Home Art & Culture หนังทดลอง Mass

หนังทดลอง Mass

by niwat59
29 views

ผู้เขียนเข้าไปเกี่ยวข้องกับงานหนังศึกษาโปรเจ็คนี้แบบบังเอิญจริงๆ และได้ไปนั่งชมภาพยนตร์สั้นเช็ตนี้ทั้งห้าเรื่องที่ JC Cinems มธ. รังสิต ตอนแรกไม่ได้คาดหวังอะไร เพราะคิดว่าคงเป็นเพียงหนังนักศึกษา ที่เคยดูเคยชม ทั้งผ่านงานประกวดหรืองานที่ได้รับการแชร์ผ่าน youtube หรือ viemo รวมถึงงานสมัยหนุ่มๆ ที่แอดฯเคยทดลองทำด้วยกล้องวิดีโอ 8mm ตัดต่อด้วยเครื่องเล่นเทปกับเครื่องเล่นเทปมาแล้วก็พบว่าการทำหนังสั้นไม่ได้ง่ายเลย แม้ในยุคปัจจุบันเครื่องมือทั้งหมดได้เข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างแท้จริง แต่เรื่องทั้งหมดก็ไม่ง่าย

ดังนั้น บทรีวิวนี้คงเลยผ่านเรื่องข้อจำกัดในด้านเทคนิค การถ่ายทำ ขั้นตอนการรันกอง รวมถึงงบประมาณที่เด็กๆ ได้สร้างสรรค์ขึ้นมา โดยจะเน้นเฉพาะตัวเรื่อง การนำเสนอ เพราะอย่างไรเสีย หนังทุกเรื่องที่สร้างเสร็จและฉายสู่สาธารณชนแล้ว ผู้ชมเสียเงินค่าชมในราคาเท่ากันทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องนั้นๆ จะลงทุนเท่าไหร่ ใช้เทคนิคอะไร เพราะเป้าหมายของหนังคือไปให้ถึงเรื่องที่จะเล่าที่ต้องการได้หรือไม่

หนังทดลองแมส ในเซ็ตนี้มีด้วยกันห้าเรื่อง ตามโปรแกรมจะเริ่มฉาย “เสือกะป๊อก” เป็นเรื่องแรก ตามด้วย “Sunless Sky”, “Hotel Papillon” และต่อจากนั้นจะเป็นช่วง Q&A และพักครึ่ง แล้วต่อด้วย “Three” และปิดท้ายด้วย “บ้านอลวนคนอลเวง” แต่พอหนังเริ่มฉายจริงก็มีปัญหาทางเทคนิคในการฉายคือหนังขาดและเสียงหาย จึงต้องสลับให้เรื่อง Sunless Sky ขึ้นมาฉายต่อ ส่วนการถามตอบก็เกิดขึ้นหลังจากหนังจบ ซึ่งก็ดีกว่าไปถามตอบกันทีเดียวในตอนท้ายเซ็คชั่น

จากหัวข้อของหนังทดลองแมส ผู้เขียนมองว่าเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยากไม่น้อย หากลองตีโจทย์ที่ผู้กำกับทั้งห้าเรื่องต้องไปทำการบ้าน เขียนบท ถ่ายทำ ตัดต่อ ไม่่ใช่เรื่องง่ายเลย การตีความว่าต้องทำหนัง Mass นั้นเหมือนกับว่าต้องมาดูว่าหนังประเภทไหนบ้างในโลกนี้ที่ทำออกมาแล้วขายได้ คนสามารถดูได้โดยไม่คิดว่ามันเป็นหนังที่ต้องดูยาก เรียกว่าหนังมหาชน ซึ่งเป็นโจทย์ที่มืออาชีพก็พบกับหายนะมานักต่อนักแล้ว

ภาพรวมของหนังทดลองแมสทั้งห้าเรื่องแอดฯ แบ่งออกเป็น genres ได้สี่แบบแบบแรกคือ Comedy Romantic Drama และ Musical ซึ่งทั้งห้าเรื่องต่างก็คาบเกี่ยวรูปแบบต่างๆ อยู่ภายในเรื่อง โดย “บ้านอลวนฯ” มีความโดดเด่นที่เป็นหนัง Musical แต่ขณะเดียวกันก็มีความเป็นหนัง Mystery-Drama ขณะที่ Three จะมีความเป็น Sci-Fi แต่โดยเนื้อหาแล้วความเป็นโรแมนติก-ดรามา เป็นแกนกลางของเรื่อง “เสือกะป๊อก” เป็นหนัง Comedy อย่างเต็มตัวและเจือเรื่องราวโรแมนติก Sunless Sky เป็น Romantic กับ Mystery เล็กๆ และเรื่อง Hotel Papillon เป็นดรามาที่สอดแทรกเรื่องราวประวัติศาสตร์สังคมเศรษฐกิจเข้ามาในเรื่องด้วย

