เรื่องราวของตำนานเทพเจ้ากรีกและโรมันโบราณในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้ถูกค้นพบ นำกลับมานำเสนอและวิเคราะห์ในรูปแบบใหม่ พร้อมทั้งตีความในบริบทใหม่ที่ทันสมัยกว่าเดิม บ่อยครั้งเราอาจจะพบว่าเรื่องราวของเมดูซ่ากระตุ้นมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับสัญลักษณ์ของ เมดูซ่า เองอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านมุมมองของสตรีนิยม การนำตัวละครมาตีความใหม่และวิเคราะห์ผ่านสายตาในปัจจุบันจะเป็นอย่างไรบ้าง เชิญชวนผู้อ่านมาพินิจวิเคราะห์ไปพร้อมๆ กับเราได้เลย
Table of Contents
เมดูซ่า คือใคร?
เรามาทำความรู้จักกับชื่อของเมดูซ่ากันก่อน โดยว่า เมดูซ่า คือ (Medusa) มีรากศัพท์มาจากภาษาโบราณหลายภาษาด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นคำว่า ‘เมธา’ ในภาษาสันสกฤต คำว่า ‘Metis’ ในภาษากรีก หมายถึง ความฉลาด (Wisdom) และในภาษาอียิปต์โบราณคือคำว่า ‘Maat’ หมายถึง ความจริง หรือความยุติธรรม
จริงๆ แล้วเมดูซ่าเป็นมนุษย์มาก่อนที่เธอจะกลายมาเป็นอสูร โดยเธอเป็นบุตรธิดาของฟอร์ซีส (Phorcys) เทพเจ้าแห่งอันตรายของใต้ทะเลลึก และซีโต (Ceto) เทพธิดาแห่งท้องทะเล หลังจากที่เมดูซ่ากลายเป็นอสูร เธออาศัยอยู่บนเกาะร่วมกับพี่น้องกอร์กอนอีกสองตน ตามตำนานเทพปกรณัมกรีก กอร์กอน (Gorgons) มาจากคำว่า ‘gorgos’ ซึ่งเป็นคำคุณศัพท์ที่พบในภาษากรีกโบราณ โดยคำนี้มีความหมายว่า ‘น่าสะพรึงกลัว (terrifying)’
เมื่อกล่าวถึงลักษณะของกอร์กอน ตามตำนานปกรณัมให้คำอธิบายว่า พวกกอร์กอนเป็นสัตว์ประหลาด หรืออสูรกายมีปีกน่าสะพรึงกลัว ร่างกายของพวกมันปกคลุมไปด้วยเกล็ด มือเป็นทองเหลือง ฟันมีลักษณะเหมือนกับเขี้ยวของหมูป่า และเส้นผมเป็นงูที่มีชีวิตซึ่งเคลื่อนไหวไปมาอยู่บนหัว
อย่างไรก็ตาม เมดูซ่านั้นมีความแตกต่างจากกอร์กอนตนอื่น ตรงที่เธอมีดวงตาที่มีความสามารถในการทำให้ใครก็ตามที่จ้องมอง หรือสบตากับเธอโดยตรงจะกลายเป็นหินในทันที นอกจากนี้เธอสามารถถูกสังหารได้ เนื่องจากไม่ได้มีชีวิตที่เป็นอมตะเช่นเดียวกันกับพี่น้องทั้งสอง เรื่องราวของเมดูซ่าและพี่น้องกอร์กอนถูกเล่าขานออกมาได้อย่างน่าสะพรึงกลัวและลึกซึ้งด้วยเช่นกัน
เมดูซ่า กลายมาเป็นอสูรได้อย่างไร?
เมดูซ่ามีพี่น้องร่วมกันอีกสองคน ได้แก่ พี่สาวคนโตที่ชื่อว่า สเธโน (Stheno) ผู้ได้รับฉายาว่า ผู้ทรงพลัง และยูไรอะลี (Euryale) ผู้ได้รับฉายาว่า ผู้โลดโผน เนื่องจากนางมีความสามารถพิเศษเกี่ยวกับความคล่องแคล่วว่องไว ในอดีตก่อนจะกลายมาเป็นกอร์กอน ทั้งสามเคยเป็นหญิงสาวธรรมดาทั่วไป พวกนางถือครองพรหมจรรย์ และบูชาเทพอธีนา เมดูซ่าเป็นหญิงสาวที่งดงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นผมลอนอันเงางามของนาง นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เทพอธีนา (Athena) เกิดความอิจฉาริษยานาง
วันหนึ่งในขณะที่สามพี่น้องกำลังบูชาเทพอธีนาอยู่นั้น ผู้คุ้มครองท้องทะเลและห้วงน้ำ หรือเทพโพไซดอน (Poseidon) ที่ได้ยินเรื่องราวความงดงามและแอบหลงรักเมดูซ่าอยู่ ได้พยายามขืนใจนางภายในวิหารพาร์เธนอน (Parthenon) ตั้งอยู่ ณ กรุงเอเธนส์ (Athens) ประเทศกรีซ โดยชื่อวิหารแห่งนี้มีความหมายว่า ‘ห้องแห่งเทพีพรหมจารี’ (Hall of the virgin goddess) และวิหารยังเป็นวิหารโบราณที่ถวายแด่เทพีอธีนา
เมื่อเทพอธีนาผู้ซึ่งเต็มเปรี่ยมไปด้วยอิจฉาเมดูซ่าอยู่เป็นทุนเดิม เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างเมดูซ่ากับโพไซดอนภายในวิหารของตน จึงสบโอกาสกล่าวหาว่าเมดูซ่าลบหลู่นาง อีกทั้งยังพาชายมาสมสู่ภายในวิหารของนางอีก เนื่องจากโพไซดอนเป็นถึงหนึ่งในสามเทพผู้ยิ่งใหญ่ จึงไม่ถูกเอาความแต่อย่างใด มิหนำซ้ำเมดูซ่าและพี่น้องของนางโดนสาปให้กลายเป็นกอร์กอนอาศัยอยู่บนเกาะกลางทะเล
เรื่องราวหลังจากที่ เมดูซ่า กลายมาเป็นอสรู
หลังจากที่ถูกสาปให้กลายเป็นกอร์กอน เมดูซ่าทั้งรู้สึกอับอาย และโกรธแค้นอธีนาเป็นอย่างมาก ความโกรธแค้นที่เมดูซ่ามีต่อเทพอธีนา จึงได้กลายมาเป็นพลังในการสาปผู้คนที่จ้องตาหรือสบตากับนางให้กลายมาเป็นหิน เพื่อหักล้างความแค้นที่ทำให้นางต้องกลายมาเป็นกอร์กอน ในช่วงท้ายของชีวิตเมดูซ่า นางถูกเพอร์ซีอุสสังหาร เพื่อแค่ให้วีรบุรุษได้แสดงความกล้าหาญโดยมีหัวของเมดูซ่าเป็นรางวัล
ตามตำนานกรีกกล่าวว่า เพอร์ซิอุส (Perseus) เป็นลูกครึ่งเทพ โดยเป็นบุตรของเทพซุส (Zeus) ราชาแห่งทวยเทพ กับหญิงสาวชาวมนุษย์ชื่อว่า ดาเน่ (Danaë) เรื่องราวมีอยู่ว่าวันหนึ่งท้าวโพลิเดกทิสได้จัดงานเลี้ยงขึ้น โดยมีข้อแม้ว่าผู้ได้รับเชิญจะต้องมีของกำนัลมาถวายแด่พระองค์ เพอร์ซิอุสที่ได้รับเชิญไม่มีของขวัญมาถวายให้ ท้าวโพลิเดกทิสจึงเอ่ยปากให้เพอร์ซิอุสไปตัดหัวของเมดูซ่ามาเป็นของกำนัล เพอร์ซิอุสจึงได้ออกเดินทาง เพื่อนำหัวของเมดูซ่ามาเป็นของขวัญ เนื่องจากเพอร์ซิอุสเป็นลูกครึ่งเทพที่เกิดจากซุส
ซุสจึงได้สั่งการให้เทพต่างๆคอยช่วยเหลือเขาทั้งในด้านอาวุธและวิธีการฆ่าเมดูซ่า หนึ่งในอาวุธของเพอร์ซิอุสยังได้จากเทพอธีนาที่เป็นผู้สาปเมดูซ่าอีกด้วย ซึ่งอาวุธนั่นก็คือโล่ เขาสามารถตัดหัวของเมดูซ่าได้สำเร็จ และชูหัวนางขึ้นประกาศชัยชนะ ขณะนั้นเองเลือดของหัวเมดูซ่าที่หยดลงมาได้กลายเป็นม้ามีปีกที่เรียกว่า ‘เพกาซัส’ (Pegasus) ให้เขาได้ใช้เป็นยานพหนะ เพอร์ซิอุสได้ขี่ม้าเพกาซัสไปช่วยเหลือนางแอนโดรเมดา เขาใช้ประโยชน์จากหัวของเมดูซ่ามาสาปพวกทหารให้กลายเป็นหิน จากนั้นนำหัวกลับมาถวายท้าวโพลิเดกทิส แต่เนื่องจากท้าวโพลิเดกทิสได้ไปจ้องตาที่หัวของเมดูซ่าทำให้พระองค์กลายเป็นหิน
ในท้ายที่สุดแล้ว หัวเมดูซ่าได้ถูกเพอร์ซิอุสนำไปมอบให้แก่เทพีอธีนา นางอธีนาจึงนำหัวเมดูซ่าไปประดับโล่ไว้เพื่อเป็นสัญลักษณ์แด่ชัยชนะของเพอซิอุส
การตีความเรื่องเพศผ่านมุมมองต่างๆ จากตำนาน เมดูซ่า
การวิเคราะห์จากซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud)
ซิกมันด์ ฟรอยด์ บิดาแห่งจิตวิเคราะห์ ได้ให้การอธิบายเกี่ยวกับตัวละครเมดูซ่า โดยเขาเรียกการอธิบายนี้ว่า ‘Medusa’s Head’ ตอนที่หัวของเมดูซ่าถูกตัดออกเปรียบเหมือนกับการตอนของเด็กหนุ่ม และความน่าสะพรึงกลัวของหัวเมดูซ่ายังสะท้อนถึงความสยดสยองของการตอน ส่วนผมของเมดูซ่าที่แสดงออกมาในรูปแบบของงู สื่อถึงขั้นตอนกระบวนการของการตอนอีกทีหนึ่ง ข้อเท็จจริงที่น่าทึ่งคือ งูพวกนี้ช่วยบรรเทาความน่ากลัวจากการหายไปของอวัยวะเพศชาย นอกจากนี้การสาปให้ผู้คนกลายเป็นหินเป็นการปลอบใจว่า อวัยวะเพศยังคงแข็งตัวอยู่ ไม่หายไปไหน
การวิเคราะห์จากชนชั้น (Class)
หลายคนอาจมองว่า เมดูซ่าเป็นเครื่องเตือนใจถึงกลุ่นคนที่มีพลวัตรทางอำนาจมากมายผู้ที่มีมุมมองว่า “โลกเป็นเพียงสนามเด็กเล่น” (The world is a playground) จากเรื่องราวตำนานของเมดูซ่า ตัวละครเทพโพไซดอนได้เป็นหนึ่งในบุคคลกลุ่มนั้น แม้ว่าเมดูซ่าจะให้ความเคารพและบูชาเทพอธีนามากน้อยเพียงใด ทว่าเธอไม่เคยได้รับการปกป้องใดๆ เลย ตอนที่เธอถูกโพไซดอนขืนใจ และเธอยังเป็นผู้ที่รับโทษรุนแรงจากการกระทำที่โพไซดอนเป็นคนก่อขึ้นมา จากเนื้อเรื่องในส่วนนี้ แสดงให้เห็นว่า เทพผู้ยิ่งใหญ่มองมนุษย์เป็นเพียงแค่เบี้ยล่างของพวกเขาเท่านั้น
บางทีตำนานของเมดูซ่าอาจเป็นเรื่องราวของความอยุติธรรมที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งได้รับความทุกข์ทรมาน ทั้งๆ ที่เธอเป็นผู้บริสุทธิ์และไม่ได้กระทำความผิดใดๆ และความอยุติธรรมเหล่านี้ไม่มีผลกระทบต่ออำนาจที่ยิ่งใหญ่ของโลกใบนี้
การวิเคราะห์จากมุมมองสตรีนิยม (Feminism)
นักสตรีนิยมสมัยใหม่ได้มองเมดูซ่าว่าเปรียบเสมือนภาพจำของสังคมที่มีทัศนคติด้านลบต่อผู้หญิงที่มีอำนาจ พวกเขากล่าวว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ ผู้หญิงพยายามจะลุกขึ้นมามีอำนาจเทียบเท่ากับผู้ชาย พวกเธอจะถูกตีตราว่าเป็นอาชญากร หรือว่าสัตว์ประหลาดทันที นอกจากนี้ นักสตรีนิยมยังมีมุมมองอีกว่า ตอนที่เมดูซ่ากำลังตั้งท้องลูกของโพไซดอนและได้ถูกเพอร์ซีอุสสังหาร ในช่วงที่คอของเธอหลุดออกจากบ่า มีม้าเพกาซัสบินออกมาจากคอของเธอ การเล่าเรื่องราวเช่นนี้เป็นการทำให้การฆ่าเด็กของเพอร์ซิอุสดูเบาลงอย่างเห็นได้ชัด
ดังที่เราได้กล่าวไป ตำนานของเมดูซ่าสามารถตีความได้หลายมุมมอง อย่างไรก็ตาม เราคิดว่าบางทีการวิเคราะห์ที่น่าสนใจที่สุดควรจะเป็นการมองผ่านมุมมองของสตรีนิยม เพราะการวิเคราะห์ในรูปแบบนี้ทำให้เห็นว่าผู้เขียนสามารถหลีกเลี่ยงความโกรธของเหล่าสตรีได้จากการเล่า หรือการบรรยายเนื้อเรื่องให้เป็นนิยายแนวแฟนตาซี เพื่อเป็นการลดทอนความรุนแรงและลดการปะทะแนวความคิดอันเดือดดาล
นักสตรีนิยมจำนวนมากจึงหันมาทำการตีความและวิเคราะห์เรื่องราวเกี่ยวกับเมดูซ่าในรูปแบบใหม่ เนื่องจากการเรียนรู้เกี่ยวกับตำนานจากมุมมองที่แตกต่างกันเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กและวัยรุ่นที่อ่านเรื่องราวเหล่านี้ จะได้รับผลกระทบจากมุมมองและความคิดเห็นของตัวละคร
การอ่านเรื่องราวที่มีการกล่าวโทษเหยื่อจากถูกการข่มขืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยพระเจ้าผู้ทรงอำนาจ ส่งผลให้พวกเขาเห็นชอบกับสิ่งเหล่านั้นได้ง่าย ดังนั้นเมื่ออ่านเรื่องราวเหล่านี้ในมุมมองที่ไม่โทษเหยื่อ และมุ่งเน้นไปที่ผู้หญิงที่ปกป้องตัวเอง เราสามารถส่งผลกระทบอันดีในสังคมให้มองย้อนกลับไปยังสิ่งเหล่านี้ ดังเช่นประโยคที่ว่า “เปลี่ยนเรื่องเล่าให้ดีจะได้ไม่มีเหยื่อมาเล่าเรื่องร้าย”
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก
- ทฤษฎีของฟรอยด์ โดย antonis ch
- ที่มาของคำว่า Gorgons จาก Dictionary by Merriam-Webster
- เรื่องราวของเมดูซ่าและการตีความต่างๆ จาก mythology.net เขียนโดย Prof. Geller
- ลักษณะของกอร์กอน จาก Ancient-Greece.org
- วิดีโอ Greek Bearry EP17 เพอร์ซีอุส (Perseus) วีรบุรุษผู้สังหารเมดูซา โดย Bearry Channel
- A Different Perspective on Medusa’s Story: a Feminist Retelling of a Greek Myth จาก Zenerations เขียนโดย Sage Freed
- Mishandling the Myth of Medusa จาก An Injustice! เขียนโดย Tyler A. Donohue