Hear the Wind Sing

ฮารุกิ มูราคามิ ถือเป็นไอคอนของยุค 90 ด้วยการนำเอา pop culter มานำเสนอผ่านนิยาย โดยมีดนตรีที่เขาชื่นชอบเป็นหัวหอกในการทะลวงหัวใจของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นเพลงพ๊อพ ร็อค แจ๊ซ รวมถึงดนตรีคลาสสิก

Beethoven: Hear the Wind Sing เป็นบทความที่เขียนถึงเพลงของบีโธเฟ่น ในนวนิยายของ ฮารุกิ มูราคามิ

ฮารูกิ มูราคามิ เป็นนักเขียนชาวญี่ปุ่น ที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของ pop culture อย่างแท้จริง จนตัวเขาเองถูกนักเขียน และนักอ่านสายอนุรักษ์นิยมของญี่ปุ่นโจมตีผลงานของเขาว่าขาดความเป็นญี่ปุ่น โดยกล่าวหางานของมูราคามิรับใช้วัฒนธรรมตะวันตก ขาดความลุ่มลึก ทว่าสิ่งที่มูราคามิหยัดยืนคือ เขาไม่เคยเปลี่ยนแนวทางของตัวเองเลย พิสูจน์สิ่งที่ตัวเองเชื่อว่า วรรณกรรม งานเขียน ศิลปะ ภาพยนตร์ และดนตรีไม่มีสื่อภาษา ไม่มีใครเป็นเจ้าของวัฒนธรรม ไม่มีซ้ายหรือขวา จึงไม่แปลกที่มูราคามิครองใจนักอ่านทั่วโลก แม้แต่ชาวตะวันตกที่อยู่ในวัฒนธรรม pop culture ที่เชี่ยวกรากก็ยังเชื่อว่างานของมูราคามิ มิได้เพียงแต่จับกระแสสังคมรุ่นใหม่ แต่มันยังหยั่งถึงรากเหง้าโลกยุคปัจจุบัน ที่ผู้คนเริ่มกลายเป็นปัจเจกชนมากขึ้น ความโดดเดี่ยวจึงกลายเป็นสิ่งสามัญ วัฒนธรรม pop culture ไม่ใช่เพียงกระแสชั่ววูบ แต่กลายเป็ยสายธารหลัก

งานเขียนของมูราคามิหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นนิยาย หรือเรื่องสั้น ผู้อ่านจะพบว่า ผลงานของเขามักเกี่ยวร้อยกับดนตรีเสมอ สิ่งที่จะมองเห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือดนตรี rock และ pop สอดแทรกในผลงานของมูราคามิเสมอไม่เคยขาด ดนตรีอีกแนวหนึ่งที่มูราคามิมักใส่ลงไปในเรื่องเพื่อสร้างบรรยากาศให้กับหนังสือของเขาก็คือ ดนตรี jazz นั่นแสดงให้เห็นว่ามูราคามิมีความสนใจในดนตรีหลากหลายแนวเป็นอย่างมาก จนนำดนตรีมาต่อยอดอยู่ในผลงานของเขาสม่ำเสมอ เป็นอย่างที่ทราบกันดีว่าดนตรีมันเป็นเหมือนรอยสักของคนเรา หากจะกล่าวให้ถูกต้อง ดนตรีทำให้เราระลึกถึงห้วงเวลาหนึ่งได้อย่างไม่ยากเย็นนัก มันทำให้เราคิดถึงบรรยากาศเก่าๆ วันคืนที่ไม่เคยย้อนกลับมา เสียงเพลงที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ จากการเปิดของสถานีวิทยุ ในร้านอาหารที่เราไปดื่ม ไปกิน มันเป็นความจดจำติดอยู่ในใจของเราเสมอ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่มูราคามิจะแทรกสิ่งเหล่านี้ลงไปในงาน

แนวดนตรีอีกแนวหนึ่งที่มูราคามิมักนำไปเขียนถึงก็คือดนตรีคลาสสิก ในนิยายเรื่องแรกของเขา Hear the Wind Sing เขียนขึ้นในปี 1979 เล่าเรื่องราวชีวิตผองเพื่อนหลังจบจากมหาวิทยาลัย ตัวละครค้นหาความหมายของการดำรงอยู่ วิถีแบบฮิปปี้ เมาหัวราน้ำ เสพศิลป์ดนตรี เข้าออกบาร์ หัวหกก้นขวิด ลองผิดลองถูกทั้งในเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ นิยายเรื่องนี้เป็นหนึ่งในนิยายชุดไตรภาค The Rat เมื่อตัวเอกพยายามตามหาหลุมฝังศพของนักเขียนนิยายแนวมนุษย์ต่างดาว Derek Hartfield ซึ่งฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดตึก และทั้งหมดทั้งมวลเป็นจุดเริ่มต้น

