Home Literature How to get ideas for writing : 8 วิธีสร้างไอเดียในการเขียน

How to get ideas for writing : 8 วิธีสร้างไอเดียในการเขียน

by Editor
345 views

นี่คือ 8 วิธีสร้างไอเดียในการเขียน คอนเทนต์ออนไลน์ : How to get ideas for writing การเขียนเป็นสิ่งที่เรียนรู้กันได้ ผมจึงตั้งใจจะแนะนำผู้อ่านถึงการแสวงหาแนวคิดใหม่ๆ สำหรับการเขียน เพื่อให้คุณสามารถเขียนบทความได้อย่างต่อเนื่อง เป็นการเติมพลังให้กับบล็อกหรือเวบไซต์ที่คุณดูแล แน่นอน อาจเป็นเรื่องที่ท้าทายและทำให้เหนื่อยจนไม่สามารถเขียนอะไรได้ก็จริง แต่ก็คุ้มค่าที่จะมาเล่าถึงประสบการณ์ที่ผมเคยเขียนมาก่อน

ข้อเท็จจริงที่คุณพบก็คือ แนวคิดด้านเนื้อหาของบทความออนไลน์มักถูกอ้างอิงเสมอ เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณพยายามจะพัฒนาเนื้อหาของเวบ คุณรู้ทันทีว่านี่เป็นอุปสรรคที่สำคัญอันดับต้นๆ ไม่ว่าคุณจะเขียนให้บล็อกของตัวเอง หรือเป็นคอนเทนต์ออนไลน์ให้สำนักข่าว เนื้อหาที่เข้มข้นและมีประสิทธิภาพเท่านั้นที่จะทำให้ผลงานของคุณ แสดงผลลัพท์ออกมาได้ดี

ผมเขียนบทความลงตามหน้านิตยสารมาร่วมสิบห้าหรือสิบหกปี ทำคอนเทนต์ออนไลน์อยู่ประมาณเจ็ดหรือแปดปี แน่นอนว่าผมลองผิดลองถูกในการเขียนบทความออนไลน์มาตลอด และบางครั้งก็คิดว่าสิ่งที่ทำไปสูญเปล่าหรือไม่ เพราะเครื่องมือวัดผลจากจำนวนผู้เข้าชมเวบไซต์นั้นไม่สามารถหลอกลวงได้ แต่นั่นทำให้คุณต้องเอาชนะมันให้ได้

นักเขียน และบรรณาธิการ ส่วนใหญ่ที่เคยผ่านงานเขียนบทความตามหน้ากระดาษมาก่อน อาจจะเข้าใจว่าคงไม่มีปัญหาอะไรมากมายนักในการปรับตัวสำหรับยุคออนไลน์ โลกสมัยใหม่ที่ผู้คนเปลี่ยนการอ่านจากหน้ากระดาษมาสู่ดิจิตอล มีรอยต่อและประวัติศาสตร์ของมัน แม้เรื่องนี้จะไม่สำคัญเท่ากับเนื้อหาหลักของเรา แต่คุณต้องระลึกเสมอว่า บทความที่เขียนลงในบล็อกนั้น แตกต่างจากในหน้ากระดาษ ผู้อ่านก็ต่างออกไป สิ่งที่เหมือนกันอย่างเดียวคือคุณภาพของบทความ

ดีไม่ดีแล้ว การคิดไอเดียเป็นส่วนที่ง่ายที่สุด แต่วิธีการที่จะเค้นไอเดียออกมาเป็นรูปธรรมนั้น ยากที่สุดไม่ต่างกัน แต่มันเป็นสิ่งผมทำจนติดเป็นนิสัยและไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ผมเองเคยคิดว่า ความพยายามที่จะปรับปรุงตัวเองนั้นสามารถพัฒนาได้ และยังสามารถหยิบจับมาแบ่งปันให้ผู้อ่านที่อยากเริ่มต้นการเป็นนักเขียนได้ด้วย 

นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมผมจึงตัดสินใจเขียนบทความนี้ โดยเราจะร่วมกันค้นหาเคล็ดลับต่างๆ และลูกเล่น เพื่อช่วยให้คุณสามารถสร้างสรรค์เนื้อหาในบทความ ซึ่งจะทำให้คุณเขียนบทความได้มากเพียงพอสำหรับเว็บไซต์ของคุณ และทำให้คุณมีเรื่องที่จะเขียนอยู่เสมอ หรือเพื่อเขียนต้นฉบับให้กับสื่อออนไลน์ที่คุณเขียนเป็นประจำ หรือทำให้เวบของคุณประกายสดใสด้วยจำนวนผู้เข้าชม

