หมายเหตุ: สำนักพิมพ์ เม่นวรรณกรรม 21 ปี บทความนี้ปรับปรุงจากจากบทความ “16 ปีแห่งความหลังประวัติศาสตร์ฉบับย่อของสำนักพิมพ์เล็ก” พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Paper (หนังสืออย่างเเป็นทางการของ Bangkok Book Festival 2016)
Table of Contents
จาก 16 ปีแห่งความหลัง สู่ 21 ปี แห่งความหวัง
ในค่ำคืนที่อวลอบด้วยเสียงเพลงแจ๊ซจากนักร้องสาวเสียงแหบห้าวควันบุหรี่โปรยปลิวในบรรยากาศหญิงสาวแปลกหน้าที่บังเอิญมาพบถามผมด้วยคำถามที่ตอบแสนยากค่ำคืนนั้นผมจำไม่ได้ว่าตอบเธอไปว่าอย่างไรแต่จำสิ่งที่เธอพูดกลับมาทำให้ผมไม่เคยลืม
“ทำไมยังทนทำหนังสืออยู่ได้ยังไง…ในเมื่อผลตอบแทนต่ำ”
จากนั้นไม่ถึงสัปดาห์ผมก็ได้รับโทรศัพท์จากบรรณาธิการอธิคมให้เขียนถึงจุดเริ่มต้นของการทำหนังสือผมบอกอธิคมไปว่าผมเคยให้สัมภาษณ์คุณเป้วาดรวีเอาไว้ใน Underground Bulleteen เล่ม 18 ฉบับสุดท้ายพูดไปเกือบหมดว่าการเริ่มต้นทำสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมและ Alternative Writers ขึ้นมาได้อย่างไรแล้วอะไรที่ทำให้เราหลงใหลมันจนทู่ซี้ทำมาจนถึงเวลานี้
จุดเริ่มต้น
ผมอยากเล่าเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจนปลายโดยไม่ตัดฉากสลับไปมาเหมือนภาพยนตร์ เพราะผมคิดถึงกลวิธีของมันไม่ออกว่าจะเริ่มอย่างไร ตอนที่ผมมโนครั้งแรกในสมอง ผมคิดว่ามันดีมาก ผมจะเริ่มจากจุดนั้น โดยไม่สนว่ามันจะออกมาในรูปแบบไหน แม้บรรณาธิการจะเน้นให้เรื่องเล่าออกมาในเชิงประวัติศาสตร์ของคนทำสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก แต่ผมคิดว่าถ้าเล่าแบบนั้นคงน่าเบื่อ ชวนง่วงนอน แล้วที่สำคัญเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น มองจากมุมมองของตัวเองเป็นหลัก อาจจะมีรายละเอียดอีกมากมายที่เกิดขึ้น ผมจึงคิดว่าเรื่องนี้ควรเริ่มจากบรรทัดข้างล่าง
ยุคคอมพิวเตอร์เดินทางมาถึงหลายปีแล้ว จุดเริ่มต้นของสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2543 ตลาดหนังสือ สำนักพิมพ์ โรงพิมพ์ กำลังเปลี่ยนแปลง จากยุคอนาล็อคไปสู่ยุคคอมพิวเตอร์อย่างแท้จริง ช่างเรียงพิมพ์กำลังตกงาน การพิมพ์ยุคเก่ากำลังเป็นอดีต คนตัดแปะอาร์ตเวิร์คอาจต้องไปทำงานอื่น จนถึงขั้นไร้ตำแหน่งที่ว่างในสำนักพิมพ์ ทั้งหมดกำลังแทนที่ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ โปรแกรม Pagemaker ของ Adobe เข้ามามีอิทธิพลต่อผู้ผลิต ผมเรียนรู้การทำหนังสือจากโปรแกรมนี้มาได้
สักระยะ ทุกครั้งที่ผมให้สัมภาษณ์ ผมจะพูดเสมอว่า ถ้าไม่มีคอมพิวเตอร์ ผมคงไม่สามารถก่อตั้งสำนักพิมพ์ได้รวดเร็วขนาดนั้น ถ้าใครจำบรรยกาศช่วงรอยต่อระหว่างยุคนี้ได้ เราจะได้อ่านเรื่องสั้น และบทกวีเกี่ยวกับช่างเรียงพิมพ์ที่กำลังสูญพันธุ์อย่างมากมาย (เช่นเรื่องสั้น “การสังหารหมู่” โดย ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ ในช่อการะเกด 9) ตรงกันข้ามของความอาลัย ผมกลับมองเห็นโอกาส การกระโจนลงไปสู่การทำหนังสือ มันเป็นยุคที่คนรุ่นใหม่กำลังก้าวเข้าสู่ธุรกิจการพิมพ์
ห้วงเวลานั้นถ้ามองไปยังตลาดหนังสือ เราจะได้ยินชื่อสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ไม่กี่แห่ง แพรวสำนักพิมพ์ ดอกหญ้า ประพันธ์สาส์น มติชน ฐานเศรษฐกิจ หมึกจีน ดวงกมล เท่าที่ผมนึกออก ส่วนร้านหนังสือมีเพียงไม่กี่ร้าน ดอกหญ้า ท่าพระจันทร์ รามคำแหง และหัวหมาก ดวงกมล กับ หมึกจีน ย่านสยามสแคว์ และร้านหนังสือมือสองตามย่านอนุเสาวรีย์ชัยฯ หน้ารามฯ ก็เป็นแหล่งที่ผมซื้อหาหนังสือในราคาที่ถูกลง ส่วนในต่างจังหวัดก็เป็นร้านประจำตัวเมืองไม่กี่ร้าน รวมถึงแผงขายหนังสือพิมพ์
ตอนนั้นผมอายุ 28 มีผลงานตีพิมพ์รวมเล่มแล้วสองเล่ม โดยเขียนหนังสือมาแล้ว 7-8 ปี นิยายเรื่อง “ไปสู่ชะตากรรม” ที่ควรเป็นนิยายเล่มแรก แต่นิยายเรื่องนี้ถูกปฏิเสธไม่มีที่ตีพิมพ์ แล้วผมก็มองหาสำนักพิมพ์ที่อยากจะตีพิมพ์ผลงานของตัวเองไม่ได้ ทั้งเนื้อหาที่ผมเขียนคงไม่เหมาะกับสำนักพิมพ์ที่มีอยู่ ส่งไปก็คงโดนปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผมจึงคิดอยากทำสำนักพิมพ์ในแบบที่เราอยากจะพิมพ์หนังสือในแนวทางที่ตัวเองชอบขึ้นมา
ช่วงก่อนหน้านั้นหนังสือวรรณกรรมค่อยๆ ทยอยปิดตัว นิตยสาร Writer ยุคสองโดยคุณกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ปิดตัวลงในปี พ.ศ. 2541 ช่อการะเกดยุคสอง คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการ ยุติลงในปี พ.ศ. 2543 วงวรรณกรรมกำลังคลำหาทางออกหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2541 ไม่ได้ เหวไม่มีก้นของปีนั้นคือหายนะอย่างแท้จริง ไม่ค่อยมีสำนักพิมพ์ไหนกล้าพิมพ์หนังสือใหม่ๆ ออกสู่ตลาด ผมมีเงินเก็บอยู่สี่หมื่นบาท จึงตัดสินใจนำเงินจำนวนนั้นพิมพ์หนังสือเล่มแรกของสำนักพิมพ์
ทุกสิ่งเริ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เราไม่รู้เรื่องการตลาด ไม่รู้เรื่องสายส่ง ไม่รู้เรื่องร้านหนังสือ ไม่รู้ว่าเราจะทำอย่างไรให้หนังสือขายได้ เรารู้ว่าเพียงต้องเริ่มต้น มันเริ่มจากความกล้าหาญที่โง่เขลา มีแต่ความหลงใหลในตัวอักษร คิดว่าลงทุนไปขาดทุนก็เลิกทำ
สิ่งที่ผมเรียนรู้ในการทำหนังสือเล่มแรกของสำนักพิมพ์ก็คือ
1.ระบบฝากขาย
สำนักพิมพ์ต้องอาศัย “สายส่ง” เพื่อกระจายหนังสือที่ตนเองผลิตไปตามร้านหนังสือทั่วประเทศ โดยสายส่งคิดค่าฝากขาย 40% จากราคาปก (ในกรณีที่ขายหนังสือเล่มนั้นได้) ส่วนสายส่งแบ่งปันเปอร์เซ็นต์ให้กับร้านค้าประมาณ 20-25%
ถามว่าสำนักพิมพ์ส่งหนังสือเองได้ไหม ตอบว่าได้ ถ้ามีกำลังคนและเวลา แต่ถ้าเป็นสำนักพิมพ์เล็ก พิมพ์หนังสือปีละสองสามปก ปกละสองพันเล่ม กระจายทั่วประเทศเอง ยังไม่รวมการแจ้งยอด วางบิล เก็บเช็ค ค่าเดินทางก็หมดแล้ว พูดให้ง่ายคือไม่คุ้มค่าที่จะส่งหนังสือเอง
“สายส่ง” บริษัทต่างๆ มีข้อดี ข้อจำกัด และมีระบบเป็นของตนเอง แต่กระนั้นสำนักพิมพ์เล็กๆ ไม่ค่อยมีทางเลือกมากนักที่จะฝากขายหนังสือของตนกับบริษัทต่างๆ ไม่ว่าเลือกสายส่งใดก็มีค่าไม่ต่างกันมาก ยิ่งเป็นหนังสือวรรณกรรม เดินช้า ขายยาก กลุ่มคนอ่านน้อย แทบจะหาที่วางหนังสือในร้านไม่ได้เลย ปัญหานี้เป็นปัญหาเรื้อรังในวงการหนังสือ ปัญหาดังกล่าวสะสมมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบันโดยไม่สามารถแก้ไขได้
2.ร้านหนังสือ
ร้านหนังสือคือด่านสำคัญสุดท้ายของระบบธุรกิจสิ่งพิมพ์ ร้านหนังสือคือแหล่งรายได้หลัก สำนักพิมพ์จะอยู่รอดก็ต้องพึ่งพาร้านหนังสือ ดังนั้นพื้นที่จัดวางหนังสือในร้านหนังสือคือสิ่งที่สำนักพิมพ์ทุกสำนักพิมพ์ปรารถนาด้วยกันทั้งสิ้น ร้านหนังสือจะได้รับส่วนลดจากสายส่ง (20-25%) ดังนั้นร้านจะอยู่ด้วยรายได้เปอร์เซ็นต์การขาย นั่นหมายความว่าถ้าจะบริหารร้านให้อยู่รอด การพึ่งยอดขายอาจจะเป็นเพียงภาพลวงตา ยกเว้นร้านค้าจะบริหารเงินเก่ง สายป่านยาว ค่าใช้จ่ายต่ำ และภาวนาให้เดือนนึง มีหนังสือขายดีระดับเบสเซลเลอร์เข้ามาหลายๆ ปก จึงจะอยู่รอด
ในอดีต ร้านหนังสือทั้งในเมือง หรือตามตัวจังหวัดส่วนใหญ่อยู่ด้วยเพราะการขายหนังสือพิมพ์ และนิตยสาร
3.งานสัปดาห์หนังสือฯ (เดือนมีนาคม–เมษายน) และมหกรรมหนังสือฯ (เดือนตุลาคม)
เมื่อก่อนงานสัปดาห์ฯ เคยจัดประจำที่ถนนลูกหลวง พร้อมๆ กับงานกาชาด รูปแบบงานคือมีการกางเต้นท์ผ้าใบบนถนนลูกหลวง ทอดยาวไปตลอดแนวคลองผดุงกรุงเกษม สำนักพิมพ์ส่วนใหญ่จะขนหนังสือมาลดสต๊อคกันในงานนี้ คนที่มางานหนังสือจึงถือโอกาสเดินงานกาชาดด้วย บรรยากาศของงานหนังสือจึงเหมือนมาเดินตลาดนัด เดินงานกาชาดมากกว่า
ส่วนงานมหกรรมหนังสือฯ เป็นงานที่สามาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เป็นเจ้าภาพเพียงลำพัง งานนี้เกิดขึ้นทีหลังงานสัปดาห์ฯ หลายปี สถานที่จัดรอนแรมไปตามสถานที่ต่างๆ โดยจัดครั้งแรกที่ศูนย์การค้าแฟชั่นไอซ์แลนด์ เป็นการจัดที่ห้างสรรพสินค้าครั้งแรก แล้วงานก็ลองจัดตามสถานที่ต่างๆ เหมือนพยายามหาจุดลงตัว บางคนอาจจะไม่รู้ว่างานนี้เคยจัดกันที่ท้องสนามหลวงมาแล้ว ต้องต่อสู้กับความร้อน กับพื้นสนามหลวงในสมัยก่อนไม่เป็นใจต่อการเดินเลย จนกระทั่งมาลงตัวที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งผมไปเดินครั้งแรกพบว่างานมหกรรมที่จัดขึ้นในศูนย์สิริกิติ์แทบจะร้างผู้คน มีคนเดินจำนวนไม่มากเหมือนสมัยนี้ คนอ่านอาจจะคุ้นเคยกับการเดินงานกาชาดมากกว่า
แต่ในที่สุด สมาคมผู้จัดพิมพ์ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญ ย้ายสองงานหนังสือสำคัญประจำปีมาสู่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ การย้ายมาในครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นจุดเริ่มต้นของ Era ใหม่ของธุรกิจสิ่งพิมพ์เลยทีเดียว
บทเรียนของความล้มเหลว ของสำนักพิมพ์ เม่นวรรณกรรม
“ไปสู่ชะตากรรม” สร้างบททดสอบให้กับผมเป็นอย่างมาก มันคือบทเรียนสำคัญ ผมเรียกมันว่าจุดเริ่มต้นที่ล้มเหลว ผ่านมาหนึ่งปีหนังสือยังไม่สามารถเรียกต้นทุนคืนกลับมาได้ มันเจ๊งทางตัวเลขแต่กำไรในประสบการณ์ เราพอทำความเข้าใจต่อความล้มเหลวนี้ได้ เรายังไม่ยอมแพ้
ผมนำปัญหาของหนังสือเล่มนี้มาทบทวน ประการแรกหน้าปกที่เราออกแบบกันเองมันไม่ได้เรื่อง สองรูปเล่มยังเต็มไปด้วยความเคอะเขิน เราพยายามจะเลียนแบบการจัดหน้าแบบหนังสือต่างประเทศ แต่เรายังขาดประสบการณ์กับเครื่องมือที่เรามี จึงนำมาซึ่งบทเรียนราคาแพง ทั้งการเว้นมาร์จิ้นของขอบสำหรับตัดตก การเลือกไทป์ที่เป็นตัวบท รวมถึงชื่อสำนักพิมพ์น้องใหม่ไม่สามารถดึงดูดผู้อ่านวงกว้าง อาจจะรวมไปถึงตัวชื่อนิยายด้วยซ้ำ
ปีรุ่งขึ้นเราเริ่มขยับตัวขอบู๊ธในงานมหรรมหนังสือฯ โดยความช่วยเหลือจาก คุณกว่าชื่น แสงกระจ่าง แห่งสำนักพิมพ์คมบาง ให้คำแนะนำ ในการสมัครสมาชิกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ และพิธีกรรมต่างๆ ของทางสมาคมฯ เวลานั้นสำนักพิมพ์มีหนังสือของตัวเองเพียงเล่มเดียวคือ “ไปสู่ชะตากรรม” กับ หนังสือ “สนามหญ้า” จากสำนักพิมพ์ “ก่อการดี” สำนักฯ เฉพาะกิจ รวมนักเขียนรุ่นใหม่ของยุคที่ช่วยกันจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกมา พวกเรามักล้อตัวเองว่าเป็นพวกตกสำรวจ
หากมองย้อนกลับไปเราจะพบว่าบู๊ธในงานสัปดาห์หนังสือส่วนใหญ่จะมีแต่สำนักพิมพ์สำคัญใหญ่ ส่วนสำนักพิมพ์กลาง หรือเล็ก ส่วนใหญ่อยู่ในแวดวงสิ่งพิมพ์มานาน เช่นสำนักพิมพ์ในเครือเคล็ดไทย, สามัญชน, คมบาง และรหัสคดี ฯลฯ ครั้งนั้นเราน่าจะเป็นน้องใหม่ล่าสุดที่ไม่เป็นมืออาชีพเลย แต่ด้วยความช่วยเหลือจากสำนักพิมพ์ต่างๆ และแมกกาซีนที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในเวลานั้น อาทิเช่นนิตยสารโอเพ่น ของ คุณภิญโญ ไตรมิตรสุริยะ หนังสือไบโอสโคป ยุคทำมือ ที่ก่อตั้งโดย คุณสุภาพ หริมฯ และ คุณธิดา ผลิตผลการพิมพ์ หนังสืออะเดย์ ก่อตั้งโดย คุณวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ นอกจากนั้นยังมีหนังสือทำมือจาหลายๆ นักเขียนหลายๆ สำนักพิมพ์ช่วยกันส่งหนังสือของตัวเองมาขายในบู๊ธ ลองหลับตานึกภาพว่างานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ มีหนังสือที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ตบ้าง เลเซอร์เจ็ตบ้าง เย็บหนังสือด้วยมือ ด้วยเชือก เย็บมุงหลังคา วางขายในบู๊ธ ซึ่งเราตั้งขึ้นชื่อว่า Alternative Writers ก็ถือกำเนิดจากจุดนั้น
ตลอดระยะเวลาของการเปิดบู๊ธ Alternative Writers ยังคงสัญลักษณ์ของร้านหนังสือไม่เสื่อมคลาย เราไม่เคยโปรโมตบู๊ธในฐานะสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม เพราะเรายังระลึกถึงวันแรกที่เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ช่วยให้เราเดินมาถึงจุดนี้ได้
ในการเปิดบู๊ธครั้งแรก สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม ก็พิมพ์หนังสือเล่มที่สอง เป็นหนังสือคล้ายหนังสือทำมือในราคาที่ถูกมากๆ แต่เข้าระบบพิมพ์ทั่วไป ไม่ส่งหนังสือเข้าสายส่ง แต่ขายเฉพาะในบู๊ธ หนังสือเล่มนั้นคือ “รวมเรื่องสั้นไม่ตลกฯ” ของ คมสัน นันทจิต หนังสือเล่มนั้นพิมพ์ครั้งแรกแปดร้อยเล่ม และขายหมดในงานหนังสือ จนต้องพิมพ์ครั้งที่สอง แต่เราไม่ได้เงินมากนักเพราะคุณเป้ วาด รวีช่วยตั้งราคา เขาสารภาพกับเราในตอนหลังว่า ตั้งราคาให้ผิด แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เราหยุดยั้ง
หลังงานมหกรรมหนังสือฯ ปี 2543 ปรากฏการณ์ของหนังสือทำมือกลายเป็นที่สนใจของนักอ่านเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า นักเขียนใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ด้วยการพิมพ์เอง เข้าเล่มเอง ขายเอง จนเกิดงานหนังสือทำมือที่จัดโดยร้านหนังสือเดินทาง (ถนนพระอาทิตย์) ในยุคที่พี่จี๋ผู้ก่อตั้งเป็นเจ้าภาพจัดงาน ที่สวนสาธารณะสันติชัยปราการ ได้รับความนิยมจากนักเขียนรุ่นใหม่ถอดด้าม และนักอ่านจำนวนมากไปเดินเลือกซื้อหนังสือที่วางขายกันเอง งานดังกล่าวก่อเกิดนักเขียน สำนักพิมพ์ และเรื่องราวใหม่ๆ มากมายบนหน้าประวัติศาสตร์หนังสือ ไม่น่าเชื่อว่านักเขียนชื่อดังหลายคนก็เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ดังกล่าวมาจนถึงทุกวันนี้
เริ่มทำหนังสือเล่มที่สาม “เรื่องรักธรรมดา” เป็นรวมเรื่องสั้นหลายนักเขียน หนังสือเล่มนี้ทำต่อเนื่องมาจากหนังสือ “สนามหญ้า” ผมยังไม่เข็ดกับความล้มเหลว เราเชิญนักเขียนหนุ่มสาวซึ่งมีความแตกต่างจากเล่มแรกค่อนข้างมาก บางคนเพิ่งเป็นที่รู้จักในวงการนักอ่านได้ไม่นาน เช่น คุณปราบดา หยุ่น เพิ่งปรากฏผลงานขึ้นไม่นาน เขาขึ้นปกหนังสือ a day magazine ฉบับปฐมฤกษ์ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2543 พร้อมดารา นางแบบ นักธุรกิจหนุ่มสาวหลายคน นักเขียนบางคนที่เราเชิญเขียนมาจากสายสถาปนิก นักเขียนบางคนเป็นนักแสดง ฯลฯ แต่ผมมองว่าเรากำลังมองหาแนวทางหนังสือใหม่ๆ วรรณกรรมที่ไม่อยู่ในกรอบ หรืออยู่บนหิ้งอีกต่อไป
หลังปีเศรษฐกิจวิบัติ หนังสือเนื้อหาใหม่ๆ มีไม่มาก “เรื่องรักธรรมดา” จึงคล้ายการไปสะกิดกระแสบางอย่างที่หลับอยู่ให้ตื่น นั่นเป็นครั้งแรกๆ ที่เราเริ่มใช้สื่อออนไลน์ โฆษณาหนังสือ ผ่านแบรนเนอร์เวบไซต์ หากใครจำได้ แบรนเนอร์ของเรากะพริบคำขวัญของ “เรื่องรักธรรมดา” ว่า “ความรักของคุณสีอะไร” เราเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกในงานสัปดาห์หนังสือฯ ปี 2544 หนังสือเล่มนี้ขายได้พันเล่มในงาน จนเราตกใจ บางวันหนังสือหมดจากบู๊ธ เพราะพิมพ์ไม่ทัน บางส่วนเราส่งสายส่งไปแล้ว และหลังงานหนังสือต้องพิมพ์ซ้ำครั้งที่สองตามมาอีก
หลังจาก “เรื่องรักธรรมดา” เม่นวรรณกรรมยังพิมพ์หนังสือแนวหลายนักเขียนอีกห้าเล่ม สิ่งที่เราพบคือ หนังสือที่ทำต่อเนื่องมาสักระยะหนึ่งแล้วจะพบกับเนื้อหาที่วนซ้ำ เนื้อหาแบบใหม่ๆ ไม่เกิดขึ้น ผมจึงตัดสินใจจบหนังสือชุด “สนามหญ้า” ลง สิ่งที่เม่นวรรณกรรมเรียนรู้ก็คือ ผู้อ่านเติบโตขึ้น หนังสือเมื่อออกมาในแบบเดิมๆ คนอ่านเรียกร้องให้สำนักพิมพ์ค้นหาแนวทางใหม่ๆ คนอ่านบอกเราจากยอดขาย และความสนใจต่อหนังสือที่เราทำ ซึ่งเราต้องเรียนรู้จากสิ่งนั้นให้ได้
หากจะพูดถึงแวดวงวรรณกรรมอย่างเดียวในช่วงเวลาดังกล่าว โดยข้ามงานกิจกรรมสำคัญที่เป็นบ่อเกิดของคำว่า “เด็กแนว” คงจะเป็นไปไม่ได้ งานนี้คืองาน Fat Festival ครั้งที่ 1 (1-2 กันยายน 2544) จัดขึ้น ณ โรงงานยาสูบเก่า ถนนเจริญกรุง แฟตเฟสครั้งที่หนึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญ แฟตเฟสเป็นเทศกาลดนตรีอินดี้ไทย โดยมีหนังสือทำมือ และซีดี จากค่ายเพลงต่างๆ มาขายในงาน เม่นวรรณกรรมได้ไปขายในงานนี้ด้วย ทำให้เราพบคนอ่านรุ่นใหม่ คนฟังเพลง คนสร้างสรรค์ศิลปะ เป็นการรวบรวมผู้สร้างสรรค์งานในยุคใหม่ไปรวมตัวกันอย่างเนืองแน่น จากนี้เหมือนว่าคนหนุ่มสาวตื่นตัวขึ้นมา พร้อมกับการมีตัวตนในแบบที่พวกเขาเลือก
ในเวลาต่อมางานสัปดาห์หนังสือฯ และมหกรรมหนังสือฯ ที่เคยใช้ส่วนโซน C1 และ C2 มีคนเดินจำนวนไม่มากเหมือนปัจจุบัน ก็เริ่มขยายไปโซนอื่นๆ ของศูนย์ประชุมแห่งชาติ จนกระทั่งปัจจุบัน งานหนังสือได้ใช้พื้นที่ทุกพื้นที่ของศูนย์ฯ จากงานหนังสือสมัยเก่าที่สำนักพิมพ์ต่างๆ มาลดสต๊อคหนังสือเก่าที่อยู่ในโกดัง กลายมาเป็นเปิดตัวหนังสือใหม่ในงานหนังสือแทน ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมลูกใหม่อีกครั้ง สำนักพิมพ์เกิดใหม่เริ่มมองเห็นส่วนแบ่งการตลาด สำนักพิมพ์เก่าที่มีฐานมั่นคงอยู่แล้วมองเห็นโอกาสเจริญเติบโต บริษัทมหาชนในด้านบันเทิงเข้าซื้อกิจการบางสำนักพิมพ์ และผลิตหนังสือออกมาสู่ตลาดอีกครั้ง หลังปี 2544 ธุรกิจหนังสือกลับมาเติบโตอย่างต่อเนื่อง
แต่โดยปัญหาเชิงโครงสร้างเดิมยังไม่ได้รับการแก้ไข นั่นหมายความว่าช่วงรุ่งโรจน์ ภายใต้ปัญหาเดิมที่ยังอยู่กับเรา
อ่านบทความเพิ่มเติม: ความเหลวไหลในกระแสสำนึก
ระยะเวลาแห่งการเบ่งบาน
อาจจะกล่าวได้ว่าตลาดหนังสือกลับมาเบ่งบานอีกครั้งในช่วงปี 2545 เป็นต้นมา ร้านหนังสือเชนสโตร์เปิดตามห้างสรรพสินค้าเติบโตตามห้างค้าปลีกอย่างต่อเนื่อง ไปที่ไหนก็พบร้านหนังสือตามห้างฯ เหมือนปักธงชัยภูมิ ด้วยเป้าหมายเพิ่มจำนวนร้านให้ได้ตามเป้า ยิ่งเปิดสาขามากโอกาโกสก้มากตาม ซีเอ็ดได้ผลพวงกับการเติบโตนี้ นิตยสารกลายเป็นหัวหอกสำคัญ ผู้คนไปยืนอ่านหน้าร้านกันเต็ม นิตยสารแนวใหม่ๆ เปิดตัว นิตยสารหัวนอกฉบับภาษาไทยก็เช่นกันตั้งแต่แนวแฟชั่นจนถึงสารคกีอย่างเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก
หลังดอกหญ้าต้องเข้าสู่โปรแกรมประนอมหนี้ ในช่วงยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ปี 40 เราจะพบว่าก่อนยุคฟองสบู่ร้านหนังสือสแตนด์อโลนซึ่งทำหน้าที่วงจรสุดท้ายของหนังสือยังมีบทบาทสำคัญ พื้นฐานของร้านอิงกับสถาบันการศึกษา เช่น ตำแหน่งร้านใกล้กับมหาวิทยาลัย บางแห่งยังเปิดตัวในย่านบันเทิงเก่า ไม่ว่าจะเป็นวังบูรพา สยามสแคว์ ส่วนต่างจังหวัดก็ยังเป็นเจ้าตลาดขายงบประมาณการซื้อจากหน่วยงานราชการ
ร้านดวงกมลบุ๊คเฮาส์ คุณสุข สูงสว่าง เป็นผู้ก่อตั้ง ลงทุนมหาศาลเปิดร้านหนังสือที่ห้างฯ ซีคอนสแคว์ จนกลายเป็นร้านหนังสือที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีหนังสือนับหมื่นเล่ม ข้างในพื้นที่ร้านยังประกอบไปด้วยไวน์เซลลาร์ เครื่องดื่มที่คุณสุขชื่นชอบ แล้วยังประกอบไปด้วยกิจกรรมฉายหนังเช่น DK Film House ซึ่งมีคุณสนธยา ทรัพย์เย็น ดูแลอยู่ในส่วนกิจกรรม แต่กระนั้นร้านดวงกมลบุ๊คเฮาส์ ที่เปิดตัวตั้งแต่ปี 40 จนถึง 43 ไม่อาจต้านทานภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ ขาดทุนต่อเนื่องนับร้อยล้านบาทจนกระทั่งปิดตัวลงไป
ร้านหนังสือซีเอ็ด เริ่มต้นจากสำนักพิมพ์ตำราวิชาการ-ความรู้ เป็นบริษัทสิ่งพิมพ์แรกๆ ที่เข้าสู่ตลาดหุ้น เปิดเกมรุกด้านหนังสือโดยเปิดร้านหนังสืออย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จของซีเอ็ดก็คือการขยายสาขาจำนวนมากทั่วประเทศ ภายใต้การกำกับดูแลของคุณทนง โชติสรยุทธ ในสมัยที่คุณธนะชัย สันติชัยกูล เป็นนายสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ (2546-50) มักจะเชิญคุณทนงไปปาฐกถาในวันประชุมเสมอ โดยคุณทนงมักเน้นย้ำถึงธุรกิจสิ่งพิมพ์ว่ามีส่วนแบ่งทางการตลาด และมูลค่าของการตลาดเท่าไหร่ เติบโตได้อีกกี่เปอร์เซ็นต์ ทำให้สำนักพิมพ์ใหญ่น้อยหึกเหิม บริหารงานในเชิงรุกอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน การขับเคลื่อนองคาพยพวงการสิ่งพิมพ์เต็มไปด้วยพลังของเม็ดเงินอย่างแท้จริง
ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดสำนักพิมพ์สำคัญเช่น Bliss ผู้พิมพ์นิยายแปลนักเขียนญี่ปุ่นสมัยใหม่ จนได้รับความนิยมจากนักอ่านวัยรุ่น สำนักพิมพ์แจ่มใส เป็นอีกสำนักพิมพ์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ก่อตั้งในปี 2545 เมื่อพิมพ์นิยายเข้าถึงกลุ่มคนอ่านซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนได้เป็นอย่างดี ทำให้ตลาดหนังสือต้องหันกลับมามองกลุ่มนักอ่านรุ่นใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะบู๊ธหนังสือแจ่มใสในงานสัปดาห์หนังสือฯ และมหกรรมหนังสือฯ สร้างปรากฏการณ์บู๊ธแตกมาแล้ว นักอ่านต่อแถวขอลายเซ็นนักเขียนยาวเหยียด ที่น่าสนใจจากสำนักพิมพ์แจ่มใส ต้องจ้าง CEO มาดูแลกิจการที่เติบโตแบบก้าวกระโดด จนเป็นที่เกรียวกราวในแวดวงสิ่งพิมพ์เป็นอย่างมาก
ราวปี 2547 คุณเป้ วาด รวี ได้เปิดร้านหนังสืออิสระขึ้นในนามร้านหนังสือใต้ดิน พร้อมกับนิตยสาร Underground Bulleteen เล่มแรก โดยเช่าพื้นที่ชั้นสองโรงหนังสยาม สยามสแคว์ เป็นทำเลร้าน หากจะกล่าวได้ว่าเป็นการเริ่มต้นที่กล้าหาญไม่น้อย ทั้งที่เขารู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่มันทำให้ตัวผมเองพบว่าเพื่อนฝูงในแวดวงวรรณกรรม กำลังทดสอบบางอย่างในระบบการจัดจำหน่ายหนังสือ เพื่อหาจุดที่ลงตัวที่สุดเพื่อที่เราจะสามารถยืนระยะการทำงานได้ยาวออกไป โดยไม่บั่นทอนสติปัญญา หรือกินเงินลงทุนที่เรามีอยู่ไม่มากให้หมดลงอย่างรวดเร็วจนเกินไป
กระแสธารขาขึ้นของธุรกิจหนังสือ มีผลต่อแวดวงวรรณกรรมอย่างเห็นได้ชัด นอกจากสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมแล้วยังมีสำนักพิมพ์โอเพ่น, นิตยสารไบโอสโคป, สำนักพิมพ์อะบุ๊ค ในเครืออะเดย์, วงกลม, ฟูลสต๊อป, นิตยสารซัมเมอร์ ระหว่างบรรทัด, เป็ดเต่าควาย, ไต้ฝุ่น, ชายน์ และอีกมากมาย ล้วนก่อเกิดในช่วงขาขึ้นของธุรกิจหนังสือทั้งสิ้น สำนักพิมพ์อิสระเล็กๆ เหล่านี้ แม้จะเดินตามสำนักพิมพ์รุ่นพี่ ที่เป็นการตีพิมพ์หนังสือเฉพาะผลงานของตัวเอง (self-publishing) เช่น หอน (คุณชาติ กอบจิตติ), 113 (คุณวินทร์ เลียววาริณ), เกี้ยวเกล้า พิมพการ (เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์), คมบาง (ชมัยพรและดลสิทธิ์ บางคมบาง), วรรณวิภา (คุณสุวิทย์ ขาวปลอด), ดวงตะวัน (คุณขวัญใจ เอมใจ), จิตรา (คุณจิตรา ก่อนันทเกียรติ),ไม้ยมก (คุณพรชัย แสนยะมูล)
แต่ก็มิใช่ทั้งหมด สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม แม้จะพิมพ์งานของผมนับตั้งแต่ “ไปสู่ชะตากรรม” เป็นต้นมา แต่ตลอดช่วงการทำสำนักพิมพ์ก็ยังพิมพ์งานนักเขียนคนอื่นสม่ำเสมอ เช่นผลงานของ คุณทินกร หุตางกูร, วัน ณ จันทร์ธาร, คุณพิสิฐ ภูศรี, คุณโตมร ศุขปรีชา, สิรินดา, เอวิกา วิกาล, วีร์วิศ, มน. มีนา, ซูเปอร์ชินจางงงงง, คุณเสาวณีย์ อภิสมัยมงคล, คุณเกศณี ไทยสนธิ, สิริมงคล, คุณภู่มณี ศิริพรไพบูลย์, คุณวิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา, สิเหร่, คุณวิกรานต์ ปอแก้ว, คุณอ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ ศวา เวฬุวิวัฒนา, พิราอร กรวีร์ (และในอนาคตอีกหลายท่านที่จะร่วมขบวนไปกับเรา)
ในช่วงขาขึ้นของวงการสิ่งพิมพ์ ผมมองเห็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจก็คือ หนังสือในตลาดหนังสือเริ่มมีอาการล้น (ไม่ใช่อิ่มตัว อิ่มตัวจะมาหลังจากล้นสักสองสามปีต่อจากนี้) อาการนี้สังเกตได้ว่า เมื่อแนวหนังสือแบบใดเริ่มเป็นที่นิยม ก็จะมีสำนักพิมพ์ทั้งใหม่เก่าเริ่มทำตาม เพื่อรองรับจำนวนนักอ่านที่เพิ่มขึ้น หรือเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางตลาดที่ยังเหลืออยู่ ห้วงเวลาของการบูมนี้จึงไม่ก่อเกิดสิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องเหมือนช่วงแรก ที่สำคัญจำนวนผู้อ่านที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายหลังฟองสบู่นั้น กลับเติบโตช้าลง นักอ่านวัยรุ่นเมื่อเติบใหญ่สู่วัยทำงาน เปลี่ยนแนวการอ่าน จนไปถึงเลิกอ่านหนังสือ ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ต้องหาเลี้ยงตัวเองในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ บวกกับปรากฏการณ์มาถึงของสมาร์ทโฟน โซเชียลมีเดีย โลกออนไลน์กลายเป็นคู่แข่งสำคัญที่แย่งเวลานักอ่านไป
ช่วงเวลาหอมหวาน ขาขึ้นของธุรกิจสิ่งพิมพ์ดูเหมือนจะมาถึงจุดทรงตัว พลังขับเคลื่อนของธุรกิจเริ่มมาจากแรงเฉื่อยของความสำเร็จ
เม่นวรรณกรรม กลับสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง
ข้อเท็จจริงของการทำหนังสือ เริ่มต้นจากสำนักพิมพ์ ควานหาต้นฉบับจากนักเขียน ตัดสินใจตีพิมพ์ จัดรูปเล่ม ส่งอาร์ตเวิร์คไปยังโรงพิมพ์ โรงพิมพ์ทำการพิมพ์ เข้าเล่ม ตัดเจียน ห่อหนังสือ ส่งไปยังสายส่ง สายส่งแกะห่อ กระจายหนังสือไปตามร้านหนังสือทั่วประเทศ หนังสือรอคอยผู้อ่านบนชั้นในร้าน มีคนบอกว่าตราบใดที่หนังสือยังอยู่ในระบบร้านค้า หนังสือจะตามหานักอ่านจนพบ
เดี๋ยวก่อน ร้านหนังสือในช่วงขาขึ้น มาพร้อมกับความเร็ว หนังสือล้นตลาด ชั้นหนังสือใหม่มีเวลาให้กับเล่มใหม่ไม่นานนัก ถ้าหนังสือไม่เดิน เล่มนั้นจะถูกชะตากรรมเสียบสันไม่ได้โชว์หน้าปก หรือแย่สุดอาจจะถูกซุกอยู่หลังร้าน พื้นที่ในร้านกลายเป็นสมารภูมิดุเดือด ตำแหน่งการวางที่ดีบางทีอาจจะต้องมีราคาค่างวด
หนังสือในระบบฝากขายส่วนใหญ่จะเหลือกลับมา 30-40% ซึ่งถือว่าโชคดีแล้วที่หนังสือยังขายได้ในจำนวนหนึ่ง ยังมีหนังสือหลายเล่มเหลือกลับมามากกว่านั้น
ข้อเท็จจริงอีกประการก็คือร้านหนังสือเชนสโตร์อาจต้องการหนังสือมากกว่าที่สำนักพิมพ์ต้องการจะพิมพ์ เช่นสำนักพิมพ์ต้องการพิมพ์สองพันเล่ม แต่เชนสโตร์คิดว่าควรจะพิมพ์สามพันเล่ม เพื่อที่จะได้กระจายหนังสือได้ครบทุกสาขา แต่นั่นเพื่อความสะดวกของร้านเชนสโตร์ แต่ไม่ใช่สำนักพิมพ์
ช่วงสองสามที่ผ่านมา (2555-59) ร้านหนังสือพบกับยอดขายหนังสือตกต่ำลงเรื่อยๆ จนต้องปรับกลยุทธเพื่อความอยู่รอดโดยลดพื้นที่ขายหนังสือในร้านลง และเพิ่มพื้นที่ที่เป็น Non Book มากขึ้น เช่นเครื่องเขียน ดิคชันนารีอัจฉริยะ หรือ Tablet บางเจ้าเพิ่มโปรโมชั่นผ่อน 0% นั่นหมายความว่าจำนวนหนังสือที่จะถูกส่งกลับคลังจะมากขึ้นกว่าก่อน เป็นสัญญาณเตือนให้กับสำนักพิมพ์ว่าอาจจะถึงเวลาต้องลดจำนวนการผลิตลง รวมถึงลดจำนวนปกหนังสือลงด้วย
เมื่อหนังสือเดินทางกลับจากร้านหนังสือ สู่คลังเก็บหนังสือของสายส่ง ราวกับพวกมันกลับมาจากสนามรบ ด้วยสภาพเก่าคร่ำ พังยับเยิน ฝุ่นเกาะ มันไม่ใช่หนังสือในสภาพ 100% อีกต่อไป
ครบสัญญาฝากขายหนังสือ ส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะเวลาสองถึงสามปี สายส่งจะคืนหนังสือกลับสู่สำนักพิมพ์ โลกจริงของคนทำหนังสืออยู่ที่นั่น กองทัพหนังสือกลับสู่บ้านของมันแท้จริง ในสภาพราวกับทหารผ่านศึก สต๊อคของเราบวมจนล้น วิธีการกำจัดที่ง่ายที่สุดด้วยการขายหนังสือให้กับร้านหนังสือเก่าในราคาชั่งกิโลขาย น้ำตาของผู้ทำหนังสือหยดลงมาโดยไม่รู้ตัว
สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมก็ประสบกับปัญหาการคืนกลับของหนังสือเช่นเดียวกัน แต่เราพยายามที่จะไม่ตัดสต๊อคด้วยการขายเหมาชั่งกิโล ที่เราทำคือจัดหาที่เก็บแล้วจึงค่อยๆ ทยอยขายออกมา แม้ต้องใช้เวลานาน แล้วสภาพหนังสือเสื่อมลง แม้หนังสือหลายเล่มที่กลับมาจะคืนทุนแล้ว แต่หนังสือที่เหลือจากสายส่งก็ยังมากมายอยู่ดี ยิ่งเราพิมพ์หนังสือมากเล่ม มากปี หนังสือก็จะทวีคูณกลับมามากเท่านั้น
ปี 2550 เป็นต้นมาถือว่าธุรกิจหนังสือต่อสู้อย่างดุเดือด ทั้งต้องการการเติบโตที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันก็เผชิญหน้าการแข่งขันเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่ง จนเข้าสู่ภาวะหนังสือล้นตลาด โอกาสหนังสือใหม่เริ่มดูเป็นเล่มๆ ปรากฏการณ์ในแบบขึ้นยกแผงเริ่มหาได้น้อยลงไปทุกที การเผชิญต่อความเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงแก้ไข หรือเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ อย่างระมัดระวังมากขึ้นได้กลับมาอีกครั้ง แม้เศรษฐกิจจะไม่ตกรุนแรงเหมือนวิกฤติฟองสบู่ แต่อาการเฉื่อยนี้อึมครึมอยู่นาน เมื่อบวกกับกระแสวิกฤติการเมืองในประเทศไทยด้วยแล้ว (นับตั้งแต่รัฐประหารปี 49) ภาวะเศรษฐกิจไม่เฉพาะสิ่งพิมพ์ มีทรงกับทรุด
วิกฤติวงการหนังสือ เม่นวรรณกรรม ดำเนินการอย่างไร
กลิ่นการเมืองวิกฤติค่อยๆ คุกรุ่นขึ้นระหว่างช่วงปี 2547-48 การปิดตัวของ a day weekly ในเครืออะเดย์ กลายเป็นประเด็นร้อนในแวดวงนิตยสาร และธุรกิจสิ่งพิมพ์ไม่น้อย ในปีรุ่งขึ้น คุณอธิคม คุณาวุฒิ เข็นแมกกาซีนของตัวเองในนาม Way ออกสู่ตลาดหนังสืออีกครั้ง โดยวางตำแหน่งหนังสือในฐานะ ไลฟ์สไตล์-การเมือง อย่างที่เขาถนัด ในเวลาต่อมาเวย์ก็เริ่มผลิตหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊คสู่ตลาด นอกจากเวย์แล้วยังมีสำนักพิมพ์น้องใหม่ที่ไม่กลัวน้ำร้อน “สำนักพิมพ์สมมติ” ภายใต้การดูแลชอง คุณชัยพร อินทุวิศาลกุล และคุณปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล คุณชัยพร ที่คนในวงการรู้จักกันดีพวกเราเรียกเขาด้วยชื่อเล่นว่าจ๊อก เขาจบเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับช่วงงานโรงพิมพ์นาม “ภาพพิมพ์” จากครอบครัว และปรับปรุงโรงพิมพ์ให้กลายมาเป็นโรงพิมพ์ที่ครบวงจรทุกขั้นตอน โดยย้ายโรงพิมพ์มาสู่สถานที่แห่งใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม โดยเพิ่มเงินลงทุนลงไปทั้งที่รู้ว่าถ้าจะรอดต้องทำงานหนัก (ปัจจุบันสิ่งที่เขาคิดน่าจะออกดอกออกผลอย่างที่เขาตั้งใจเอาไว้) คนทั้งสองทำสำนักพิมพ์วรรณกรรมด้วยความกล้าหาญ โดยมีคุณปิยะวิทย์ดูแลสำนักพิมพ์เป็นหลักใหญ่
ช่วงเวลานี้ตลาดหนังสือในแบบ Non-Fiction เริ่มได้รับความนิยมจากนักอ่านมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์การเมือง ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ปรัชญา ความเรียงกึ่งวิชาการ ยิ่งสภาพการเมืองเริ่มเข้มข้นขึ้น หนังสือแนวดังกล่าวก็ปรากฏโฉมออกมาอย่างมากมายต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าเสรีภาพทางวิชาการในช่วงเวลาดังกล่าวได้สร้างความเข้มแข็ง ท่ามกลางความโกลาหลขนาดใหญ่ของประเทศ
ในปี 2555 สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม ได้กลับสู่การเริ่มต้นอีกครั้งด้วยการพิมพ์หนังสือเท่ากับจำนวนนักอ่านที่คาดว่าจะซื้อ เม่นวรรณกรรมไม่ผลิตหนังสือเพื่อฝากขายผ่านสายส่งอีกต่อไป สำนักพิมพ์ส่งหนังสือเข้าสู่ร้านโดยตรง ในช่วงเวลาดังกล่าวมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจคือการก่อเกิดร้านหนังสือ Bookmoby Reader’s Cafe ตั้งอยู่ที่หอศิลปะกรุงเทพฯ อันเป็นทำเลของนักศึกษา นักอ่าน ศิลปิน นักกิจกรรมได้มาใช้พื้นที่ ทำให้ร้านดังกล่าวเป็นศูนย์รวมของปัญญาชนรุ่นใหม่ไปโดยปริยาย ร้านบุ๊คโมบี้เกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์สำนักพิมพ์เล็ก และอาจกลายเป็นร้านหนังสือที่ไม่ค่อยมีหนังสือจากค่ายใหญ่ ไม่มีสังกัด (แม้จะไม่ทั้งหมด) ทางร้านบุ๊คโมบี้เน้นหนังสือวรรณกรรม หนังสือศิลปะ หนังสืออินดี้ การอยู่รอดของบุ๊คโมบี้ทำให้เห็นว่าร้านหนังสือสามารถอยู่รอดได้แม้ขายวรรณกรรม
ช่วงเวลาใกล้เคียงกันเกิดร้านออนไลน์ readery.co ซึ่งปฐมบทใช้ชื่อว่า Biblio การรีแบรนด์มาสู่ชื่อ Readery ทำให้เรียกขานกันได้ง่ายขึ้น จนประสบณ์ความสำเร็จอย่างรวดเร็ว อย่างที่ไม่เคยมีร้านหนังสือออนไลน์ร้านใดในเมืองไทยเคยทำได้ ผลจากการปรับปรุงระบบร้านออนไลน์ให้ทันสมัย เข้าถึงผู้อ่านได้ง่าย สามารถชำระเงินได้ทุกช่องทาง การเกิดขึ้นของร้าน Readery เช่นเดียวกับ Bookmoby คือตอบโจทย์การเข้าถึงผู้อ่านกลุ่มวรรณกรรมที่ชัดเจน ตรงเป้า และในเวลาต่อมาร้านหนังสืออิสระอีกมากมายก็ถือกำเนิดขึ้นเช่นร้านก็องดิด บนทำเลย่านฝั่งธนบุรี รวมถึงร้านใหม่ๆ อย่างบุ๊คบุรี ซึ่งรีแบรนด์จากธุรกิจครอบครัว, ร้านคำนำ วางเป้าเป็นร้านแห่งนคปฐม, ร้านหนังสือ(2521) ยุคปรับปรุงมุ่งเน้นลูกค้าที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยือนย่านเมืองเก่าภูเก็ต, ร้านบูคู ซึ่งแม้จะอยู่ปัตตานีแต่ด้วยความเป็นนักกิจกรรมของเจ้าของร้านจึงมีสีสันที่ไม่เหมือนใคร เช่นเดียวกับร้าน Book Re:public แห่งเชียงใหม่ ฯลฯ
เม่นวรรณกรรมเริ่มทำการพรีออร์เดอร์หนังสือเล่มแรก จากนิยายเรื่อง “ความโดดเดี่ยวทั้งมวลที่ไม่มีใครสังเกตเห็น” (ปี 2555) หนังสือได้รับผลตอบรับดีเกินคาด เราประเมินผิดพิมพ์หนังสือเล่มนี้น้อยเกินไป มันขายหมดในเวลาไม่นาน ทำให้เห็นว่าหนังสือวรรณกรรมอาจจะขายได้ถ้าเข้าถึงกลุ่มคนอ่านที่ถูกกลุ่ม ประจวบกับโซเชียลมีเดีย อย่าง Facebook ทำให้มีกลุ่มนักอ่านติดตามนักเขียน เข้าถึงกิจกรรมของสำนักพิมพ์ได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน
การพรีออร์เดอร์คือการขายหนังสือที่ยังไม่มีอยู่ในสต๊อค หมายถึงสำนักพิมพ์เปิดให้คนอ่านสั่งจอง-ชำระเงินก่อนที่หนังสือจะพิมพ์เสร็จ โดยมีช่วงเวลาที่กำหนดเอาไว้ สำหรับเม่นวรรณกรรมมองว่าการพรีออร์เดอร์ของสำนักพิมพ์คือการเปิดโอกาสให้แฟนหนังสือของสำนักพิมพ์ ได้สั่งจองหนังสือล่วงหน้า ในราคาพิเศษ และผู้ที่สั่งพรีออร์เดอร์จะได้รับหนังสือก่อนที่จะวางจำหน่ายที่ร้านค้า พรีออร์เดอร์ทำให้หนังสือเป็นที่สนใจกับนักอ่านเพิ่มขึ้น ยิ่งเราไม่ได้วางขายหนังสือตามร้านเชนสโตร์เหมือนแต่ก่อน การพรีออร์เดอร์จึงมีความสำคัญกับสำนักพิมพ์ไม่น้อย
แม้เม่นวรรณกรรมจะไม่ได้ทำหนังสือประเภทระดมทุน แต่รูปแบบของการทำหนังสือในแบบระดมทุนก็มีตัวอย่างให้เห็น เช่นหนังสือ Moby-Dick ของเฮอร์แมน เมลวิลล์ เกิดขึ้นได้จากการระดมทุนของนักอ่าน และจัดพิมพ์ตามจำนวนที่นักอ่านสั่งซื้อเท่านั้น กรณีนี้อาจจะคล้ายๆ กับกลุ่มมาตรฐานวรรณกรรมพิมพ์จำกัด ซึ่งเริ่มโมเดลแรกกับหนังสือเล่มหนา “สีแดงกับสีดำ” ของสตองดาล โดยสำนักพิมพ์สามัญชน ก็ได้รับความสนใจจากนักอ่าน
ก่อนจบบทความชิ้นนี้ หากไม่พูดถึงการทยอยปิดตัวของแมกกาซีนตลอดช่วงปี 2557-59 คงจะขาดบางสิ่งไป โดยเฉพาะแมกกาซีนแฟชั่น ซึ่งเคยเป็นผู้นำทางด้านเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ ได้ถูกกระแสของความเปลี่ยนแปลงกัดเซาะพังทลายลงอย่างช้าๆ เม็ดเงินโฆษณาสิ่งพิมพ์ลดลงอย่างน่าใจหาย การปิดตัวของหนังสืออย่าง Cosmopolitan นิตยสารหัวนอกฉบับภาษาไทยที่ผลิตต่อเนื่องมาถึง 19 ปี ต้องหยุดการพิมพ์ก่อนที่จะหมดสัญญา นิตยสาร Image แมกกาซีนแฟชั่นไทยที่ได้รับความนิยมสูง ก่อตั้งตั้งแต่ปี 2530 ฉบับสุดท้ายวางตลาดในเดือนพฤษภาคม 2559 การปิดตัวอย่างต่อเนื่องนี้ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนในแวดวงสิ่งพิมพ์เป็นอย่างมาก ปี 2562 บางกอกโพสต์ เดอะเนชั่น สองหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษต้องปิดตัวตามไปอีกราย ไม่นับรวมผลประกอบการสื่อสิ่งพิมพ์ที่อยู่ในตลาดหุ้นมีผลขาดทุนมากกว่ากำไร บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMARIN ได้ทำการเพิ่มทุน 200 ล้านหุ้น โดยขายหุ้นให้กับ 2 ทายาทเบียร์ช้าง ได้แก่ คุณฐาปน-ปณต สิริวัฒนภักดี เป็นมูลค่ามากกว่า 800 ล้านบาท ในราคาหุ้นละ 4.25 บาท ทำให้ทั้งคู่ครองหุ้นของอมรินทร์ถึง 47.62% ในส่วนของร้านซีเอ็ดเปลี่ยน CEO คนใหม่โดยได้คุณเกษมสันต์ วีระกุล มาเป็นหัวเรือ โดยเริ่มงานด้วยการพัฒนาองกร เดินสายสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงาน ปรับเปลี่ยนกลยุทธให้เข้ากับยุคสมัยใหม่
ตลอดระยะเวลา 20 ปี ในการก่อตั้งสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม เราพิมพ์หนังสือเฉลี่ยปีละสามเล่ม บวกลบตามสภาพเศรษฐกิจ มีคนถามเราเสมอว่าเราอยู่ได้อย่างไร ผมมักตอบว่าด้วยความรักที่จะทำหนังสือวรรณกรรม เราเลือกทำหนังสือในแบบที่เราชอบ พิมพ์หนังสือในแบบที่เราอยากอ่าน หน้าปกที่เราอยากเห็น ภาพประกอบที่เราอยากทำ เราเชื่อว่าคนอ่านก็เช่นกัน เราพยายามปรับตัวให้เข้ากับสภาพตลาดหนังสือที่เปลี่ยนแปลง เราลงทุนตามกำลังที่มี ไม่ได้โหมแม้ในช่วงขาขึ้น เรารู้ว่าตลาดหนังสือของเราอยู่ตรงไหน
ผ่านวิกฤติมาหลายครั้ง พบพานทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว ท้ายที่สุดผมยังเชื่อว่า เราสามารถทำให้แวดวงวรรณกรรมดีขึ้นเรื่อยๆ เราเรียนรู้มันอย่างค่อยเป็นค่อยไป บทเรียนที่เราได้รับมีราคาที่เราต้องจ่าย ผมไม่เคยเสื่อมศรัทธาต่อพลังวรรณกรรม ผมรู้ว่ามันเปลี่ยนผู้คนได้จากข้างใจ และผมเชื่อว่าแม้เปลี่ยนแปลงเพียงน้อยนิด ก็ยังสามารถก้าวไปข้างหน้าได้ ผมเชื่อเช่นนั้น
ในวาระที่สำนักพิมพ์ เม่นวรรณกรรม 21 ปี ทางสำนักพิมพ์มีโครงการที่จะเฉลิมฉลองความสำเร็จเล็กๆ ของเรา ด้วยการผลิตหนังสือที่ระลึกสำหรับนักอ่าน หนังสือเล่มนี้เราตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะนำเสนอผลงานของนักเขียนที่ทางสำนักพิมพ์คัดสรรค์มาเป็นอย่างดี เพื่อให้ผลงานเขียนในเล่มมองไปสู่อนาคต ขณะเดียวกันเราก็ไม่ลืมเรื่องราวความทรงจำของอดีต เพื่อเป็นบทเรียนของเรา นี่คือหนังสือที่จะเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญสำหรับสำนักพิมพ์เล็กๆ อย่างเม่นวรรณกรรม ที่เปลี่ยนความเชื่อ ไปสู่ความศรัทธา นั่นคือความหมายที่มีมากกว่าการทำธุรกิจหนังสือ เราศรัทธามากกว่านั้น
4 พฤษภาคม 59
ก่อนวันนักเขียน
8 มิถุนายน 62
ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม
2 comments
ติดต่อส่งงานเขียนให้สำนักพิมพ์ช่องทางไหนได้บ้างครับ
สามารถอีเมล์ของสำนักพิมพ์ อีเมล์สำนักพิมพ์