ในความทรงจำ Covid 19 : In memory of covid 19 บันทึกจากผู้ติดเชื้อ โควิด 19 งานเขียนชิ้นนี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์ของ ศวา เวฬุวิวัฒนา เจ้าของผลงาน “ความตายของหญิงสาว” หลังจากที่เขาต้องเข้ารับการรักษาอาการป่วยจากไวรัสโคโรนา หรือ โควิด 19 รวมถึงผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเขา นี่คือช่วงเวลาแห่งความยากลำบาก ที่ทำให้มนุษย์คนหนึ่งต้องตัดสินใจเพื่อให้ชีวิตเดินหน้าต่อไปได้ และนั่นคือสิ่งที่เขาทำในช่วงเวลาดังกล่าว
Table of Contents
ในความทรงจำ โควิด 19 : In memory of covid 19
โดย ศวา เวฬุวิวัฒนา
เมษายน
เดือนกว่าหลังจากแม่ตาย วันอาทิตย์ ผมไปเล่นการ์ดเกมที่บ้านเพื่อนตามปกติ เล่นกันสามคน พกแจ็ค เดเนียลไปขวดนึง เพื่อนคนหนึ่งน้ำมูกไหลและไอนิดหน่อยตั้งแต่พบหน้า เขาบอกว่าเป็นภูมิแพ้เพราะอากาศเปลี่ยน
วันรุ่งขึ้น บ่ายของวันจันทร์ ผมตื่นและได้อ่านไลน์ว่าเพื่อนคนนั้นไปตรวจและพบว่าตัวเองติดโควิด ผมกับเพื่อนอีกคนที่เล่นเกมด้วยกันกลายเป็นผู้เสี่ยงติดเชื้อ ผมกลัวขึ้นมาเพราะฉุกใจคิดได้ว่าเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ก่อนหน้าวันนั้นเพียงวันเดียว ผมออกไปดื่มนอกบ้าน สูบบุหรี่ไปหลายมวน จนเดาว่าร่างกายน่าจะกร่อนไปเยอะทีเดียวในวันอาทิตย์ที่เผชิญกับเชื้อโรค อย่างไรก็ตาม ผมไลน์ตอบเพื่อนทั้งสองว่า ผมไม่มีปัญหา ผมสบายดี ผมโอเค
วันอังคาร ผมสั่งข้าวขาหมูมากินและพบว่าไร้รสชาติ ผมกลัวยิ่งขึ้นอีกเพราะอยู่กันแค่สองคนกับภรรยาและแมวสิบกว่าตัว ผมกลัวภรรยาติดเชื้อไปด้วย แต่ภรรยาของผมเป็นคนมองโลกในแง่ดี เธอถึงขั้นโทรศัพท์ไปหาหมอดูและมาโน้มน้าวผมว่า เราสองคนต้องไม่เป็นอะไร “ถ้าเธอติด ป่านนี้ฉันก็ติดไปแล้ว” เธอบอกผม เรากอดกัน
วันพุธ ผมนั่งแปลยูลิสซีสตามปกติ แล้วก็เริ่มปวดหัว โดยเฉพาะตรงหว่างคิ้วและกระบอกตา เหมือนความดันขึ้นฉับพลันแล้วก็คงความปวดไว้อย่างนั้น ผมค่อนข้างมั่นใจแล้วว่าตัวเองติดโรค ขณะเดียวกัน เพื่อนผมทั้งสองคนที่พบกันคืนนั้นต่างได้ห้องที่โรงพยาบาลกันแล้ว คนหนึ่งไม่หนักมาก อีกคนสาหัส ผมดื่มเบียร์ไปสามขวดคืนนั้น เพื่อลดอาการปวด และเพื่อบอกตัวเองว่าฉันไม่เป็นไร
ช่วงสายของวันพฤหัส มีไข้นิดหน่อย จำได้ว่าแปลหนังสือได้แค่หน้าเดียวก็บอกตัวเองว่าไม่ไหว หัวทึบไปหมด ปวดหัวด้วย น่าจะเป็นวันนี้ที่ลองค้นดูว่าโรงพยาบาลไหนยังให้จองตรวจบ้าง ภรรยาช่วยโทรศัพท์ไปหาโรงพยาบาล ปรากฏว่าวันจองตรวจที่เร็วที่สุดคืออาทิตย์หน้า ผมบอกเธอว่าจะอยู่รักษาตัวที่บ้าน ไม่งั้นใครจะดูแลแมว ถ้าฉันติด เธอก็คงต้องติดแน่อยู่แล้ว ถ้าเราสองคนไม่อยู่บ้าน แล้วแมวสิบกว่าตัวจะอยู่ยังไง?