เวบของคุณต้องการรูปแบบ “เนื้อหา” แบบไหน

แม้ว่าจะไม่ใช่คำถามแรกที่คุณต้องตอบเสมอไป แต่เชื่อเถิดว่ามันมีประโยชน์ทต่ออาชีพคอนเทนต์ออนไลน์ของคุณเป็นอย่างมาก ข้อแรกคุณมีอิสระในการเลือกทำคอนเทนต์ หรือเขียนแค่ไหน ข้อสองคุณอยากให้คอนเทนต์ของคุณเป็นที่ชื่นชอบต่อผู้คนหรือไม่ และสุดท้ายเป้าหมายนั้นจะทำให้การทำคอนเทนต์ของคุณมั่นคงขึ้น ทั้งในสายตาของสำนักข่าว หรือเวบบล็อกของคุณ การทำคอนเทนต์อาจจะไม่ต้องการการตลาดในช่วงแรก แต่มันทำให้คุณรู้ว่า ในคอนเทนต์ที่เขียนต้องการเลือกประเภทของเนื้อหาใดถึงจะเหมาะสม อะไรก็ตามที่คุณคิดขึ้นมาสำหรับนำเสนอในบล็อกหรือเว็บไซต์  รูปแบบ “เนื้อหา” ในอินเทอร์เน็ต มักถูกกำหนดไว้ค่อนข้างแคบ

ทุกวันนี้ รูปแบบ “เนื้อหา” สามารถมาเปลี่ยนแปลงได้เสมอ มันเรียงสลับไปมาได้อย่างหลากหลายไม่รู้จบ นี่เป็นตัวอย่างของรูปแบบ “เนื้อหา” บางส่วนที่ผมพยายามรวบรวมมาให้คุณได้เห็นว่า มีรูปแบบอะไรบ้างในโลกออนไลน์ขณะนี้

  • ข้อเขียน : บทความ และบล็อกโพสต์ ในทุกยุคทุกสมัย “บทความ” หรือข้อเขียน กลายเป็นเนื้อหาหลักของเวบไซต์ไปแล้ว มันได้พิสูจน์มานานแล้วว่า มีความสำคัญที่แท้จริง ข้อเขียนต่างๆ ที่มีเนื้อหาที่ดีนั้นได้เปรียบกว่าเนื้อหาที่แย่ๆ และบล็อกก็ยังเป็นที่ต้องการสำหรับผู้อ่านเสมอ ซึ่งในอนาคตผู้อ่านที่ผ่านเข้ามาอ่าน อาจจะเปลี่ยนมาเป็นลูกค้าของคุณก็เป็นได้
  • Images : รูปภาพ จะไม่ใช่แค่ภาพประกอบอีกต่อไป คุณอาจจะไม่เชื่อว่ารูปภาพจะเปลี่ยนเป็นเนื้อหาได้ คุณดู instagram เป็นต้น แต่เมื่อคุณอัปโหลดภาพลงในบล็อก แล้วคุณใส่ข้อความที่เหมาะสมลงไปในภาพ มันจะทำให้การค้นหาของเสิร์จเอนจิ้นเข้าใจรูปของคุณได้พอๆ กับเนื้อหาของบทความ
  • Videos : วิดีโอได้กลายมาเป็นเนื้อหาที่น่าดึงดูดใจที่สุดในยุคปัจจุบัน วิดีโอสามารถอยู่ในรูปแบบของบทแนะนำสั้นๆ หรือการประชาสัมพันธ์แบบยาวก็ได้ ขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมายของคุณคือใคร
  • Podcasts : พอดคาสต์ เนื้อหารูปแบบใหม่ ที่ใช้ในการตลาดปัจจุบันอย่างได้ผล พอดคาสต์คือรายการวิทยุที่ดาวน์โหลดได้ นักท่องเน็ตหลายคนชื่นชอบมัน โดยส่วนตัวผมเลือกฟังบางรายการทุกเช้า เพราะมันสร้างแรงบันดาลใจได้ดี
  • Email Newsletters : จดหมายข่าวทางอีเมล ช่องทางนี้ เป็นช่องทางเผยแพร่บทความที่เก่าแก่ที่สุดแบบหนึ่ง แต่มันได้ผลดีเสมอ สมัยที่ผมทำหนังสือใหม่ๆ ผมทำจดหมายข่าวควบคู่ไปด้วย แน่นอนว่ามันได้ผลที่ดี จนกระทั่งเริ่มมีจดหมายข่าวทางอีเมล ซึ่งทางเวบไซต์ของเม่นวรรณกรรมก็มีมาหลายปีแล้ว และผมคิดว่า คุณก็น่าจะได้รับจดหมายข่าวแบบนี้ทุกวันจากเวบไซต์ที่คุณไป Subscribe หรือลงทะเบียน แต่ทุกวันนี้จดหมายข่าวถูกใช้ควบคู่ไปกับการโฆษณาที่ตรงเป้าหมาย สำหรับผมแล้ว จดหมายข่าวที่ดีก็คล้ายบทความที่ดี และมีประโยชน์ต่อผู้อ่าน ถ้าเชื่อผมสักครั้ง ลองลงทะเบียนจดหมายข่าวของเม่นวรรณกรรมดูเถิด

