วงการละครไทย เมื่อไหร่จะก้าวออกจากกรอบเดิม ๆ

สาเหตุที่ทำให้วงการ ละครไทย ยังคงย่ำอยู่กับที่ ในขณะที่ซีรีส์ จากต่างประเทศได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ละครไทยจะสามารถพัฒนาให้เทียบเท่ากับต่างประเทศได้หรือไม่

เชื่อว่าในทุกๆ เย็นที่ต้องออกไปรับประทานอาหารร้านเจ้าประจำ หลายๆ คนคงได้รับชมละครที่ทางร้านมักจะเปิดเพื่อไม่ให้ร้านค้าเงียบเหงาจนเกินไป หรือแม้แต่ก่อนเข้านอนที่ต้องดูละครหลังข่าวด้วยกันกับครอบครัว แต่เมื่อได้รับชมละครเหล่านั้นเป็นประจำ เรากลับพบว่า ละครไทย แต่ละเรื่องล้วนมีโครงเรื่องคล้ายกันไปเสียหมด

“เดิมทีละครไทยถูกมองว่า น้ำเน่า ซ้ำซาก วนเวียนอยู่กับเรื่องเดิมๆ ด้วยความที่บทละครส่วนใหญ่พัฒนามาจากนวนิยายที่ให้น้ำหนักถึงความสัมพันธ์ของชาย-หญิง พ่อแง่แม่งอน และไต่ระดับความฮาร์ดคอร์ไปถึงพล็อตนางเอกถูกพระเอกข่มเหง แต่ดันลงเอยด้วยการแต่งงานและอยู่กินกันแฮปปี้เอนดิ้ง”

พิราภรณ์ วิทูรัตน์, 2561
Tweet
ละครไทย

แม้ว่าจะผ่านมาหลายสิบปีแล้ว แต่วงการละครของไทยยังคงไม่ก้าวหน้าไปไหน เนื้อเรื่องยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องรักๆ ใคร่ๆ สามีคนนู้นเป็นชู้กับภรรยาของคนนี้ และการชิงดีชิงเด่นกันในครอบครัว นอกจากนี้ยังมีการนำละครเรื่องเก่าๆ มารีเมคซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนคนดูสามารถเดาเนื้อเรื่องได้จนหมด สาเหตุอะไรที่ทำให้เป็นเช่นนี้ และวงการละครไทยจะสามารถพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้หรือไม่ บทความนี้จะพาทุกคนมาครุ่นคิดไปพร้อมๆ กัน

สื่อโทรทัศน์จัดได้ว่ามีอิทธิพลต่อสังคมและการใช้ชีวิตของผู้คนเป็นอย่างมาก โดยละครจัดเป็นสื่อโทรทัศน์ประเภทหนึ่งที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายและสามารถก่อให้เกิดอิมแพคต่อสังคมเป็นวงกว้าง ยกตัวอย่างเช่น ละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ส่งผลให้เกิดกระแสการใส่ชุดไทยตามตัวละครในเรื่องไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ในชั่วขณะหนึ่ง

การที่สื่อมีอิทธิพลมากจึงต้องมีการควบคุมสื่อจากรัฐ สื่อต่างๆ ในประเทศไทยถูกควบคุมโดยรัฐไม่เว้นแม้แต่ละครโทรทัศน์ การผลิตละครแต่ละเรื่องต้องผ่านขั้นตอนที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการตรวจสอบของรัฐ โดยมีกฎหมายบัญญัติไว้ว่า ละครต้องไม่มีเนื้อหาที่เป็นการบ่อนทำลายหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและประเทศ หากเมื่อใดที่ละครออกอากาศไปแล้วและถูกพบว่ามีเนื้อหาที่ขัดต่อกฎหมายดังกล่าว ละครเรื่องนั้นต้องถูกระงับการออกอากาศทันที ยกตัวอย่างกรณีของละครเรื่อง เหนือเมฆ 2 ซึ่งถูกระงับการออกอากาศใน 3 ตอนสุดท้าย เนื่องจากมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมืองและการทุจริตของนักการเมือง นี่น่าจะเป็นหนึ่งเหตุผลว่าทำไมละครไทยไม่มีเนื้อหาแปลกใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเลย หรือถ้ามีก็เป็นเพียงส่วนน้อยและไม่ได้เจาะลึกไปถึงการทำงานของภาครัฐเหมือนกับซีรีส์ต่างประเทศ 

“จึงอาจกล่าวได้ว่า การควบคุมสื่อของรัฐไทยทำให้การเปิดกว้างทางความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานละครไทยที่แปลกใหม่ถูกจำกัด” 

เมื่อละครไทยมีข้อห้ามในการนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วเนื้อหาละครแบบไหนล่ะที่รัฐไทยในปัจจุบันต้องการให้สื่อนำเสนอ? คงไม่พ้นการนำเสนอความรักชาติ สถาบันและการอนุรักษ์ความเป็นไทย ตามแบบฉบับไทยนิยมไปได้

ในขณะที่อุตสาหกรรมบันเทิงของประเทศเกาหลีใต้นั้นได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นอย่างดีเพื่อให้ซีรีส์สามารถขายได้ทั่วโลกไม่เพียงแต่ในชาติของตนเองเท่านั้น จนทำให้ในปัจจุบันซีรีส์เกาหลีกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติไปแล้ว สามารถเห็นได้เลยว่าซีรีส์เกาหลีแต่ละเรื่องมีการนำเสนอเรื่องราวที่แปลกใหม่อยู่เสมอ ไม่เพียงแต่กล่าวถึงเรื่องราวความรักแต่ยังสอดแทรกประเด็นทางสังคม การเมือง วัฒนธรรม รวมไปถึงการสร้าง soft power ในการเปลี่ยนแปลงสังคมของประเทศให้ดีขึ้น

ซีรีส์ เกาหลี

ในที่นี้ขอยกตัวอย่างซีรีส์เกาหลีเรื่อง Youth of May ซึ่งได้หยิบยกเอาเรื่องราวการสังหารหมู่ที่กวังจู ประเทศเกาหลีใต้ ที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาและประชาชน ทำให้เห็นถึงอิสระในการผลิตผลงานซีรีส์ในประเทศเกาหลีใต้ที่ไม่จำกัดการแสดงออกทางการเมือง จึงทำให้ได้มาซึ่งผลงานที่มีคุณค่าและบอกเล่าถึงเหตุการณ์ในชาติได้อย่างน่าสนใจ

นอกจากนี้ยังมีซีรีส์เกาหลีขับเคลื่อนสังคมเรื่อง Start-Up ที่กล่าวถึงการเริ่มต้นทำธุรกิจขนาดเล็กของบุคคลธรรมดา แต่สามารถก้าวหน้าไปได้ไกลด้วยการสนับสนุนจากรัฐ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในขณะนั้นรัฐบาลเกาหลีใต้กำลังผลักดันวงการ Start-Up อย่างจริงจัง

ขณะที่ละครไทยนั้นมีละครที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเช่นเดียวกัน แต่เนื้อหาหลักยังคงไม่พ้นการทะเลาะเบาะแว้งและชิงดีชิงเด่นกันในที่ทำงาน ราวกับฉากการทำงานเป็นเพียงฉากประกอบเล็กๆ ที่ทำละครดำเนินไปได้เท่านั้น

ละครไทยล้วนแล้วแต่บอกเล่าเรื่องราวที่สื่อถึงผลของการกระทำของตัวละคร ความกตัญญูและความอดทน เช่นละครเรื่อง ทองเนื้อเก้า ที่เล่าถึงการติดสุราของลำยองจนทำให้เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังและตายในที่สุด และเล่าถึงความกตัญญูของวันเฉลิมที่มีต่อแม่ของตนเอง มากไปกว่านั้นละครไทยมักจะนำเสนอถึงการมีชู้ การตบตีแย่งสามี นำเสนอภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่ต้องมีความอิจฉาริษยา ตัวร้ายต้องวี้ดว้ายตลอดเวลา และนำเสนอภาพลักษณ์ของเพศที่สามที่มีความกล้าแสดงออกอยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่นละครเรื่อง กระเช้าสีดา ที่ลาจอไปเมื่อไม่นานมานี้และได้รับเรตติ้งพุ่งกระฉูด ละครกล่าวถึงการนอกใจคู่รักและการเป็นมือที่สาม ซึ่งในตอนจบตัวละครเหล่านั้นต่างได้รับบทเรียนจากการทำความผิดของตนเอง

A World Of Married Couple

ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่มีละครแนวรักๆ ใคร่ๆ ต่างประเทศก็มีเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่นซีรีส์จากประเทศเกาหลีใต้เรื่อง A World Of Married Couple มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับชีวิตการแต่งงานของสามีภรรยาคู่หนึ่ง และฝ่ายภรรยาพบว่าตัวเธอเองถูกสามีและคนรอบข้างทรยศหักหลัง พล็อตของละครอาจคล้ายคลึงกับของไทย แต่การเล่าเรื่องและคาแร็คเตอร์ของตัวละครมีความแตกต่างอยู่มาก นางเอกไม่ได้อ่อนแอและตัวร้ายไม่ได้ทำเพียงแค่ส่งเสียงดังกรี๊ดกร๊าดอยู่ตลอดเวลา แต่ออกแนวการก่อสงครามเย็น มีการชิงไหวชิงพริบกันเสียมากกว่า 

นอกจากการควบคุมสื่อของรัฐแล้ว ความคิดเห็นจากสถานีโทรทัศน์ การสนับสนุนจากสปอนเซอร์และความต้องการของผู้บริโภคยังมีส่วนเกี่ยวข้องเป็นอย่างมากในการทำให้วงการละครไทยย่ำอยู่กับที่ เนื่องจากการจัดทำละครหนึ่งเรื่องต้องผ่านการพิจารณาจากสถานีโทรทัศน์และการสำรวจความต้องการของผู้บริโภคละมาแล้ว จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในสังคมไทย พล็อตละครน้ำเน่ายังคงเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่ โดยเห็นได้จากอันดับความนิยมบนทวิตเตอร์หรือเรตติ้งของละครที่สูงลิ่วโดยส่วนใหญ่มักมีเนื้อหาเกี่ยวกับการตบตีแย่งชิงสามีกันไปมา

และด้วยสภาพสังคม สิ่งแวดล้อมและการใช้ชีวิตที่เต็มไปด้วยความเคร่งเครียด การดูละครเพื่อให้ความบันเทิงกับตัวเองคือการหลีกหนีจากโลกความเป็นจริงที่โหดร้ายได้ดีที่สุด ดังนั้นแล้ววงการละครไทยจึงมักไม่สร้างละครให้มีเนื้อเรื่องซับซ้อนที่ทำให้ผู้บริโภคต้องตีความมากนัก ซึ่งอาจจะทำให้เรตติ้งตกเพราะเนื้อเรื่องไม่ถูกจริตผู้ชมส่วนใหญ่ แน่นอนว่าไม่เป็นผลดีต่อผู้จัดละครและทางสถานีโทรทัศน์ที่ใช้งบประมาณลงทุนไปจำนวนมหาศาล 

หรืออีกหนึ่งเหตุผลอาจมาจากความคิดเห็นของทางสถานีโทรทัศน์เองที่คิดว่า หากผลิตละครที่มีเนื้อเรื่องใหม่ๆ จะไม่เป็นที่ถูกใจของโฆษณาหรือสปอนเซอร์ ส่งผลให้ละครขายไม่ออก จึงมักจะใช้ข้ออ้างว่า “คนดู” ชื่นชอบละครแนวรักๆ ใคร่ๆ จึงจะสามารถขายได้

มากไปกว่านั้น การเข้ามามีบทบาทของสตรีมมิ่งออนไลน์ เช่น Netflix และ HBO ทำให้วงการละครหรือซีรีส์จากต่างประเทศเกิดการแข่งขันมากขึ้น การผลิตเนื้อหาจึงหลากหลายเพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคเข้ามารับชม ในขณะที่ละครไทยมีคนดูเฉพาะกลุ่มอยู่แล้ว การผลิตละครจึงไม่หลากหลายเท่าที่ควร ตรงนี้ยังสามารถกล่าวได้ว่าสภาพสังคมไทยทำให้การเข้าถึงสื่อต่างๆ เป็นไปได้ยาก ในบางครั้งผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่มีราคาสูงได้ การรับชมละครผ่านโทรทัศน์จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า 

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าในปัจจุบันละครไทยจะพยายามสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับการสะท้อนสังคมมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นละครเรื่อง วัยแสบสาแหรกขาด ที่มีการนำเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาที่มักเกิดขึ้นกับเด็กๆ และปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัวมานำเสนอ แถมยังมีการสอดแทรกวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาด้วย 

ประวัติ ละครไทย

ละครเรื่อง Side by Side พี่น้องลูกขนไก่ อีกหนึ่งละครน้ำดีจากค่ายจีดีเอช ที่ถูกพูดถึงในช่วงระยะเวลาหนึ่ง มีการกล่าวถึงเรื่องราวของเด็กออทิสติกและกีฬาแบดมินตันไว้อย่างน่าสนใจ แสดงให้เห็นถึงปัญหาของเด็กพิเศษ การดูแลจากครอบครัว ไปจนถึงโอกาสและสิทธิของคนพิการในประเทศไทย การนำเสนอเนื้อหาที่แตกต่างออกไปจากเดิมนี้ถือได้ว่าเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะทำให้วงการละครไทยมีการพัฒนาต่อไป

เมื่อลองพิจารณาดูแล้ว เหตุผลที่ทำให้วงการละครไทยไม่สามารถก้าวออกจากกรอบเดิมๆ นอกจากการเซ็นเซอร์ของรัฐแล้ว ยังรวมไปถึงความคิดเห็นของทางสถานีโทรทัศน์ ผู้จัดละครหลายๆ ท่าน โฆษณาและสปอนเซอร์ที่ยังคงชื่นชอบละครรูปแบบเดิมอยู่ หากลองนำเสนอละครรูปแบบใหม่ที่หลุดออกจากละครแนวเดิมๆ โดยคำนึงไปถึงผู้ชมและสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปจากอดีตมากแล้ว อาจทำให้วงการละครไทยกลับมาได้รับความนิยมและสามารถก้าวเข้าสู่ตลาดโลกได้อีกครั้ง นอกจากนี้การนำละครไทยเข้าสู่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่หลากหลายอาจทำให้เกิดการแข่งขันและพัฒนามากขึ้นก็เป็นได้ 

สุดท้ายนี้ เรายังคงมีความหวังว่าในอนาคตข้างหน้า สภาพสังคมและการเมืองในประเทศไทยจะเอื้อให้ผู้คนสามารถเปิดกว้างทางความคิดได้มากขึ้น ผู้คนสามารถรับชมละครไทยที่มีเนื้อหาหลากหลายที่มากกว่าเรื่องรักๆ ใคร่ๆ และหวังว่าละครไทยจะสามารถเทียบเคียงกับวงการซีรีส์ในต่างประเทศได้อย่างสง่างาม

เกี่ยวกับกองบรรณาธิการ
เกี่ยวกับกองบรรณาธิการ

บทความนี้สร้างสรรค์โดยนักศึกษาฝึกงานมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาภาษาอังกฤษ ประจำปี 2564-65
ผู้เขียน: นางสาวเนตรนภิส จำนงค์บุญ
บรรณาธิการ: นางสาวนัฏฐกานต์ รัตนเศรณี 
ผู้ช่วยบรรณาธิการ:
นางสาวนัทมล ศรีสุข 
นางสาวญาดา รักษาวงศ์ 
พิสูจน์อักษร:
นายชยุตพงศ์ ปรางโท้ 
นางสาวนุศรา เตชะมานิ 

แหล่งที่มาข้อมูล

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *