Table of Contents
La Révolution: การกดขี่, การต่อต้าน และซอมบี้
Movie Review: La Revolution เป็นหนังผีดิบ, ซอมบี้ ที่ย้อนกลับไปในยุคประวัติศาสตร์ก่อนปฏิวัติฝรั่งเศส ทำให้หนังเข้าไปสำรวจการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของฝรั่งเศสผ่านหนังซอมบี้
บทความเปิดเผยส่วนสำคัญบางส่วนของซีรีส์
เรายังต้องการหนังซอมบี้อีกหรือไม่ หลังจากที่หนังซอมบี้ที่ผลิตขึ้นมามากมายในช่วงหลัง มีทั้งเข้าฉายในโรงหนัง หรือเป็นซีรีส์ ที่ได้รับความนิยมสูงสุดอย่าง Walking Dead กลายเป็นหนังที่สามารถจับแก่นแกนอารมณ์คนดูได้อย่างเข้าถึงโครงสร้างทางสังคม ความหวดกลัว การเอาชีวิตรอด การหักหลัง ความเห็นแก่ตัว ความเห็นอกเห็นใจ การเล่นกับความรู้สึกของตัวละครหลากหลาย ระหว่างคนกับซอมบี้ และความเป็นมนุษย์ กับความไร้กระแสสำนึก หนังยืนอยู่หลายซีซันเล่นกันจนคนดูเบื่อไปข้างหนึ่งเลยทีเดียว หนังซอมบี้ได้แปรเปลี่ยนหนังเขย่าขวัญผีดิบไร้สำนึกให้กลายเป็นกระแสหนัง Pop Culture หรือเครื่องมือวิพากษ์วิจารณ์สังคมทุนนิยมอย่างเต็มตัวในช่วงหลัง แม้ในช่วงแรกของหนังซอมบี้ถือกำเนิด มันเป็นหนังที่มีจุดประสงค์สร้างขึ้นมาให้ดูน่ากลัว ตื่นตระหนก และเป็นหนังเขย่าขวัญที่สร้างความบันเทิงให้ผู้ชม แต่หลังจากที่มันสามารถวิพากษ์สังคมในยุคใหม่ได้ผล บวกกับสามารถสร้างความสนุกสนานควบคู่ไปด้วย จึงทำให้หนังซอมบี้ได้รับอนุมัติการสร้างจากสตูดิโอหนังมากขึ้นเป็นลำดับ และอาจจะกล่าวได้ว่าหนังซอมบี้ได้รับการยอมรับจากผู้ชมได้ทุกระดับ ในแง่ของความบันเทิง และในแง่การอุปมาอุปมัยเชิงสัญลักษณ์ที่ซ่อนอยู่ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ จึงทำให้หนังซอมบี้กลายเป็นหนังที่ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย
ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อหนังซอมบี้ได้ก้าวข้ามศักยภาพของมันไปอีกขั้นหนึ่งหลังจากที่มันได้วิพากษ์กระแสทุนนิยมยุคปัจจุบันแล้ว ความทะเยอทะยานของหนังซอมบี้ได้ถูกนำเข้าสู่โลกแฟนตาซีเพิ่มมากขึ้น Pride and Prejudice and Zombies ในปี ค.ศ. 2016 เรื่องราวของหนังเกิดขึ้นในยุคต้นศตวรรษที่ 19 ในอังกฤษ ซึ่งหนังได้ล้อไปกับชื่อนิยายโรแมนติกของเจน ออสติน Pride and Prejudice ที่เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1813 โดยแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของตัวเอกอลิซาเบธ เบนเน็ต นิยายบรรยายถึงลักษณะคุณค่า ความงาม ความแตกต่าง ของผู้หญิงในสมัยนั้นว่าด้วยเรื่องการศึกษา การแต่งงาน และฐานะเงินทอง
นอกจาก Pride and Prejudice and Zombies แล้ว Abraham Lincoln: Vampire Hunter ในปี ค.ศ. 2012 หนังที่สร้างจากนิยายเรื่องเดียวกันวางแผงในปี ค.ศ. 2010 ของเซ็ธ เกรแฮม-สมิธ ได้จับเอาประวัติศาสตร์ และตัวละครที่มีชีวิตอย่างประธานาธิปดีสหรัฐอเมริกาอับราฮัม ลินคอล์น มาเขียนเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ เขย่าขวัญ แฟนตาซี แม้ Abraham Lincoln: Vampire Hunter จะไม่ใช่หนังซอมบี้ แต่เป็นแวมไพร์หนึ่งในตระกูลผีดูดเลือดเก่าแก่ชนิดหนึ่งที่มีตำนานมาเนิ่นนาน และตัวแวมไพรนั้นถูกนำมาตีความ นำเสนอผ่านประวัติศาสตร์บ่อยครั้งผ่านทั้งนิยายและหนังเสมอ ซึ่งต่างจากหนังซอมบี้ที่มักจะนำเสนอผ่านเรื่องราวปัจจุบัน หรือไม่ก็อนาคตอันใกล้มากกว่า
เมื่อมาถึง La Révolution ที่ทาง Netflix เป็นผู้ผลิต สิ่งที่น่าสนใจหลายประการ
ประการแรก
การเลือกใช้ช่วงเวลาปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นแกนหลักของหนัง สภาพสังคมของฝรั่งเศสช่วงปี ค.ศ. 1787-1789 อยู่ในช่วงทรุดโทรม ข้าวยากหมากแพง ขณะที่ราชสำนักเต็มไปด้วยความฟุ้งเฟือ แวร์ซายเป็นฐานอำนาจการปกครองที่กดขี่ เหตุการณ์นี้สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์สังคมฝรั่งเศสและอาณาจักรอื่นในยุโรป เนื้อหาของซีรีส์ถอดช่วงเวลาดังกล่าวออกมาอย่างตรงไปตรงมา การปฏิวัติฝรั่งเศสในตัวมันเองเรื่องเล่าของมันเต็มไปด้วยเรื่องราวสยดสยองอยู่แล้ว ในตัวประวัติศาสตร์สามารถสร้างเรื่องราวที่เร้าใจได้สูง สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การสร้างบุคลิกของตัวละคร การผูกเรื่อง การหักมุม และการนำเสนอเรื่องราวสยองขวัญ ผ่านการปกครองในเมืองเล็กๆ ที่อำนาจตกอยู่กับคนในตระกูลเดียว เรื่องชนชั้น เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการปกครอง เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ การต่อต้านเริ่มเกิดขึ้นจากกลุ่มเล็กๆ ของผู้คนที่โดนกดขี่ ขณะเดียวกันขุนนางที่ไม่เห็นด้วยกับอำนาจบาตรใหญ่ก็จะถูกสังหาร หรือถูกกระทำไม่ต่างจากฝ่ายกบฎ
การติดเชื้อเลือดสีน้ำเงิน ทำให้ผู้ติดเชื้อมีความกระหายเลือดและเนื้อสดๆ ขุนนางจากหัวเมืองที่ถูกเรียกตัวไปวังแวร์ซาย นครปารีส ถูกสังหารและถูกฉีดเลือดสีน้ำเงินเข้าสู่กระแสเลือด เชื้อตัวนี้ปลุกให้พวกเขากลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยทำให้มีพละกำลัง มีชีวิตยืนนาน โดนฟัน โดนแทง หรือโดนยิง บาดเจ็บหนักแค่ไหนก็จะหายได้เองโดยไม่ต้องเยียวยา แต่เมื่อตื่นขึ้นมาครั้งแรก ความกระหายหิวนั้นจะรุนแรงจนไม่สามารถยับยั้งจิตใจได้
ต้นกำเนิดของเลือดน้ำเงินนั้นน่าจะมาจากลัทธิวูดู (ในหนังซีซันแรกยังคงกำกวมไม่ชี้ชัด) นั่นหมายความว่าใน La Révolution เชื้อเลือดน้ำเงินไม่ใช่ตระกูลผีดิบแบบขุนนางอย่างเค้าท์แดรกคูลา จากทรานซิลวาเนีย ในโรมาเนีย ที่ต้องการมาแพร่เชื้อในอังกฤษ แวมไพร์อย่างแดรกคูลามีลักษณะของผู้ดี การดูดเลือดเป็นไปในลักษณะพิถีพิถัน เลือกเฟ้นเหยื่อว่าจะนำมาเป็นบริวารหรือดูดเลือดจนตาย
ทำไมลัทธิวูดูถึงมาเกี่ยวกับเลือดน้ำเงินใน La Révolution เดิมที “วูดู” เป็นไสยศาสตร์มนต์ดำที่มีรากฐานมาจากแอฟริกาตะวันตก วูดูเป็นศาสตร์ที่อยู่คู่กับแอฟริกามาช้านานและอยู่ในชีวิตประจำวันของคนแอฟริกา มีอิทธิพลต่อความคิด ประเพณี วัฒนธรรม และการใช้ชีวิตของคน ขณะเดียวกันวูดูเองก็เป็นได้ทั้งศาสตร์มืดและสว่าง แต่ส่วนใหญ่มักถูกนำมาใช้ได้ด้านมืด ตั้งแต่แก้แคน ไปจนถึงทำลายศัตรู จากนั้นลัทธิวูดูก็เผยแพร่ไปสู่ทาสที่ถูกนำไปใช้งานทั้งในยุโรป และอเมริกา ลัทธิวูดูมีความเชื่ออยู่สองเรื่องคือ “ชีวิต” และ “วิญญาณ” ที่สามารถเชื่อมต่อกันได้ และสิ่งที่หมอผี–แม่มด
ในลัทธิวูดูมีมนต์ชนิดหนึ่งที่สามารถปลุกคนตายให้ฟื้นขึ้นมา และเรียกว่า “ซอมบี้” ซึ่งซอมบี้นี้เองเป็นร่างกายที่ฟื้นขึ้นโดยปราศจากกระแสสำนึกของมนุษย์–วิญญาณ เป็นเพียงร่างกายที่กลับมาทำงานอีกครั้ง เมื่อหิวก็จะกินโดยไม่เลือก ไร้อารยะ ไร้ความปราณี ไม่มีศีลธรรม
การติดเชื้อในซีซันแรกค่อนข้างคลุมเครือว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ตั้งแต่การติดเชื้อของอัลแบรต์ กิโยติน (Lionel Erdogan) ที่ไปไกลถึงอเมริกา เขารอดชีวิตจากการสังหารโดยบิดาของเคาเตสส์อลิส (Marilou Aussilloux) ในช่วงที่เขามีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวในหลายปีที่ผ่านมา เขาได้รับการไว้ชีวิต ก่อนลี้ภัยไปอเมริกา ที่นั่นเขาได้รับบาดเจ็บกลางภูมิภาคแร้นแค้น และตายลง
ก่อนจะได้รับเลือดน้ำเงินจากหญิงผิวสีสวมหน้ากากลึกลับ จนฟื้นชีวิตอีกครั้ง แล้วหญิงสาวสวมหน้ากากได้กลายมาเป็นภาพหลอนของมาเดอลีน (Amelia Lacquemant) ในกระแสสำนึก ราวกับเธอสามารถทำนายอนาคตได้ นอกจากนั้นอัลแบรต์เชื่อมโยงกับโอกา (Doudou Masta) ที่กลายมาเป็นแพะในคดีฆาตกรรมลึกลับ เหยื่อถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม คดีนี้เป็นคดีแรกที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อปกปิดการก่ออาชญากรรมของพวกเลือดน้ำเงินที่เป็นขุนนาง ขณะที่โอกาและอัลแบรต์กำลังออกตามหาต้นกำเนิดของการคืนชีพอันเจ็บปวด
ดังนั้นการที่ La Révolution เลือกให้เลือดสีน้ำเงินเป็นการติดเชื้อคล้ายซอมบี้ มากกว่าที่จะเลือกให้ติดเชื้อแบบแวมไพอย่างแดรกคูรา จึงมีนัยต่อการลดชั้นเหล่าทรราช เผด็จการที่ข่มเหงประชาชนในประเทศให้เหลือเพียงซอมบี้มนุษย์กินคนที่ไร้จิตใจ ไร้จิตสำนึก การติดเชื้อเลือดน้ำเงินจึงเป็นการที่แสดงให้เห็นถึงความต้องการที่จะมีชีวิตอมตะ แม้ตอนที่พวกเขาไม่หิวโหยแล้ว พอควบคุมตัวเองได้ พวกเขาก็ยังคงไม่สามารถระงับความต้องการของตัวเองที่จะกินได้อยู่ดี และการขยายอำนาจผ่านเชื้อสีน้ำเงินนั้นจึงเป็นความต้องการที่ไม่สิ้นสุด โดยประชาชนเป็นเพียงอาหารของพวกเขา ถ้าแวร์ซายทำได้สำเร็จฝรั่งเศสก็จะเป็นแค่ดินแดนของผีดิบกระหายเลือด ที่ว่างเปล่าสำหรับผีเลือดน้ำเงินเท่านั้น
ประการที่สอง
ตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นแม้จะอิงประวัติศาสตร์ แต่ก็มีสีสันในฐานะความบันเทิง อย่างเช่น โยเซฟ กิโยติน (Amir El Kacem) นายแพทย์ประจำคุกบาสเตียในหนัง เป็นผู้ที่พยายามจะรักษาโรคติดเชื้อ ในประวัติศาสตร์จริงโยเซฟ กิโยติน เป็นแพทย์ นักการเมือง และบุคคลสังกัดองค์กรฟรีเมสัน (Freemasonry) ซึ่งป็นองค์กรภราดรภาพที่มีเบื้องหลังอันลึกลับตั้งแต่ราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 องค์กรฟรีเมสันจะยึดถือปรัชญาจริยธรรม และอภิปรัชญาเดียวกันในเกือบทุกกรณี เป็นการประกาศธรรมนูญของความเชื่อใน “ผู้เหนือสิ่งทั้งปวง” (Supreme Being) โยเซฟ กิโยติน เป็นผู้เสนอต่อรัฐสภาให้ใช้เครื่องสังหารแบบบั่นคอกับนักโทษ เพื่อให้ได้รับความทรมานน้อยที่สุด จากเดิมที่ฝรั่งเศสประหารชีวิตด้วยกงล้อบดนักโทษที่ถูกประชาชนต่อต้านกันมาก
แม้ในซีรีส์ซีซันแรกหนังยังไม่นำเสนอไปถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ในแง่ความน่าสนใจต่อประวัติศาสตร์ กำเนิดของกิโยตินมีต้นแบบมาจากประเทศอังกฤษและอิตาลีหลายร้อยปีก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส เครื่องตัดหัวดังกล่าวที่อิตาลีเรียกว่า แมนนาเอีย (Mannaia) ส่วนเครื่องประหารของอังกฤษมีชื่อว่า ฮาลิแฟ็กซ์ กิบเบ็ต (Halifax Gibbet) ตั้งอยู่ที่เวสต์ยอร์กเชียร์ ถูกใช้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 หรือประมาณ 200 ปีก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศส และเมื่อโยเซฟ กิโยติน เสนอสภาให้ใช้เครื่องดังกล่าว พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เองก็ได้พัฒนาให้ใบมีดเอียงขึ้นเพื่อให้ตัดได้คมขึ้นเร็วขึ้น และเครื่องสังหารดังกล่าวก็ถูกนำมาใช้กับพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เช่นเดียวกัน
ในซีรีส์ La Révolution แสดงให้ผู้ชมเห็นถึงการเริ่มต้นการรุกขึ้นต่อสู้กับชนชั้นปกครองที่โหดร้ายของขุนนางชั้นสูง พวกเขาดูดกินทรัพยากรของแผ่นดินไปเป็นของตัวเอง รีดนาทาเร้น เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว แย่งชิงอำนาจระหว่างกันและยึดครองบัลลังค์ด้วยความโลภ อำนาจถูกใช้อย่างโหดเหี้ยมผ่านผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ที่ควรบรรเทาทุกข์ บำรุงสุขให้ปวงประชา แต่กลับทำหน้าที่กดขี่บีฑาฝ่ายตรงข้ามอย่างเข้มงวด แถมยังปกปิดอาชญากรรมอันร้ายแรงของฝ่ายขุนนาง จนผู้ต่อต้านได้กลายเป็นผีที่คอยต่อต้านจนเกิดเป็นขบวนการผนึกกำลังกันในหมู่ผู้ถูกกดขี่ลุกขึ้นสู้
ประการสุดท้ายของซีรีส์ที่น่าสนใจคือ การเพิ่มบทบาทของผู้หญิงให้ขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าของกระบวนการปฏิวัติ แม้ในประวัติศาสตร์ผู้หญิงสมัยนั้นยังไม่มีบทบาทแถวหน้ามากนัก ดังกรณีที่เคาเตสอลิส แห่ง มองทากีส์ เป็นในซีรีส์ เธอพยายามรวบรวมขุนนางที่ไม่เห็นด้วยกับอาของเธอและลูกพี่ลูกน้องที่กำลังกวาดล้างผู้ต่อต้านอย่างรุนแรง ขณะเดียวกันเธอพยายามปกป้องลูกสาวที่ถูกปกปิดในเรื่องสมรสก่อนแต่งงาน แต่สิ่งที่ La Révolution นำเสนอก็เพื่อยกระดับการต่อสู้ในปัจจุบัน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้หญิงมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลก แน่นอนว่าในประวัติศาสตร์ปฏวัติฝรั่งเศส ทุกชนชั้น ทุกเพศ ทุกวัย ได้หลอมรวมเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม องคายพเหล่านี้ได้เกิดขึ้นและก่อกระแสของการเปลี่ยนระบอบการปกครองทั่วทั้งยุโรป ลมแห่งการปเปลี่ยนแปลงเมื่อถือกำเนิดขึ้นแล้วไม่อาจหวนกลับ เพียงแต่เมื่อไหร่เท่านั้นที่มันจะเกิดขึ้น ไม่ช้าหรือเร็วกว่านั้น เราไม่สามารถยื้อเวลาลงได้ ไม่ว่าจะนานเพียงไร