ผมรู้ว่ารูปแบบเนื้อหาทั้งหมดที่นำเสนอไปนั้นเป็นเรื่องที่จะทำขึ้นในคราวเดียวไม่ได้ คุณอาจจะต้องค่อยๆ สร้างคอนเทนต์ของคุณขึ้นมา แล้วเมื่อคุณเริ่มต้น จะพบเส้นทางที่คุณสามารถทำได้ ไม่ว่าคุณจะเลือกรูปแบบใด

เมื่อคุณรู้ว่าต้องการประเภทเนื้อหาแบบใดแล้ว เนื้อหาในแต่ละแบบก็มีข้อจำกัด มีข้อดี ข้อเสียที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น วิดีโอเป็นสื่อยอดนิยมที่มีอัตราการคลิก หรือมีส่วนร่วมที่ดีสำหรับผู้เข้าชมเวบไซต์ หรือโซเชียลมีเดีย แต่การผลิตนั้นมีค่าใช้จ่ายสูง และการผลิตก็มีความซับซ้อนมากกว่า

สิ่งที่ควรให้ความสำคัญที่สุดก็คือ บทความของคุณ จำเป็นอย่างมากที่มันจะต้องเชื่อมโยงกับคนอ่าน เพราะคนอ่านในโลกออนไลน์มีเป้าหมายของเขา

การรู้ว่าจะเลือกประเภทเนื้อหาแบบใด เพื่อมานำเสนอคอนเทนต์สามารถช่วยให้คุณสร้างแนวคิดสำหรับเนื้อหานั้นได้ง่ายขึ้น ในทางกลับกัน มีบางคอนเทนต์ วิดีโอแนะนำทำได้ดีกว่าบล็อกโพสต์ หรือบทความ และบางเนื้อหาอาจจะเหมาะกับจดหมายข่าวแทนที่จะเป็นพอดแคสต์ ดังนั้นคุณจำเป็นที่จะต้องรู้ว่าแบบไหนถึงจะเหมาะสมกับเวบของคุณ

how to get good ideas for writing

8 เคล็ดลับในการคิดคอนเทนต์ : How to get ideas for writing

การเติบโตทางด้านความคิด โดยเฉพาะในตัวเนื้อหาของคอนเทนต์คือความท้าทาย แม้ว่าคุณจะมีประสบการณ์ด้านการตลาด หรือเนื้อหาก็ตาม เคล็ดลับบางอย่างดำรงตนจนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วเคล็ดลับทั้งหมดที่ผมจะแนะนำส่วนใหญ่เกิดจากประสบการณ์ส่วนตัว จากการอ่าน การเขียน ทั้งเรื่องสั้น นิยาย บทความ รวมถึงคอนเทนต์ออนไลน์ด้วย ลองมาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่พอจะทำให้คุณมีไอเดียดีๆ

1. อ่านให้กว้าง อ่านให้เยอะ

ผมอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก และเท่าที่สำรวจการอ่านของตัวเอง ผมอ่านหนังสือตามวัยที่เติบโต และเริ่มอ่านงานวรรณกรรมอย่างเป็นลำดับขั้นตอน จากวรรณกรรมเยาวชน งานแนวสืบสวนสอบสวน ก่อนจะเปลี่ยนมาอ่านงานวรรณกรรมไทย เช่น ศรีบูรพา, มนัส จรรย์ยงค์, เสนีย์ เสาวพงษ์ วรรณกรรมต่างประเทศ ที่เริ่มจากเฮมมิงเวย์, สไตน์เบ็ก, ตอลสตอย ก่อนจะก้าวมาอ่านดอสโตเยียฟสกี, กามูส์, มาร์เกซ และอีกมากมาย จนมาถึงงานนักเขียนร่วมสมัย วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา, อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ และนักเขียนหนุ่มสาวคนอื่นๆ ที่ทำให้คุณมีแรงบันดาลใจ

พอมาเป็นบรรณาธิการ การอ่านงานรุ่นใหม่ๆ ก็ทำให้ผมได้แนวคิดมากมาย โดยเฉพาะตอนมาเขียนบทความ การดูหนัง ฟังเพลง การอ่านงานสารคดี ก็ทำให้มองเห็นช่องทางในการเขียนบทความอีกมากมาย มันช่วยต่อยอดความคิด

