ประยุทธ จันทร์โอชา
Home Art & Culture วันพักผ่อนของนายกรัฐมนตรี ประยุทธ จันทร์โอชา

วันพักผ่อนของนายกรัฐมนตรี ประยุทธ จันทร์โอชา

by Editor
71 views

ภาพถ่าย ประยุทธ จันทร์โอชา ในวันพักผ่อน

ทันทีที่ ภาพถ่าย ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย สวมชุดไปรเวท เสื้อยืด กางขาสั้น รองเท้าแตะ พื้นๆ ที่หาได้ตามร้านทั่วไป นั่งไขว่ห้าง อ่านหนังสือ ด้วยท่วงท่าสบายๆ ไม่ทุกข์ร้อน ในบ้านพักส่วนตัวที่เต็มไปด้วยความสะดวกสบายในค่ายทหาร เมื่อภาพถ่ายได้รับการเผยแพร่ครั้งแรกผ่านเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการของนายกฯ ก่อนที่สื่อมวลชนจะนำภาพดังกล่าวไปเผยแพร่ในสื่อของตนทั้งออนไลน์และหนังสือพิมพ์ต่อไป เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังโพสต์ภาพ เสียงวิพากษ์ก็เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนผ่านทางเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ จนติดเทรนด์อันดับต้นในไม่กี่ชั่วโมง

ภาพดังกล่าวถูกสร้างขึ้นเพื่อเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย ทำไมวันพักผ่อนสบายๆ ของนายกฯ จึงกลายมาเป็นหัวข้อสำคัญในการอภิปราย และถกเถียงอย่างเผ็ดร้อน หากย้อนกลับไปดูภารหน้าที่ของนายกฯ ในอดีต ส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีการระบุชัดเจนว่าวันเสาร์ และอาทิตย์เป็นวันพักผ่อนอย่างเป็นทางการ เพราะในอดีต บางคนก็อาศัยวันเสาร์อาทิตย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในโปรแกรมอย่างเป็นทางการ บางคนก็จัดรายการวิทยุ หรืออยู่กับครอบครัว

ประยุทธ จันทร์โอชา อ่านหนังสือ

ภาพจำของอดีตนายกฯ ที่ประชาชนทั่วไปสัมผัสได้ คือเสียสละ อดทน ทำงานโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยกับการวิพากษ์วิจารณ์ การไม่มีวันหยุด หรือวันพักผ่อน ก็ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญ หากมีวิกฤติเกิดขึ้นส่วนใหญ่ก็ทำงานโดยไม่เคยหนีหน้าสื่อมวลชน แม้จะเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ ในแง่ที่ว่าเขาหรือเธออาสาเข้ามาทำหน้าที่เพื่อประชาชน กินเงินเดือน กินภาษี มีอำนาจสั่งการ การทำงานไม่มีวันหยุดจึงเป็นเรื่องปกติ  

รัฐราชการ

ยุคสมัยของประยุทธแตกต่างออกไป ไม่แน่ใจว่าการเป็นนายกฯ ที่มาจากการรัฐประหารดูเหมือนจะมีภาพอภิสิทธิ์ชนมากกว่านายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อประยุทธเข้ามาทำหน้าที่ วันเสาร์อาทิตย์เหมือนวันหยุดของเขา ไม่มีการพบสื่อ ไม่ออกตรวจเยี่ยมราชการ การพักผ่อนของนายกฯ จึงเป็นความไม่คุ้นเคยของประชาชน ในช่วงวิกฤติโควิด 19 คำสั่งเร่งด่วนต่างๆ มักจะไม่ถูกสั่งในวันหยุด บ้างก็มักจะเริ่มใช้ในเช้าวันจันทร์ ตามแบบรัฐราชการ

อาจเป็นได้ว่า นายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งวางตนเหนือนักการเมืองที่มาจากเลือกตั้ง พวกเขาแสดงให้เห็นว่าตนเองต่างออกไปจากนักการเมืองธรรมดา ต่างจากคนเดินดินสามัญ ไม่ใช่เฉพาะที่มาที่ไป แต่ในทุกๆ องคาพยพ ทุกๆ พื้นที่ หรือปฏิบัติตน ทำราวกับตนถูกประทานมาจากฟากฟ้าเวหา วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ มีสิทธิเหนือนายกฯ คนอื่น บางครั้งอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรที่ตนเป็นคนสร้างหรือแต่งตั้งเข้ามา

การไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจึงดูเหมือนความแปลกแยก ขณะเดียวกันภาพลักษณ์พวกเขาเป็นตัวแทนของชนชั้นนำ ที่อยู่เหนือการตรวจสอบเช่นกัน ภาพเหล่านี้ไม่อาจปฏิเสธได้ แม้มิได้สร้างขึ้นมา แต่เกิดจากเนื้อในและการปฏิบัติตนผ่านอำนาจ

ดังที่กล่าวมา ภาพประยุทธ จันทร์โอชา ได้กลายมาเป็นภาพจำของคนทั่วไป จึงดูห่างไกลไปเรื่อยๆ แม้ภาพของเขาจะไม่ใช่คนฟุ่มเฟือย ไม่ใช่ภาพคนที่ทุจริต คอรัปชันในเรื่องผลประโยชน์เงินทอง แต่เขาหนีไม่พ้นคนที่ใช้อำนาจมากมาย ในฐานะหัวหน้ารัฐประหาร 4 ปี คสช. ภาพรวมการใช้มาตรา 44 ไปมากกว่า 189 ฉบับ โดยออกคำสั่งได้ตามใจ ไร้ขีดจำกัด ออกคำสั่งสารพัด ตั้งแต่ประเด็นเล็กๆ เช่น ห้ามจุดพลุ เด็กแว้น ปัญหาจราจร ไปจนถึงประเด็นระดับชาติ เช่น แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดหรือพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี จนนำไปสู่วัฒนธรรมการใช้อำนาจตามใจตัวเอง

แม้จะเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง มีรัฐธรรมนูญ แต่ประยุทธ จันทร์โอชาก็ยังคงดำรงตนเหนือนักการเมืองทั้งปวง เขาจะเป็น “เจ้าหน้าที่รัฐ” หรือไม่เป็นตอนไหนก็ได้ เขาไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง ไม่ได้ลงเลือกตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก ที่มีสมาชิกวุฒิสภาสนับสนุนถึง 250 เสียง ซึ่ง ส.ว. เหล่านั้น คณะ คสช. เลือกขึ้นมาทั้งสิ้น ประยุทธ จันทร์โอชา มักถือความชอบธรรมจากกฎหมาย มักอ้างข้อกฎหมาย รัฐธรรมนูญ รวมถึงความเสียสละของตัวเอง ที่มาทำหน้าที่โดยไม่หวังผลตอบแทน ไม่หวังชื่อเสียงเกียรติยศ 

(อ่านบทความเพิ่มเติม: ส.ว. 250 มาจากไหน)

การทำงานของ ประยุทธ จันทร์โอชา

นอกจากภาพอ่านหนังสือในวันหยุดแสนธรรมดาแล้ว ทีมงานสร้างภาพลักษณ์ของ ประยุทธ จันทร์โอชา ยังมักจะเผยแพร่ภาพที่เขานั่งทำงาน ตรวจเอกสาร ทั้งที่บ้านและที่ทำงาน โดยเฉพาะภาพล่าสุดที่ทำให้มีการวิพากษ์อย่างดุเดือด

คือภาพที่เขาทำงานช่วง โควิด 19 ระบาดหนัก นายกฯ ได้ออกคำสั่ง หากไม่จำเป็นให้คนทำงานที่บ้าน และเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับประชาชน ประยุทธ ได้ทำงานที่บ้านโดยไม่เข้าทำเนียบ ขณะเดียวกันก็เผยภาพตนเองนั่งทำงานบนโต๊ะที่มีเอกสาร โดยเบื้องหลังกำแพงมีภาพสามภาพ ภาพแรกจากซ้ายเป็นภาพถ่ายของตนในชุดราชการการเมืองสีกากีขาวดำ

ประยุทธ จันทร์โอชา ปิดทองหลังพระ

ภาพที่สองตรงในจุดสำคัญ คือภาพพระพุทธรูปหันหลัง และภาพสุดท้ายเป็นภาพวาดสีน้ำรูปฝูงม้าวิ่ง ที่สามารถหาได้ในตลาดนัดทั่วไป โดยที่ตนเองสวมหน้ากากอนามัย สวมสูท ผูกเน็คไท ประดับเหรียญตราสีทอง ทำราวกับทำงานอยู่ในทำเนียบรัฐบาล

ภาพนี้พยายามสื่อถึงการทำงานที่เข้มข้น จากการสวมสูทเต็มยศ เป็นคนทำงานจริงๆ และยังสวมหน้ากากอนามัยแม้จะทำงานอยู่คนเดียวในห้องทำงาน แสดงถึงความใส่ใจต่อสุขภาพ (คำสั่งตัวเอง) เป็นสัญญลักษณ์การต่อสู้กับโควิด 19 ที่ถล่มรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่สำคัญที่สุดเห็นจะเป็นภาพพระพุทธรูปหันหลัง นัยถึงการเป็นคนปิดทองหลังพระ ซึ่งหมายถึงคนทำงานที่ไม่เคยหวังผลตอบแทน ไม่หวังผลประโยชน์ หรือผลที่จะได้รับ

สิ่งที่ยืนยันคุณลักษณะเฉพาะตัวของ ประยุทธ จันทร์โอชา ต่อภาพถ่ายเหล่านั้นก็คือ ภาพวันหยุดแสนสบายก็มิได้หยุด แม้เขาจะอยู่ในเครื่องทรงแสนธรรมดา แต่ก็ทำให้ประชาชนเห็นว่าเขายังคงแสวงหาความรู้จากหนังสือที่อ่าน นั่นเป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนจะเห็นภาพนายกฯ ของพวกเขาทรงภูมิปัญญาเพียงใด วันหยุดที่ไม่ได้หยุดจริงๆ นะจ๊ะ หรือภาพตรากตรำทำงานอย่างเคร่งเครียดบนโต๊ะที่เต็มไปด้วยเอกสาร

สิ่งเหล่านี้อธิบายถึงความเสียสละต่อประชาชน เขาไม่ได้นั่งบนหอคอยงาช้างอย่างที่ถูกกล่าวหา แต่กลับเคร่งเครียดแก้ปัญหาบ้านเมืองโดยไม่เหน็ดเหนื่อย ทำมากกว่านายกฯ ทุกคนที่เคยดำรงค์ตำแหน่ง สิ่งเหล่านี้เป็นกิจกรรมอันลึกลับที่อธิบายไม่ได้ อาจเป็นได้ว่าอยู่นอกเหนือการควบคุมของเจ้าตัว หรือจะเปรียบเปรยให้สง่างามกว่านั้นก็คือ ประยุทธทำสิ่งนี้ด้วยเจตจำนงค์ภายในตัวเอง

อาการพร่ำเพ้อดังกล่าวยังแฝงนัยอีกประการหนึ่ง มันเป็นภาวะการถูกบังคับแบบมีกลไก ซึ่งทำหน้าที่ได้ด้วยตัวมันเอง แม้ว่าเขาจะสวมเสื้อยืดธรรมดา กางเกงขาสั้น รองเท้าแตะ หรือสวมสูท ผูกไท กลัดเข็มตราแสดงสัญลักษณ์ รวมถึงภาพถ่ายพระหันหลัง  สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เปลี่ยนตัวตนของเขา ประยุทธก็ยังเป็นประยุทธ นายกฯ ที่มาจาก ส.ว. 250 เสียง เป็นอื่นใดไม่ได้นอกจากตัวตนนั้น

แม้เขาจะอยู่ที่ไหน ทำเนียบ บ้านพักที่ไม่ต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟในค่ายทหาร ส้วมที่รัฐสภา เขาก็ยังเป็นนายกฯ อาหารทิพย์ก็ยังอยู่ห่างไกลจากข้าวแดงแกงร้อน ที่ต้องซื้อกลับไปกินบ้านในช่วงล็อกดาวน์ ไม่มีที่นั่งกินในร้านอีกต่อไป เขาสวมบทบาทเพื่อตอกย้ำภาพตัวตนของเขาเอง เขาคิดว่าสังคมต้องการเห็นเขาเป็นนอย่างไร ภาพลักษณ์อันเรียบง่าย คนที่ขยันทำงานหนัก ภาพที่คนชั้นกลางปรารถนาแลเห็น 

ภาพถ่าย ประยุทธ จันทร์โอชา

บทสรุป

อย่างไรก็ตามอย่าได้หลงคิดว่านี่คือการลบมายาคติเกี่ยวกับนายกฯ ที่เคยมีมาในอดีต (อันแสนเศร้า) ภาพวันหยุดแสนสุข การทำงานหนัก หรือการเสียสละโดยไม่หวังผลตอบแทน นี่คือกลลวงธรรมดา จริงอยู่ที่ว่าผู้สนับสนุนนายกฯ ต่างปลาบปลื้มที่ได้เห็นการอุทิศตนเยี่ยงนี้ การเผยแพร่ภาพนายกฯ ที่เป็นมนุษย์มีเลือด มีเนื้อ ติดดิน สุจริต เช่นพวกเราทุกคน ไม่ข้องแวะคอรัปชัน

แต่สิ่งเหล่านี้กลับทำให้รู้สึกว่า ไม่ได้แตกต่างจากกลลวงหลอกๆ ของนักการตลาดมือสมัครเล่น พวกเขายังใช้วิธีคิดแบบเดิมๆ และหวังว่าภาพเหล่านั้นจะทำงานของมันผ่านสื่อต่างๆ ทางเน็ตเวิร์กอย่างเข้มแข็ง โชคดีที่โลกยุคใหม่สามารถสื่อสารไปกลับสองด้าน และเราหวังว่าพวกเขาจะเข้าใจผิด

เราแทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่านายกฯ ทำอะไร การแสดงท่าเซ็นเอกสารก็ช่างแสนหนักหนา แล้วยังต้องทรมานกับสวมหน้ากากอนามัยแม้อยู่คนเดียว หนังสือที่อ่านนั่นเล่า เนื้อหามันคืออะไร เข้าหัวหรือเปล่า บางเล่มเราก็รูจักและได้อ่านกัน ส่วนภาพพระหันหลังนั้น สำคัญว่ามันสะท้อนนัยไปที่ใคร ถ้าสะท้อนไปที่ประชาชน ก็สื่อตามความหมายที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

แต่เราจะรู้ได้อย่างไร มันอาจจะสื่อไปถึงผู้ที่นายกฯ กำลังค้ำจุนอำนาจอยู่เบื้องหลังก็เป็นได้ ถ้ามันสื่อนัยไปตรงนั้นมันก็น่าสนใจไม่น้อย หรืออาจจะกล่าวได้ว่ามันมีความสำคัญมากกว่าสื่อถึงประชาชนคนธรรมดาเสียอีก สิ่งนั้นกลับยิ่งเน้นย้ำว่าประยุทธ ไม่ได้มีอำนาจเพื่อประชาชน แต่เขากลับค้ำจุนอำนาจให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือพวกพ้องตัวเอง เขาค้ำจุนใครอยู่ เขาปิดทองหลังพระให้ใคร พระหันหลังภาพนั้นอาจจะส่งไปให้ใครคนนั้นก็ได้ใครจะรู้

ที่สุดแล้ว เราต่างก็เห็นถึงความแหลกเหลวของรัฐบาลประยุทธ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่โหมกระหน่ำ ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ปัญหาสังคม สาธารณสุขที่ล่มสลาย การระบาดของโรคโควิด 19 ปัญหาการคอรัปชัน ปัญหาการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพ การกู้เงิน และการใช้งบประมาณที่ไม่สนองตอบต่อประชาชน วันพักผ่อนของนายกรัฐมนตรี หรือวันทำงานที่แสนหนักหน่วง ต่างก็ทำให้เราประจักษ์ถึงความพยายามที่จะอำพรางอัตตา ตัวตน และการใช้อำนาจ ของ ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่ล้มเหลวที่สุดคนหนึ่งของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

[block id=”about-author-niwat-2″]

[block id=”bottom-product”]

Leave a Comment

You may also like

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More