Home Literature Fichtean Curve :  A Story in Crisis : เส้นโค้งฟิซเตน เรื่องราวในวิกฤต

Fichtean Curve :  A Story in Crisis : เส้นโค้งฟิซเตน เรื่องราวในวิกฤต

by niwat59
309 views 4 mins read

โครงสร้างการเล่าเรื่อง Fichtean Curve หรือ เส้นโค้งฟิซเตน แม้จะฟังดูค่อนข้างเป็นวิชาการ แต่โครงสร้างนี้เป็นที่นิยมในหมู่นักเขียนนวนิยายลึกลับ และ นวนิยายบู๊ล้างผลาญ ในช่วงยุค 60 เป็นอย่างมาก ในหนังสือ The Art of Fiction ของ John Gardner ได้นำเสนอโครงสร้างนี้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน จากเหตุการณ์เริ่มต้นซึ่งค่อยๆ ก่อตัวขึ้นจนกลายเป็นวิกฤตในหลายๆ ช่วง ก่อนนำไปสู่ จุดไคลแมกซ์

John Gardner เป็นนักเขียนที่มีผลงานมากมายที่เขียนถึงกระบวนการสร้างงานเขียน เขาสร้างเส้นโค้งฟิซเตน ใน The Art of Fiction โดยได้รวบรวมแนวคิดมากมายเกี่ยวกับทฤษฎีโครงสร้างเรื่องราวที่ได้รับความนิยม และสร้างกรอบการทำงานง่ายๆ เพื่อช่วยให้ผู้เขียนเข้าใจว่า เรื่องราวสร้างขึ้นด้วยตัวมันเองอย่างไร จากจุดเริ่มต้นจนไปถึงจุดไคลแมกซ์นั้นโครงสร้างเรื่องราวทำงานอย่างไร 

เส้นโค้งฟิชเตนคืออะไร? : Fichtean Curve คือ 

Fichtean Curve คือ 
Fichtean Curve Diagram

เส้นโค้งฟิซเตน มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะมันเรียบง่ายและยืดหยุ่น รูปร่างคล้ายครีบหลังของฉลาม ซึ่งกลายมาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เส้นโค้งแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าและความตึงเครียดของเรื่องราว ในขณะที่กลไกการเล่าเรื่องอื่นๆ มักจะมีขั้นตอนจำนวนหนึ่ง เช่น วัฏจักรเรื่องราวของ Dan Harmon แต่ Fichtean Curve ช่วยให้ผู้เขียนมีอิสระในการวางแผนได้อย่างแท้จริง กฎที่ตั้งไว้มีเพียงอย่างเดียวคือ วิกฤตต่างๆ จะต้องเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินเรื่อง ที่ซึ่งปมต่างๆ ค่อยๆ ผูกขึ้น ปมเหล่านั้นจะสร้างถึงจุดไคลแม็กซ์ และคลี่คลายวิกฤติที่ตึงเครียด ไปทีละปมทีละปม ผู้เขียนสามารถรวบรวมวิกฤตต่างๆ ได้มากเท่าที่ต้องการ และใช้โครงสร้างที่เรียบง่ายนี้เพื่อสร้างเรื่องราวในแบบที่คิดเอาไว้

วิกฤตต่างๆ จะต้องเกิดขึ้นระหว่างการดำเนินเรื่อง ที่ซึ่งปมต่างๆ ค่อยๆ ผูกขึ้น ปมเหล่านั้นจะสร้างถึงจุดไคลแม็กซ์ และคลี่คลายวิกฤติที่ตึงเครียด ไปทีละปมทีละปม

Fichtean Curve แบ่งออกเป็นสามส่วน:

1. Rising Action – การผูกปม

2. Climax – เหตุการณ์ตรึงเครียด

3. Falling Action – การคลี่คลาย

โครงสร้างนี้แทนที่จะใช้เวลาในการตั้งค่าตัวละครเอกอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่เส้นโค้งฟิซเตนทำตรงกันข้าม กล่าวคือผู้เขียนจะดำเนินเรื่องอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสองในสามส่วนของเหตุการณ์จะเกิดจากการผูกปมที่เพิ่มวิกฤตขึ้นไปเรื่อยๆ ขณะที่ตัวเรื่องดำเนินไปข้างหน้าบริบทที่จำเป็นสำหรับตัวละครและการพัฒนาตัวละครจะค่อยๆ เชื่อมโยง หรือเผยออกมา ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นได้จากซีรีส์ทางโทรทัศน์เรื่อง 24 ที่เนื้อเรื่องเกิดขึ้นภายในหนึ่งวัน 

