7 โครงสร้างการเล่าเรื่อง ที่นักเขียนทุกคนควรรู้ : Narrative Structures

ถ้าคุณกำลังวางแผนเขียนนวนิยาย โครงสร้างการเล่าเรื่อง Narrative Structures คือหนึ่งในยุทธวิธีที่จะช่วยให้คุณสามารถวางจุดเริ่มต้น สร้างปม จุดไคลแม็กซ์ ไปจนจบ
Story Structure

ไม่มีความท้าทายใดๆ ในการเริ่มต้นสำหรับการเป็นนักเขียน มากไปกว่าการนำ โครงสร้างการเล่าเรื่อง – Narrative Structures มาช่วยในการวางแผนเพื่อเขียนนวนิยายเรื่องใหม่ แน่นอนว่างานศิลปะไม่ได้มีสูตรเจาะจงเป๊ะๆ หรือนักเขียนอาจจะกังวลใจว่าสูตรการเล่าเรื่องเหล่านั้นจะทำให้เรื่องไปเหมือนเรื่องอื่น เรื่องที่คิดแทบตายกลายเป็นนวนิยายที่สามารถคาดเดาทุกฉากทุกตอนได้ หรือเรื่องดาดๆ ในตลาดหนังสือ แต่ถ้าวิเคราะห์หนังสือเล่มโปรดที่เราชอบ ส่วนใหญ่นวนิยายเหล่านั้นจะใช้โครงสร้างการเล่าเรื่องในแบบต่างๆ ที่ไม่ต่างกัน และบางวิธีการรับใช้เรื่องเล่ามานานหลายทศวรรษ และบางทีอาจจะนานนับศตวรรษจากอดีตกาลก็เป็นได้

บทความนี้ผมจะขอนำเสนอ โครงสร้างการเล่าเรื่อง หรืออีกชื่อเรียกที่รู้จักกันดี โครงสร้างเรื่องราว (Story Structure) ที่แตกต่างกัน 7 แบบ 7 วิธี ที่นักเขียนทุกคนจะสามารถนำไปดัดแปลงให้กลายเป็นโครงสร้างนวนิยายที่น่าสนใจได้ตั้งแต่การเริ่มวางแผนสำหรับเขียน แน่นอนว่านี่ไม่ใช่สูตรสำเร็จ แต่จะทำให้นักเขียนสามารถวางแผนในการดำเนินเรื่องได้อย่างดี

โครงสร้างการเล่าเรื่อง คืออะไร

โครงสร้างการเล่าเรื่อง คือ ลำดับที่องค์ประกอบของการเล่าเรื่องได้รับการนำเสนอต่อผู้อ่าน หรือผู้ชม โดยประกอบไปด้วยสองสิ่งดังต่อไปนี้ 

  • พล็อต (Plot) – ห่วงโซ่ที่ร้อยเรียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องเล่า ถ้านวนิยายไม่มีพล็อต ก็ไม่มีเรื่องเล่า
  • องค์ประกอบเรื่อง (Story elements) – ปัจจัยพื้นฐานที่คอยขับเคลื่อนการเล่าเรื่อง: ไม่ว่าจะเป็นตัวเอก การผูกปม ความขัดแย้ง ฉาก จุดไคลแมกซ์ จนไปถึงบทสรุป ฯลฯ

โครงสร้างการเล่าเรื่องที่ดีคือการนำเสนอโครงเรื่องและองค์ประกอบเรื่อง เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและความหมายทั้งหมดที่นักเขียนต้องการนำเสนอ ไม่ว่าจะเป็นไอเดีย เหตุการณ์ ความขัดแย้งในเรื่องต่างๆ ทั้งสังคม การเมือง ศาสนาหรือแม้แต่การมีชีวิตอยู่ โครงสร้างที่ดีจะคลี่คลายไม่ทำให้ผู้อ่านสับสน ในขณะเดียวกันก็ผลักดันการพัฒนาตัวละครและความขัดแย้งในส่วนของโครงสร้างหลัก โครงสร้างช่วยให้นักเขียนนำเสนอประสบการณ์เรื่องได้ตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสุข ตลกชวนหัว หรือโศกนาฏกรรม

เมื่อใดก็ตามที่เรื่องราวในนวนิยายมาถึงทางตัน ความรู้สึกที่ว่าเขียนอย่างไรก็ยังรู้สึกเคอะเขิน ไร้จุดหมาย หรือที่แย่ที่สุด – น่าเบื่อ นักเขียนสามารถใช้ทฤษฎีช่วยแก้ไขไม่ให้โครงสร้างการเล่าเรื่องต้องพังทลายลง แม้งานเขียนจะเป็นดังศิลปะ แต่นวนิยายเป็นส่วนหนึ่งของงานฝีมือ เมื่อใดที่งานเหล่านี้ใกล้เคียงกับวิทยาศาสตร์ การที่สามารถบังคับโครงสร้างการเล่าเรื่องได้ นั่นหมายความว่าโลกแห่งนวนิยายได้อยู่ในมือของคุณแล้ว

พื้นฐาน โครงสร้างการเล่าเรื่อง

เมื่อกล่าวถึงถึงโครงสร้างการเล่าเรื่อง เรามักจะพูดถึงกรอบต่างๆ ที่ใช้ในการวิเคราะห์เรื่องราว บทสรุปที่พบเห็นได้บ่อยๆ จะมีองค์ประกอบบางอย่างที่ใช้ร่วมกัน หรือคล้ายๆ กันในตัวโครงสร้าง