ฉากในนิยายเรื่อง Hear the Wind Sing ที่มูราคามิกล่าวถึงเพลงคลาสสิกคือฉากที่ “ผม” ตัวเอกของเรื่อง เข้าไปในร้านแผ่นเสียงที่มีเด็กสาวเก้านิ้วเป็นคนขาย ทั้งสองเคยเจอกันที่บาร์และสาวร้านแผ่นเสียงก็เมาเละ “ผม” กำลังหาแผ่นเสียง California Girls ของวงบีชบอย จากนั้น “ผม” ก็ถามหาแผ่น เปียโนคอนแชร์โต หมายเลขสาม ของบีโธเฟ่น

สาวร้านแผ่นเสียงถามกลับมาว่า ต้องการแผ่นของ Glenn Gould หรือ Wilhelm Backhaus “ผม” ตอบว่า “เกล็น โกลด์”

ฉากความสัมพันธ์นี้ถือว่ามีความสำคัญไม่น้อย เพราะมันสามารถบอกได้ว่าสาวขายแผ่นเสียงนั้น เธอมีความรู้ และมีการสังเกตจดจำแผ่นเสียงที่เธอขายได้ทุกแผ่น เมื่อผู้เขียนอ่านมาถึงจุดนี้จึงต้องไปหาเพลงของเกล็น โกลด์ และ วิลเฮ็ล์ม แบ็กคัส มาฟังจนได้ แล้วจากสิ่งที่เราไม่รู้ว่าทำไม “ผม” จึงเลือกแผ่นของโกลด์ แน่นอนว่าเกล็น โกลด์เป็นนักเปียโนที่ผู้ฟังเพลงคลาสสิกต่างรู้จักเป็นอย่างดี เขาเกิดในวันที่ 25 กันยายน 1932 เสียชีวิตในวันที่ 4 ตุลาคม 1982 เป็นชาวแคนาดา เกิดในโตรอนโต นามสกุลของ Gould เพิ่งมาเปลี่ยนในปี 1939 ซึ่งเกิดจากความผิดพลาด บางคนคิดว่าเขาเป็นยิว แต่บรรพบุรุษของโกลด์ไม่ใช่ยิว เขามักถูกถามบ่อยๆ ว่าเป็นยิวหรือไม่ เขามักตอบติดตลกว่าถ้าเขาเป็นยิว ก็ต้องเป็นยิวระหว่างสงครามโลก โกลด์สนใจดนตรีเพราะฟังญาติเล่นดนตรี และผู้เป็นแม่ก็สนับสนุนให้เขาเป็นนักดนตรี

Beethoven: Hear the Wind Sing

เกล็น โกลด์ปฏิเสธงานสแตนดาร์ดโรแมนติกเปียโน ซึ่งประกอบไปด้วย Liszt, Schumann และ Chopin แต่เทิดทูนงานของ Bach รวมถึงบีโธเฟ่น โมสาร์ท ไฮเดิล บราห์ม และผู้ประพันธ์ในช่วงก่อนยุคบาโร๊ค เขาเป็นคนมี่มีวิสัยทัศน์ มีความเป็นตัวของตัวเอง โกลด์เป็นคนที่ไม่ชอบคอนเสิร์ตฮอลล์ ตอนอายุ 31 เขาหยุดเล่นคอนเสิร์ต แต่มุ่งมั่นในการบันทึกเสียงโปรเจ็คต่างๆ เพียงอย่างเดียว

อ่านบทความเพิ่มเติม: Akutagawa-Murakami

ส่วน Wilhelm Backhaus เป็นนักเปียโนชาวเยอรมันเกิดในไลฟ์ซิก วันที่ 26 มีนาคม 1884 เสียชีวิต 5 กรกฎาคม 1969 กล่าวกันว่าแบ็กเฮาส์เป็นนักเปียโนที่ตีความบทเพลงของบีโธเฟ่นได้เป็นอย่างเชี่ยวชาญคนหนึ่ง รวมถึงคีตกวีในยุคโรแมนติก แบ็กเฮาส์เรียนเปียโนตอนอายุสี่ขวบ ฉายแววอัจฉริยะตั้งแต่เด็ก เล่นคอนเสิร์ตครั้งแรกอายุเพียงสิบหกปีเท่านั้น แบ็กเฮาส์เข้าไปเกี่ยวกันกับพรรคนาซี เขาได้พบกับอดอร์ฟ ฮิตเลอร์ในช่วงปี 1933 และในปีเดียวกัน เขาเขียนบทความลงในหนังสือดนตรี “ไม่มีใครรักศิลปะของเยอรมันโดยเฉพาะดนตรีที่เติบโตเหมือนอดอร์ฟ ฮิตเลอร์…” และไม่นานฮิตเลอร์ก็มอบตำแหน่งศาสตราจารย์ให้กับแบ็กเฮาส์แต่อย่างไรก็ตาม ในปลายชีวิตของแบ็กเฮาส์ เขาได้รับการยอกย่องว่าเป็นนักเปียโนคลาสสิก ที่มีความสามารถ โดยเฉพาะเพลงพื้นบ้านเยอรมัน

สำหรับ Piano Concerto No.3 ในบันไดเสียง  C minor Op.37 ของบีโธเฟ่น ประพันธ์ขึ้นในปี 1800 บทเพลงแบ่งออกเป็นสาม Movement ตามแบบแผนของดนตรีคลาสสิกในยุคโรแมนติก

I. Allegro con brio เป็นมูฟเม้นต์ที่ทรงพลังมากๆ มูฟเม้นต์หนึ่ง การสอดประสานระหว่างวงเครื่องสาย เครื่องเป่าของพัฒนารูปแบบของเพลงออกเป็นหลายๆ ธีม ก่อนที่คลาลิเน็ต และไวโอลินที่หนึ่ง จะเข้าสู่การแนะนำธีมที่สองของเพลง ก่อนที่เปียโนจะรับเข้าสู่การบรรเลงโซโล โครงสร้างของการโซโลเปียโน เป็นการเดินย้อนซ้ำไปกับท่วงทำนองของวงออร์เครสตรา จนกระทั่งพัฒนาไปสู่สเกลซ้ำๆ ในตอนแรกเริ่ม เมื่อเข้าสู่ช่วง Cadenza (แสดงเดี่ยวช่วงสั้นๆ) บีโธเฟ่นมักเขียนให้ช่วงดังกล่าวระเบิดออกคล้ายพายุ และจบลงอย่างสงบนิ่ง นุ่มนวล และช่วงดังกล่าวนักเปียโนหลายๆ คนมักจะเล่นสิ่งที่แตกต่างกันออกไป ในตอนจบมูฟเม้นต์บีโธเฟ่นได้ทำลายล้างรูปแบบของดนตรี ด้วยการกลับไปขยาย Cadenza ให้ยาวขึ้น ก่อนจะกลับมาจบที่ โฮมคีย์ของเพลง

II. Largo  ในมูฟเม้นต์ที่สอง เริ่มด้วยคีย์ E major ซึ่งบริบทแตกต่างไปจากช่วงเปิดของคอนแชร์โต โดยเริ่มที่เดี่ยวเปียโน ก่อนที่ออร์เครสตร้าจะสอดเข้ามารับรายละเอียดของดนตรี

III. Rando-Allegro มูฟเม้นต์สุดท้ายของเพลง เปียโนเล่นซ้ำท่วงทำนองหลักหลายรอบ โดยเริ่มที่คีย์ซี ไมเนอร์ และจบมูฟเม้นต์ด้วย ซีเมเจอร์

Piano Concerto No.3 บรรเลงเปียโนโดย Glen Gould มีด้วยกันสองแผ่น สองเวอร์ชัน แผ่นแรก บันทึกเสียงกับ  Herbert Von Karajan บรรเลงด้วยวง Berliner Phiharmoniker บันทึกเสียงในปี 1957 ที่เบอร์ลิน เวอร์ชันนี้เพิ่งเผยแพร่ในตอนหลัง แผ่นที่สอง โกลด์เล่นเปียโน Leonard Bernstein เป็นคอนดักเตอร์ บรรเลงโดยวง Columbia Symphony Orchestra บันทึกเสียงในปี 1973

ส่วนแผ่นของ Wilhelm Backhaus บรรเลงร่วมกับ Karl Böhm บรรเลงโดยวง Vienna Philharmonic

ทั้งสามแผ่นถือเป็นผลงานเพลงเปียโน คอนแชร์โต หมายเลขสามของบีโธเฟ่นที่ยอดเยี่ยมมากๆ และน่าจะเป็นแผ่นอ้างอิง สำหรับในการฟังเพลงบทนี้ของบีโธเฟ่นได้เลยทีเดียว

แม้เปียโนคอนแชร์โตหมายเลขสามจะมิได้ถูกเปิดเป็นบรรยากาศในเรื่อง Hear the Wind Sing ของมูราคามิ แต่ก็ได้บอกนัยบริบทบางอย่างสั้นๆ ให้กับคนอ่านไม่น้อยเลยทีเดียว และถึงที่สุด ดนตรีก็ยังงดงามเสมอ

อ่านบทความเพิ่มเติม: Glen Gould

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *