหนึ่งที่มักจะถูกนำไปใช้ในบทละครของเช็คสเปียร์อยู่บ่อยครั้งก็คือ เพลง Greensleeves บทเพลงพื้นบ้านอังกฤษอันโด่งดังที่ถูกนำมาดัดแปลงมาแล้วหลายๆ เวอร์ชั่น บ้างแต่งเนื้อร้องเป็นเพลงคริสต์มาสอย่างเพลง What Child Is This นอกจากนั้น Greensleeves ยังถูกนำมาบรรเลงด้วยท่วงทำนองเพลงพ๊อพ เพลงแจ๊ส คลาสสิก และเพลงต่างๆ อีกมากมาย

ในงานแสดงคอนเสิร์ต Shakespeare After 400 นักประพันธ์เพลงรุ่นใหม่ชาวไทย ปิยวัฒน์ หลุยลาภประเสริฐ ได้แต่งเพลง Greensleeves ในรูปแบบอว็องการ์ดบรรเลงด้วยวงดุริยางค์เครื่องเป่า ที่แสดงออกมาได้อย่างงดงาม ด้วยการเล่นท่วงทำนองเพลง Greensleeves ที่เราคุ้นเคยให้กลายเป็นดนตรีที่มีความแตกต่างไปจากเดิม เมื่อเข้าสู่แกนกลางของเพลง เสียงประสานเล่นด้วยคีย์ที่แตกออกไปจากคีย์หลัก พร้อมกับจังหวะขึ้นลงจากช้ามาสู่เร็ว จากดังสู่ความเงียบ ก่อนจะจบลงอย่างงดงาม เป็นแนวเพลงอวองการ์ดของชาวไทยที่น่าฟังมากๆ เพลงหนึ่ง และผู้เขียนคิดว่าการได้ฟังเพลงนี้สดๆ จากการแสดงบนเวทีเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก

เพลงสุดท้ายจากคอนเซ็ปต์ Shakespeare After 400 ก็คงหนีไม่พ้น Symphonic Dance From The West Side Story ผลงานโดยเลียวนาร์ด เบิร์นสไตน์

The West Side Story ที่เรารู้จักกันดีนั้นเกี่ยวกับเช็คสเปียร์อย่างไร มันเกี่ยวข้องเพราะมันคือการเขียน Romeo and Juliet แต่งใหม่ เหมือนขวัญเรียมแห่งทุ่งบางกะปินั่นเอง เรื่องราวของ The West Side Story ได้รับอิทธิพลจากโรมีโอแอนด์จูเลียตทั้งโครงเรื่อง และวิธีการนำเสนอ ในโรมิโอฯ เรื่องราวของคู่รักหนุ่มสาวสองตระกูลซึ่งไม่ถูกกัน กีดกันไม่ให้คนทั้งสองมีความรักต่อกัน ก่อนจบลงด้วยความตายและยาพิษ ส่วนเดอะเวสต์ไซด์สตอรี่เป็นเรื่องของสองคู่รักจากสองครอบครัว ครอบครัวหนึ่งเป็นแคทอลิคไอริช ส่วนอีกครอบครัวหนึ่งเป็นยิว ที่อาศัยอยู่ในย่าน Lower East ของแมนฮัตตัน

บทเพลงของเลียวนาร์ด เบิร์นสไตน์ เพลงนี้ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานเอกของเขาที่ได้รับความนิยม และทำให้ผู้ฟังเห็นว่าจากวันแรกที่เช็คสเปียร์ถือกำเนิดมาจนถึงปัจจุบัน อิทธิพลของศิลปะการแสดงละครของเช็คสเปียร์ได้กลายมาเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจต่อศิลปะแขนงต่างๆ อย่างมากมาย พื้นฐานทางศิลปะของยุโรปจึงผนวกเอาความรู้จากอดีตมาต่อยอดออกไปอย่างมากมาย และทำให้ศิลปะได้เติบโตไปกับกาลเวลาของโลกใบนี้

Leave a Comment

You may also like

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More