จากหัวข้อของหนังทดลองแมส ผู้เขียนมองว่าเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยากไม่น้อย หากลองตีโจทย์ที่ผู้กำกับทั้งห้าเรื่องต้องไปทำการบ้าน เขียนบท ถ่ายทำ ตัดต่อ ไม่่ใช่เรื่องง่ายเลย การตีความว่าต้องทำหนัง Mass นั้นเหมือนกับว่าต้องมาดูว่าหนังประเภทไหนบ้างในโลกนี้ที่ทำออกมาแล้วขายได้ คนสามารถดูได้โดยไม่คิดว่ามันเป็นหนังที่ต้องดูยาก เรียกว่าหนังมหาชน ซึ่งเป็นโจทย์ที่มืออาชีพก็พบกับหายนะมานักต่อนักแล้ว

เพื่อไม่เป็นการพร่ำบ่นมากเกินไป ขอเริ่มที่หนังเรื่องแรกที่ชมตามลำดับการฉาย

Sunless Sky

เรื่องราวของจ๋าเด็กสาวที่กลับมาบ้านพบว่าแม่ไปต่างประเทศด้วยงานด่วนทิ้งให้เธอต้องอยู่คนเดียว และกลับมาพบว่าสุนัขตัวโปรดเพิ่งตายโดยแม่ไม่บอกเพราะกลัวเธอไม่มีสมาธิในการสอบ ผสมกับเธอบอกเลิกกับแฟนหนุ่มที่คบหากันมาสักพัก เพราะเธอคิดว่าเขาเองเปลี่ยนไปไม่ได้แคร์เธอเหมือนก่อน เธอทำท่าจะฆ่าตัวตาย ตะวัน ผีหนุ่ม เพื่อนของเธอสมัยเด็กก็โผล่ขึ้นมาห้าม และทำให้เธอกลับมาเป็นตัวของตัวเองที่เคยร่าเริง โดยพาย้อนระลึกไปถึงความหลัง ความทรงจำสมัยเด็ก ทั้งจากสถานที่ที่เป็นบ้านเกิด รวมถึงพระอาทิตย์ที่ลาลับบริเวณทะเลสาบหลังโรงเรียนสมัยเด็ก

จุดเด่นของ Sunless Sky คือ การแยกโลกสองใบระหว่างโลกคนจริงๆ กับโลกของวิญญาณที่ดูลึกลับ ขณะเดียวกันหนังสร้างเงื่อนไขของวิญญาณที่หลุดออกจากร่างคนตายได้อย่างเรียบง่าย คืออธิบายวันวิญญาณของตะวันมาปรากฏและต้องจากไปได้อย่างไร

ส่วนสำคัญของหนังดำเนินด้วยบทสนทนาที่ดูเป็นธรรมชาติ ฉากเล็กๆ เช่นตะวันมาคุยกับหมาของจ๋าที่ตายไป ฉากที่จ๋าถามว่าวิญญาณเข้าวัดได้ไหม แล้ววิญญาณตะวันพูดว่า “น่าจะได้ แต่ยังไม่เคยลอง” ซึ่งมันเป็นบทเล็กๆ ที่ท้าทายความเชื่อเรื่องผีในแบบเดิมๆ อยู่พอสมควรว่าวัดหรือพระพุทธรูปจะทำให้วิญญาณกลัวเกรง หรือบทสนทนาตอนที่ไกวชิงช้ากัน รวมถึงบทสนทนาระหว่างจ๋ากับแฟนหนุ่มที่บอกเลิกบนรถ เป็นการแสดงตัวตนของเธอออกมา ผ่านการได้กลับมาคบหาวิญญาณเพื่อนเก่าที่พัฒนาจากเพื่อนไปสู่ความห่วงใย จากการที่เธอเคยรักกับแฟนหนุ่ม เพราะเธอมักทำในสิ่งที่แฟนหนุ่มชอบ เธอทำเพื่อให้เขารัก แต่ขัดกับตัวตนของเธอ มันเป็นการย้อนทวนตัวเองว่าเธอจะทำแบบนี้ต่อไปเพื่อใครสักคนที่รัก หรือจะทำตามที่ใจต้องการกันแน่