  • สถานภาพที่เป็นอยู่ – The status quo สิ่งที่เราพบบ่อยๆ ในนวนิยาย ตัวเอกมักใช้ชีวิต ‘ปกติ’ แต่มีความปรารถนาหรือเป้าหมายที่มากขึ้น ด้วยเหตุการณ์บางอย่างได้กระตุ้นเร้า ตามธรรมเนียมเราจะพบสิ่งเหล่านี้ในช่วงแรกของเรื่อง แม้จะไม่เสมอไปก็ตาม
  • จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ – Inciting Incident บางครั้งเรียกว่าตัวเร่งปฏิกิริยา นี่คือเหตุการณ์ที่ทำให้เรื่องราวเคลื่อนไหว บังคับให้ตัวเอกออกจากพื้นที่ที่ปลอดภัย (comfort zone) จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์จะเกิดขึ้นครั้งเดียวในช่วงต้นของเรื่อง แล้วมันจะเปลี่ยนแปลงตัวเอกไปตลอดกาล สามารถศึกษา จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ – Inciting Incident อย่างละเอียด
  • การผูกปม – Rising Action ตัวเอกไล่ตามเป้าหมายและได้รับการทดสอบไปพร้อมกัน การผูกปมนั้นเกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอก คุณสามารถอ่าน การผููกปม: ที่ซึ่งเรื่องราวเกิดขึ้น
  • ช่วงเวลาที่สูญเสียไปทั้งหมด – Falling Action ช่วงที่ตัวละครจะเกิดความผิดหวังในการตัดสินใจ เกิดความท้อแท้ พระเอกเชื่อว่าพวกเขากำลังล้มเหลว
  • Resolution – บทสรุปของสถานการณ์ทั้งหมดของเรื่อง ตัวเอก ก.) ได้สิ่งที่ต้องการ ข.) ไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ หรือ ค.) ไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ แต่ตระหนักได้ว่าพวกเขามีบางอย่างที่สำคัญกว่า

‘จังหวะ’ –  ‘beats’ เป็นพื้นฐานทั่วไปในนวนิยาย หรือภาพยนตร์ มันช่วยขับเน้นประเภทของนวนิยาย (genres) จังหวะในแต่ละประเภทจะแตกต่างกัน เช่น หนังสือแนวแอคชั่น สงครามระทึกขวัญ เรื่องรักโรแมนติก เรื่องชีวิตและดราม่า ต่างมีจังหวะเล่าเรื่องหรือใช้โครงสร้างเรื่องที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม เรื่องราวทั้งหมดจะต้องเลือกใช้หรือดัดแปลงโครงสร้างเรื่องมาเป็นตัวเล่า

ทำไมโครงสร้างเล่าเรื่องจึงสำคัญ แม้แต่เรื่องราวในนวนิยายโรแมนติกที่แสนอ่อนโยน ฉากเกิดขึ้นในชนบท อย่างเช่นโรมีโอกับจูเลียต ที่เรื่องราวโรแมนติกดำเนินเรื่องอย่างเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโรมิโอตกหลุมรักจูเลียตในงานเลี้ยงของตระกูลที่ไม่ถูกกัน ช่วงเวลาที่พวกเขากำลังสูญเสียบางอย่างไป นางเอกต้องแต่งงานกับหลานเจ้าของเมือง ดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่มีวันทำให้ความรักสมหวัง เรื่องราวเหล่านี้มักจะมีเหตุการณ์สอดแทรกขึ้นมาก่อน โดยที่พวกเขาหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากไม่มีขั้นตอนการเล่าเรื่อง ก็จะไม่เกิดความขัดแย้ง เมื่อไม่เกิดความขัดแย้ง จึงไม่มีเรื่องราวใดๆ เกิดขึ้น ดังนั้นเรื่องราวจึงเป็นโครงสร้างเหตุการณ์ต่อเนื่อง ที่นักเขียนจำเป็นต้องดิ้นรนสร้างขึ้นเพื่อให้ดึงดูดความสนใจผู้อ่าน

โครงสร้างการเล่าเรื่อง ทั้ง 7 แบบ ที่นักเขียนทุกคนต้องรู้

มาดูโครงสร้างเรื่องราวที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 7 แบบที่นักเขียนใช้กัน และวิธีการปรับใช้องค์ประกอบเหล่านี้

Narrative Structuresโครงสร้างการเล่าเรื่อง
1. Freytag’s Pyramid – พีระมิดเฟรย์แท็ก
2. The Hero’s Journey– การเดินทางของวีรบุรุษ
3. Three Act Structure– โครงสร้างแบบสามองก์
4. Dan Harmon’s Story Circle – วงกลมเรื่องราวของแดน ฮาร์มอน
5. Fichtean Curve– ฟิชเตน เคิร์ฟ 
6. Save the Cat Beat Sheet– เซฟเดอะแคต บีตชีต
7. Seven-Point Story Structure– โครงสร้างเรื่องราวเจ็ดจุด

1. พีระมิดเฟรย์แท็ก – Freytag’s Pyramid

โครงสร้างการเล่าเรื่อง แบบ Freytag's Pyramid
Freytag’s Pyramid

พีระมิดเฟรย์แท็ก ตั้งชื่อตามนักประพันธ์และนักเขียนบทละครแนวสมจริงชาวเยอรมัน นาม กุสตาฟ เฟรย์แท็ก มีชีวิตในศตวรรษที่ 19 เขาเกิดเมื่อ 13 กรกฏาคม 1816 ที่ กลุดช์บอร์ก (Kreuzburg) แคว้นซิลีเซีย (Silesia) ปรัสเซีย (Prussia) [ปัจจุบัน กลุดช์บอร์กอยู่ในโปแลนด์] – เสียชีวิต 30 เมษายน 1895 ที่ วีสบาเดิน (Wiesbaden) เยอรมนี 

Freytag’s Pyramid เป็นโครงสร้างละครห้าจุดที่อิงจากโศกนาฏกรรมกรีกคลาสสิกของ Sophocles, Aeschylus และ Euripedes ดัดแปลงจาก โครงเรื่องในแบบเอกภาพของอริสโตเติล (Aristotle’s Unified Plot) ในหนังสือ The Poetics ซึ่งเขาเปลี่ยนสามเหลี่ยมพื้นฐานให้เป็นพีระมิดและเพิ่มเหตุการณ์อีกสองระดับ อันดับแรกคือเพิ่ม การผูกปม (Rising Action) อันดับที่สองคือ การคลี่คลาย (Falling action)

โครงสร้างการเล่าเรื่อง ของ พีระมิดเฟรย์แท็ก

  • Exposition หรือ Introduction – การเปิดเรื่อง หรือ บทนำ อรัมภบทตัวละคร สถานที่ เวลา สถานการณ์ ความเป็นมา เป็นการปูเรื่องเพื่อให้รู้จักตัวละครหลัก 
  • Rise หรือ rising action – การผูกปม การเดินเรื่องถึงสิ่งที่อุบัติขึ้นหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเนื้อหาจะค่อยๆ มากขึ้น ตัวเอกไล่ตามเป้าหมายอย่างมุ่งมั่น เดิมพันสูงขึ้น ไต่ระดับไปยังจุดสนใจสูงสุด ซึ่งนั่นก็คือ Climax 
  • Climax – เหตุการณ์ตึงเครียด จุดที่ไม่มีวันหวนกลับ ซึ่งตัวเอกไม่สามารถกลับไปสู่สภาพที่เป็นอยู่เดิมได้อีกต่อไป
  • Return หรือ Falling action – หวนคืนหรือคลี่คลาย ผลพวงจากไคลแมกซ์ ความตึงเครียดก่อตัว และเรื่องราวมุ่งไปสู่จุดจบ
  • Catastrophe หรือ Resolution – จุดจบ ตัวเอกถูกพาไปที่จุดต่ำสุด ความกลัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพวกเขาเป็นจริงแล้ว

