นิยายอาชญากรรม หรือ Crime fiction เป็นประเภทนิยายที่อ่านเท่าไหร่ก็ไม่รู้สึกเบื่อ เนื่องจากเป็นเรื่องราวที่มาพร้อมกับ เนื้อเรื่องที่ลึกลับ และหักมุม จนสร้างความประหลาดใจให้กับนักอ่านหลายๆ คน เมื่อพูดถึงนิยายแนวอาชญากรรม ชื่อตัวละครที่ใครหลายคนมักจะนึกถึง คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก นักสืบ ‘เชอร์ล็อก โฮมส์’ แล้วทุกคนทราบหรือไม่ว่า ประเภทของนวนิยายอาชญากรรมนั้น ไม่ได้มีแค่ประเภท ที่เล่าเรื่องราวของนักสืบเพียงเท่านั้น
วันนี้ สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม เลยตั้งใจจะพาทุกคน ไปทำความรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า ‘นิยายอาชญากรรม’ รวมไปถึงวิวัฒนาการของนิยายอาชญากรรม และประเภทย่อยต่างๆ ถ้าทุกคนพร้อมแล้วเรามาเริ่มกันเลย
นิยายอาชญากรรม คืออะไร | What is crime fiction ?
ก่อนอื่นเรามาเริ่มที่ความหมายของ นิยายอาชญากรรม กันก่อน นวนิยายแนวอาชญากรรม เป็นเรื่องราวที่สร้างขึ้นมา มีเนื้อหามุ่งเน้นไปที่การก่ออาชญากรรม และการสืบสวนสอบสวน โดยนักสืบมือสมัครเล่น และนักสืบมืออาชีพ หัวใจหลักของนวนิยายแนวอาชญากรรม คือ ความลึกลับที่เต็มไปด้วยปมปริศนา ความเชื่อมโยงคดีต่างๆ และความไม่กล้าตัดสินใจของตัวละครเอกในเรื่อง ในการคลี่คลายคำตอบของปัญหา
จุดเริ่มต้นของนิยายอาชญากรรม | Beginning of crime fiction
นวนิยายอาชญากรรมในไทย เริ่มต้นขึ้นเมื่อตอนปลายสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยได้รับอิทธิพล หรือแบบอย่างมาจากทางฝั่งตะวันตก แล้วนำมาแปล และดัดแปลง จนมีนักเขียนไทยผลิตงานเขียนนิยายประเภทอาชญากรรมขึ้นมา ให้เราได้อ่านกันจนถึงปัจจุบัน ถ้าจะกล่าวถึง จุดเริ่มต้นของนวนิยายอาชญากรรม คงต้องเริ่มเล่า ตั้งแต่สมัยโบราณของทางฝั่งตะวันตก
สมัยโบราณ (The Antiquity)
จริงๆ แล้ว จุดเริ่มต้นของนิยายอาชญากรรม เริ่มตั้งแต่สมัยโบราณ เมื่อประมาณ 429 ปีก่อนคริสตกาล โดยละครโศกนาฏกรรมที่มีชื่อเสียงเรื่อง Oedipus Tyrannus ของ ซอโฟคลีส (Sophocles) นักเขียนบทละคร และโศกนาฏกรรมชาวกรีกโบราณ โดยบทละครโศกนาฏกรรมนี้ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสืบสวนอาชญากรรม และการสืบสวนพิจารณาคดี
ยุคกลาง (The Middle Ages)
ตัวอย่างงานเขียนแนวอาชญากรรม ที่พบในช่วงยุคกลาง คือ เรื่องสั้น The Three Apple หรือ The Tale of the Murdered Woman ซึ่งเรื่องสั้นนี้มาจาก หนังสือที่รวบรวมนิทานพื้นบ้าน ที่เล่าขานสืบต่อกันมา บริเวณตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ ชื่อเรื่องว่า ‘หนึ่งพันหนึ่งราตรี’ หรือ ‘พันหนึ่งราตรี’ (One Thousand and One Nights) หลายคนอาจจะรู้จักในชื่อ ‘อาหรับราตรี’ (Arabian Nights)
ศตวรรษที่ 19 (The Nineteenth Century)
