หลังจากหนังสือเรื่อง แฮมเล็ต – Hamlet ฉบับภาษาไทย ได้วางจำหน่าย นักอ่านหลายคนมีคำถามมากมายว่าเหตุใดตัวละครในเรื่องต่างมีการกระทำต่างๆ หรือข้อสงสัยที่บทละครไม่ได้แสดงให้เห็น ขณะเดียวกันก็ยังมีนัยแฝงเร้น หรือพฤติกรรมต่างๆ ของตัวละครซ่อนอยู่ระหว่างการแสดงหรือบท กลายเป็นสัญญะให้ผู้อ่านตีความ นี่คือหนึ่งในการตีความ วิเคราะห์ตัวละคร เกี่ยวคำถามมากมายถึงแฮมเล็ต รวมถึงตัวละครตัวอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น โอฟีเลีย โพโลเนียส เลแอร์ทีส คอลเดียส เกอร์ทรูด โรเซ็นแครนทส์ และ กิลเด็นสเติร์น รวมไปถึงตัวละครที่แทบไม่มีบทบาทมากเช่น ฟอร์ทินบลาส สัปเหร่อ หรือ ออสริค
หมายเหตุ: ตัวเลข เช่น 3.3.189 หมายถึง องก์ 3 ฉาก 3 หน้า 189 จากหนังสือ แฮมเล็ต เขียนโดย วิลเลียม เชคสเปียร์ แปลโดย ศวา เวฬุวิวัฒนา
วิญญาณใน แฮมเล็ต มีอยู่จริงไหม?
วิญญาณเป็นหนึ่งในความลึกลับที่สำคัญของเรื่องแฮมเล็ต บทละครเริ่มต้นด้วยการแสดงให้เราเห็นวิญญาณที่ปรากฏตัวต่อหน้าทหารยามหลายคน รวมถึงโฮเรโช คนเหล่านั้นได้กลายมาเป็นพยานต่อสิ่งที่ได้พบเห็น เราจึงรู้ตั้งแต่เริ่มแรกว่าวิญญาณไม่ได้เป็นเพียงภาพจำลองภายในจินตนาการของแฮมเล็ต นอกจากนี้เรายังได้เรียนรู้ในภายหลังว่า วิญญาณกำลังบอกความจริงเกี่ยวกับการถูกสังหารโดยคลอเดียส และคลอเดียสยอมรับในเรื่องการฆาตกรรม เมื่อเขาพูดคนเดียวใน 3.3.189
โอม บาปของข้าช่างต่ำทราม, ส่งกลิ่นเหม็นเน่าไปถึงสวรรค์ คำสาปแรกเริ่ม ดึกดำบรรพ์ ปรากฏเด่นในนั้น ฆาตกรรมแห่งภารดา ข้าสวดภาวนาไม่ได้อีกแล้ว
คลอเดียส (3.3.189)
อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติพื้นฐานและเจตนาของวิญญาณยังคงเป็นเรื่องลึกลับ วิญญาณอ้างว่าเป็นพ่อของแฮมเล็ต มันถูกจองจำในแดนชำระ แต่ได้รับการปล่อยตัวออกมาในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อส่งข้อความถึงแฮมเล็ต
คำอธิบายนี้ไม่สมเหตุสมผลนัก เพราะวิญญาณเป็นสิ่งที่มืดมนและน่ากลัว มันกระตุ้นให้แฮมเล็ตต้องแก้แค้น ส่งเขาไปตามเส้นทางที่นำไปสู่การฆาตกรรมและการทำลายล้างครอบครัวของเขาเอง ในทางศาสนาการแก้แค้นไม่ใช่มโนธรรมจากสวรรค์หรือคุณค่าของคริสเตียน โดยปกติสัตภาวะบนสวรรค์มักไม่ล่อใจตัวละครให้ไปสู่เส้นทางที่รุนแรงและน่าเศร้า (สันนิษฐานว่าวิญญาณอาจมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในวรรณคดี)
สำหรับแฮมเล็ตแล้ว เขาเชื่อว่าปีศาจอาจจะแอบอ้างเป็นพ่อ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นไปได้ไม่มากก็น้อย แม้ว่าจะไม่เห็นหลักฐานเพิ่มเติมใดๆ ที่สนับสนุนแนวคิดนี้
โอ เขาบ้าไปแล้ว
เกอร์ทรูด (3.2.202)
ในองก์ที่ 3 ฉาก 4 หน้า 202 เมื่อวิญญาณปรากฏตัวต่อแฮมเล็ต (และผู้ชม) แต่ไม่ใช่เกอร์ทรูด เกอร์ทรูดมองว่าวิญญาณเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความบ้าคลั่งของแฮมเล็ต วิญญาณสามารถปรากฏตัวให้คนอื่นเห็นได้ จนไปถึงข้อเท็จจริงที่คลอดเดียสสังหารพี่ชายตัวเอง และการสารภาพบาปของเขา
อาจสรุปได้ว่า วิญญาณเลือกที่จะปรากฏสัตภาวะให้กับแฮมเล็ตเห็น ส่วนเกอร์ทรูดไม่เห็นวิญญาณ โดยเข้าใจผิดคิดว่าเขาคุ้มคลั่ง ยิ่งไปกว่านั้นตั้งแต่แฮมเล็ตประกาศเจตนาจะแกล้งบ้า สภาวะทางอารมณ์ ความวิตกกังวลของแฮมเล็ตเพิ่มระดับขึ้นไปเรื่อยๆ
คุณผู้หญิง ข้าขอนอนบนตักได้หรือไม่ …หรือเจ้าคิดว่าข้าหมายถึงเรื่องหลับนอน
แฮมเล็ต (3.2.163)
อย่างไรก็ตาม การปรากฏตัวของวิญญาณเฉพาะกับแฮมเล็ต นั้นดูคลุมเครือ อาจเป็นปีศาจที่พยายามทำให้แฮมเล็ตเป็นบ้า หรือเป็นการก่อตัวของปีศาจภายในของแฮมเล็ต
แฮมเล็ต และโอฟีเลียมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งมากเพียงไร?
เชคสเปียร์มีความเสี่ยงโดยตรงในการแสดงความสัมพันธ์ทางเพศก่อนสมรสระหว่างตัวละครชนชั้นสูง แต่แฮมเล็ตมีเหตุผลทำให้เราสงสัยว่าในบางจุดก่อนเริ่มละคร แฮมเล็ตและโอฟีเลียมีเพศสัมพันธ์กัน เลแอร์ทีส และโพโลเนียส เตือนโอฟีเลียไม่ให้มีเพศสัมพันธ์กับแฮมเล็ต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยพ่อและพี่ชายของเธอ มีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ว่าทั้งสองเกินเลยต่อการเป็นคู่รัก ต่อมาในบทละคร แฮมเล็ตยังหยอกล้อโอฟีเลียด้วยการเล่นสำนวนทางเพศอย่างชัดเจน นัยว่าทั้งสองอาจมีความสนิทสนมร่วมกัน ตัวอย่างเช่น ก่อนฉากละครซ้อนละครจะเริ่มแสดง
หลักฐานที่ดีที่สุดที่แสดงว่าแฮมเล็ตและโอฟีเลียมีเพศสัมพันธ์ เริ่มเมื่อแฮมเล็ตฆ่าโพโลเนียสพ่อของโอฟีเลีย เธอกลายมาเป็นบ้า ในความบ้าที่แสดงให้เห็น เธอร้องเพลงที่ดูเหมือนจะจมอยู่กับสาเหตุของความเศร้าโศก บางเพลงเกี่ยวกับชายชราหรือพ่อที่กำลังจะตาย ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องเกี่ยวกับเพศก่อนแต่งงาน
โอ พญาไก่ ต้องกล่าวโทษพวกเขา นางกล่าวว่า ‘ก่อนท่านหลับนอนกับข้า สัญญาไว้ว่าจะแต่งงานกัน’
โอฟีเลีย (4.4227-228)
แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานหรือข้อพิสูจน์ที่แน่ชัด แต่เชคสเปียร์ได้สร้างนัยอย่างแจ่มชัดว่าแฮมเล็ตและโอฟีเลีย อย่างน้อยที่สุดทั้งสองบรรลุความปรารถนาของพวกเขาแล้ว
เกอร์ทรูดมีความสัมพันธ์กับคลอเดียสก่อนที่เขาจะฆ่าพ่อของแฮมเล็ตหรือไม่?
เราไม่ทราบแน่ชัดว่าเกอร์ทรูดหลับนอนกับคลอเดียส ในขณะที่ยังแต่งงานกับพ่อของแฮมเล็ตอยู่หรือไม่ แม้ว่าวิญญาณจะบอกกับแฮมเล็ตว่าเธอเป็นเช่นนั้น ทั้งแฮมเล็ตและวิญญาณเรียกคลอเดียสว่า “มีชู้” ซึ่งแปลว่า “เสียหายจากการล่วงประเวณี” นอกจากนั้นวิญญาณยังเรียกเกอร์ทรูดว่า “ผู้มากคุณธรรมแต่เพียงเปลือก” (5.1.73) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า วิญญาณรู้สึกผิดที่จะไว้ใจเธอตอนที่ยังมีชีวิตอยู่
เมื่อคลอเดียสสารภาพว่าฆ่าพี่ชาย เขาถือว่าเกอร์ทรูดเป็นหนึ่งในสิ่งที่ตน “ครอบครอง” (มงกุฎ ความทะยานอยาก และเกอร์ทรูด) แม้ว่าในบริบทนี้ การ “ครอบครอง” อาจหมายถึงการแต่งงานมากกว่าความใกล้ชิดทางเพศ แต่อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่คลอเดียสก่ออาชญากรรมนั้น “ผลสืบทอดแห่งฆาตกรรมที่ตนก่อ (3.3.190) จะพ้นจากบาปหรือได้รับการอภัย
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อแฮมเล็ตกล่าวหาเกอร์ทรูดว่า “ก็การกระทำเยี่ยงนั้น ที่จางความละอาย เลือนสง่างามของความสงบเสงี่ยม” (3.4.198) ในตอนแรกเกอร์ทรูดไม่รู้ว่าแฮมเล็ตกำลังพูดถึงอะไร: “อะไร การกระทำใดกัน ที่แผดคำรามลั่นดุจสายฟ้าได้เช่นนั้น” (3.4.198-199) อย่างไรก็ตาม ภายหลัง เธอสารภาพว่าคำพูดของแฮมเล็ตทำให้เธอเห็น “ข้ามองเห็นจุดดำอันมิอาจลบ ไม่มีวันกลบแต้มสีนั้นได้” (3.4.200) ในจิตวิญญาณของเกอร์ทรูดบ่งชี้ว่า เธอรู้สึกผิดเกี่ยวกับบางสิ่ง แม้ว่าเธอจะไม่ได้ระบุที่มาของความผิดนั้น นี่เป็นอีกครั้งที่เชคสเปียร์ทิ้งเรื่องเพศที่คลุมเครือเอาไว้ให้พวกเรา
ฟอร์ทินบราสคือใคร?
ฟอร์ทินบราสเป็นหลานชายของกษัตริย์แห่งนอร์เวย์ แม้ว่าเราจะได้ยินชื่อของเขาในการแสดงไม่กี่ครั้ง ซึ่งฟอร์ทินบราสจะไม่ปรากฏบนเวทีจนกว่าจะถึงช่วงสุดท้ายของการแสดง ในช่วงต้นๆ เรารู้ว่าบิดาของฟอร์ทินบราสเป็นกษัตริย์องค์ก่อนของนอร์เวย์ ถูกกษัตริย์แฮมเล็ตผู้พ่อสังหารในการสู้รบเมื่อหลายปีก่อนเหตุการณ์ในละครจะเกิดขึ้น แต่แทนที่เขาจะสืบราชบัลลังก์ ราชอาณาจักรนอร์เวย์กลับตกไปเป็นของอาฟอร์ทินบราส ดังนั้น ฟอร์ทินบราสและแฮมเล็ตจึงอยู่ในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ ทั้งสองเป็นบุตรของกษัตริย์ที่ถูกสังหาร อาของพวกเขาแย่งชิงบัลลังก์ไป
อย่างไรก็ตาม การตอบสนองของฟอร์ทินบราสต่อสถานการณ์ของตนนั้นแตกต่างจากแฮมเล็ตมาก
เพื่อการล้างแค้นให้กับการตายบิดาของฟอร์ทินบราส เขาบุกไปชนะศึกที่โปแลนด์ ยาตราทัพเข้าเดนมาร์กและลงเอยด้วยการสวมมงกุฏของเดนมาร์กเสียเอง ฟอร์ทินบราสเป็นเหมือน “อาวุธที่แข็งแรง” แสดงให้เห็นว่าบุตรของกษัตริย์ที่ถูกสังหารควรปฏิบัติอย่างไร ในขณะที่แฮมเล็ตพบว่าสถานการณ์ของเขาเต็มไปด้วยความทนทุกข์ และหันไปใช้การไตร่ตรองอย่างไร้ประสิทธิภาพ ส่วนฟอร์ทินบราสเป็นคนลงมือทำ โดยฉวยโอกาสจากสถานการณ์ที่ราชบัลลังค์เดนมาร์กสั่นคลอนจากการสังหารกันเอง สถานะของฟอร์ทินบราสใกล้เคียงกับเลแอร์ทีส ลูกชายควรค่าที่จะต้องล้างแค้น ตามธรรมเนียมศตวรรษที่ 16
ทำไม แฮมเล็ต ไม่ฆ่าคลอเดียเมื่อมีโอกาส?
ความล่าช้าในการฆ่าคลอเดียสของแฮมเล็ต แสดงถึงความลึกลับที่ยิ่งใหญ่อีกอย่างของแฮมเล็ต เขาให้เหตุผลหลายประการตลอดการแสดง ในตอนแรกเขาไม่ต้องการฆ่าคลอเดียส เพราะไม่รู้สึกโกรธหรือตั้งใจที่จะทำตามสิ่งที่เขาคิดว่าควรทำ โดยอ้างถึงตัวเองว่า “วิญญาณที่ข้าพบนั้น อาจเป็นปิศาจ และปิศาจย่อมมีอำนาจจำแลงตน” (2.2.138)
ต่อมาแฮมเล็ตสงสัยว่าสามารถไว้วางใจวิญญาณได้หรือเปล่า “หากความผิดบาปที่เร้นไว้ มิได้ผุดเผยออมาในบทนั้น เจ้าวิญญาณที่เราพบนั่นก็คงเป็นปิศาจนรกจริง” (3.2.180) ถ้าวิญญาณเป็นปิศาจแทนที่จะเป็นวิญญาณของพ่อ มีความเป็นไปได้ที่วิญญาณจะมีจุดมุ่งหมายที่จะชักจูงให้เขาทำบาป ดังนั้นเขาจึงสงสัยว่าวิญญาณทำร้ายเพื่อสาปแช่งแฮมเล็ตใช่หรือไม่
ในช่วงเวลาแห่งความลังเลอีกครั้งในองก์ 3 แฮมเล็ตตัดสินใจไม่ฆ่าคลอเดียสเพราะกำลังสวดภาวนา แฮมเล็ตเชื่อว่าคลอเดียสจะได้ไปสวรรค์ถ้าถูกสังหารตอนสวดภาวนา ท้ายที่สุด ในตอนท้ายของละคร แฮมเล็ตยังคงไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าการฆ่าคลอเดียสนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ แฮมเล็ตเป็นผู้ต่อต้านความรุนแรง เขาเป็นเจ้าชายที่ไม่เหมือนใคร เขาเป็นปัญญาชนมากกว่านักรบ เกลียดความรุนแรงและรักในวรรณกรรม
เหตุใดมาร์เซลลัสจึงพูดว่า “บางสิ่งในอาณาจักรเดนมาร์กกำลังผุพัง” (1.4.68)
มาร์เซลลัสพูดในเชิงเปรียบเทียบ เขาหมายความว่ามีบางอย่างเกิดขึ้นในประเทศที่พวกทหารและประชาชนไม่รู้ เขาเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นความจริงเพราะวิญญาณของราชันองค์ก่อนติดอาวุธตั้งแต่หัวจรดเท้า ปรากฏตัวหลายครั้งประมาณเที่ยงคืน และตอนนี้วิญญาณได้เรียกแฮมเล็ตให้มาคนเดียวเพื่อพูดคุยเป็นการส่วนตัว
แฮมเล็ต รักโอฟีเลียจริงหรือไม่
มีแนวโน้มว่าแฮมเล็ตจะหลงรักโอฟีเลียจริงๆ ผู้อ่านรู้ว่าแฮมเล็ตเขียนจดหมายรักถึงโอฟีเลีย เพราะเธอแสดงให้โพโลเนียสประจักษ์ นอกจากนี้ แฮมเล็ตยังบอกกับโอฟีเลียว่า “ครั้งหนึ่ง ข้าเคยรักเจ้าจริง” (3.1.149) เขาแสดงความรักต่อโอฟีเลียอีกครั้งกับเลแอร์ทีส, เกอร์ทรูด และคลอเดียส หลังจากที่โอฟีเลียเสียชีวิต แฮมเล็ตกล่าวว่า “ข้ารักโอฟีเลีย ต่อให้นางมีพี่อีกสี่หมื่นคน แม้นำรักของทุกคนมารวมกัน ก็ยังไม่เท่ารักของข้า เจ้าจักทำสิ่งใดเพื่อนาง” (5.1.279)
เหตุใดแฮมเล็ตจึงเน้นย้ำให้นักแสดงท่องคำรำพันเกี่ยวกับพิรัส และไพแอม
แฮมเล็ตต้องการให้ทุกคนได้ยินคำกล่าวเกี่ยวกับพิรัส และไพแอม เพราะมันเกี่ยวข้องกับลูกชายที่ล้างแค้นให้พ่อของเขาที่ตายอย่างโหดเหี้ยม เรื่องนี้คล้ายกับสิ่งที่แฮมเล็ตอยากทำด้วยตัวเองและรู้สึกว่าควรทำ—ฆ่าคลอเดียสที่ฆ่าพ่อของเขา– แฮมเล็ตยังคงคิดเรื่องนี้อยู่ตลอดละคร แม้ว่าเขาจะลังเลและไม่สามารถพาตัวเองไปทำหน้าที่นี้ได้จนจบ
แฮมเล็ตมีแนวโน้มที่ฆ่าตัวตายหรือไม่?
เมื่อแฮมเล็ตถามว่า “จักคงชีวิต หรือมรณา นั่นคือปุจฉา” เขากำลังตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะดีกว่าที่จะมีชีวิตอยู่—หรือทนทุกข์กับสิ่งที่ชีวิตมอบให้—หรือตายด้วยมือของตัวเองและยุติความทุกข์ทรมาน การฆาตกรรมของพ่อและการแต่งงานของแม่กับอาที่ชั่วร้ายทำให้แฮมเล็ตครุ่นคิดถึงข้อดีของการฆ่าตัวตาย ตลอดช่วงที่เหลือของการแสดงแบบพูดคนเดียว เขาสงสัยว่าทำไมผู้คนถึงเลือกความทุกข์ของชีวิตมากกว่าความตาย และสรุปว่ามันเป็นความกลัวของพวกเขาในสิ่งที่ไม่รู้—โดยไม่รู้ว่าความตายจะนำมาซึ่งอะไร
ทำไม แฮมเล็ต ถึงโหดร้ายกับโอฟีเลียนัก?
แฮมเล็ตโหดร้ายกับโอฟีเลียเพราะเขาเปลี่ยนความโกรธที่เกอร์ทรูดแต่งงานกับคลอเดียสไปสู่โอฟีเลีย อันที่จริง คำพูดของแฮมเล็ตชี้ให้เห็นว่าเขาถ่ายทอดความโกรธและความรังเกียจที่มีต่อแม่ไปสู่ผู้หญิงทุกคน เขาพูดกับโอฟีเลียว่า
พระเจ้าได้ประทานใบหน้าให้เจ้าหนึ่ง แต่เจ้ากลับสร้างอีกหนึ่งขึ้นมาซ้อน พวกเจ้าร่ายรำและเดินวางท่า พวกเจ้าพูดจาชวนหลงใหล ตั้งชื่อเล่นน่ารักให้ผลงานสร้างสรรค์ของผู้เป็นเจ้า
แฮมเล็ต (3.1.151)Tweet
แฮมเล็ตอาจรู้ด้วยว่าโอฟีเลียกำลังช่วยคลอเดียสและโพโลเนียสสอดแนม การพูดคุยกับเธอ แฮมเล็ตครุ่นคำนึงถึงการทรยศหักหลัง
ทำไมเลแอร์ทีสถึงบุกเข้าไปในท้องพระโรง?
เลแอร์ทีสบุกเข้าไปในห้องคลอเดียสเพราะเขาโกรธที่พ่อเสียชีวิต และต้องการรู้ว่าเขาถูกฆ่าตายอย่างไร ร่างกายอยู่ที่ไหน และทำไมโพโลเนียสจึงไม่ได้รับพิธีฝังศพที่สมควรได้รับ ในความเป็นจริงเลแอร์ทีสเชื่อว่าคลอเดียสมีส่วนที่ต้องรับรับผิดชอบต่อการฆาตกรรม เลรแอร์ทีสแสดงให้เห็นว่าเป็นชายหนุ่มหัวรุนแรงและเต็มไปด้วยความพยาบาท ซึ่งช่วยอธิบายได้ว่าทำไมเขาจึงสมคบคิดกับคลอเดียสเพื่อฆ่าแฮมเล็ตในเวลาต่อมา
เหตุใด โอฟีเลีย ถึงเสียสติ?
โอฟีเลียเสียสติเพราะพ่อของเธอถูกแฮมเล็ตฆ่า โอฟีเลียรักพ่ออย่างสุดซึ้ง นอกจากนี้ แฮมเล็ตซึ่งเธอรักด้วย ได้ปฏิเสธเธออย่างโหดร้าย ความจริงที่ว่าความเศร้าโศกนี้ทำให้โอฟีเลียคุ้มคลั่ง ความคุ้มคลั่งนี้เผยให้เห็นถึงความรู้สึกสิ้นหวังและไร้อำนาจของโอฟีเลียเป็นอย่างมากทั้งชีวิตของโอฟีเลียถูกครอบงำด้วยผู้ชายทั้งสิ้น
โอฟีเลีย ฆ่าตัวตายจริงหรือ?
บางคนอาจมองว่าการตายของโอฟีเลียเป็นอุบัติเหตุ เพราะเธอจมน้ำตายหลังจากกิ่งไม้ที่เธอนั่งพักหัก ทำให้เธอตกลงไปในลำธาร อย่างไรก็ตาม บางคนอาจมองว่าการตายของเธอเป็นการฆ่าตัวตาย เธอไม่ได้พยายามช่วยตัวเองให้รอด การขาดความพยายามนี้สามารถตีความได้ว่าเป็นความปรารถนาที่จะตายหรือไม่สามารถรับรู้ถึงอันตรายต่อชีวิต การฆ่าตัวตายถือเป็นบาปมหันต์ในยุคสมัยของเชคสเปียร์ เขาทิ้งคำตอบไว้อย่างคลุมเครืออีกครั้ง
ตัวละครสัปเหร่อมีความสำคัญอย่างไรกับเรื่อง?
สุสานเป็นสถานที่แห่งความตาย ในตอนต้นขององก์ 5 สัปเหร่อเพิ่มบรรยากาศให้อึมครึม โดยถกเถียงกันว่าโอฟีเลียสมควรได้รับการฝังศพแบบคริสเตียนหรือไม่ การตายของเธออาจเป็นการฆ่าตัวตาย แต่แล้วบทสนทนาของสัปเหร่อก็กลายเป็นการพูดคุยในเรื่องไร้สาระ เมื่อพวกเขาเล่าเรื่องตลกที่ไม่ดีเกี่ยวกับความตายและการขุดหลุมฝังศพ ร้องเพลงที่ไม่เคารพต่อผู้ตาย และทำตัวเหมือนตัวตลก ฉากนี้ถูกใส่มาเพื่อลดความตึงเครียดของบละครโศกนาฏกรรมแก้แค้น ก่อนจะนำไปสู่ฉากจบ
มุมมองของ แฮมเล็ต เกี่ยวกับ โรเซ็นแครนทส์และกิลเด็นสเติร์น เปลี่ยนไปอย่างไร?
ในช่วงเริ่มต้นของการแสดงแฮมเล็ต ทักทาย ต้อนรับขับสู้ โรเซ็นแครนทส์ และ กิลเด็นสเติร์น ในฐานะเพื่อนเก่า แต่ระหว่างการเดินทางโดยเรือไปอังกฤษ แฮมเล็ตพบว่าพวกเขากำลังทำงานให้กับคลอเดียส และพวกเขาได้รับคำขอร้องจากคลอเดียสให้กษัตริย์แห่งอังกฤษตัดหัวแฮมเล็ต แฮมเล็ตแปลงสานส์โดยขอให้ โรเซ็นแครนทส์ และ กิลเด็นสเติร์น ถูกประหารชีวิตแทน แฮมเล็ตเชื่อว่า “เพื่อนเก่า” ถูกฆ่าเพราะพวกเขาสมควรตายจากการทรยศ: “ความพินาศของพวกเขา เกิดจากนิสัยสอพลอชอบยุ่มย่ามของตัวเองทั้งนั้น” (5.2.287)
ออสริคคือใคร?
ออสริคเป็นตัวประกอบในบทละครเรื่องแฮมเล็ต ในละครของเชคสเปียร์จะมีตัวละครไร้ชื่อลักษณะนี้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ผู้ส่งสาร ผู้พิทักษ์ ทหาร และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีชีวิตอยู่ในยุคอลิซาเบธ บางส่วนมีบทพูด บางส่วนที่พูดน้อยและบางส่วนไม่พูดเลย ส่วนออสริคมีส่วนในการพูด และเชคสเปียร์ก็ทำหน้าสร้างตัวละครอย่างออสริคออกมาได้ดี
สำหรับออสริคเป็นหนึ่งในตัวละครรองที่มีชื่อเสียงและสนุกสนานที่สุดของเชคสเปียร์ แม้ว่าเขาจะไม่มีบทในละครฉากอื่นๆ เลย ยกเว้นองก์ 5 ฉาก 2 แต่การปรากฏตัวมีส่วนในการพูด คลอเดียสสั่งให้ออสริคไปเชิญแฮมเล็ตไปดวลดาบกับเลแอร์ทีสหนึ่งในแผนที่จะสังหารแฮมเล็ต นอกจากนั้นออสริคยังเป็นประธานในการดวลดาบ พร้อมกับเป็นกรรมการ ระหว่างการสู้กันในฉากสุดท้าย ออสริกและโฮเรโชเป็นผู้เหลือรอดจากความตาย
แฮมเล็ตอธิบายเกี่ยวกับออสริคให้โฮเรโชฟังว่าเขาคือใคร “เขาครองที่ดินมากมาย อุดมสมบูรณ์เสียด้วย ถ้าสัตว์หนึ่งได้เป็นจ้าวแห่งสรรพสัตว์ไซร้ มันย่อมได้รับส่วนแบ่งใส่รางอาหารในงานเลี้ยงของราชัน เจ้านี่มันนกกาช่างพูด แต่อย่างที่ข้าว่ามันครอบครองฝุ่นดินไว้กว้างขวางเทียว” อาจจะอนุมานได้ว่าออสริคเป็นเหมือนพ่อขค้าที่มีบทบาทและธุรกิจกับวัง
บทสรุป
บทสรุปในบทความนี้อาจจะไม่ใช่คำตอบทั้งหมด แต่เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งของคำตอบ อาจจะไม่ถูก อาจจะมีแนวคิดใหม่ๆ เกิดขึ้นในอนาคต นั่นคือสิ่งที่ แฮมเล็ต ของ วิลเลียม เชคสเปียร์ เป็นมาตลอดระยะเวลาหลายร้อยปี และยังคงยืนอยู่และตั้งคำถามเช่นนั้น
คำถามเกี่ยวกับแฮมเล็ต
Hamlet quiz with immediate answers
หลังจากที่ผู้อ่านได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับแฮมเล็ตแล้ว เรามีเกมถามตอบปัญหาเกี่ยวกับแฮมเล็ตให้ผู้อ่านได้เล่นกัน โดยคำถามทั้งหมดมีคำตอบให้ในหน้าถัดไป ผู้อ่านสามารถเล่นไปจนถึงคำถามสุดท้าย และเราจะเฉลยคะแนนผ่านทางอีเมล์ ขอให้สนุกกับคำถามและคำตอบ
[iframe src=”https://porcupinebook.com/eforms/hamlet-quiz-with-immediate-answers/8/” width=”100%” height=”800″]
[ipages id=”1″]