แบบจำลองโครงสร้างนี้ไม่ค่อยนิยมใช้ในการเล่าเรื่องสมัยใหม่แล้ว ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการอ่านเรื่องโศนาฏกรรมของผู้อ่านลดจำนวนลง กลุ่มเป้าหมายมีจำนวนจำกัด (แม้ยังเห็นตัวเอกในละครโศกนาฏกรรมสักสองสามคนในโลกวรรณกรรมยอดนิยมปัจจุบัน) แต่โดยทั่วไปแล้ว นวนิยายเชิงพาณิชย์ ภาพยนตร์ และซีรีส์จะเห็นตัวละครเอกเอาชนะอุปสรรคเพื่อค้นหาความสำเร็จมีอยู่ไม่มาก พีระมิดเฟรย์แท็กมีประโยชน์ในการศึกษาเพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานในวรรณคดีตะวันตก และคุณยังเห็นมันเป็นครั้งคราวในนิทานโศกนาฏกรรมร่วมสมัย

ศึกษา โครงสร้างพีระมิดเฟรย์แท็ก – Freytag’s Pyramid อย่างละเอียดได้ที่ลิงค์

2. การเดินทางของวีรบุรรุษ The Hero’s Journey

Story Structure The Hero Journey
The Hero’s Journey

ได้รับแรงบันดาลใจจากแนวคิดของ โจเซฟ แคมป์เบลล์ เป็นนักเขียนชาวอเมริกัน ศาสตราจารย์ด้านวรรณคดีที่ Sarah Lawrence College เชี่ยวชาญด้านวิชาตำนานเปรียบเทียบ และศาสนาเปรียบเทียบ งานของเขาครอบคลุมประสบการณ์ของมนุษย์หลายแง่มุม ผลงานที่รู้จักกันดีที่สุดของแคมป์เบลล์คือหนังสือเรื่อง The Hero with a Thousand Faces (1949) เขากล่าวถึงทฤษฎีเกี่ยวกับการเดินทางของวีรบุรุษ ซึ่งเป็นรูปแบบการเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ในเทพนิยาย หรือ ตำนาน (mythologies) ทั่วโลก

การเดินทางของวีรบุรุษคือโครงสร้างเรื่องราวที่รู้จักกันดีที่สุดในปัจจุบัน นักวิจารณ์บางคนกล่าวว่างานชิ้นสำคัญของจอร์จ ลูคัส อย่างสตาร์วอร์สได้รับอิทธิพลอย่างมากจาก The Hero With a Thousand Faces ของแคมป์เบลล์

เนื้อเรื่องใน The Hero with a Thousand Faces เป็นเรื่องราวมหากาพย์แห่งความกล้าหาญและชัยชนะ โครงสร้างดั้งเดิมของแคมป์เบลล์ใช้คำศัพท์เฉพาะ ซึ่งบางครั้งยากที่จะเข้าใจ ตัวอย่างเช่น: 

“ท้องวาฬ” (The Belly of the Whale) – ตำนานเกี่ยวกับท้องวาฬมักเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับหัวข้อของการเสียสละและการทรมานตนของวีรบุรุษเพื่อฟื้นฟูโลก ท้องวาฬคือหนึ่งในสัญลักษณ์ที่ทรงพลังที่สุดของการตายและการเกิดใหม่ของวีรบุรุษ—ท้องเป็นสัญลักษณ์ของครรภ์ (เช่นอาราม); ความมืดภายในหมายถึงความตาย และการปรากฎตัวของวีรบุรุษก็เหมือนกับการเกิดใหม่

“ผู้หญิงในฐานะนางยั่ว” (Woman as Temptress) ตำนานวีรบุรุษมักได้รับการทดสอบหลายครั้ง จากนั้นพวกเขาจะได้รับความช่วยเหลือจากผู้ช่วยเหนือธรรมชาติ บางครั้งวีรบุรุษทั้งหลายอาจค้นพบการมีอยู่ของพลังที่เมตตาและทรงพลัง เป็นการเชื่อมต่อกับจิตใต้สำนึกของเรา เมื่อพ้นจากขอบเขตของโลกที่ปลอดภัยและคุ้นเคย วีรบุรุษในตำนานต้องเผชิญหน้ากับดินแดนเชิงสัญลักษณ์และเปรียบเทียบนั่นคือภาพฝัน เพื่อทำความเข้าใจว่าจิตใต้สำนึก พวกเขาพยายามจะบอกอะไร ในตำนานการเดินทางของวีรบุรุษ มักจะต้องเข้าสู่ยมโลกหรือดินแดนแห่งความตายต่อหน้าผู้หญิงผู้เย้ายวน

“เที่ยวบินเวทมนตร์” (magic flight) เที่ยวบินเวทย์มนตร์คือด่านที่ 13 ของการเดินทางของวีรบุรรุษ ของโจเซฟ แคมป์เบลล์ จาก The Hero with a Thousand Faces ในด่านนี้เป็นขั้นตอนการเดินทางของตัวเอกที่กำลังหวนคืนสู่มาตุภูมิ เขาถูกไล่ล่า ในขณะที่เหล่าทวยเทพพยายามเอายาอายุวัฒนะที่ถูกขโมยไปจากพวกเขากลับคืนมาฯลฯ

เพื่อให้โครงสร้าง The Hero’s Journey เข้าถึงได้ง่ายขึ้น คริสโตเฟอร์ โวกเลอร์ ผู้บริหารของดิสนีย์ได้สร้างเวอร์ชันที่เข้าใจง่ายขึ้น ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่นักเล่าเรื่องกระแสหลักของฮอลลีวู๊ด