จนกระทั่งมาถึงยุคบล็อก ผมทำเวบไซต์เม่นวรรณกรรมมานานหลายปี และเขียนบล็อกให้กับเวบตัวเองมาโดยตลอด ผมเริ่มอ่านงานที่เป็นเทคนิกเกี่ยวกับเวิร์ดเพรสมากขึ้น รวมถึงแนวคิดต่างๆ ในการเขียน ซึ่งมีความจำเป็นเป็นอย่างมาก เนื่องจากโลกยุคใหม่มีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว 

เพราะฉะนั้น ถ้าคุณจะเป็นนักเขียน หรือคอนเทนต์ออนไลน์ คุณหลีกหนีจากการเป็นนักอ่านไม่ได้

2. ใช้ Google เป็นเครื่องมือระดมสมอง

Google เป็นเสิร์ชเอ็นจิ้นที่มีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก จึงไม่แปลกที่บริษัทระดับโลกแบบนี้ใช้เวลาในการวิจัยปรับปรุงเทคนิกต่างๆ มากมาย และลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเพื่อค้นคว้าว่า ผู้ใช้คิดอย่างไร พวกเขาพยายามที่จะเข้าใจ และคาดคะเนข้อความที่ผู้คนค้นหากำลังเขียนอยู่ แม้แต่เวลาที่คุณยังไม่ปรับภาษาบนคีย์บอร์ด จากภาษาไทยเป็นอังกฤษ หรืออังกฤษเป็นไทย เช่น leoydrb,rNg,jo;iiIdii, ด้วยภาษายึกยือไม่เข้าใจ มันยังสามารถค้นหาเป้าหมายจากคำที่คุณกำลังค้นอยู่ได้อย่างแม่นยำ นั่นคือสิ่งที่พวกเขาพิสูจน์แล้วว่ามันได้ผล

เมื่อคุณเริ่มพิมพ์การค้นหา อัลกอริทึมของ Google ก็จะเริ่มทำงาน โดยเหมือนว่ามันกำลังทำงานอยู่เงียบๆ ภายใต้รูปแบบที่เรียบง่าย หน้าอินเตอร์เฟซที่ไม่มีเมนูใดๆ มีเพียงช่องเสิร์ชเรียบๆ ไม่ว่าคุณจะเริ่มพิมพ์ หรือจะเติมคำที่ต้องการค้นหาลงไปอย่างไร คำค้นหายอดนิยมอื่นๆ ก็จะปรากฏขึ้นมาให้คุณเลือกราวมนต์วิเศษ

นี่เป็นอีกหนึ่งวิธีง่ายๆ ที่ยอดเยี่ยมในการเริ่มต้นกระบวนการระดมความคิด สมมติว่าเวบของคุณเกี่ยวข้องกับการขายงานศิลปะ เมื่อคุณเริ่มพิมพ์ “งานศิลปะ” ลงใน Google เครื่องมือค้นหาจะให้คำแนะนำต่อไปนี้:

Google เสิร์ชเอ็นจิ้น ideas for writing

แน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกคำจะสามารถค้นหาได้ สิ่งที่สำคัญมากๆ ก็คือ บทความที่คุณเขียนแล้วโพสต์ลงไปในบล็อก มันอาจจะติดหน้าแรก หรือไม่ติดในกูเกิลเสิร์ชเลยก็ได้ ดังนั้นเรื่องที่คุณเขียนไม่ว่าจะดีหรือเลวแค่ไหน การไม่ติดเสิร์ชของกูเกิล ดูจะเป็นการเสียโอกาสมากกว่าอย่างอื่น นั่นหมายความว่าเรื่องที่คุณลงทุนเขียน อาจจะถูกค้นพบจากนักอ่านได้น้อยลง เพราะฉะนั้นการระดมความคิดผ่านกูเกิลเสิร์ช ก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่คุณจะสอดใส่เนื้อหา หรือคำที่คนมักค้นหาบ่อยๆ ลงไปในบทความของคุณ

คำแนะนำนี้ไม่ใช่ทั้งหมดที่จะช่วยคุณจากหน้ากระดาษที่ว่างเปล่า แต่มันเป็นแค่หนึ่งในหลายร้อยวิธีที่จะทำให้บทความของคุณมีความน่าสนใจขึ้น

3. สัมผัสกับชุมชนออนไลน์

ชุมชนออนไลน์คือทุกสิ่ง ตั้งแต่รายการโทรทัศน์ ดรามาประจำวัน รายการข่าว ดารานักร้อง การชุมนุมประท้วง ยอดผู้ติดเชื้อโควิด 19 ล็อกดาวน์นรก ประยุทธจะลาออกหรือไม่ จากนิยายวิทยาศาสตร์ไปจนถึงชิ้นส่วนรถยนต์ ทุกชุมชนออนไลน์ไม่ต่างจากบเวบไซต์ที่คุณทำงานอยู่ ผู้คนกำลังสนใจอะไร จะช่วยให้งานของคุณเข้าถึงคนได้มากขึ้น เหมือนการติิดเทรนด์ในทวิตเตอร์ก็เพื่อให้คุณรู้ถึงเทรนด์ระดับประเทศหรือโลก เคล็ดลับคือ คุณต้องค้นหาชุมชนของตัวเอง ฟอรัม, กระดานข่าว และกลุ่มโซเชียลมีเดีย ทั้งหมดจะเป็นที่ที่คุณจะได้พบปะสังสรรค์กับผู้อ่านโดยตรง

เมื่อคุณพบแหล่งข้อมูลของชุมชนแล้ว คุณสามารถแปลงหัวข้อเหล่านั้นเป็นแนวคิด สำหรับเนื้อหาที่คุณกำลังจะเขียนหรือทำ สิ่งเหล่านี้มีประโยชน์ในการปรับตัวให้เข้ากับชุมชน เพราะคุณจะรู้ว่าพวกเขากำลังสนใจอะไรกันอยู่ ยิ่งคุณรู้ว่าพวกเขาสนใจอะไร คุณก็จะเขียนในสิ่งที่พวกเขาต้องการได้ง่ายขึ้น อย่าลืมว่าการเขียนเวบคอนเทนต์นั้นต่างไปจากงานอื่นๆ หรือคุณจะนำไปปรับใช้ได้กับนิยาย–เรื่องสั้นก็ได้ มันไม่ใช่การตามใจคนอ่าน แต่คุณกำลังนำเสนอสิ่งที่พวกเขาสนใจ จิตวิทยาธรรมดาคนอยากอ่านเรื่องที่เขาสนใจอยู่ การเขียนเรื่องที่คนสนใจ ไม่ใช่การทำงานตามใจคนอ่าน แต่มันคือหัวใจสำคัญของความสำเร็จเลยทีเดียว

กุญแจสำคัญคือ ทำให้แน่ใจว่าคุณกำลังเชื่อมโยงการสนทนาบางอย่างเข้าไปในตัวคอนเทนต์ ตัวอย่างเช่น สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมกำลังจัดพิมพ์งานของ วิลเลียม เชคสเปียร์ เรื่อง แฮมเล็ต เราจัดหาบทความที่เกี่ยวข้องให้กับผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นประวัติของเชคสเปียร์ หรือ เรื่องย่อแฮมเล็ต ซึ่งช่วยให้คนอ่านเข้าใจทั้งในตัวเรื่องเพิ่มมากขึ้น เป็นการแก้ไขปัญหาทั่วไปสำหรับผู้อ่าน นอกจากนั้นคุณยังสามารถสร้างบทความที่ยอดเยี่ยมพร้อมไปกับผู้เข้าชมเวบ การมีส่วนร่วม การแบ่งปันความคิดเห็น และนั่นเป็นรากฐานที่สำคัญ ที่จะมัดใจคนอ่านได้

4. ทำไมการอ่านคอมเม้นต์ ถึงสร้าง ideas for writing ได้

คุณอาจไม่ตระหนักถึงความสำคัญในคอมเม้นต์ แต่ผู้อ่านของคุณกำลังเขียนความคิดที่น่าสนใจเอาไว้ คุณอาจจะใช้คอมเมนต์นั้นเพื่อเขียนถึงเนื้อหาชิ้นต่อไป สิ่งที่คุณต้องทำคือตรวจสอบ และอ่านคอมเม้นต์นั้น

เมื่อคุณโพสต์บทความ มีโอกาสที่คุณจะได้รับความคิดเห็นจากผู้อ่านเสมอ ในทำนองเดียวกัน เมื่อคุณส่งจดหมายข่าวทางอีเมล คุณมักจะได้รับคำถามตอบกลับอย่างน้อยหนึ่งหรือสองคำถาม ความคิดเห็นและคำถามเหล่านี้คือโอกาสที่ดีในการค้นหาแนวคิดในการเขียนบทความ หรือคอนเทนต์

  • หากสมาชิกจดหมายข่าวทางอีเมลคนใดคนหนึ่ง ถามคำถามกลับมาโดยตรง เป็นการดีที่สมาชิกรายอื่นจะมีคำถามเดียวกัน (หรือใกล้เคียงกัน) เปลี่ยนสิ่งนี้ให้เป็นหัวข้อสำหรับโพสต์ในบล็อก หรือจดหมายข่าวฉบับต่อไปของคุณ
  • ความคิดเห็นที่ชื่นชมบทความของคุณชิ้นหนึ่ง หรือคำถามเกี่ยวกับส่วนอื่นของบล็อก กำลังชี้ให้คุณเห็นทิศทางที่ถูกต้อง ความคิดเห็นประเภทนี้กำลังบอกคุณอย่างชัดเจน ถึงสิ่งที่ผู้อ่านสนใจ
  • บทความหรือบล็อกโพสต์ที่มีการแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก คุณควรจัดให้อยู่ใน “follow up” จากนั้นเริ่มวางแผนบทความ หรือจดหมายข่าวชิ้นต่อไปให้เร็วที่สุด

มีข้อดีหลายประการเมื่อคุณได้อ่านคอมเม้นต์จากผู้อ่าน ประการแรกและสำคัญที่สุด คุณไม่จำเป็นต้องคาดคะเนว่าผู้อ่านของคุณจะสนใจเรื่องอะไร ประการที่สอง คุณทราบทันทีว่ากำลังจัดการกับข้อกังวลที่ผู้อ่านได้พูดอย่างตรงประเด็น ดังนั้นจงตระหนักว่า ทุกคอมเม้นต์เกี่ยวข้องกับผู้อ่านของคุณโดยตรง

วิธีสร้างไอเดียในการเขียน

5. ใช้ข้อมูลที่คุณมี

งานเขียน เวบไซต์ หรือธุรกิจ มีเรื่องที่ต้องแก้ปัญหาบางประการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นเป็นเรื่องปกติของการทำงาน ไม่ว่าคุณจะทำงานอะไร โชคดีที่คุณสามารถใช้ข้อมูล ประสบการณ์ หรือการวิจัย เพื่อขับเคลื่อนแนวคิด หรือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น คุณสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่คุณมีอยู่ ฉะนั้นประสบการณ์ที่ได้รับการวิเคราห์นี้จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า หากคุณสนใจที่จะทำมันให้เป็นรูปธรรม

สมมติว่า คุณต้องการเพิ่มจำนวนนักอ่านที่เป็นวัยรุ่นให้เข้ามาอ่านในเวบไซต์ หรือหนังสือที่สำนักพิมพ์ของคุณกำลังทำ คุณจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงการทำงานของคุณ:

  • คุณต้องศึกษาเกี่ยวกับนิสัยการอ่านของคน Generation Z และสำรวจว่าพวกเขาชอบอะไร มีวิถีชีวิตแบบไหน มีจุดเด่นอะไรบ้าง แล้วสิ่งที่พวกเขาสนใจจริงๆ คืออะไร หากคุณรู้ มันก็ง่ายขึ้นที่จะทำคอนเทนต์
  • คุณต้องค้นหาว่า นิยายที่ได้รับความนิยมในยุคก่อนเป็นอย่างไร เขาอ่านอะไรกัน หรือมีความแตกต่างจากยุคนี้อย่างไร นั่นช่วยให้คุณรู้ว่าจะเขียนอะไรลงในบล็อกได้เช่นกัน
  • ในการค้นคว้า คุณอาจจะเขียนถึงนักเขียนรุ่นใหม่ สัมภาษณ์บรรณาธิการ นั่นทำให้บล็อกของคุณมีสีสันมากขึ้น และเป็นการปูพื้นก่อนที่คุณกำลังจะขยายฐานลูกค้าวัยรุ่น

การทบทวนประสบการณ์ การวิจัย ช่วยให้คุณพัฒนาตัวเอง พัฒนาสำนักพิมพ์ และบล็อก นี่คือหนทางที่ง่ายที่สุดที่จะทำให้คุณเติบโตในด้านทางการเขียน

6. เก็บหัวข้อที่จะเขียน

การสร้างเนื้อหา การเขียนบทความประจำ การทำคอนเทนต์ออนไลน์ เป็นโครงการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด คุณจำเป็นต้องเขียนอย่างสม่ำเสมอ ไม่มีทางลัด การเขียนบทความประจำเป็นเหมือนการวิ่งมาราธอน นั่นคือเหตุผลที่ต้องรักษาระยะการวิ่ง การจดบันทึกหัวข้อต่างๆ ที่คิดออกมาได้จึงมีประโยชน์อย่างยิ่ง แม้แต่มืออาชีพที่สร้างสรรค์ที่สุดก็ยังต้องดิ้นรนและอ่อนล้ากับการเขียนอย่างต่อเนื่อง

นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมคุณต้องยืนระยะให้ได้ บันทึกหัวข้อที่คิดออกไปทีละข้อ ไม่ต้องรีบร้อนที่จะปล่อยให้ความคิดไหลไปโดยไม่มีการจัดการกับมัน วิธีการที่ผมทำอยู่บนหน้ากระดาษที่ว่างเปล่าคือ เมื่อคุณวางแผนที่จะเขียนอะไรสักชิ้น หรือบทความสักบท คุณจำเป็นต้องพร้อม กินข้าวหรือยัง ดื่มกาแฟไหม ค้นหาข้อมูลจนครบแล้ว? เมื่อมีไอเดียก็เริ่มลงมือทำ คุณต้องแน่ใจว่าข้อมูลที่หาเอาไว้สามารถค้นหาง่ายๆ อยู่ใกล้ตัว เพราะมันจะทำให้คุณเสียเวลามากเกินไป ถ้ามันไปซ่อนในที่ๆ ที่คุณหาไม่พบ วิธีนี้จะทำให้งานเขียนของคุณลื่นไหลขึ้น

  • ไม่ต้องกลัวว่าเรื่องที่คุณเขียนจะยังใช้ได้ในเดือนสองเดือนนี้หรือเปล่า คุณสามารถเชื่อมโยงบทความของคุณให้ทันยุค ทันสมัยได้ ถ้ามีเหตุผลเพียงพอ
  • การวางแผนในด้านเนื้อหาล่วงหน้า เป็นสิ่งสำคัญ มันช่วยคุณได้ทุกเมื่อ
  • ยิ่งมีหัวข้อที่จะเขียนมากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งที่จะมีเรื่องที่จะเขียนมากขึ้นเท่านั้น และมุ่งความสนใจไปที่ความคิดที่ดีๆ มากขึ้น (สิ่งนี้จะไม่ทำให้คุณเกิดความความกังวล ถ้ามีการระดมความคิดก่อนหน้านี้)

ไอเดียในการเขียนคอนเทนต์จะผุดขึ้นมาได้ตลอดเวลา สิ่งสำคัญคือการจัดระเบียบไอเดียเหล่านั้นให้สามารถเรียกออกมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว วิธีการที่ผมใช้เสมอคือจดบันทึกไอเดียเหล่านั้นทันทีที่คิดออก บางครั้งมันจะมาเร็วมาก เข้ามาในหัว แล้วจากไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน ถ้าคุณไม่รีบจดมันลงไป มันอาจหายสาบสูญไปตลอดกาล

คอนเทนต์ออนไลน์

7. ระดมสมองด้วยความคิด และความตั้งใจ

อาจกล่าวได้ว่า วิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการมองหาไอเดียใหม่ๆ คือการระดมความคิด…ผมพูดเรื่องนี้บ่อยๆ เพราะมันชัดเจนแจ่มแจ้ง แน่นอนคุณควรจะต้องระดมความคิด! แต่เคล็ดลับก็คือ คนส่วนใหญ่ไม่รู้วิธีระดมความคิดจริงๆ เป็นอย่างไร การระดมความคิดมีข้อแตกต่างจากการคิดหัวข้อนั้นแบบหนักๆ หรือแค่เรียกประชุมทีมของคุณไว้ในห้อง แล้วโยนความคิดทิ้งไป

  • การระดมความคิดที่ดีต้องมีโครงสร้าง โดยทั่วไปมันเป็นแค่การโยนความคิดของคนหนึ่งขึ้นมา ถ้าคุณต้องการระดมความคิดจริงๆ หมายถึงการพยายามตอบคำถามที่จะรีดเค้นให้ได้ประเด็นเดียว แต่เรื่องนี้อาจจะไม่สำคัญ สิ่งสำคัญคือคุณจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์และข้อจำกัดบางประการในการระดมความคิด เพราะไม่อย่างนั้นมันจะเป็นแค่การพูดกันไปมาในห้องประชุม
  • ลองใช้เทคนิคต่างๆ ที่หลากหลาย เพื่อสร้างไอเดียที่แตกต่าง ซึ่งอาจรวมถึงการทำแผนที่ทางความคิด (mine map) รวบรวมหัวข้อที่สำคัญ หัวข้อที่น่าสนใจ หัวข้อที่เป็นไปได้ ให้อิสระในการแสดงความคิดเห็น และอื่นๆ (ขั้นตอนพวกนี้ฟังดูแล้วเหมือนตอนประชุมทำรายงาน สมัยเรียนมัธยมมาก่อน นั่นก็เพราะว่าโดยพื้นฐานแล้วมันเป็นแบบนั้นแหละ)

สิ่งสำคัญที่จะต้องทำคือ จัดกรอบความคิดในการระดมความคิดไม่ให้แตกประเด็นออกไป ไม่ใช่แค่ “มาคิดไอเดียกัน” แล้วทุกคนก็ไปกันคนละทาง การจำกัดขอบเขตการระดมความคิดจะทำให้คุณไม่หลงทาง แล้วจะเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ขึ้นมาเสมอ

8. ใช้ข้อมูลเป็นแนวทางในการสร้าง ideas for writing

เมื่อทุกอย่างล้มเหลว ให้ถอยกลับไปใช้ “ข้อมูล” (data) หรือคุณอาจต้องการดูข้อมูลก่อนที่ตัดสินใจอะไร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองของคุณ ประเด็นก็คือ แม้แต่ชุดข้อมูลทั่วไป เช่น Google Analytics ก็สามารถให้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับผู้เข้าชมเวบของคุณได้

และการรู้จักผู้เข้าชม คุณสามารถจุดประกายแนวคิดเนื้อหาที่ดีที่สุดได้ Google Analytics สามารถให้ข้อมูลพื้นฐานสำหรับผู้เข้ามาในเวบ เช่น:

  • อายุหรือเพศของผู้ใช้ที่เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์
  • ผู้ใช้ที่เข้าชมเว็บไซต์ของคุณมาจากที่ใด (ประเทศ รัฐ หรือเมือง)
  • โดยทั่วไปแล้วผู้เยี่ยมชมใช้อุปกรณ์ประเภทใดเข้าไปในเว็บไซต์

มีแอปวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูลอื่นๆ ที่สามารถให้ข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้นแก่คุณได้ (และแน่นอนว่า Google Analytics มีการอัปเกรดทุกประเภท และคุณต้องเสียเงินถ้าต้องการข้อมูลที่ลึกขึ้น) หากคุณพบว่าผู้ชมส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง คุณสามารถเขียนเนื้อหาเพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายนั้นได้ หรือขยายฐานผู้ชมให้มากขึ้น ส่วนอุปกรณ์ที่เข้าชมเวบ ทำให้คุณรู้ว่าหน้าอินเตอร์เฟซของเวบควรเป็นอย่างไร

การใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อช่วยสร้างเนื้อหา สามารถช่วยให้มั่นใจว่าแนวคิดของคุณมีความเกี่ยวข้องกับผู้ชมและปรับเทียบกับสิ่งที่คุณคาดการณ์เอาไว้

แนวคิดเกี่ยวกับ ideas for writing มีอยู่ทุกที่ คุณเพียงแค่หามันว่าอยู่ที่ไหน

ไม่มีสัญญาณบ่งบอกว่าเนื้อหาที่คุณเขียน หรือทำ จะประสบความสำเร็จในเร็วๆ นี้ ซึ่งหมายความว่าเนื้อหาที่คุณสร้างขึ้นจะยังคงทำงานให้คุณต่อไปปีแล้วปีเล่า สิ่งที่คุณต้องทำคือคิดขึ้นมาให้ได้ หวังว่าเคล็ดลับเหล่านี้จะช่วยให้คุณทราบวิธีคิดสำหรับแนวคิดเกี่ยวกับเนื้อหาได้ง่ายดายขึ้น บางทีคุณอาจจะไม่ต้องไปค้นหาไกลเกินตัว หน้าประตูของผู้ใช้งานในเวบที่คุณดูแล อาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุดก็เป็นได้

สุดท้ายนี้ ผมอยากจะฝากบทความน่าสนใจของสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมไว้: The Painful Story Of Steppenwolf

เพื่อให้กำลังใจพวกเราชาวเม่นวรรณกรรม คุณสามารถแสดงความเห็น หรือแบ่งปันความคิดของคุณเกี่ยวกับไอเดียในการเขียนได้ที่คอมเม้นต์ด้านล่าง! ขอบคุณมากครับ

[block id=”about-author-niwat-2″]

[block id=”bottom-product”]

2 comments

T. Natalie 28/08/2021 - 12:53

เป็นบทความแรกของเม่นวรรณกรรมที่ได้เข้ามาอ่านเลยค่ะ(รวมถึงเลื่อนชมหน้าเพจของเว็บไซต์คร่าว ๆ) ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าน่าสนใจมาก ๆ อีกทั้งฟีเจอร์ต่าง ๆ ก็ยังดูเรียบง่ายสบายตาด้วยค่ะ สำหรับบทความนี้เราพบข้อบกพร่องเล็กน้อยเรื่องรูปคำ บางรูปคำย่อหน้านั้นเป็นอย่างหนึ่ง พออีกย่อหน้านี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง- ประมาณนี้ค่ะ จึงอยากให้ทางผู้เขียนปรับปรุงเพื่อให้สนพ.และเว็บไซต์แห่งนี้มีการพัฒนาอย่างราบรื่น สุดท้ายนี้ ขอบคุณทางทีมงานและนักเขียนที่สร้างคอนเทนต์ดี ๆ แบบนี้นะคะ เป็นกำลังใจให้ผลิตงานคุณภาพต่อไปค่ะ

Reply
Niwat Puttaprasart 28/08/2021 - 14:03

ขอบคุณสำหรับคอมเม้นต์มากครับ ทางทีมจะพยายามปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นครับ

Reply

Leave a Comment

You may also like

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More