Sunless Sky มีแนวทางในแบบหนังโรแมนติกเกาหลี ที่เล่นเรื่องความรัก ความทรงจำ การพลัดพรากและการแยกโลกของคนกับวิญญาณ โดยจบลงที่ต้องลาจากไปไกลและไม่อาจหวนคืน

Hotel Papillon

แก่นของเรื่องถูกแบ่งออกเป็น “กลางวันและกลางคืน” โดยเรื่องราวเกิดขึ้นในปีเศรษฐกิจตกต่ำ 1997 (2540)

อาจจะกล่าวได้ว่ามันเป็นการปะทะกันระหว่างความเชื่อสองฝ่ายทางการเมือง ลินดาพนักงานใหม่ของโรงแรมเข้างานในกะเช้า เรวัติพนักงานเก่าประจำกะกลางคืน ลินดามีความเชื่อเรื่องระบบ ความตั้งใจ ขยัน และมองโลกในแง่ดี ส่วนเรวัติต่อต้านระบบ มองเห็นว่าเขาเป็นเพียงเฟืองเล็กๆ ของระบบ การที่เขาไม่ทะเยอทะยานในหน้าที่การงานเพราะเขาไม่คิดว่าตัวเองจะมีส่วนได้ส่วนเสียต่อชีวิตของเขา นอกจากเงินเดือนที่ได้รับ การปะทะกันของสองขั้วจึงคล้ายๆ สงครามย่อยๆ ที่เปิดศึกผ่านสงครามการแกล้งกันไปมา

จนกระทั่งถึงช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ โรงแรมขาดทุน ถึงขั้นอาจจะต้องปิดตัวถ้าหาผู้ถือหุ้นรายใหม่มาลงทุนไม่ได้ ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศพังพินาศย่อยยับ สงครามระหว่างกลางวันกับกลางคืนยุติลงชั่วคราว โดยหันมาร่วมมือผนึกกำลังเพื่อให้โรงแรมอยู่ได้ต่อ แต่เอาเข้าจริงๆ โปรเจคที่กลางวันกับกลางคืนร่าวมกันทำให้เกิดนั้น ไม่เท่ากับ “มาดาม” ซึ่งเป็นมือที่มองไม่เห็น เธอปรากฏเพียงเสียงและใบหน้าครึ่งหน้า โรงแรมรอดมาได้เพราะการเจรจาธุรกิจ มีผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามาทำให้โรงแรมอยู่ต่อ และจำเป็นต้องปลดพนักงานจำนวนหนึ่งออกไป

Hotel Papillon เป็นการสืบค้นไปหาอดีต จะว่าไปผู้เขียนบท ผู้กำกับ และทีมงาน อาจจะเพิ่งถือกำเนิดตอนที่ปีเศรษฐกิจตกต่ำต้มยำกุ้ง พวกเขาและเธอเติบโตขึ้นมาท่ามกลางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศที่ไม่หวนกลับไปก่อนหน้านั้น นั่นคืองานดีเงินเดือนสูง ตลาดการเงิน ตลาดที่ดินทำให้คนเป็นเศรษฐีในชั่วพริบตา ทว่าปัจจุบันพวกเขาพบว่างานดีๆ เงินเดือนดีๆ นั้นไม่ได้มาง่ายๆ อีกต่อไป และการเมืองหลังปี 49 ยิ่งทำให้ภาพฝันของอนาคตพวกเขาหายไป Hotel Papillon จึงเหมือนการค้นหาต้นตอของอดีตที่ทำให้พวกเขามองไม่เห็นอนาคต

แม้หนังจะไม่ได้ไปไกลกว่าที่แอดฯ คาดหวัง แต่เชื่อได้ว่าเมื่อพวกเขามีประสบการณ์ในการเล่าเรื่องมากขึ้น หนังเรื่องนี้อาจจะไปได้ไกลกว่า Geres โรแมนติก คอมเมดี้ก็เป็นได้

และในตอนจบเราจะเห็นได้ว่าที่สุดแล้วมือที่มองไม่เห็นต่างหากที่เป็นตัวกำหนดชะตาชีวิตของกลางวันและกลางคืน

THREE

ลัต โอ๊ต และหุ่นยนตร์โอ๊ต

โอ๊ต นักวิทยาศาสตร์กำลังทำโปรเจ็คสำคัญ แล้วเขายังคงแอบทำโครงการหุ่นยนต์ลับๆ นั่นคือหุ่นยนต์ที่มีทุกอย่างเหมือนเขาทุกประการ โดยโปรแกรมความทรงจำดีๆ ของเขาเอาไว้ในหุ่นยนต์ตัวนี้ เขาใช้มันในวันสำคัญเมื่อตัวเองติดภารกิจไม่สามารถไปฉลองครบรอบวันสำคัญกับลัตหญิงสาวที่รักซึ่งคบหากันมาถึงสามปี เหตุการณ์นี้นี้สร้างรอยร้าวให้ลัตจนไม่สามารถกลับมาสู่ความสัมพันธ์เดิมได้

จากที่ลัตต่อต้านหุ่นยนต์โอ๊ต เพราะหุ่นยนต์ไม่ใช่คนที่เธอรัก ไม่ใช่ภาพแทนของสิ่งที่เป็นจริง แต่ด้วยการอยู่ด้วยกันสองต่อสอง หุ่นยนต์ได้แสดงให้เธอเห็นถึงความรักที่เคยก่อตัวขึ้นจากอดีต มันทำให้เธอหวนถึงความสุขในหนหลัง ทำให้เธอเห็นว่าเธอรักโอ๊ตด้วยเหตุใด และเหตุใดเขารักเธอ นั่นทำเธอไปตกหลุมรักหุ่นยนต์ แต่อายุของหุ่นยนต์จะสิ้นสุดเพียงสามวัน แล้วในที่สุดหุ่นยนต์โอ๊ตก็หยุดทำงาน ขณะที่โอ๊ตล้มเหลวกับโครงการที่เขาทำ เขาหวนมาพบลัตที่เก่าเวลาเดิม แต่ความรักได้เปลี่ยนไป ลัตต้องการให้เขานำชีวิตหุ่นยนต์กลับมา โอ๊ตไม่สามารถทำได้ เธอจากไป

THREE พยายามเล่นเรื่องของความสัมพันธ์ และตอบคำถามเชิงปรัชญาระหว่างความรักของปัญญาประดิษฐ์ จะสามารถทำให้มนุษย์ตกหลุมรักได้ไหม หรือการตกหลุมรัก AI เป็นอะไรที่น่าสนใจมากในโลกอนาคต มันยังเป็นคำถามที่มนุษย์ต้องการคำตอบ เเพราะในปัจจุบันเราอยู่ในโลกที่มี AI เริ่มควบคุมเราได้ ให้คะแนนเราจากการซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต หรือตัดคะแนนความประพฤติ มันศึกษาความชอบของเรา ความต้องการ ความรัก รวมถึงแรงปรารถนา

ในตอนจบที่แสนคลุมเคลือ (คำชม) เป็นตอนที่ดีมากเพราะโอ๊ตในเวลาต่อมาเขาดูเหมือนหุ่นยนต์ยิ่งกว่าหุ่นยนต์ ส่วนหญิงสาวของเขาที่โอบจากด้านหลังนั้นก็ไม่มีคำตอบ แต่เหนืออื่นใดของทั้งหมด ความสัมพันธ์ของสตรี หากคุณปล่อยให้มันแตกร้าวแล้ว ต่อให้คุณพยายามกลับมาแค่ไหนก็ไม่สามารถเรียงต่อรอยร้าวนั้นได้

เสือกะป๊อก ก๊อกๆ เรียบทุกบ้าน

หนังคู่หูโจรที่สร้างความขัดแย้งตั้งแต่ Character อ้วน-ผอม / มือใหม่-มือเก่า / พูดมาก-พูดน้อย

หนังเรื่องนี้เดินตามขนบของหนัง comedy แบบไทย ตั้งแต่มุมกล้อง ตัดต่อ การโยนมุก เป็นหนังที่มีรูปแบบที่เข้ากับหัวข้อของหนัง set นี้มากที่สุดคือการเป็นหนังแมส ด้วยเรื่องเล่าของสองโจร ‘เสือ’ โจรมากประสบการณ์ ที่สะเดาะกลอนประตูได้ทุกบานประตู ส่วน “ป๊อก” โจรรุนน้องที่กำลังดำเนินรอยตามรุ่นพี่ อยากมายืนแถวหน้าแทนการดูต้นทาง