ช่วงศตวรรษที่ 19 เอดการ์ แอลลัน โพ (Edgar Allan Poe) เป็นนักเขียนชาวอเมริกัน ที่ได้รับการขนานนามว่า ‘ปรมาจารย์แห่งนิยายสยองขวัญ’ และเขายังสร้างแรงบันดาลใจจุดประกายความสำเร็จ ให้กับนักเขียนนิยายอาชญากรรม ทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยผลงานเรื่องสั้นที่เขาผลิตขึ้นมา มีอยู่หลายเรื่องด้วยกัน เช่น ฆาตกรรมที่ถนนม็อร์ก (The Murders in the Rue Morgue) ความลึกลับของคดีฆาตกรรมมารี โรเฌต์ (The Mystery of Marie Rogêt) จดหมายที่ถูกขโมย (The Purloined Letter) ผลงานเหล่านี้ ทำให้เขาเป็นบุคคล ที่ทำให้อาชญานิยายเริ่มแปรเปลี่ยนมาเป็นนิยายนักสืบ เนื่องจากมีการนำเอาเหตุผล ตรรกะ และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ สอดแทรกเข้าไปในโครงเรื่อง ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงนี้ ยังส่งผลให้รูปแบบของนิยายอาชญากรรม กลายมาเป็นปมปริศนา ที่ผู้อ่านต้องหาคำตอบๆ ไปพร้อมกันกับตัวเอกในเรื่อง
ช่วงปี ค.ศ. 1860 นักเขียนชาวอังกฤษ วิลคี คอลลินส์ (Wilkie Collins) ได้ตีพิมพ์บทประพันธ์นวนิยายเรื่อง ปริศนาหญิงชุดขาว (The Woman in White) นอกจากนี้ เขาผลิตผลงานชิ้นเอกเรื่อง อาถรรพ์แห่งเพชรจันทรา (The Moonstone) ซึ่งได้รับการยกย่องว่า เป็นนวนิยายนักสืบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเรื่องแรกแห่งปีค.ศ. 1868
หนึ่งในสถานการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ของนิยายอาชญากรรมในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 คือ การวิวัฒนาการของนิยายอาชญากรรมประเภทรหัสคดีห้องปิดตาย (locked-room mystery) ในช่วงปีค.ศ. 1886 เซอร์ อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ (Sir Arthur Conan Doyle) ผลิตงานเขียนเรื่อง แรงพยาบาท (A Study in Scarlet) โดยได้มีการนำเสนอตัวละครนักสืบ เชอร์ล็อก โฮมส์ (Sherlock Holmes) ที่เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ดูปิน (Dupin) ตัวละครที่มาจากเรื่องสั้นของ เอดการ์ แอลลัน โพ ต่อมาในปี ค.ศ. 1887 การปรากฏตัวครั้งแรกของ เชอร์ล็อก โฮมส์ ในรูปแบบของสิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง ผ่านทางนิตยสารรายเดือน ของประเทศอังกฤษ ได้ดึงดูดความสนใจของผู้อ่านเป็นจำนวนมากจากทั่วทุกมุมโลก
ศตวรรษที่ 20 (The Twentieth Century)
นักเขียนชาวอังกฤษ จี. เค. เชสเตอร์ตั้น (G.K. Chesterton) ได้สร้างตัวละครขึ้นมา ชื่อว่า บาทหลวงบราวน์ (Father Brown) ที่รับบทบาทเป็นทั้งนักบวชโรมันคาธอลิก และนักสืบมือสมัครเล่น โดยตัวละครนี้ได้ปรากฏในเรื่องสั้น 53 เรื่องของเขา ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ระหว่างปี ค.ศ. 1930-1936
ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1930 กับ 1940 ถูกเรียกว่าเป็น ยุคทองของนิยายแนวนักสืบ ในตอนนั้นเอง มีนักเขียนสองที่ได้รับการขนานนามว่า เป็น ราชินีแห่งนวนิยายอาชญากรรม อกาธา คริสตี (Agatha Christie) และ โดโรธี แอล. เซเยอร์ส (Dorothy L. Sayers)
ขณะเดียวกัน ดาชีล แฮมเมตต์ (Dashiell Hammett) และ เรย์มอนด์ แชนด์เลอร์ (Raymond Chandler) นักเขียนชาวอเมริกัน ได้สร้างรูปแบบใหม่ของนวนิยายอาชญากรรมขึ้นมา เรียกว่า hardboiled private eye fiction พวกเขาได้สร้างภาพลักษณ์ ของตัวละครนักสืบเอกชนที่แข็งแกร่ง และขมขื่น ไม่ว่าจะเป็น แซม สเปด (Sam Spade) จากเรื่อง เหยี่ยวมอลตา (The Maltese Falcon) ของแฮมเมตต์ และ ฟิลิป มาร์โลว์ (Philip Marlowe) จากเรื่อง หลับไม่ตื่น (The Big Sleep) ของแชนด์เลอร์ นอกจากนี้ ผลงานของพวกเขาทั้งสองคน ทำให้เกิดประเภทย่อยรูปแบบใหม่ ของนิยายอาชญากรรมที่เราเรียกกันว่า Thiller หรือว่า นิยายระทึกขวัญ
นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สิ้นสุดลง ประมาณปีค.ศ. 1947 โลกได้เข้าสู่ยุคสมัยของสงครามเย็น ซึ่งเกิดการต่อสู้กันของสหภาพโซเวียต กับสหรัฐอเมริกา โดยได้มีการส่งสายลับไปทั่วโลก เพื่อหาข้อมูลของฝ่ายตรงกันข้าม ในตอนนั้นเอง เอียน เฟลมมิง (Ian Fleming) นักเขียนชาวอังกฤษ ได้นำแนวคิดจากสงครามเย็น มาสร้างสรรค์นวนิยายแนวสายลับเรื่อง คาสิโน รอแยล (Casino Royale) ขึ้นมา ซึ่งตัวละครเอกในเรื่อง คือ เจมส์ บอนด์ นั่นเอง
ต่อมาในสหรัฐอเมริกา มาริโอ พูโซ (Mario Puzo) ได้ผลิตงานเขียนชิ้นหนึ่งขึ้นมาชื่อว่า เดอะ ก็อดฟาเธอร์ (The Godfather) ซึ่งเป็นนวนิยายอาชญากรรม เกี่ยวกับมาเฟียชาวอิตาเลียนอเมริกัน โดยมีจุดประสงค์ เพื่อนำเสนอ สภาพทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองหลังช่วงสงคราม
ศตวรรษที่ 21 (The Twenty-First Century)
ช่วงศตวรรษที่ 21 เป็นช่วงเวลาแห่งการประสบความสำเร็จ ของนักเขียนนวนิยายอาชญากรรม เนื่องจากงานเขียนอาชญากรรมประเภทต่างๆ ได้รับผลตอบรับจากผู้อ่านเป็นอย่างมากในวงกว้าง อีกทั้ง ยังติดอันดับชาร์ตหนังสือขายดีอีกด้วย เช่น นิยายสืบสวนสอบสวน ที่มาในธีมคริสเตียน และอิงประวัติศาสตร์อย่างเรื่อง รหัสลับดาวินชี (Da Vinci Code) ของ แดน บราวน์ (Dan Brown)
ประเภทของนิยายแนวอาชญากรรม | Categories of crime fiction
- Detective fiction เป็นประเภทย่อยของนิยายอาชญากรรม และนิยายแนวลึกลับ ที่ตัวเอกมักจะเป็นนักสืบ มีทั้งระดับมืออาชีพ มือสมัครเล่น หรือเกษียณอายุ เนื้อเรื่องเน้นไปที่การสืบสวนอาชญากรรม ที่เป็นคดีฆาตรกรรม โดยทั่วไป องค์ประกอบหลักของนิยายนักสืบประกอบด้วย
- ช่วงเวลาเปิดตัวละครหลักสำคัญ (interpellation)
- ผู้สืบสวน หรือนักสืบ (investigator)
- คู่หูของนักสืบ (sidekick)
- รูปแบบการเล่าเรื่อง ที่บอกเล่าเรื่องราวผ่านสองมุมมองที่แตกต่างกัน (double narrative)
- ฉากที่จำกัด (circumscribed setting)
- เบาะแส หรือเงื่อนงำ (clue)
- Whodunit เป็นหนึ่งในประเภทของนิยายแนวนักสืบ ที่จัดว่าได้รับความนิยมมากที่สุด โดยชื่อเรียกนี้เกิดจากการเล่นเสียงของประโยคคำถาม “Who has done it? (ใครเป็นคนทำ?)”
เรื่องอื้อฉาวในโบฮีเมีย (A Scandal in Bohemia): หนึ่งในเรื่องสั้นที่มาจาก เชอร์ล็อก โฮมส์ ชุด ผจญภัย (The Adventures of Sherlock Holmes) ผลงานของนักเขียน และแพทย์ชาวอังกฤษ เซอร์ อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ (Sir Arthur Conan Doyle)
- Locked-room mystery เป็นนิยายแนวอาชญากรรม ที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘impossible crime’ หรือ ‘อาชญากรรมเหลือเชื่อ’ เนื่องจากเป็นอาชญนิยายที่มาในธีมของ คดีฆาตกรรมในห้องปิดตาย โดยการฆาตกรรมเกิดขึ้นในห้อง หรือสถานที่ โดยปราศจาก เบาะแสว่าผู้ก่ออาชญากรรม สามารถเข้า หรือออกจากห้องได้อย่างไร
ฆาตกรรมบนรถด่วนโอเรียนท์เอ็กซ์เพรส (Murder on the Orient Express): ผลงานของราชินีแห่งนวนิยายอาชญากรรม อกาธา คริสตี (Agatha Christie)
- American hard-boiled detective fiction เป็นนิยายที่เน้นการพรรณนาเรื่องเพศ และความรุนแรงออกมาแบบเรียบง่าย แต่มีพลัง โดยที่ตัวนักสืบมักจะเผชิญกับอันตราย และความรุนแรง
เหยี่ยวมอลต้า (The Maltese Falcon): ผลงานเขียนของ ดาชีล แฮมเม็ตต์ (Dashiell Hammett)
- Police fiction เป็นนิยายแนวอาชญากรรม ที่ตัวละครเอกทำหน้าที่เป็นทั้งนักสืบ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้คืนความสงบเรียบร้อยให้แก่สังคม
กาหลมหรทึก: อาชญานิยายได้รับรางวัลยอดเยี่ยมนายอินทร์อะวอร์ด ประจำปี พ.ศ. 2557 ผลงานของนักเขียนนามปากกา ปราปต์ (Prapt) แดนบราวน์แห่งสยามประเทศ
เสียงสะท้อนจากความมืด (The Black Echo): นิยายชุดนักสืบแฮร์รี่ บอช ของไมเคิล คอนเนลลี่ (Michael Connelly)
- Forensic crime fiction เป็นประเภทย่อยของนิยายอาชญากรรม ที่มีการผสมผสานระหว่างคดีฆาตกรรม กับการนำความรู้ และหลักนิติวิทยาศาสตร์ มาเป็นเครื่องมือในการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงในคดี
พลิกศพ ตอนนักสะสมกระดูก (骨头收藏家): นวนิยายสืบสวนสอบสวนแนวนิติเวชร่วมสมัย จากประเทศจีน ผลงานของนักเขียนนามปากกา Daisy (戴西)
งานเขียนซีรีส์ ชุด หมอเคย์ สการ์เพตตา (Kay Scarpetta): ผลงานของนักเขียนชาวอเมริกัน แพทริเซีย คอร์นเวล (Patricia Cornwell)
- Legal/Courtroom thriller เป็นนิยายแนวอาชญากรรม ที่ตัวละครเอกรับหน้าที่เป็นทนายความ
คนนอกคอกในคอกทนาย (Rogue Lawyer): ผลงานของ จอห์น กริแชม (John Grisham)
- Spy fiction/Political thriller ตัวละครหลักของนิยายแนวอาชญากรรมประเภทนี้ จะทำหน้าที่ในฐานะสายลับ ให้กับหน่วยข่าวกรอง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง
คาสิโน รอแยล (Casino Royale): เรื่องแรกในนวนิยายชุด เจมส์ บอนด์ (James Bond) เขียนโดย เอียน เฟลมมิง (Ian Fleming)
- Psychological thriller/suspense ประเภทย่อยของนิยายระทึกขวัญ ที่รวมเอาองค์ประกอบจากนิยายสืบสวน โดยตัวเอกต้องไขความลึกลับความขัดแย้งทางจิตวิทยา ที่นำเสนอภายในเรื่อง
จดหมายถึงเธอ (Sister): โรซามันด์ ลัพตัน
(Rosamund Lupton)
- Crime thriller นิยายระทึกขวัญที่ตัวละครหลักเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม ไม่ว่าจะเป็นในฐานะผู้ก่ออาชญากรรม หรือในฐานะเหยื่อ
ขบถสาวกับรอยสักมังกร (The Girl with the Dragon Tattoo): นิยายระทึกขวัญของทาง Scandinavian noir เขียนโดย สตีก ลาร์ซอน (Stieg Larsson)
ผู้อ่านได้อะไรจาก การอ่านนิยายแนวอาชญากรรม
งานเขียนประเภทอาชญากรรม สามารถมองเป็นวรรณกรรม เพื่อเป็นการแสดงออกต่างๆ ทางสังคม ไม่ว่าจะเป็น การเรียกร้อง การประท้วง เครื่องมือรณรงค์หาเสียง อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์บางคนมองว่า นิยายอาชญากรรม เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนหลีกหนีจากโลกแห่งความเป็นจริง และบริบททางสังคม ในเรื่องของอาชญากรรม
แต่ในความเป็นจริง ผู้อ่านหลายคนพบว่า การอ่านนิยายอาชญากรรม กลับเป็นเรื่องที่น่าพึงพอใจอย่างมาก ทั้งในด้านอารมณ์ และด้านสติปัญญา เนื่องจากตอนจบของนิยายอาชญากรรมที่เหมาะสมที่สุด จะมากหรือน้อย ก็เป็นตัวแทนของโลกในอุดมคติ ที่มีการไขปมปริศนาต่างๆ และได้รับการแก้ไขอย่างมีเหตุมีผล รวมถึงอาชญากรได้รับโทษทางกฎหมาย ซึ่งไม่มีทางเกิดขึ้นในโลกแห่งความจริง นอกจากนี้ นิยายอาชญากรรมช่วยให้ผ่อนคลายเสริมสร้างจินตนาการทางปัญญา และบรรเทาความวิตกกังวล เกี่ยวกับโลกสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี
บทสรุป: นิยายอาชญากรรม Crime fiction
นิยายอาชญากรรม ถือว่า เป็นอีกหนึ่งประเภทของงานวรรณกรรมที่น่าจับตามอง ยิ่งไปกว่านั้น นิยายอาชญากรรม ยังเป็นสิ่งที่สะท้อนปัญหาความอยุติธรรมทางสังคม ในประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การทุจริตทางการเมือง การเลือกปฎิบัติทางเชื้อชาติ เพศ ศาสนา การกีดกันคนชายขอบ หรือการล่าอาณานิคม การอ่านนิยายอาชญากรรม จึงให้ทั้งความบันเทิงและการศึกษา จินตนาและความเป็นจริง อีกทั้ง ยังได้ให้ข้อคิด วิธีการในการตรวจสอบประเด็นทางสังคม และประเด็นทางวรรณกรรม
ทั้งนี้ทั้งนั้น เราหวังว่าผู้อ่านที่ชื่นชอบ และสนุกกับการอ่านนิยายแนวอาชญากรรม จะได้รู้จักกับนิยายอาชญากรรมมากขึ้น อย่างน้อยที่สุด เราเชื่อว่าหนึ่งในรายชื่อนิยายอาชญากรรมนี้ จะไปอยู่บนชั้นหนังสือของผู้อ่านทุกๆ คน
บรรณานุกรม
- ภูมิหลังของนวนิยายสืบสวนสอบสวนในไทย : งานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- History of crime fiction : จาก Wikipedia
- หนังสือเรียน 205354 Trends and Topics in English Literature (Crime Fiction) : เรียบเรียงโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อุษา พัดเกตุ
- นิยายสืบสวน whodunit อีก 5 เล่ม ที่ต้องอ่านทั้งคืนจนกว่าจะรู้ว่าใครคือฆาตกร : จากเพจเฟซบุกของ Readery
- CBTB’s Recommended Locked Room Mysteries
- แนะนำนิยายสืบสวน ทั้งไทยและต่างประเทศที่คุณไม่ควรพลาด! : เขียนโดย AMARINBOOKS TEAM
- “พันหนึ่งราตรี” อมตะนิทานแฟนตาซีแห่งตะวันออกกลาง : บทความจาก เดอะ พับลิกโพสต์
- 9 Examples Of Sub-Genres In Crime Fiction : เขียนโดย Amanda Patterson
- ความตายอันเป็นปริศนาของ ‘เอดการ์ แอลลัน โพ’ : บทความจาก The Momentum
- The Murders in the Rue Morgue : บทความจาก Underground Buleteen
- 10 อันดับ นวนิยายสืบสวนสอบสวน เล่มไหนดี ฉบับล่าสุดปี 2021 สนุกตื่นเต้น ลี้ลับชวนพิศวง : บทความจาก mybest