เนื้อเรื่องจะเดินมาถึงจุดไคล์แมกซ์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นหายนะ หรือคลี่คลายวิกฤตที่ตรึงเครียด ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด มันเปลี่ยนตัวเนื้อเรื่องจากตอนต้นออกมาเป็นอย่างมาก ช่วงสุดท้ายดำเนินไปสู่จุดคลี่คลายเหตุการณ์ทั้งหมด จากนั้นประเด็นต่างๆ ที่ได้รับการผูกเอาไว้ หรือเรื่องราวที่ขมวดปมจะได้รับการเฉลยและแก้ปัญหา

24

ขั้นตอนการใช้งาน Fichtean Curve

ขั้นตอนที่ 1: Rising Action – การผูกปม

เรื่องราวที่ใช้ Fichtean Curve มักจะเริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องในช่วงกลางของวิกฤต และมักจะมีสองวิกฤตหรือมากกว่าในช่วงเวลาของ ‘การผูกปม’ ทุกวิกฤตจะต้องวาง plot point คือการวางปมปัญหาใหญ่ที่ตัวละครจะได้เรียนรู้ประสบการณ์บางอย่าง ดังนั้น ขั้นตอนนี้จะเป็นช่วงที่มีการพัฒนาตัวละคร บริบทของเรื่อง และเรื่องราวสำคัญที่อยู่เบื้องหลังตัวละคร

ในนวนิยายสืบสวน วิกฤตเหล่านี้อาจประกอบไปด้วยด้วยตัวเอกที่กำลังพบทางตัน ถ้าเป็นนวนิยายรักๆ ใคร่ๆ อาจเป็นชุดเรื่องราวที่ตัวเอกจะต้องออกเดทที่ผิดพลาด ตามด้วยความทุกข์ยากของคู่รักใหม่ ในนิยายแฟนตาซี พ่อมดฝึกหัดอาจกำลังเรียนรู้คาถาและประสบปัญหาครั้งแล้วครั้งเล่าเมื่อทักษะของเขาเติบโตขึ้น เหมือนกับที่ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ กำลังเรียนรู้ที่จะยิงใยแมงมุมหรือกระโดดเกาะกำแพงในตึกสูงๆ

โครงเรื่องย่อย

โครงเรื่องย่อย/โครงเรื่องของตัวละครชุด B สามารถดำเนินไปพร้อมกับวิกฤตเหล่านี้ได้ เรื่องราวเบื้องหลังของตัวเอกและการพัฒนาตัวละครที่สำคัญอื่นๆ สามารถเชื่อมโยงเข้ากับช่วงเวลาวิกฤตที่เพิ่มขึ้นได้ ช่วงเวลานี้ตัวละครเอกควรทำหน้าที่เป็นจุดดำเนินเรื่องและช่วงเวลาที่เปิดเผยเบื้องหลังที่ผู้อ่านหรือผู้ชมยังไม่เคยรู้มาก่อน


ขั้นตอนที่ 2: Climax – เหตุการณ์ตรึงเครียด

ไคลแม็กซ์ของเส้นโค้งฟิซเตนมาถึงจุดสูงสุดของเหตุการณ์ตรึงเครียด นั่นถือว่าเราได้มาถึงตอนจบแล้ว หลังจากเอาชนะวิกฤตครั้งก่อนๆ มาได้ ตัวเอกก็พบกับทางตันขั้นสุดท้าย ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่ไม่สามารถเอาชนะได้ง่ายๆ เหมือนกับสิ่งกีดขวางบนถนนในวิกฤตครั้งก่อน ตัวละครจะเรียนรู้จากความผิดพลาด (หรือไม่) ซึ่งจุดไคลแมกซ์จะเป็นตัวกำหนดผลลัพธ์ของเรื่องราว

เมื่อเผชิญกับจุดวิกฤต หรือเหตุการณ์ตรึงเครียด ตัวละครมีทางเลือก: ก) จัดการกับมัน ก้าวต่อไปและเติบโต หรือ ข) หวนกลับไปสู่พฤติกรรมเก่า

นี่คือช่วงเวลาสำคัญของเรื่อง อาจเป็นการเปิดเผยความลับครั้งใหญ่ การต่อสู้ครั้งสุดท้าย หรือการสูญเสียครั้งร้ายแรง ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเรื่องที่กำลังเล่า ต้องคำนึงเสมอว่าแต่ละวิกฤตควรนำตัวละครไปสู่จุดไคลแม็กซ์ ยิ่งเพิ่มวิกฤตเข้าไปในแต่ละครั้ง (หัวคลื่นของไดอแกรมมากเท่าไหร่ ยิ่งมองเห็นจุดไคลแม็กซ์มากเท่านั้น) จุดไคลแม็กซ์จะยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้นตามจำนวนวิกฤต ขณะที่ตัวละครสามารถเอาชนะจุดไคลแม็กซ์ได้เพราะการเติบโตจากเหตุการณ์ที่พวกเขาได้ประสบมา

เมื่อวิกฤตของเรื่องดำเนินเพิ่มขึ้น ความตึงเครียดควรสอดคล้องกับจุดไคลแม็กซ์ เช่นเดียวกับโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบสามองก์ จุดสุดยอดของ Fichtean Curve มักเกิดขึ้นสองในสามของหนังสือ

ตัวอย่างเช่น ผู้อ่านรู้ว่าช่วงเวลานี้กำลังจะมาถึง แต่ไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร


ขั้นตอนที่ 3: Falling Action – การคลี่คลาย

นี่คือจุดที่เรื่องราวมองเห็นรายละเอียดต่างๆ ทั้งหมด โดยปกติแล้วขั้นตอนนี้ โครงเรื่องที่ยังไม่ได้รับการแก้ปมที่ผูกเอาไว้จะได้รับการแก้ และการเล่าเรื่องของตัวเอกจะมาถึงจุดที่สมบูรณ์ การเดินทางของตัวเอกมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงจากเหตุการณ์สุดท้ายอย่างรุนแรง และอาจพบว่าโลกทัศน์ของพวกเขาเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือเช่นกัน การคลี่คลายปมพฤติกรรมน่าจะเป็นจุดที่ส่วนโค้งของเรื่องราวชัดเจนที่สุด

นี่คือขั้นตอนที่ผู้อ่านจะได้ผ่อนลมหายใจ คำถามได้รับคำตอบและวิกฤตแต่ละข้อที่สร้างขึ้นจะมีวิธีแก้ปัญหาบางอย่างจากขั้นตอนนี้ อาจจะเป็นปืนของเชคอฟ หรือใครคือฆาตกรในห้องที่ปิดทึบ แม้บางอย่างอาจไม่ได้รับการเฉลยอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณกำลังเขียนบทซีรีส์ คุณต้องการทิ้งปริศนาเอาไว้สำหรับตอนหน้า ตัวละครแต่ละตัวจะได้รับช่วงเวลาของตนเองในการแก้ไขในทางใดหนทางหนึ่ง แม้จะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ (แต่อย่าลังเลที่จะปล่อยให้ผู้อ่านมีคำถามบางข้อ)

ตัวอย่างเรื่องราวที่ใช้กับ Fichtean Curve

Wizard of Oz

เราจะใช้ Wizard of Oz เป็นตัวอย่างของ Fichtean Curve

  1. Inciting incident– บ้านของโดโรธีโดนพายุทอร์นาโดกวาดไปในอากาศ
  2. ‍‍First Crisis – บ้านของเธอทับแม่มดชั่วร้ายแห่งตะวันออก ซึ่งทำให้แม่มดชั่วร้ายแห่งตะวันตกคุกคามโดโรธี
  3. Second Crisis  – โดโรธีต้องการให้พ่อมดแห่งออซช่วยเธอกลับไปที่แคนซัส
  4. ‍Third Crisis 3 – หุ่นไล่กาต้องการสมอง มนุษย์กระป๋องต้องการหัวใจ สิงโตขี้ขลาดต้องการความกล้าหาญ
  5. ‍Fourth Crisis – แม่มดชั่วร้ายขัดขวางการเดินทางของพวกเขา
  6. Fifth Crisis – พ่อมดแห่งออซจะไม่ช่วยจนกว่าพวกเขาจะได้ไม้กวาดจากแม่มดชั่วร้าย
  7. Sixth Crisis – ลิงบิน โดโรธีถูกจับ (ภาคนี้ชวนสยอง)
  8. Climax – “ฉันใจอ่อน!” ด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ โดโรธีจึงเอาชนะแม่มดชั่วร้ายได้
  9. First Resolution – ในที่สุดพวกเขาก็ได้พบกับพ่อมดแห่งออซ
  10. Second Resolution  – เพื่อนของโดโรธีแต่ละคนพบสิ่งที่พวกเขากำลังมองหาในตัวเอง
  11. Third Resolution  – รองเท้าแตะพาโดโรธีกลับบ้าน

เมื่อใดที่ควรใช้ Fichtean Curve

ตอนนี้เราได้เรียนรู้โครงสร้างมาแล้วสี่แบบ ผู้อ่านสามารถเรียนรู้ 7 โครงสร้างการเล่าเรื่อง ที่นักเขียนควรรู้ เพื่อเปรียบเทียบเรื่องราวที่จะเขียนเหมาะกับโครงสร้างใด ส่วนเส้นโค้งเฟซเตนเป็นโครงสร้างที่ห้า โดยสรุป ไม่มีโครงสร้างการเล่าเรื่องใด ‘ดีที่สุด’ หรือ ‘ถูกต้อง’ ที่สุด โครงสร้างที่เหมาะสมควรนักเขียนจะค้นพบได้ว่า โครงสร้างใดสามารถเล่าเรื่องราวได้อย่างที่ต้องการและไหลลื่น ด้วยเหตุนี้ มีบางสถานการณ์ผู้เขียนอาจต้องการใช้ Fichtean Curve ในงานของตน

เมื่อเขียนในรูปแบบวรรณกรรม

แนวทางนี้เหมาะสำหรับผู้ที่เขียนนิยายวรรณกรรม แม้อาจจะฟังดูขัดกับสัญชาตญาณ แต่เรื่องราวที่เน้นเนื้อเรื่องน้อยสามารถใช้ประโยชน์จาก ‘บท’ ในการพัฒนาตัวละครและสร้างเรื่องราวที่น่าดึงดูดใจได้ ด้วยเหตุผลนี้ เส้นโค้งฟิชเตนจึงทำงานได้ดีกับงานเขียนนวนิยายที่ไม่ค่อยเน้นการวางแผน (หรือถ้าชอบด้นสด) นี่เป็นเพราะว่า “วิกฤต” เป็นรูปแบบโครงสร้างที่ยืดหยุ่นได้ — มันอาจจะเล็กไม่ต่างจากกริยาในบทสนทนาที่ตึงเครียด หรือใหญ่เท่ากับความตาย ทว่าเรื่องที่สร้างขึ้นสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในอดีตหรือปัจจุบัน ก่อนจะกลายมาเป็นบทหรือตอนที่เรื่องราวอยู่ในตัวมันเอง

สำหรับการเล่าเรื่องที่ขับเคลื่อนด้วยตัวละคร

วิกฤตในแต่ละเส้นโค้ง ได้รับการออกแบบเพื่อทำให้เหตุการณ์ หรือสถานการณ์เพิ่มขึ้น (ตัวเรื่องดำเนินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว) ตัวละครจะก้าวผ่านวิกฤตเหล่านั้นด้วยเท้าของเขาเอง ตัวละครได้รับโอกาสในการตัดสินใจและสัมผัสกับผลที่ตามมา เส้นโค้งฟิซเตนจึงเหมาะกับเรื่องที่ขับเคลื่อนด้วยตัวละครอย่างยิ่ง เพราะในแต่ละวิกฤตพวกเขาจะถูกทดสอบ ขณะที่เดิมพันของเรื่องจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ผู้อ่านจะสวมเข้าไปในตัวละครอย่างเป็นธรรมชาติ และสามารถสัมผัสปฏิกิริยาของพวกเขาในทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

กับเรื่องราวลึกลับระทึกขวัญ

แน่นอนว่าด้วยความรวดเร็วของ Fichtean Curve โครงสร้างนี้จึงเหมาะกับเรื่องราวลึกลับและระทึกขวัญ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีโครงสร้างใดสมบูรณ์แบบ สิ่งที่นักเขียนต้องเรียนรู้ก็คือทดลองใช้กับเรื่องที่กำลังเขียน ถ้าใช้ได้ผลก็ใช้กับโครงสร้างนั้นได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนก็เป็นเหตุผลที่ดี ลองวางแผนและทดลอง

ตัวอย่างในการวางโครงเรื่องลึกลับหรือระทึกขวัญ ภาคแรกเป็นการจัดฉากอาชญากรรม (วิกฤตครั้งแรก) จากนั้นนักสืบจะติดตามเบาะแสและลางสังหรณ์เป็นชุดๆ ปัญหาต่างๆ จะเกิดขึ้น (วิกฤต) จากนั้นนักสืบจะรวบรวมปริศนาทั้งหมด (ไคลแม็กซ์) ประมวลผลเข้าด้วยกัน ต่อมาเหล่าวายร้ายจะได้ผลลัพธ์ในบั้นปลายอย่างไร (คลี่คลายปม)

เส้นโค้งฟิซเตน

บทสรุป

Fichtean Curve เป็นเฟรมเวิร์กที่เรียบง่ายและยืดหยุ่น จึงช่วยให้วางแผนโครงสร้างในการเขียนนวนิยายได้ การสร้างความตึงเครียดผ่านวิกฤตต่างๆ จนถึงจุดไคลแม็กซ์ และแก้ปัญหาแต่ละปัญหาตามลำดับ ทำให้นักเขียนสามารถร่างโครงเรื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นถ้าคุณกำลังเริ่มต้นนวนิยายที่พล็อตน้อยๆ นี่คือโครงสร้างที่คุณกำลังค้นหา


About the illustrator
About the illustrator

ภาพประกอบบทความนี้ออกแบบและสร้างสรรค์โดย รุจาภา พรหมวิเศษ นักศึกษาปี 3 – มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม สาขาวิชา: ภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล – เอก : การผลิตภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล


บทความอื่นเกี่ยวกับโครงสร้างการเล่าเรื่อง

Leave a Comment

You may also like

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More