ทั้งเพื่อนของผมและของเธอคะยั้นคะยอให้ไปตรวจ แต่เวลานั้นเต็มไปด้วยความสับสน ผมกลัวหลายเรื่อง ทั้งตัวเอง ทั้งภรรยา ทั้งแมว จนไม่กล้าตัดสินใจ ผมคิดว่าตัวเองเป็นคนขี้ขลาดและขี้แพ้ และก็เป็นอย่างนั้นจริง
เพื่อนทั้งสองของผม คนหนึ่งเป็นศิลปินวาดรูป เขาเริ่มไลฟ์สดจากห้องคนไข้และเล่าว่าตัวเองติดเชื้อได้อย่างไร อีกคนเป็นเศรษฐีร้อยล้านที่ประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวเอง เขาอยากให้ผมไปตรวจ ผมรู้ว่าเขาเป็นห่วง แต่ตอนนั้นผมทำอะไรไม่ถูก ผมอ่อนแอ
ไข้ขึ้นและลด ผมค้นเจอว่าโรงพยาบาลแห่งหนึ่งย่านพหลโยธิน รับตรวจโควิดด้วยราคาค่อนข้างแพง ผมโทรศัพท์ไปสอบถามวันจันทร์ ทางนั้นบอกให้เข้ามาได้เลย ไม่ต้องจอง ผมจึงไปวันอังคารตอนบ่ายโมง วันนั้นผมไม่มีไข้ รู้สึกสบาย และต่อมรับรสเริ่มกลับมาทำงาน โรงพยาบาลให้ผมขึ้นไปที่ลานจอดรถชั้นเจ็ด ซึ่งปรับเป็นที่ตรวจโควิด คนมารอเต็มไปหมด ผมรอและรอและรอ จนหงุดหงิด จนได้ตรวจตอนสี่โมงเย็น ผมเล่าลำดับเหตุการณ์ให้หมอผู้หญิงผมหยิกวัยกลางคนฟัง “แต่คุณรู้ไหมว่าตอนนี้คุณมีไข้อ่อนๆ” หล่อนบอกผม และผมโต้ด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวว่า “อาจเพราะต้องนั่งรอสองสามชั่วโมงกับคนเยอะๆ ก็ได้ครับ” จากนั้นก็ไปจ่ายตัง แพงฉิบหาย
วันพุธช่วงบ่าย โรงพยาบาลโทรศัพท์มาแจ้งว่าผมติดโควิด และให้รักษาตัวอยู่บ้าน เนื่องจากเตียงเต็มแล้ว วันนั้นหายนะมาก เหมือนความจริงเดินเข้ามากระชากคอและตะคอกใส่ต่อหน้าเราสองคน – ผมกับภรรยา – ความกังวลและมองโลกในแง่ร้ายเริ่มกระจายตัวในหัวของภรรยาของผมเหมือนโรคร้าย เธอไม่มีอาการอะไรเลยก็จริง แต่คืนนั้น ก่อนนอน เธอเดินมาหาผมที่เตียงด้วยแววตาของเด็กที่หวาดกลัว บอกผมว่า เราต้องคุยกันแล้ว เราจะทำยังไงดี หัวใจของผมปวด เรื่องที่เกิดขึ้นมันใหญ่โตเกินว่าที่คำปฏิญาณว่า ‘ฉันจะปกป้องเธอ’ ของผมจะเข้าใจได้ ผมติดโรค ผมเป็นไข้ ผมทำให้ภรรยาต้องติดไปด้วย ผมทำให้แมวในบ้านที่เรารักต้องเสี่ยงต่อความอดอยากและความตาย ผมไม่มีเพื่อนสนิท ผมไม่มีญาติพี่น้องที่สามารถเปิดใจ ผมทำได้แค่ปลอบใจเธอด้วยน้ำเสียงแสร้งสบายใจว่า “ไม่เป็นไร ฉันติดมาครบสัปดาห์แล้ว น่าจะเริ่มหายแล้ว”
แต่แล้วถัดจากนั้น ผมก็เริ่มทรุด ไข้หนักขึ้นทุกวัน หัวใจเต้นแรงจนนอนไม่ได้ ทรมาน ต้องกินยา ยา ยา และยาเพื่อลดไข้ได้ไม่กี่ชั่วโมงแล้วก็กลับมาขึ้นสูงอีก 39.2° c เป็นตัวเลขที่จะไม่มีวันลืม โชคดีที่ภรรยายังไม่มีอาการ เธอโทรศัพท์ไปที่โรงพยาบาลที่ไปตรวจ และได้คำตอบว่าเตียงเต็มจนไม่สามารถรับรักษาเพิ่มได้แล้ว ผมกินยาจนตาพร่า มึนและเมา กินข้าวเริ่มลำบาก ไม่รู้สึกหิว กลืนไม่ลง เจ็บ
วันพฤหัส ศุกร์ หรือเสาร์ ผมขอความช่วยเหลือจากพ่อ “คนใหญ่คนโตในตระกูลเราช่วยอะไรไม่ได้เลยเหรอ?” นั่นคือคำพูดที่พอมองย้อนกลับไปก็ให้สมเพชตัวเอง มันเป็นคำพูดที่มาจากความสิ้นหวังล้วนๆ ร้อยวันพันปีผมไม่เคยสนว่าตัวเองนามสกุลอะไร ไม่เคยคิดขอความช่วยเหลือจากคนพวกนั้น เอาอย่างนี้ ผมเอาเหล้าไปกินในงานสวดศพของแม่เพียงเพื่อต้องการประท้วงความหลอกลวงที่สนใจแต่หน้าตาของวงศ์ตระกูล ถ่มน้ำลายรดคนใหญ่คนโตพวกนั้น สุดท้าย ผมก็ร้องขอจากพวกเขาอย่างคนขี้แพ้จริงๆ
พ่อรับปากว่าจะไปคุยให้ ยังไงนามสกุลของผมก็ใหญ่โต แม้ว่าจะเป็นลูกหลานฝั่งเมียคนที่สองก็ตาม พ่อส่งเครื่องให้อ็อกซิเจนกับฟ้าทลายโจนมาให้ เครื่องให้อ็อกซิเจนที่แม่เคยใช้ก่อนตายในวันที่หนึ่งมีนาคม
ผมเริ่มหายใจไม่ออก และไอหนัก เจ็บหน้าอกทุกครั้งที่ไอ วันเสาร์ ผมขอให้ภรรยาโทรศัพท์ไปที่โรงพยาบาลเพื่อขอรถพยาบาล พนักงานรับสายรับเรื่องไว้ แต่ด้วยความห่วงแมว ห่วงบ้าน และเริ่มครุ่นคิดถึงความตายเพื่อประชดวงศ์ตระกูล ผมกลับคำและขอให้ภรรยาโทรศัพท์กลับไปยกเลิกกับโรงพยาบาล บอกพวกเขาว่าผมไม่ต้องการรถแล้ว เย็นนั้นภรรยาออกไปซื้อเกี๊ยวมาให้ ผมแทบไม่กล้ามองหน้าเธอ ผมรู้สึกผิด ผมเสียใจ แต่ก็ยังพยายามปั้นหน้าว่าไม่เป็นอะไร
วันต่อมา
ผมขอให้ภรรยาโทรศัพท์ไปที่โรงพยาบาลอีกครั้ง ผมไม่ไหวแล้ว ผมมั่นใจจริงๆ ว่ากำลังจะตาย ปรากฎว่าผมโชคดี – ใครสักคนที่นั่นบอกว่าคนไข้คนหนึ่งกำลังจะย้ายไปรักษาที่อื่น ทำให้มีเตียงว่างพอดี
ญาติผมบางคนเริ่มสงสัยว่า คนใหญ่คนโตบางคนในตระกูลยื่นมือเข้ามาช่วยผมหรือเปล่า – ไม่ใช่ คนเดียวที่ช่วยเหลือผม อีกคนคือภรรยาที่ผมรัก และโชคของผม ผมยินดีเปลี่ยนนามสกุลและออกจากตระกูลนี้ถ้าพวกเขาไม่พอใจ ผมไม่แคร์อีกแล้ว
รถจากโรงพยาบาลมารับตอนสองทุ่ม ก่อนหน้านั้นผมกับภรรยาโทรศัพท์ตามเรื่องทุกชั่วโมง กลัวว่าจะโดนหลอก และกลัวตาย แต่สุดท้ายก็มาจริงๆ วันนั้นแปลกมาก ตอนรถใกล้มาถึง พวกเขาโทรศัพท์หาผมด้วยน้ำเสียงเหมือนคนมีความลับ รถที่มาก็ไม่ใช่รถพยาบาลแต่เป็นรถตู้ดัดแปลง มาแค่คนเดียวคือคนขับ เขาให้ผมนั่งด้านหลังรถและกำชับว่าห้ามร้องบอกคนข้างนอกขณะอยู่บนรถและห้ามลงจากรถจนกว่าเขาจะให้สัญญาณ
ภาพที่ติดอยู่ในใจผมจนถึงตอนนี้คือรอยยิ้มของภรรยา เธอโบกมือและยิ้มใต้แสงไฟตรงประตูรั้ว ผมรู้สึกรักเธอจนหาคำอธิบายไม่ได้ ราวผมรับรู้ได้ว่าเธอต้องแบกอะไรไว้บ้าง แต่เธอก็ยังยิ้มส่งผม โบกมือลาให้ผม ผมไม่เคยรู้สึกผิดและรักเท่าเวลานั้นมาก่อน เธออาจต้องตายเพราะผม แต่เธอก็ยังให้กำลังใจผม
เมื่อมาถึงโรงพยาบาล รถพาผมไปยังลิฟท์หลังตึก ทุกอย่างดูเป็นความลับ ผมได้ยินเสียงจากเครื่องมือสื่อสารบอกให้ “รอก่อน” “โอเค ไม่มีคนแล้ว” “เข้าไปจอดได้” ผมกอดกระเป๋าเป้ใบเดียวที่พกไป เสื้อผ้าชุดเดียวเอาไว้ใส่ตอนกลับ กับ “ซาลัมโบ” ของฟลอแบร์ท์
พอรถจอดและปลอดภัยแล้ว คนขับในชุด PPE นำผมไปที่ลิฟท์ เราขึ้นไปที่ชั้นหก ลิฟท์เปิดที่หน้าเคานท์เตอร์พยาบาล และทางซ้ายเป็นห้องคนไข้เรียงรายสองข้างทาง คนขับรถเดินนำ ผมมองห้องทางขวาที่ประตูเปิดทิ้งไว้และเห็นเตียงเรียงกันสามเตียงในนั้น ผมคิดว่าตัวเองก็คงต้องอยู่ในห้องแบบเดียวกัน แต่แล้วก็ไม่ใช่ คนนำทางหยุดที่ห้องในสุด ผายมือให้ผมเข้าไป เป็นห้องเตียงเดี่ยว กว้างขวาง วิวตึกรามริมรถไฟฟ้า เขาเดินออกไปโดยไม่พูดอะไรเลย ไม่ปิดประตูห้องด้วย ผมใช้เวลาซึมซาบและประมวลผลหลายนาทีค่อยเดินไปปิดประตูและนั่งลงบนโซฟา ทุกซอกมุมในห้องดูหรูหรา เตียงเดี่ยวเตียงเดียวหน้าทีวีจอยักษ์ เหมือนโลงศพของฟาโรห์
พยาบาลติดต่อเข้ามาผ่านอินเตอร์คอมฯ ข้างเตียง ผมสะดุ้งและกดรับโดยยังงงสงสัยอยู่ “คุณ วธ. ใช่ไหมคะ?” เสียงหวาน ไพเราะ “อาบน้ำหรือยังคะ?” ตอนนั้นผมคิดว่าเสียงของเธอเหมือนหญิงสาวที่ดูแลงานเลี้ยงมากกว่าคำสั่ง ผมตอบเธอตามความจริง ราวครึ่งชั่วโมงหลังวางสาย พยาบาลใส่หน้ากากอนามัยเข้ามาเจาะเลือดและเอาข้าวกล่องมาให้ ผมไม่รู้ว่าเธอเป็นคนเดียวกับที่พูดคุยผ่านอินเตอร์คอมฯ หรือเปล่า ก่อนเธอออกไป ผมขอยานอนหลับ และคนที่เอามาให้เป็นพยาบาลอีกคน ยาสีเหลืองกลมเม็ดจิ๋วที่ช่วยให้หลับได้แม้หัวใจเต้นแรงจากโรคระบาด
พยาบาลยังต่ออ็อกซิเจนให้พร้อมกำชับว่าต้องสวมไว้ตลอดเวลา ผมโทรศัพท์หาภรรยาในเช้าวันต่อมา เธอบอกผมว่าจะไปตรวจโควิดที่โรงพยาบาล วภ. ญาติคนหนึ่งของผมช่วยมาโน้มน้าวว่าจะเป็นคนมาช่วยดูแลแมวที่บ้านให้ – แต่สุดท้ายก็ไม่เคยมา ผมรู้สันดานนักการเมืองแบบนี้อยู่แล้ว พูดเพราะๆ งามๆ ไว้ก่อน สุดท้ายก็หาเหตุผลร้อยแปดมาปฏิเสธ – คนที่มาช่วยเหลือจริงๆ คือน้องชายของผมกับพ่อ พูดตรงๆ ผมไม่เคยรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณน้องกับพ่อเท่านี้มาก่อน โดยเฉพาะน้องชายที่ผมรังแกมาตั้งแต่ตอนเด็ก ผมคิดมาตลอดว่าน้องต้องเกลียดผมแน่ๆ แต่น้องกลับมาช่วยผม – ภรรยาผมติดโควิด โรงพยาบาลส่งรถมารับและให้กักตัวอยู่ในโรงแรมสิบสี่วันเนื่องจากไม่มีอาการ – น้องชายกับพ่อเป็นสองคนสุดท้ายในโลกที่ผมไม่คาดคิดว่าจะมาช่วยเหลือ แต่พวกเขาก็มา พ่อกับน้องช่วยมาให้อาหารแมวทุกวันจนผมออกจากโรงพยาบาล ผมขอบคุณจากใจจริงๆ
ตัวคนเดียวในห้องผู้ป่วย วิวสวย มองออกไปเห็นหอพักที่บางครั้งก็มีสาวในชุดเกาะอกเดินขึ้นบันไดมาซักผ้า ผมพยายาม “ช่วยตัวเอง” ด้วย แต่ก็ห่อเหี่ยวเสียจนทำไม่ไหว หมอมาตอนค่ำ หน้าตาเขาในชุด PPE เหมือนใครสักคนที่ผมรู้จักแต่ก็จำไม่ได้ ใส่แว่น ตัวผอม ติดอ่าง ผมเจอเขาทุกวันเป็นเวลาเก้าวัน จนคืนสุดท้าย เขาบอกผมว่า “ถ้าอยู่ครบแล้ว คุณจะออกเมื่อไรก็ได้ บอกพยาบาลได้เลย” ตอนนั้นผมอ่านซาลัมโบเกือบจบแล้ว
ระหว่างเก้าวันที่ผมอยู่ที่นั่น ผมโทรศัพท์สั่งกาแฟดำแยกนมทุกวัน จนแผนกครัวจำผมได้ พวกเขาให้ยาผมวันละหลายเม็ด การเอ็กส์เรย์ปอดทำวันเว้นวัน โทรฯ ผ่านอินเตอร์คอมฯ มาถามว่าผมมีประกันฯ ไหม? ซึ่งผมตอบว่า “ไม่มี ผมยินดีจ่ายเอง” พวกเขาโทรฯ มาสองสามหนแล้วก็ไม่ถามอีก จนผมมั่นใจแน่ว่าต้องจ่ายเป็นแสนแหงๆ ข้าวสามมื้อที่ผมกินเป็นอาหารอร่อยอย่างดี หมูทอดแกงกะหรี่ แกงส้มชะอมกุ้ง ข้าวผัดอเมริกัน ฯลฯ ยังไงก็หลักแสนแน่นอน
ระหว่างนั้น เพื่อนศิลปินของผมก็ออกจากโรงพยาบาล ความรู้สึกของผมตอนนั้นคืออิจฉาปนหงุดหงิด ผมรู้สึกว่าหมอนั่นช่างไม่แยแส ทั้งที่ผมต้องเจอกับความสับสน ความพ่ายแพ้ ความเจ็บปวด ฯลฯ กระนั้น นั่นก็อาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผมกดอินเตอร์คอมฯ ไปบอกพยาบาลว่า “ผมจะขอทำเรื่องออกวันนี้ครับ”
ผมรู้ว่าผมออกได้แล้วจากคำพูดของหมอ (วันกักตัวจะนับตั้งแต่วันที่รู้ว่าติดเชื้อ ซึ่งของผมรู้ตั้งแต่สองสัปดาห์ก่อน) ผมได้ยาครบโดส และปอดที่เคยมีแผลตอนนี้เหลือแค่แผลเป็น ผมรอดแล้ว
ผมออกจากโรงพยาบาลตอนบ่ายสาม ผมไปกดเงิน ซื้อกาแฟสตาร์บัคหน้าโรงพยาบาล และโทรศัพท์หาน้อง บอกน้องว่ากำลังจะกลับบ้าน อยากให้ช่วยพาไปซื้อพวกน้ำยาทำความสะอาดฟื้นกับไม้กวาดหน่อย ผมโพสลง FB ว่าผมออกจากโรงพยาบาล และเพื่อนผมโทรศัพท์มาหาเป็นคนแรก เพื่อนคนที่รวยร้อยล้าน “กูขอโทษจริงๆ ที่ทำให้มึงต้องเจออะไรแบบนี้” เขาพูด “ไม่เป็นไร ผ่านมาแล้ว” ผมบอกเขา แต่ในใจผมคิดว่า ‘มึงก็เป็นผู้ประสบภัยเหมือนกู มึงขอโทษเพราะคาดหวังว่ากูจะพูดว่า “เฮ้ย ไม่ใช่ความผิดมึงหรอก” ใช่ไหม?’ ฮ่า ฮ่า ผมก็เลยพูดให้หมอนั่นหงุดหงิดว่า “ไม่เป็นไร มันผ่านมาแล้ว” ราวมันเป็นคนผิดจริงๆ
เอาเถอะ
ผมไปที่บ้านของน้องกับพ่อ และพบว่าไม่มีใคร บ้านล็อค ผมโทรศัพท์ไปหาน้องชายและได้คำตอบว่า “เข้าใจผิด” พวกเขากำลังมาที่บ้านผมกับภรรยา ผมเข้าใจในทันทีว่าพ่อกับน้องกลัวผม พวกเขาคงกลัวว่าผมยังมีโรค และพ่อก็แก่แล้ว สุดท้าย คนที่ต้องรับหน้าโกหกผมก็คือน้องชาย แวบหนึ่งผมโกรธพ่อและอยากขอโทษน้องชาย ผมโทรศัพท์หาน้องชาย น้ำเสียงของเขากระวนกระวายเหมือนนักคณิตศาสตร์ที่กำลังพยายามหาตัวเลขที่ถูกต้องเพื่อคุยกับผม เพื่อทำให้ผมสบายใจโดยไม่โทษพ่อ นั่นล่ะ ผมโกรธพ่อตรงนั้น พ่อไม่เคยออกหน้าเอง มีแต่ให้คนอื่นจัดการ
ผมทำความสะอาดบ้าน รอภรรยากลับมา ระหว่างนั้นผมกระวนกระวาย กลัวว่าเธอจะเป็นอะไรไป แต่ก็โชคดีมากๆ ที่เธอไม่มีอาการ มีแต่ไอกับจาม เธอกลับบ้านหลังกักตัวครบสิบสี่วัน เราโชคดี
สุดท้าย กลายเป็นว่าผมไม่ต้องเสียเงินสักบาท รัฐบาลออกให้ด้วยภาษีประชาชน ตอนทำเรื่องออกจากโรงพยาบาล ผมเอาแต่เดินไปมาในห้อง แผนกบัญชีทำงานช้า ผมหงุดหงิด คิดในใจแต่ว่า “แค่จ่ายตังก็จบแล้วไม่ใช่เหรอ” จนทนไม่ไหว เดินออกจากห้องไปนั่งกดดันที่เคานท์เตอร์พยาบาล บอกพวกหล่อนว่า “ชักช้า!” ผมอยากกลับไปดูบ้านจนแทบทนไม่ไหว จนในที่สุด พนักงานบัญชีก็ขึ้นลิฟท์มาหาผมพร้อมยื่นใบเสร็จให้ ผมตรวจทานโดยละเอียด ในมือยังเปิดแอปพลิเคชั่นพร้อมจ่ายเงินเอาไว้ – ผมไม่ต้องเสียเงินเอง โรงพยาบาลจะไปคิดจากรัฐให้ ตอนนั้นแหละ ผมถอนหายใจ เดินไปที่ลิฟท์ ก่อนประตูเปิด ผมหันมาโค้งให้พยาบาล “ขอบคุณที่ช่วยดูแลมาตลอดนะครับ” พยาบาลสูงวัยเดินมาข้างหน้าผม หน้ายังบึ้ง แต่ก็โค้งตอบผมในที่สุด
“ค่ะ ดูแลสุขภาพนะคะ”
ถ้าปีหน้ามาอ่าน ก็ขอให้รู้ไว้ว่า กู รัก มึง
อย่ารีบตายล่ะ
เกี่ยวกับข้อมูลโควิด 19: กรมควบคุมโรคระบาด
บทความที่เกี่ยวข้อง: Memoria Covid 19
[block id=”new-releases-for-footer”]