Home Art & Culture ‘Hibana’ Spark

‘Hibana’ Spark

by niwat59
18 views

เลือกที่จะเป็นหรือเลือกที่จะต่าง

เป็นเรื่องตัดสินใจยากมากๆ ในชีวิตว่าเราจะเลือกอย่างไรระหว่างเป็นตัวของตัวเอง หรือเลือกที่จะต่างไปจากที่เราเป็น ถ้าเลือกเป็นตัวเองแล้วประสบความสำเร็จก็ดีไป ไม่มีอะไรให้ต้องคิด แต่ถ้าเป็นตัวเองแล้วไม่ประสบความสำเร็จล่ะ เราจะต้องเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง ทำในสิ่งที่แตกต่าง ทำสิ่งที่คนส่วนใหญ่ชอบ ทำแบบที่คนอื่นทำ เพื่อประสบความสำเร็จ เราจะเปลี่ยนไหม ในโลกนี้เราไม่รู้ว่าทางเลือกที่เราจะเลือกมันเวิร์กหรือเปล่า แม้เรา ‘เปลี่ยน’ ก็ไม่มีอะไรการันตีว่าเราจะประสบความสำเร็จในจุดหมายนั้น จะว่าไปโลกนี้มันยาก และไม่มีตำราเล่มไหน การศึกษาใด หรืออะไรจะที่จะนำทางเราในแบบสูตรสำเร็จได้

‘Hibana’ Spark หนังชุดสิบตอนจาก Netflix ดัดแปลงหนังมาจากนิยายของ Naoki Matayoshi เจ้าของรางวัลอะคุตะงาวะ (Akutagawa Prize (芥川龍之介賞 Akutagawa Ryūnosuke Shō) ) ประจำปี 2015 จากนิยายเรื่องที่เป็นหนังเรื่องนี้ ซึ่งเป็นนิยายที่ขายได้ถึง 2.5 ล้านเล่ม นอกจากนั้นเขายังเป็นนักแสดงตลก เป็นคนเขียนบท อีกด้วย

‘Hibana’ Spark จึงเหมือนการตั้งคำถามถึงการเดินตามความฝัน นั่นคือ การเป็นนักแสดงมันไซ (การแสดง stand-up comedy แบบญี่ปุ่น) ของสองคู่หูต่างวัยจากคนละคณะระหว่าง โทคุนะกะ (Kento Hayashi) กับคามิยะ (Kazuki Namioka)

โทคุนะกะ เด็กหนุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย พื้นเพยากจน ในตอนเด็กๆ พี่สาวของเขาต้องฝึกเล่นเปียโนกระดาษ เมื่อแม่ยอมเก็บเงินซื้อเปียโนให้จริงๆ พ่อก็โมโหเพราะเปียโนสามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในบ้านได้ โทคุนะกะใฝ่ฝันอยากเป็นนักแสดงมันไซเพราะการแสดงของนักแสดงมันไซในตำนานออกอากาศทางทีวีสร้างเสียงหัวเราะให้กับครอบครัวของเขาอย่างมีความสุข นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาอยากเป็นมันไซ โดยเริ่มต้นตั้งคณะ ‘Hibana’ Spark กับคู่หู ยามาชิตะ (Masao Yoshii) ทั้งสองจ้างเอเยนต์ในการหางานแสดง ในงานแสดงหนึ่ง เขาได้พบกับคามิยะ นักแสดงรุ่นพี่ที่เขาประทับใจในบทที่พวกเขาแสดง เพราะเขาแสดงไม่เหมือนใคร ไม่เอาใจคนดู และยังเรียกให้คนดูเข้ามามีส่วนร่วมกับการแสดง ในคืนนั้นโทคุนะกะจึงขอคามิยะเป็นลูกศิษย์

โทคุนะกะ และ คามิยะ ต่างก็กำลังสร้างตัวตนการแสดงด้วยแนวทางที่คิดว่าจะประสบความสำเร็จ เป้าหมายของพวกเขาคือการเป็นนักแสดงมันไซที่ได้รับการยอมรับ สามารถหาเลี้ยงชีพด้วยสิ่งที่ตัวเองรัก งานที่เอเยนซีหาให้กับคณะ ‘Hibana’ Spark ส่วนใหญ่เป็นงานที่ว่าจ้างจากซูเปอร์มาเก็ตบ้าง ห้างร้านบ้าง การแสดงจริงๆ ยังห่างไกล พวกเขาต้องทำงานหนัก โทคุนะกะเป็นคนเขียนบทสำหรับแสดง เขาต้องการให้คู่หูของเขาซ้อมให้หนักขึ้น เพื่อสร้างจังหวะที่ลงตัวที่สุดสำหรับการต่อมุก โทคุนะกะเชื่อว่าการแสดงที่ลงตัวจะเกิดขึ้นจากการประสานงานที่ยอดเยี่ยม เขาเชื่อในทีมเวิร์ก เชื่อในบท และยึดมั่นเป็นแบบแผน

ขณะที่คามิยะนั้นไม่มีรูปแบบตายตัว บางครั้งเขาเปลี่ยนแปลงบทก่อนแสดงไม่กี่นาที โดยการด้นบทใหม่ และทำอะไรที่ตื่นตาตื่นใจเสมอ คามิยะจึงเป็นคนที่คาดเดาอะไรไม่ได้ นั่นกลายเป็นข้อดีและข้อเสียที่เขาสร้างขึ้นมา ตัวตนของเขาจึงเต็มไปด้วยรูปแบบที่ไม่สามารถเรียงต่อกันเป็นระบบ เขามองไปอนาคตก็จริงแต่ไม่ได้ยึดมั่นบนฐานรากของความสำเร็จดาษดื่น คามิยะยึดมั่นสิ่งที่เป็นตัวตนของเขาอย่างไม่อ่อนข้อ แม้เขาจะมีมุมที่อ่อนไหวกับชีวิต จนบางครั้งเหมือนกับเขาทำลายชีวิตตัวเองไปเรื่อยๆ

เมื่อคณะ ‘Hibana’ Spark กำลังสร้างชื่อได้มากขึ้น รายการทีวีเริ่มมองเห็นว่าพวกเขามีโอกาสประสบความสำเร็จ ผู้อำนวยการรายการแนะนำพวกเขาว่า เพื่อให้คนดูชอบมากขึ้นพวกเขาจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการแสดงไปบ้าง ซึ่งยามาชิตะคล้อยตามไปด้วย เขาต้องการผลักดันให้คณะประสบความสำเร็จ พวกเขาย้ายออกจากหอพักสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยมาเป็นห้องพักที่ใหญ่ขึ้นดีขึ้น ซึ่งนั่นตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูง พวกเขาจะไม่ต้องรับงานซูเปอร์มาร์เก็ต หรือเป็นลูกจ้างพาร์ตไทม์อีกต่อไปถ้าได้เล่นในรายการทีวี นั่นคือสิ่งที่พวกเขาปรารถนาไม่ใช่หรือ

แต่โทคุนะกะมีความคิดที่แตกต่างไปจากยามาชิตะ เขาต้องการประสบความสำเร็จด้วยแนวทางของตัวเอง มันจะไม่มีความหมายสำหรับเขาเลยถ้าเขาต้องทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เชื่อ ขณะที่เซนเซคามิยะ ทำให้เขาเห็นว่าตัวตนที่แท้จริงนั้นขายไม่ได้สำหรับคนทั่วไป คามิยะแสดงให้เขาเห็นแล้วว่าทำไมยังต้องย่ำต๊อกเป็นคณะมันไซที่ปราศจากชื่อเสียง คนดูไม่ยอมรับ รายการทีวีไม่เอาด้วย คามิยะทำในสิ่งที่ตัวเองคิดไม่เคยเปลี่ยนแปลง นั่นทำให้โทคุนะกะยืนอยู่บนความขัดแย้ง ความสำเร็จแค่เอื้อม กับความเป็นตัวของตัวเอง ความขัดแย้งนี้เล่นงานเขาอย่างหนัก และเขาถามตัวเองเสมอว่าจริงๆ แล้วเขาต้องการอะไรจากสิ่งที่ตัวเองทำ ยามาชิตะจะมีชะตากรรมอย่างไร คณะของเขาจะต้องถึงวันแตก และเขาอาจจะต้องเลิกในสิ่งที่ตัวเองรัก มันเป็นเรื่องที่เจ็บปวด

การย้อมผมของโทคุนะกะโดยเพื่อนช่างผมของเขา เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวตนของเขาในอีกด้านหนึ่ง แต่ไม่ได้เปลี่ยนการแสดง ผมสีเงินช่วยให้ภาพลักษณ์แบบซูเปอร์สตาร์ฉายแวว คนดูจดจำเขาได้ กลายเป็นเอกลักษณ์เหมือนศิลปิน Pop Art แอนดี้ วอร์ฮอล์ และอาจจะกล่าวได้ว่ามันมาถึงจุดที่เขาเข้าใกล้สิ่งที่ตัวเองฝันมากที่สุดแล้วก็เป็นได้

สองตอนสุดท้ายของหนัง เป็นการคลี่คลายปมอันเจ็บปวดที่ทำให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนในบทได้อย่างแนบเนียน อันดับแรก ในวันที่อินเตอร์เน็ตกำลังเบ่งบาน ผู้ชมในสังคมออนไลน์มีบทบาทในโลกของการวิจารณ์ ผู้ชมสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ ทั้งที่ ‘พวกเรา’ อาจจะไม่เคยทำอะไรมาก่อนเลยก็ตาม บทบาทไม่ได้อยู่ในมือของนักแสดงอีกแล้ว

อันดับต่อมาผลงานที่ผู้คนชื่นชอบส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากตัวตนของนักแสดง หรือผู้สร้างงาน แต่เกิดจากทำในสิ่งที่คนทั่วไปชื่นชอบ นี่คือความเจ็บปวดที่ฝังอยู่ในแผลลึกที่ไม่มีวันหาย

และสุดท้าย เมื่อพวกเขาต้องเลิกแสดง เลิกเขียนหนังสือ เลิกกิจการร้านอาหาร ผู้ชม ผู้อ่าน ผู้กิน ต่างพากันเสียใจ ไว้อาลัย ทำไมการแสดงดีๆ ที่เป็นตัวของตัวเองเหล่านั้นต้องเลิก ทำไมไม่มีงานเขียนดีๆ ที่แตกต่างจากตลาดให้อ่านอีกแล้ว ทำไมร้านอาหารอร่อยๆ ที่มีรสชาติเฉพาะตัว ถึงได้เลิกกิจการ สิ่งนี้คือสิ่ที่พวกคุณต้องรับผิดชอบ ก็พวกคุณ พวกคุณ พวกคุณ พวกคุณ (ชี้นิ้วไปที่คนดู) นั่นแหละไม่ใช่ใครที่ไหนเลย

You may also like

Leave a Comment

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More