โครงสร้างการเล่าเรื่อง The Hero’s Journey เวอร์ชัน 12 ขั้นตอน ของ Vogler

  1. โลกธรรมดา – The Ordinary World ชีวิตประจำวันของตัวเอกได้รับการสร้างขึ้น
  2. การเรียกร้องของการผจญภัย – The Call of Adventure หรือที่เรียกว่า จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ (Inciting Incident)
  3. ปฏิเสธการร้องเรียก – Refusal of the Call ตัวเอกลังเลที่จะรับคำท้าอยู่ครู่หนึ่ง
  4. พบกับที่ปรึกษา – Meeting the Mentor ตัวเอกจะได้พบกับใครบางคน ที่เตรียมพวกเขาให้พร้อมสำหรับอนาคต — อาจจะเป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ครู พ่อมด หรือฤาษีที่ฉลาด ส่วนใหญ่มักกำความลับของตัวเอกในด้านความสามารถพิเศษ
  5. ข้ามด่านแรก – Crossing the First Threshold ก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยและก้าวเข้าสู่ ‘โลกใหม่’
  6. บททดสอบ พันธมิตร ศัตรู – Tests, Allies, Enemies ตัวเอกกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ — และอาจพบเพื่อนใหม่ 
  7. เข้าใกล้ถ้ำลึกที่สุด – Approach to the Inmost Cave พวกเขาเข้าใกล้เป้าหมายเข้าไปทุกที (ลุค สกายวอล์คเกอร์ไปถึงดาวมรณะ)
  8. การทดสอบ – The Ordeal ตัวเอกได้พบกับ (และเอาชนะ) ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
  9. รางวัล (ยึดดาบ) – Reward (Seizing the Sword) พวกเขาได้รับสิ่งสำคัญที่ตามหา และชัยชนะใกล้เข้ามาถึง
  10. ถนนกลับบ้าน – The Road Back ตัวเอกตระหนักดีว่าการบรรลุเป้าหมายไม่ใช่อุปสรรคสุดท้าย ที่จริงแล้ว ‘การคว้าดาบ’ มาครอบครอง อาจทำให้สิ่งเลวร้ายเกิดขึ้นสำหรับพวกเขา
  11. การฟื้นคืนชีพ – Resurrection อีกครั้งที่พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายสุดท้าย — การทดสอบในช่วงจุดสุดยอดที่อิงกับทุกสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ตลอดการเดินทาง
  12. กลับมาพร้อมกับยาอายุวัฒนะ – Return with the Elixir เมื่อได้รับชัยชนะ ตัวเอกหวนคืนสู่ชีวิตเก่าของพวกเขา; โดโรธีกลับไปแคนซัส, Iron Man จัดงานแถลงข่าวเพื่อสรรเสริญตัวเอง

ขั้นตอนที่เรียบง่ายของโวกเลอร์ยังคงรักษาภาษาในตำนานของแคมป์เบลล์ไว้ได้ดี ด้วยการอ้างอิงถึงดาบและยาอายุวัฒนะ โครงสร้างนี้สามารถนำไปใช้กับเกือบทุกประเภทของนวนิยายในปัจจุบัน เพื่อให้เข้าใจถึงโครงสร้าง The Hero’s Journey ของโวกเลอร์ ติดตามได้ที่ลิงค์

3. โครงสร้างแบบสามองก์ – Three Act Structure

Three Act Structure
Three Act Structure

ตามสุภาษิตโบราณที่ว่า “ทุกเรื่องราวมีจุดเริ่มต้น ตรงกลาง และจุดสิ้นสุด” โครงสร้างยอดนิยมนี้แบ่งองค์ประกอบของเรื่องราวออกเป็นสามส่วนที่แตกต่างกัน: จุดเริ่มต้น การเผชิญหน้า และการแก้ปัญหา โครงสร้างสามองก์ได้ปรับปรุงขึ้นมาใหม่ โดยนำโครงสร้างมาจาก The Hero’s Journey ในหลายๆ ด้าน โดยมีรูปแบบที่เน้นอารมณ์น้อยกว่าเล็กน้อย

โครงสร้างการเล่าเรื่อง แบบ Three Act Structure

องก์ 1: ตั้งค่าจุดเริ่มต้น
  • Exposition บรรยายรายละเอียด แสดงสถานะที่เป็นอยู่ หรือ จัดวาง ‘โลกธรรมดา’ ของตัวละครเอก
  • Inciting Incident จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ สถานการณ์อุบัติขึ้น ทำให้เรื่องราวในโลกธรรมดาของตัวเอกเคลื่อนไหว หรือเปลี่ยนไป
  • Plot Point One วางพล็อตจุดที่หนึ่ง ตัวเอกตัดสินใจที่จะรับมือกับความท้าทายแบบตัวต่อตัว เขา-เธอ ก้าวข้าม ‘ธรณีประตู’ ออกไปสู่อาณาเขตที่แตกต่างจากชีวิตธรรมดา (พื้นที่ปลอดภัย) และตอนนี้เรื่องราวเริ่มต้นเคลื่อนไหวอย่างแท้จริง
องก์ 2: การเผชิญหน้า
  • Rising Action การผูกปม โดยมีเหตุการณ์ที่เพิ่มขึ้น เดิมพันที่แท้จริงของเรื่องราวนั้นชัดเจน ตัวเอกเข้าสู่  ‘โลกใหม่’ ของเขา-เธอมากขึ้น ได้พบกับศัตรูและพันธมิตรเป็นครั้งแรก
  • Midpoint จุดกึ่งกลางเรื่อง เหตุการณ์ที่พลิกโฉมภารกิจของตัวเอก (คล้ายกับจุดไคลแม็กซ์พีระมิดเฟรย์แท็ก)
  • Plot Point Two พล็อตจุดที่สอง หลังจากจุดกึ่งกลางเรื่องที่สับสน ตัวเอกได้รับการทดสอบ — และล้มเหลว ความสามารถของพวกเขาถูกตั้งข้อสงสัย 
องก์ 3: บทสรุป
  • Pre Climax ก่อนไคลแม็กซ์ คือ ช่วงเวลาที่มืดมิดที่สุดก่อนรุ่งสาง ตัวเอกตกอยู่ในความสับสน หาทางออกไม่ได้ พวกเขาจำเป็นที่จะต้องเลือกระหว่างการกระทำที่เด็ดขาด หรือความล้มเหลว
  • Climax จุดสุดยอด ตัวเอกต้องเผชิญหน้ากับศัตรู หรือปัญหาของพวกเขา จุดนี้คือเหตุการณ์สุดท้าย พวกเขาจะแพ้หรือชนะ?
  • Denouement ตอนจบ บทสรุป ไขข้อข้องใจ ปมทั้งหลายได้รับการคลี่คลาย ผู้อ่านหรือผู้ชมค้นพบผลที่ตามมาของจุดสุดยอด สถานะของตัวเอกได้เปลี่ยนแปลงไป

เมื่อเราพูดถึงการเผชิญหน้ากับศัตรูหรือปัญหา สิ่งนี้ไม่ได้หมายถึงการต่อสู้เพื่อความตายเสมอไป ในบางกรณี ศัตรูอาจเป็นเพียงคู่ปรับทางความรักในเรื่องโรแมนติก หนังสือเกี่ยวกับตลาดหุ้น ศัตรูคือคู่แข่งทางธุรกิจ บางครั้งศัตรูเป็นเพียงความขัดแย้งภายในที่ตัวเอกต้องเผชิญหน้า เช่นความไม่พอใจในสังคม ของ โฮลเดน คอลฟิลด์ ใน The Catcher in the Rye รวมถึงต่อสู้กับสภาวะโลกร้อน จนไปถึงภัยพิบัติจากสิ่งแวดล้อม ที่ตัวเอกของเราได้ดิ้นรนกับเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น

อ่าน The Three Act Structure : โครงสร้างเรื่องราวที่ทรงพลัง – โครงสร้างสามองก์ เพิ่มเติม

4. วงกลมเรื่องราวของแดน ฮาร์มอน – Dan Harmon’s Story Circle

Dan Harmon's Story Circle
Dan Harmon’s Story Circle

นี่คือรูปแบบหนึ่งในโครงสร้าง monomyth ของแคมป์เบลล์ Story Circle เป็นแนวทางที่พัฒนาโดย Dan Harmon นักเขียน โปรดิวเซอร์ และนักแสดงชาวอเมริกัน เขาเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้สร้างและโปรดิวเซอร์ของ NBC/Yahoo! Screen sitcom Community (2009–2015) ผู้สร้างและโฮสต์พอดคาสต์ชวนหัว Harmontown (2012–2019) เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Adult Swim ผู้ร่วมสร้างซิทคอมแอนิเมชันเรื่อง Rick and Morty (2013–ปัจจุบัน) 

เป็นอีกครั้งที่ โครงสร้างการเล่าเรื่อง แบบนี้ได้รับแรงบันดาลใจอย่างแรงกล้าจาก The Hero’s Journey แนวทางของ Harmon คือการมุ่งเน้นไปที่ส่วนโค้งของตัวละครเอก แทนที่จะอ้างถึงแนวคิดที่เป็นนามธรรม เช่น ‘จุดกึ่งกลางของเรื่องราว’ และ ‘ไขข้อข้องใจ’ แต่ละจังหวะในความสัมพันธ์ของวงกลม เรื่องจะบังคับให้ผู้เขียนนึกถึง “ความต้องการ” และ “ความโหยหา” บางอย่างของตัวละครมากกว่า

โครงสร้างการเล่าเรื่อง Dan Harmon’s Story Circle

  • ตัวละครอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย… นี่คือการสถาปนาสภาพที่เป็นอยู่ ชีวิตปกติสุข
  • แต่พวกเขาต้องการบางอย่าง… ‘ต้องการ’ ในที่นี้อาจจะหมายถึงสิ่งที่มีมาอย่างยาวนาน แต่เพิ่งถูกกระตุ้นขึ้นมาในเบื้องหน้าจาก Inciting Incident  จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ที่ยั่วยุให้ตัวเอกต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตในพื้นที่ปลอดภัย
  • ตัวเอกเข้าสู่สถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย… พวกเขาต้องทำสิ่งใหม่เพื่อไล่ตามสิ่งที่ต้องการ
  • ปรับให้เข้ากับสิ่งใหม่… พวกเขาต้องเผชิญกับความท้าทายบางอย่าง ต้องดิ้นรนจึงเริ่มประสบความสำเร็จ
  • ได้สิ่งที่ต้องการ… มักจะเป็นชัยชนะที่ผิดพลาด
  • จ่ายแพงเพื่อมัน… พวกเขารู้ว่าสิ่งที่ ‘ต้องการ’ ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขา ‘ต้องการ’ จริงๆ
  • จากนั้นกลับสู่สถานการณ์ที่คุ้นเคย… ตั้งเป้าหมายด้วยความจริงใหม่
  • ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว… จะดีขึ้นหรือแย่ลง

โครงสร้างนี้สร้างขึ้นโดยนักเขียน ซึ่งเลือกสื่อเป็นซีรีส์ซิทคอมความยาว 30 นาที จึงใช้ถ้อยคำในลักษณะที่จำกัดเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเอกต้องปรับเปลี่ยนชีวิตในแต่ละตอน สำหรับเรื่องราวความขบขันที่ดำเนินต่อเนื่องมากถึง 6 ฤดูกาล (และภาพยนตร์) ในตอนท้ายเรื่องตัวละครไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงของชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม พวกเขาสามารถเรียนรู้ความจริงเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับตัวเองและโลกรอบตัวได้ ซึ่งเหมือนกับมนุษย์ทุกคน พวกเขาสามารถลืมได้อย่างรวดเร็วในตอนต่อไป

อ่าน Dan Harmon Story Circle : วัฏจักรเรื่องราวของแดน ฮาร์มอน : สิ่งที่นักเขียนจะได้เรียนรู้จาก Rick and Morty เพิ่มเติม หรือดาวโหลด Download : The Story Circle Worksheets Bundle

5. ฟิชเตน เคิร์ฟ – Fichtean Curve

Fichtean Curve
Fichtean Curve

Fichtean Curve สร้างขึ้นจาก The Art of Fiction ของ John Gardner ซึ่งเป็นนักประพันธ์ชาวอเมริกัน นักเขียนบทความ นักวิจารณ์วรรณกรรม และศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย 

ฟิชเตน เคิร์ฟ เป็น โครงสร้างการเล่าเรื่อง ที่ทำให้ตัวละครหลัก ประสบอุปสรรคมากมายก่อนนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย มีความใกล้เคียงกับพีระมิดเฟรย์แท็ก โครงสร้างนี้สนับสนุนให้ผู้เขียนเขียนเรื่องที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดและวิกฤตการณ์เล็กๆ หลายๆ เหตุการณ์ซ้อนกัน จนทำให้ผู้อ่านอยากจะอ่านต่อไปจนถึงจุดไคลแม็กซ์

โครงสร้างนี้ไม่เหมือนกับโครงสร้างอื่นๆ เพราะจะข้ามขั้นตอนการตั้งค่า “โลกธรรมดา” ที่มักจะเริ่มปูเรื่องของตัวละครเอกรวมถึงสถานการณ์ปัจจุบัน Fichtean Curve เริ่มต้นด้วย จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ สถานการณ์ได้รับการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และตรงไปสู่การผูกปมที่ซับซ้อนเพิ่มขึ้น จนก่อให้เกิดวิกฤตการณ์หลายครั้ง ซึ่งแต่ละเหตุการณ์มีส่วนช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจการเล่าเรื่องโดยรวม แทนที่บรรยายเบื้องต้น

โครงสร้างการเล่าเรื่อง Fichtean Curve

เพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับ โครงสร้าง Fichtean Curve ได้ง่ายขึ้น จึงจำเป็นต้องยกตัวอย่างนวนิยายของ  Celeste Ng เรื่อง Everything I Never Told You เป็นตัวอย่าง และในการอธิบายมีการสปอยนวนิยายเรื่องดังกล่าว

Rising Action
  • Inciting Incident นวนิยายเรื่องนี้เริ่มต้นบรรทัดแรกด้วย: “ลิเดียตายแล้ว แต่พวกเขายังไม่รู้เรื่องนี้” ภายในสามย่อหน้าแรก มาริลีนตระหนักว่าลิเดียลูกสาวของเธอหายตัวไป ดังนั้น ผู้อ่านจะถูกโยนเข้าสู่ปมที่ผูกขึ้น เมื่อมาริลีนเริ่มค้นหาอย่างกระวนกระวายใจ ทั้งในสถานที่ปกติทั้งหมดที่อาจพบลิเดีย
  • First crisis วิกฤตครั้งแรก ครอบครัวของลิเดียได้รับแจ้งว่าพบร่างของเธอในทะเลสาบบริเวณใกล้เคียง จากจุดไคลแม็กซ์ของวิกฤตครั้งแรกนี้ การเล่าเรื่องจะย้อนกลับมาเพื่ออธิบายและรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติของครอบครัว
  • Second crisis วิกฤติครั้งที่สอง ช่วงเหตุการณ์ย้อนหลัง เมื่อ 11 ปีก่อน เราพบว่ามาริลีนละทิ้งครอบครัวของเพื่อกลับไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี เมื่อไม่มีเธอ ครอบครัวก็เริ่มแตกแยก มาริลีนรู้ว่าเธอท้องและถูกบังคับให้กลับบ้าน เมื่อสูญเสียโอกาสในการศึกษา เธอจึงกดดันให้ลูกๆ ประสบความสำเร็จด้านวิชาการ
  • Third crisis วิกฤติครั้งที่สาม ย้อนกลับสู่ปัจจุบัน เจมส์ พ่อของลิเดียกำลังนอกใจมาริลีน ตำรวจตัดสินใจปิดการสอบสวน การพิจารณาคดีการตายของลิเดียเป็นการฆ่าตัวตาย ส่งผลให้เกิดการทะเลาะวิวาทกันครั้งใหญ่ระหว่างพ่อแม่ของเธอ และเจมส์ก็จากไปเพื่ออยู่กับ “ผู้หญิงคนอื่น”
  • Fourth crisis วิกฤติครั้งที่สี่ ย้อนไปวันที่ลิเดียเสียชีวิต จากมุมมองของเธอ เราเห็นว่าเธอเข้าใจพ่อแม่ผิดไป เธอคร่ำครวญถึงการจากไปของพี่ชายเพื่อไปเรียนมหาวิทยาลัย จนเธอกลายเป็นแรงกดดันของครอบครัว เธอถูกปล่อยให้โดดเดี่ยว เธอพยายามเกลี้ยกล่อมเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งปฏิเสธเธอและอธิบายว่าเขารักกับพี่ชายของเธอ
Climax

ลิเดียล่องเรือไปที่ทะเลสาบกลางดึก ตั้งใจแน่วแน่ที่จะเอาชนะความกลัวเรื่องน้ำและกอบกู้ชีวิตของเธอกลับคืนมา ลิเดียกระโดดลงจากเรือ ลงน้ำ และออกไปจากชีวิตนี้ เช่นเดียวกับในโศกนาฏกรรมคลาสสิก ช่วงเวลานี้ทั้งหมด ความหายนะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

Falling Action

มีรายละเอียดบางอย่างที่จะปรากฏให้ผู้อ่านได้เห็น แม้เพียงเล็กน้อย นั่นก็คือ “บรรทัดฐานใหม่” ของตัวละคร  ครอบครัวของลิเดียซึ่งเต็มไปด้วยความเศร้าโศก แม้ว่าพวกเขาจะไม่สามารถชดใช้การจากไปของลิเดีย แต่พวกเขาสามารถเรียนรู้จากการตายของเธอได้ ปมทั้งหมดได้รับการขมวดปมเอาไว้อย่างหลวมๆ ผู้อ่านอนุมานว่าครอบครัวอยู่บนถนนที่ทอดยาวเพื่อไปสู่การเปลี่ียนแปลง

หมายเหตุ: ในขั้นตอนการผูกปม สถานการณ์ที่เพิ่มขึ้น วิกฤตทั้งหมดควรสร้างความตึงเครียดและสอดคล้องกับจุดไคลแม็กซ์ที่สำคัญของเรื่อง เช่นเดียวกับโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบสามองก์ จุดสุดยอดของ Fichtean Curve มักเกิดขึ้นในช่วงสองในสามของหนังสือ

แม้ว่าโครงสร้างนี้จะเหมาะกับนวนิยายแนวย้อนอดีตไปมา เช่น Everything I Never Told You แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดามากในละครเวที ตัวอย่างเเช่น The Cherry Orchard และ A Doll’s House แอ็คชันจะเกิดขึ้นในเวลาและสถานที่ที่แน่นอน แต่เบื้องหลังเรื่องราวและการพัฒนาตัวละครจะถูกเปิดเผยผ่านช่วงเวลาของการแสดงต่อหน้าผู้ชมในโรงละคร

6. Save the Cat Beat Sheet

Narrative Structures Save the Cat Beat Sheet
Save the Cat Beat Sheet

นี่คืออีกรูปแบบหนึ่งของละครสามองก์ โครงสร้างนี้ได้รับการพัฒนาจากนักเขียนบทภาพยตร์ฮอลลีวู๊ด เบลก ชไนเดอร์ (Blake Snyder) ซึ่งทฤษฎีของเขาได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากนักเล่าเรื่องหลากหลายรูปแบบ

เรื่องน่ารู้: Save the Cat เป็นฉายาที่ได้รับจากวิธีการเล่าเรื่อง (โดยเฉพาะภาพยนตร์) เนื่องจากพระเอกของเราจะแสดงอะไรบางอย่างเพื่อทำให้ตัวเองเป็นที่รักของผู้ชม 

แม้ว่าโครงสร้างหลายๆ อย่างใน Save the Cat จะไม่เอื้ออำนวยที่จะกำหนดจังหวะที่แน่นอนในเรื่องราวว่าเกิดขึ้นเมื่อใด Save the Cat ไม่ทำให้รู้สึกผิดปกติเช่นนั้น สมมติว่าเรากำลังเขียนนวนิยายหนา 110 หน้า ตัวเลขในวงเล็บเหลี่ยมด้านล่างหมายถึง “เลขที่หน้า” กับจังหวะที่ควรจะเกิดขึ้น 

โครงสร้างการเล่าเรื่อง Save the Cat Beat Sheet

  1. Opening Image [1] นวนิยายเรื่องนี้จะเปิดย่อหน้าแรกหรือฉากที่ดึงดูดผู้อ่านเข้าสู่โลกของเรื่องราวที่นักเขียนสร้างขึ้น บรรยายภาพ ตัวเอก สถานที่ ชีวิตประจำวัน
  2. Set-up [1-10] การสร้าง ‘โลกธรรมดา’ ของตัวเอก เขาต้องการอะไร? เขาพลาดอะไรไป?
  3. Theme Stated [5] ระบุสถานการณ์ ระหว่าง Set-up ควรบอกใบ้ว่าเรื่องราวที่เขียนเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร — ความจริงที่ตัวเอกจะค้นพบในตอนท้าย
  4. Catalyst [12] ตัวเร่งปฏิกิริยา Inciting Incident จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์
  5. Debate [12-25] โต้แย้งถกเถียง ตัวเอกปฏิเสธการเรียกร้องให้ผจญภัย เขาพยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้งก่อนที่พวกเขาจะถูกบังคับให้ลงมือปฏิบัติ
  6. Break into Two [25] แบ่งเป็นสองส่วน ตัวเอกตัดสินใจอย่างแน่วแน่ การเดินทางเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง
  7. B Story [30] โครงเรื่องย่อยเริ่มเข้ามามีบทบาท ส่วนใหญ่มักจะเป็นบทโรแมนติกที่ดูสอดคล้องอย่างเป็นธรรมชาติกับตัวเรื่องหลัก หากเป็น Sub plot ของตัวเอกควรใช้เพื่อเน้นธีม
  8. The Promise of the Premise [30-55] หรือเรียกว่าช่วงเวลาของ ‘ความสนุกและเกม’ ซึ่งมักจะเป็นส่วนที่สร้างความบันเทิง  เหมือนกับผู้เขียนส่งมอบของขวัญให้คนอ่าน หากผู้เขียนสัญญาว่าเรื่องที่เขียนเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนักสืบที่น่าตื่นเต้น เราจะเห็นนักสืบเริ่มดำเนินการสืบ ค้นหา หากนักเขียนสัญญาเรื่องนี้เป็นเรื่องไร้สาระของคนที่กำลังตกหลุมรัก ให้พวกเขาจะต้องออกเดทที่น่าอึดอัดกันดีกว่า
  9. Midpoint [55] จุดกึ่งกลาง แผนการถูกพลิกผัน เดิมพันเพิ่มขึ้นและทำให้เป้าหมายของตัวเอกบรรลุได้ยากขึ้น — หรือทำให้พวกเขามุ่งความสนใจไปที่เป้าหมายใหม่ที่มีความสำคัญมากกว่า
  10. Bad Guys Close In [55-75] คนเลวใกล้เข้ามา แรงตึงเคียดมากขึ้น อุปสรรคของตัวเอกยิ่งใหญ่ขึ้น แผนของเขาพังทลายลง และเขายังตามหลังศัตรู
  11. All is Lost [75] สูญหายทั้งหมด พระเอกถูกอัดกระแทกพื้น เขาสูญเสียทุกอย่างที่ได้รับมา และทุกอย่างดูมืดมน คนร้ายกำลังเอาชนะ ผู้ให้คำปรึกษาเสียชีวิต คู่รักทะเลาะกันและเลิกรากัน
  12. Dark Night of the Soul [75-85] คืนที่มืดมิดของจิตวิญญาณ หลังจากสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง พระเอกเดินสับสนไปทั่วเมือง ในตอนนี้ดนตรีที่เป็นคีย์ชิ้นเล็กๆ บรรเลงขึ้นเบาๆ ก่อนที่จะค้นพบ “ข้อมูลใหม่” บางอย่างจะเผยให้เห็นสิ่งที่เขาต้องทำอย่างชัดเจน หากต้องการประสบความสำเร็จอีกครั้ง (ข้อมูลใหม่นี้มักจะส่งผ่านจาก B-Story)
  13. Break into Three [85] แบ่งเป็นสาม ด้วยข้อมูลใหม่นี้ ตัวเอกจึงตัดสินใจลองอีกครั้ง!
  14. Finale [85-110] ฉากสุดท้าย ตัวเอกเผชิญหน้ากับศัตรูหรืออะไรก็ตามที่เป็นสาเหตุของความขัดแย้งหลัก ความจริงที่หลบเลี่ยงในช่วงเริ่มต้นของเรื่อง (อยู่ในขั้นตอนที่ 3 และเน้นย้ำโดย B Story) นั้นชัดเจนแล้ว ทำให้เขาสามารถแก้ไขปมนั้นได้
  15. Final Image [110] ช่วงเวลาหรือฉากสุดท้ายที่ตกผลึกแล้วว่าตัวละครเปลี่ยนไปอย่างไร เป็นภาพสะท้อนของภาพเริ่มต้น

