ในการจัดพิมพ์ หนังสือ หนึ่งเล่ม ราคาหนังสือมาจากไหน ต้นทุนทั้งหมดคืออะไร มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดราคา และราคากลางของหนังสืออยู่จุดไหน เราเคยเข้าใจอุปสงค์ของมันหรือไม่ แล้วในราคาต่อเล่ม จะต้องแบ่งให้ใครบ้าง เราเคยสงสัยไหม
#มิตรสหายท่านหนึ่ง ที่กำลังพิมพ์หนังสือ แม้เขาจะสนับสนุนหนังสือที่มีราคาสมเหตุสมผล หรือเราอาจจะเรียกว่า หนังสือที่มีราคาถูก แต่พอต้องมาจัดพิมพ์จริงๆ ก็พบว่าราคาหนังสือที่อยากให้ถูกแบบสมเหตุสมผล ก็กลายเป็นราคาที่แพงก็เป็นได้
ส่วน #มิตรสหายอีกท่าน เคยแชร์ประสบการณ์ว่าบางสำนักพิมพ์หนังสือราคาดูแพง แต่คนอ่านก็ซื้อไปไม่เคยบ่น ประสบการณ์นี้ผมก็เจอมาถ้าเราขายหนังสือในงานหนังสือ บางทีแฟนหนังสือก็ซื้อไปนะครับไม่บ่นสักคำ แต่เวลาไปเสิร์ทรีวิว เขาก็บ่นเหมือนกัน แต่เพราะความอยากอ่านก็เลยซื้อ แล้วก็ชอบหนังสือด้วย แต่เขาก็เข้าใจว่ามันมีค่าโน่นค่านี่ซึ่งเขาคิดว่ามันมีราคา ซึ่งมันก็มีราคาที่ต้องจ่ายจริงๆ นั่นแหละ
แล้วทำไมคนซื้อจึงรู้สึกว่ามันแพงทั้งที่เขาก็คิดว่ามันคุ้มที่จะซื้อมาอ่าน ผมเคยจำได้ว่ามีใครสักคนบอกว่าหนังสือควรจะมีราคาหน้าละประมาณหนึ่งบาท (สำหรับพ๊อคเก็ตบุ๊กพิมพ์ขาวดำ หน้าปกสี่สี จะมีภาพประกอบหรือไม่ก็ได้ แต่จริงๆ ถ้ามีภาพประกอบมันก็มีต้นทุนขึ้นมานั่นแหละ) เช่นหนังสือหนา 160 หน้า ราคาก็ไม่ควรจะห่างจาก 160 บาท แต่เชื่อไหมครับว่าผมได้ยินราคานี้มาสักสิบปีแล้ว (แล้วผมกำลังคิดว่ามันยังพอเอาวิธีคิดแบบนี้มาเป็นตัวอ้างอิงได้ไหม) แม้ว่ามันจะพอเป็นวิธีที่คำนวนราคาคร่าวๆ ได้ แต่ก็ยังไม่ดีพอที่จะบอกว่ามันควรจะมีราคาเท่าไหร่ถึงจะสมเหตุผล
ดูราคาหนังสือ: ร้านหนังสือเม่นวรรณกรรม
วิธีที่เราคุ้นเคยกันดีในการคิดราคาก็คือราคาค่าพิมพ์ (รวมกระดาษเข้าไปแล้ว) ราคาค่าอาร์ตเวิร์ก หน้าปก เนื้อใน บรรณาธิการ พิสูจน์อักษร ค่าลิขสิทธิ์ การตลาด ฯลฯ คือต้นทุนทั้งหมดที่ต้องจ่าย หนังสือเล่มเล็กๆ นี่ต้นทุนก็เหยียบๆ แสนแล้วล่ะ
จำนวนการพิมพ์หนังสืออย่างที่เราทราบไม่ว่าจะพิมพ์กี่พันเล่ม สำนักพิมพ์จะพบว่าไม่มีทางที่จะขายหมด เช่นพิมพ์ 1,000 เล่ม เมื่อวางตลาดกลับมาจากร้านหนังสือแล้วอาจจะเหลือหนึ่งหรือสองร้อยเล่ม หรือถ้าพิมพ์ 5,000 อาจจะเหลือกลับมาสักสี่ห้าร้อยเล่ม เป็นธรรมชาติแบบนี้ ดังนั้นถ้าเราคิดต้นทุนด้วยการขายหนังสือหมดทุกเล่ม เป็นไปได้ว่าสำนักพิมพ์อาจจะมีกำไรไม่ได้อย่างที่ตั้งเป้าไว้ หรือถ้าหนังสือขายได้น้อยกว่าที่ตั้งเป้าก็จะขาดทุนทันที
แล้วที่สำคัญจำนวนราคาหน้าปกที่ขาย สำนักพิมพ์ยังต้องแบ่งให้กับสายส่ง สายส่งไปแบ่งให้ร้านค้า นั่นหมายความว่า สำนักพิมพ์จะได้เงินประมาณห้าสิบ หรือห้าสิบห้าเปอร์เซ็นต์จากราคาปก แล้วที่เหลือนั้นก็นำไปจ่ายค่าต้นทุนในการทำหนังสือ ส่วนที่เหลือก็คือกำไร แถมบางครั้งเงินก้อนแรกที่หนังสือวางตลาดไปแล้วอาจจะต้องรอประมาณ 3-6 เดือน เป็นอย่างเร็ว (มันจึงเป็นที่มาว่าทำไมออกหนังสือใหม่ในงานหนังสือกันจัง 555) ยกตัวอย่างถ้าราคาหนังสือ 180 บาท ร้านหนังสือได้เงินเล่มละประมาณ 27-36 บาท สายส่งได้เงิน 27-36 บาท ฉะนั้นจะเหลือเงินกลับมาที่สำนักพิมพ์ 108-126 บาท ถ้าเราพิมพ์หนังสือสัก 1,000 เล่ม เราก็จะได้เงิน 108,000-126,000 บาท หักต้นทุนสัก 65,000 บาท เราจะได้เงินสุทธิ 43,000 – 61,000 บาท (ในกรณีที่ขายหมดทุกเล่ม)
ซึ่ง…ทั้งหมดคือวงวารของการทำหนังสือ ซื้อหนึ่งเล่ม ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องต่างได้รับเงินจากการขายหนังสือ และเราคิดว่าผู้อ่านที่น่ารักของเรานี่แหละที่รู้ว่าราคาหนังสือควรจะเป็นเท่าไหร่
อันนี้ก็ชวนคุยแลกเปลี่ยนครับ
1 comment
ทั้งหมดคือ “วงวาร” ของการทำหนังสือ มาพิสูจน์อักษรให้แบบไม่คิดเงินค่ะ ;)