เรื่องทั้งหมดเกิดผิดพลาดเมื่อสองโจรคู่หูเข้ามาปล้นบ้านผิด แทนที่จะไม่มีคนอยู่บ้านพวกเขากลับมาพบหญิงสาวที่แฟนทิ้ง ดื่มเหล้าเดียวดายจนเมาไม่ได้สติ ส่วนเสือนั้นดันมีหน้าตาคล้าย ‘คิตตี้’ เพื่อนกระเทยของเธอ ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าคิตตี้มาเยี่ยมบ้าน จนกระทั่งจังหวะเผลอ หญิงสาวก็ล็อคกุญแจมือเสือให้อยู่เป็นเพื่อนเธอในยามค่ำคืน ไม่ยอมให้ไปไหน เรื่องวุ่นๆ มากมายจึงเกิดขึ้นตั้งแต่ แฟนหนุ่มของหญิงสาวโทรมาง้อขอคืนดี แต่เสือดันพูดขึ้นมาทำให้ชายหนุ่มคิดว่าแฟนของตัวเองมีผู้ชายคนใหม่ เขาจึงรีบมาบ้านของหญิงสาว

หนังเรื่องนี้สร้างความเฮฮาให้กับผู้ชมได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้สถานการณ์ที่คับขันตอนที่แฟนหนุ่มของหญิงสาวกำลังมาบุกบ้านเพื่อหาชายชู้ ขณะที่เสือกับป๊อกกำลังสะเดาะกุญแจมืออย่างรีบเร่ง เพื่อจะหนีสถานการณ์นี้ออกไปให้ได้ แอดฯ ชอบฉากนี้มาก มันเป็นฉากที่เราเห็นว่าทั้งสองคนไม่ได้เล่นตลก มันเป็นการหนีเพื่อเอาตัวรอดจากสถานการณ์ที่อาจจะเลวร้ายถ้าแฟนหนุ่มมาพบเขาติดอยู่กับกุญแจมือกับแฟนของเขา แต่การกระทำที่ผู้ชมกำลังดูกลับเป็นเรื่องตลก คล้ายๆ กับเราไปเที่ยวแล้วเกิดเหตุการณ์ระทึกขวัญขึ้นมา ในเหตุการณ์จริงๆ มันดูซีเรียสมาก แต่หลังเหตุการณ์เราเอาเรื่องดังกล่าวมาเล่า กลับเป็นเรื่องตลก ผู้เขียนอยากจะเทียบเคียงหนังของโจว ชิงฉือ (สตีเฟ่น โชว) ดารานักแสดงผู้กำกับหนังที่โด่งดังจนกลายเป็น King of Comedy ในวงการหนังฮ่องกง ยกตัวอย่างเช่น “คนเล็กหมัดเทวดา” ในหลายๆ ฉาก (ควรดูเสียง Original Soundtrack ที่เป็นภาษาฮ่องกง ไม่ใช่พากษ์ไทย) เราจะเห็นว่าหลายฉากเป็นสถานการณ์ที่จริงจัง และหลายฉากมีความเงียบ หนังกลับดูตลกแบบโหดๆ มาก หรืออย่างหนังเรื่อง There’s Something About Mary ฉาก เท็ด (เบน สติลเลอร์) รูดซิปกางกางติดอวัยเพศ ในฉากดังกล่าวเบนไม่ได้เล่นเพื่อให้มันตลก แต่สถานการณ์ที่ขับขันและเจ็บปวดนั้นกลับดูขบขันในสายตาคนดู ซึ่งในฉากดังกล่าว “เสือกะป๊อก” ทำได้ดีมากเลยทีเดียว และหนังไม่ได้เป็นเพียงการตัดต่อมุกตลกเข้าไปในฉาก หรือสร้างมุกที่ประหลาด

นอกจากความตลกแล้วหนังยังสอดแทรกความโรแมนติกเข้ามาเป็น sub plot จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนของเสือ ที่ต้องการเลิกเป็นโจร ซึ่งก็ทำออกมาได้น่ารัก และจบอย่างพอดี

บ้านอลวน คนอลเวง

แล้วก็มาถึงเรื่องสุดท้าย

ซึ่งบอกได้ว่าเล่นใหญ่ เล่นเยอะ และเต็มไปด้วยความอลังการ ยิ่งรู้ว่าเป็นหนังแนว Musical ด้วยก็ยิ่งรู้สึกว่าหนังจะไปรอดหรือเปล่านะ เพราะไม่ได้ทำกันง่ายๆ แม้ทีมงานจะฝากฝีมือมาจากคลิปโปรโมตกิจกรรมค่ายที่มีการแชร์ไปจำนวนมาก แล้วก็ตามแต่การทำหนังให้มีเรื่องเล่าไม่ง่ายอย่างที่คิด

“บ้านอลวน คนอลเวง” เปิดฉากด้วยการแนะนำตัวละครในท้องเรื่องด้วยบทเพลง และการเต้น ถือว่าประสบความสำเร็จไม่น้อยที่ทำให้คนดูได้รู้จักทุกตัวละคร โดยเฉพาะตัวละครหลัก “ป้าอร” “โอ๊ต” และ “ข้าวฟ่าง” พร้อมกับผีอีกมากมายที่ชั้นสาม

โอ๊ตเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ แต่บ้านที่เขากลับมาเป็นบ้านหลังใหม่ที่ป้าอรย้ายเข้ามาอยู่ หนึ่งปีที่ผ่านไปเกิดเรื่องวุ่นวายมากมาย ดวงวิญญาณเร่ร่อนขอเข้ามาในบ้าน เดิมทีตระกูลของโอ๊ตนั้นมีญาณพิเเศษที่สามารถรับรู้ถึงการมีอยู่ของผีได้ การที่ป้าอรอนุญาตให้ผีเข้ามาอยู่ในบ้านส่วนหนึ่งก็เพราะต้องการให้น้องของโอ๊ต คือข้าวฟ่างมีเพื่อนเล่น จะได้ไม่เหงา

หนังค่อยๆ คลายปมทีละอย่างของตัวเรื่องเมื่อโอ๊ตเดินทางมาถึงบ้าน ข้าวของของแม่ที่ตายไปถูกเก็บมาให้โอ๊ตเลือก เขาพบขลุ่ยจึงเป่าเพลงที่จดจำจากวัยเด็ก แล้วนั่นทำให้วิญญาณของคนในบ้านอีกตนหนึ่งปรากฏขึ้น ระหว่างที่โอ๊ตสะลึมสลือกึ่งฝันหรือจริงเขาก็อนุญาตให้วิญญาณที่ไม่รู้จักนั้นเข้ามาในบ้าน

จุดที่เด่นมากๆ และถือว่าดีที่สุดของเรื่องนี้ก็คือความสัมพันธ์อันคลุมเครือภายในครอบครัว ที่แต่ละคนมีปมทางจิตใจต่างกันไป ปมดังกล่าวถูกซ่อนเร้นผ่านการแสดงที่ปกปิดจนดำมืด สิ่งที่ดีมากคือมันถูกทิ้งเอาไว้ให้ตีความมากกว่าที่จะบอกว่าความสัมพันธ์ของแต่ละคู่เป็นอย่างไรกันบ้าง ไม่ว่าจะเป็นโอ๊ตกับข้าวฟ่าง ป้าอรกับแม่ โอ๊ตกับคุณยาย โอ๊ตกับป้าอร (ในตอนจบ) หรือความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ของโอ๊ต ที่ไม่อาจรู้ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง แล้วฉากที่ดูอีโรติกมากๆ แต่เต็มไปด้วยความกะอักกะอ่วนสุดแสนพิศวง (Magical Realism) คือฉากที่โอ๊ตนอนจมไข้เพราะอาหารเป็นพิษ ฉากนี้ถือว่าดีมากๆ มันแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ลึกลับของคนคู่นี้ได้ดีฉากหนึ่งเลยทีเดียว ซึ่งมันรับกับบทที่ว่าทำไมคุณยายต้องการปรากฏตัวในร่างวัยสาว

ก่อนที่จะถึงจุดไคลแมกซ์ของเรื่อง ตัวประกอบที่เป็นผีในหลายๆ อาชีพ ได้เป็นการสร้างจักรวาลของเรื่องเล่าใน set หนังทดลองแมสเข้ามาอีก โดยเฉพาะตัวแสดงจากเรื่อง “เสือกะป๊อก” ป๊อก (ผีสวมเสื้อลายขวาง) คิตตี้ และยังมีเจ้าสาวที่มีแหวนแบบเดียวกันจากเรื่อง There (อันนี้แอดฯ ไม่แน่ใจว่าใช่ไหมนะ ดูแค่รอบเดียว 555 ) ทำให้การเชื่อมโยงตัวละครผีที่ต้องการปลดปล่อยตัวเองนั้นมีเรื่องราวที่น่าสนใจเข้าไปอีก

แล้วที่สำคัญหนังยังได้ทำให้บ้านกลายเป็นตัวละครตัวที่สามที่มีบทบาทในแต่ละฉากได้อย่างแนบเนียน โดยในแต่ละห้องถูกทำให้เป็นการปรากฏตัวของตัวละครมีความสมบูรณ์ เช่นห้องของโอ๊ตกับคุณยาย ห้องของข้าวฟ่างกับโอ๊ต (ห้องของข้าวฟ่างเป็นห้องเดียวที่ติดสัญลักษณ์ชื่อเจ้าของบ้าน) และจะไม่มีใครจะเข้าไปได้ถ้าข้าวฟ่างไม่ให้เข้าไปแม้แต่ตัวโอ๊ต ห้องครัวเป็นการพบกันระหว่างป้าอรกับแม่ (คุณยาย) รวมถึงห้องที่ถูกปิดล็อคที่ต้องใช้กุญแจที่ถูกผีใบ้เก็บเอาไว้

เมื่อหนังมาสู่จุดไคลแมกซ์ หนังปูเรื่องมาให้คลี่คลายเรื่องราวของผีที่ชั้นสามให้นำไปสู่ที่ชอบๆ แต่เรื่องไม่ได้เป็นอย่างนั้นเพราะความลับที่ถูกเก็บงำเอาไว้คือความตายของข้างฟ่างต่างหากที่กลายเป็นแรงสะเทือนอารมณ์ให้กับผู้ชม มาถึงฉากนี้สะเทือนสุดๆ ไม่คิดว่าจะมีน้ำตาซึมออกมาได้ โอโห มหัศจรรย์จริงๆ ถ้าตีจุดนี้อีกนิด น้ำตานี่อาจจะนองพื้นเลยก็ได้ 555 บังเอิญอีกนั่นแหละที่แอบไปเห็นเบื้องหลังตอนถ่ายทำฉากนี้ ตอนนั้นเห็นตัวเอกกระเจิงออกจากฉากมาในห้องโถง แอดฯ กำลังไปหาน้ำดื่มที่ตู้เย็นก็งงหน่อยๆ แต่มาดูหนังแล้วต้องขอชื่นชมในการแสดงที่ยอดเยี่ยมมากๆ แสดง และกำกับได้ถึงจริงๆ

บทสรุปจุดเด่นสามประการของหนัง ประการแรก มันคือหนังเพลงที่นักศึกษาทำ เพลงออกมาดีจริงๆ จังหวะการต่อเพลงเข้าออกแต่ละซีนเนียนมากๆ เพลงก็ดีมากๆ (ไม่ได้ชมแต่พูดจากใจ) ประการที่สอง ความสัมพันธ์อันคลุมเครือของครอบครัว อันนี้ดีมาก เป็นจุดแข็งของเรื่องที่ไม่รู้ว่าตั้งใจหรือเปล่า ถ้าไม่ตั้งใจมันจะเป็นอะไรที่น่าพูดถึงในหลายประเด็นเลยทีเดียว หรือถ้าตั้งใจก็ถือว่าเขียนบทได้ธรรมชาติมาก นักแสดงเป็นธรรมชาติ และกล้าใส่ความคลุมเครือดังกล่าวเข้ามา ประการสุดท้าย ประเด็นของหนังแน่นมากโดยเฉพาะการที่ป้าอรพยายามจะ “จัดการ” ปัญหาทั้งหลายภายในบ้านให้ได้ ไม่ว่าจะด้วยการใช้อำนาจที่ตัวเองมีอยู่แบบเบ็ดเสร็จ หรือพยามยามที่จะแก้ไขปัญหาของอดีตด้วยหนทางที่ป้าอรคิดว่าดีที่สุดสำหรับเธอ เพื่อมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับครอบครัว แม้ว่ามันจะตามมาด้วยปัญหามากมายก็ตาม

Buy on Readery
More

Leave a Comment

You may also like

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More