นักเขียนบางคนอาจพบว่าโครงสร้างแบบนี้มีลักษณะเฉพาะเกินไปที่จะนำมาใช้กับงานของตัวเอง แต่เป็นเรื่องเหลือชื่อที่ได้เห็นหนังหรือหนังสือกระแสหลักที่ใช้โครงสร้าง Save the Cat เพื่อดำเนินเรื่อง ไม่ว่าจะด้วยการออกแบบเอาไว้ล่วงหน้าหรือเรื่องบังเอิญ ที่เว็บไซต์ Save the Cat มีตัวอย่างภาพยนตร์และนวนิยายจำนวนนับไม่ถ้วนที่วิเคราะห์ด้วย 15 จังหวะของ Snyder เราจะแปลกใจว่าจังหวะการเต้นในนวนิยายหรือหนังเรื่องต่างๆ นั้นตรงกันและแม่นยำขนาดไหน

7. โครงสร้างเรื่องเจ็ดจุด – Seven-Point Story Structure

Seven-Point Story Structure
Seven-Point Story Structure

โครงสร้างเรื่อง – Seven-Point Story ดัดแปลงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ มาจาก The Hero’s Journey โดยเน้นไปที่จุดสูงและจุดต่ำของการเล่าเรื่องโดยเฉพาะ

แดน เวลส์ (Dan Wells) นักเขียนนวนิยายสยองขวัญและวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน เป็นผู้พัฒนาโครงสร้างเรื่องราวเจ็ดจุด ผู้เขียนจะเริ่มต้นนวนิยายด้วยรายละเอียดมากมายจนไปถึงตอนท้าย ก่อนจะพยายามกลับไปที่จุดเริ่มต้น การวางเหยื่อล่อในช่วงแรกพวกเขาสามารถให้ตัวเอกและพล็อตในสภาพที่ตัดกัน เนื่องจากโครงสร้างนี้เอื้ออำนวยให้เกิดการพลิกผันของสถานการณ์ที่น่าทึ่งได้ตลอดเรื่อง – ตลอดเวลา

โครงสร้างการเล่าเรื่อง Seven-Point Story Structure

  • The Hook วางเหยื่อล่อเพื่อดึงดูดผู้อ่าน ด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ โดยอธิบายสถานการณ์ปัจจุบันของตัวเอก สถานะของการเป็นอยู่ สถานะตัวละครจากจุดเริ่มต้นควรจะตรงกันข้ามกับสิ่งที่มันจะเป็นในตอนท้ายของเรื่อง เช่นตัวเอกอ่อนแอในตอนต้น พวกเขาแข็งแกร่งในตอนจบ
  • Plot Point 1 โครงเรื่องที่ 1 ไม่ว่าจะเป็นบุคคล ความคิด จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ หรืออย่างอื่น ควรมี “คำที่สร้างแรงกระตุ้น เพื่อการตัดสินใจ” ที่ทำให้การเล่าเรื่องและการพัฒนาตัวละครมีการเคลื่อนไหว
  • Pinch Point 1 สถานการณ์ที่บีบคั้นจากจุดแรกได้เกิดขึ้น สร้างให้ตัวละครเอกไม่ใช่คนที่ดูโดดเด่น เป็นพวกขี้แพ้ตกอับ หรือไม่น่าสนใจ เกิดบางอย่างที่ผิดพลาด เหตุการณ์กดดันตัวละครหลัก เหตุการณ์นี้บังคับให้พวกเขาก้าวขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา
  • Midpoint จุดกลางเรื่อง “จุดเปลี่ยน” ตัวละครหลักเปลี่ยนจากคนที่ไม่มีพลังอะไรเลย คนธรรมดา คนขี้แพ้ หรือไร้ทางสู้ เหมือนเขาค้นพบพลังแฝง ที่เปลี่ยนจากคนธรรมดา หรือคนพ่ายแพ้ ไม่ว่าการบรรยายความขัดแย้งหลักจะเป็นอย่างไร ตัวเอกจะต้องตัดสินใจที่จะเผชิญหน้ากันแบบตัวต่อตัวกับปัญหา อุปสรรค หรือศัตรู
  • Pinch Point 2 สถานการณ์ที่บีบคั้นจุดที่สอง สถานการณ์นี้เกี่ยวข้องกับการจู่โจมตัวเอกอีกครั้ง – สิ่งต่างๆ ผิดพลาดไปมากกว่าสถานการณ์บีบคั้นจุดแรก ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการจากไปของผู้ช่วย ความล้มเหลวของแผน การเปิดเผยคนทรยศ ฯลฯ
  • Plot Point 2 โครงเรื่องที่ 2 หลังจากภัยพิบัติของ Pinch Point 2 ตัวเอกได้เรียนรู้ว่ามีเป้าหมายสำคัญในการแก้ไขข้อขัดแย้ง มีหนทางที่จะเอาชนะอุปสรรค 
  • Resolution บทสรุปของสถานการณ์ทั้งหมดของเรื่องมาถึงตอนจบ ความขัดแย้งหลักได้รับการคลี่คลาย ตัวละครต้องผ่านขั้นตอนสุดท้ายของการพัฒนาที่จำเป็นในช่วงเริ่มต้นของนวนิยาย 

เรามาถึงตอนสุดท้ายอีกครั้ง โครงสร้างการเล่าเรื่อง ทั้ง 7 โครงสร้าง ล้วนถูกนำมาใช้และดัดแปลงในนวนิยายและภาพยนตร์มากมายหลายเรื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เราเคยพูดไปแล้ว และขอเน้นย้ำอีกครั้ง โครงสร้างการเล่าเรื่อง ไม่ใช่ผลลัพท์ทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถหาค่าที่แน่นอน นักเขียนทุกคนควรจะรู้สึกยินดีที่เราต่างก็หลงทางจากเส้นทางที่มีอยู่ไม่ต่างกัน นักเขียนยังคงทำงานของพวกเขา รวมถึงตัวผมด้วย ที่กำลังค้นหาจุดที่ลงตัวที่สุดสำหรับโครงสร้างการเล่าเรื่องในนวนิยายเรื่องใหม่ และหวังว่าสักวันเราจะพบพิมพ์เขียวที่ตั้งใจ

แบบฟอร์มทดสอบการเลือกมุมมองเล่าเรื่อง

ถ้าคุณกำลังเขียนนวนิยาย และยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกมุมมองการเขียนใด เรามีบททดสอบให้คุณได้ทดลองทำก่อนตัดสินใจ บททดสอบนี้จะช่วยให้เข้าใจว่าคุณชอบมุมมองใดเป็นพิเศษ และจะสามารถวางแผนในการเขียนได้ดีขึ้น

มุมมองไหนที่เหมาะกับนวนิยายที่คุณกำลังเขียน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *