หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อห้องสมุด The Reading Room ผ่านสื่อต่างๆ มาบ้าง บางคนอาจจะเคยได้ยินชื่อ เกี๊ยว รีดดิ้งรูม อยู่ไม่มากก็น้อย เธอเป็นใคร เรามาทำความรูจักกับเธอจากทุกแง่มุม –บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารเรื่องสั้น–
ผมนั่งมองอาคารซึ่งเรียงตัวกันอยู่ภายนอกจากหน้าต่างห้องสมุด The Reading Room เมฆฝนเคลื่อนคล้อย และคาดว่าคงจะตกลงมาในไม่ช้า กลิ่นกาแฟโชยออกมาจากแก้วกระดาษ ผมซื้อมาจากร้านแบรนด์ดังที่อยู่ตึกข้างๆ ไม่กี่นาทีหญิงสาวผมยาวสลวยปรากฏขึ้นที่หน้าประตู เธอสวมชุดกระโปรงติดกัน แว่นตากันแดด ถือกระเป๋าและถุงใบเล็กๆ เข้ามา เธอคือ นราวัลลภ์ ปฐมวัฒน หรือ ที่หลายคนเรียกเธอว่า เกี๊ยว รีดดิ้งรูม
Table of Contents
ตัวตน ชีวิต ของ เกี๊ยว รีดดิ้งรูม

เรานั่งอยู่ใน The Rading Room ห้องสมุดเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บนถนนสีลมซอย 19 ห่างจากวัดแขกไม่ถึงร้อยเมตร รอบบริเวณไม่วุ่นวายเหมือนย่านสีลมช่วงต้น ซึ่งผมเพิ่งเดินฝ่าผู้คนจนคิดว่าตัวเองเดินหลงอยู่ในนิวยอร์ก โตเกียว หรือลอนดอน
หลายคนอาจจะสงสัยว่าเธอเป็นใคร เธอไม่ใช่นักเขียน ไม่ใช่คนทำหนังสือ ไม่ใช่บรรณาธิการ หลายคนรู้จักเธอในนาม ‘เกี๊ยว รีดดิ้งรูม’ ผมเองก็รู้จักเธอในนามนั้นผ่านหน้า Facebook มาร่วมสองปี ชื่อของเธอเริ่มเป็นที่สนใจต่อสื่อ มีหนังสือหลายเล่มไปสัมภาษณ์ว่าเธอทำอะไร คิดอะไร และกำลังไปสู่จุดไหน ผมเองก็ตามอ่านทว่าก็ยังไม่รู้จักเธอเสียทีเดียวว่าเธอเป็นใคร
ความสังสัยนี้นำพาผมมาที่นี่ ห้องอ่านหนังสือที่โล่งสบาย สถานที่ที่เราเห็นภาพการทำกิจกรรมทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าหัวข้อเสวนาจะเป็นเรื่องราวทางศิลปะ หนัง หนังสือ ดนตรี การเมือง ฟุตบอล และสังคม ทุกกิจกรรมล้วนแล้วทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่าของแบบนี้มันเจ๋งมากทีเดียว และสิ่งเหล่านี้เกิดจากการปั้นของหญิงสาวร่างผอมตัวเล็กคนนี้ได้อย่างไร อะไรเป็นแรงขับเคลื่อนให้เธอทำสิ่งนี้
ก่อนที่ผมจะเริ่มถามว่าเธอทำอะไร ผมอยากรู้ว่าเธอเริ่มต้นมาได้อย่างไร เกี๊ยวตอบว่า เธอเริ่มจากการอ่านหนังสือ อ่านหนังสือมาตั้งแต่เยาว์วัย เริ่มอ่านหนังสือออกก็อ่านมาโดยตลอด การที่ต้องอยู่คนเดียวในวัยเด็กทำให้เธอกับหนังสือเป็นเหมือนสิ่งที่ขาดหายไปไม่ได้ เธอเริ่มอ่านงานปรัชญาตอนประถมห้าประถมหก และอ่านด้วยภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาไทย ซึ่งทำให้ทัศนะความรู้ไม่มีขอบเขต
เมื่อจบจากมัธยมเธอสอบติดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนในคณะอักษรศาสตร์ เธอเล่าว่าตัวเองทำกิจกรรมหลายอย่างที่มหาวิทยาลัย และมักจะมีแนวคิดแปลกๆ ที่ไม่ค่อยเหมือนคนอื่นเสมอ เช่นถ้าคนทั่วไปจะคิดว่าทำไมหนังสือเล่มนี้ถึงขายดี แต่เธอกลับอยากจะรู้ว่าหนังสืออีกเล่มที่ขายไม่ดีเป็นเพราะอะไร เธอมองว่าถ้าคิดเหมือนคนอื่นคงไม่มีความเปลี่ยนแปลง
ที่จุฬาฯ เกี๊ยวเล่าว่าโชคดีที่ได้เรียนกับอาจารย์ที่แอคทีฟ มันทำให้เธอสนุกกับการเรียนเป็นอย่างมาก และที่จุฬาฯ คณะอาจารย์ถูกแบ่งออกเป็นสองข้างคือฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา ซึ่งเธอคิดว่ามันไม่เหมือนใคร เราคงไม่ต้องบอกว่าเธออยู่ฝั่งไหน แต่กระนั้นสิ่งที่ทำให้เธอรู้สึกว่าสิ่งที่เธอรักและหลงใหลนั้นมันยังไม่พอที่จะออกไปทำบางสิ่งให้เป็นความจริง หลังจบจากจุฬาฯ เธอเดินทางไปเรียนที่ Pratt Institute บรู๊คลิน นครนิวยอร์กในทันที โดยข้ามห้วยไปเรียนปริญญาโทเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะ และสิ่งนั้นทำให้เธอพบว่าตัวเองมีศักยภาพไม่เพียงพอ เธอยังไม่พร้อม เธอบอกว่าหนึ่งปีที่อยู่นิวยอร์กทำให้ทุกข์ทรมาน แต่เธอเป็นคนที่ทบทวนการทำงานของตัวเองโดยตลอด เป็นคนที่ประเมินความสามารถของตัวเอง ทั้งความคิด จิตใจ และเธอก็ตัดสินใจบินกลับเมืองไทยมาตั้งหลักใหม่

เกี๊ยวเอ่ยว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ การประเมินตัวเองทำให้เธอยอมรับความจริง เธอไม่ฝืนทำในสิ่งที่ไม่สามารถเป็นไปได้ เธอยอมรับความล้มเหลว จากนั้นนำความล้มเหลวมาคลี่ออกเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา
เมื่อกลับเมืองไทยได้สักพักเธอก็ได้ทุนไปเรียนที่นิวยอร์กอีกครั้งที่มหาวิทยาลัยเดิม แต่เปลี่ยนสาขาไปเรียนการจัดการวัฒนธรรม ซึ่งสาขานี้ทำให้เธอรู้ว่าตัวเองมีความสามารถในทางจัดการ และประสานงานอะไรบางอย่างได้ เมื่อเรียนจบเธอมีความคิดที่จะอยู่ที่นิวยอร์ก จึงหางานทำที่นั่นโดยได้งานในแกลลอรี จุดนั้นเป็นจุดเริ่มต้นบ่มเพาะประสบการณ์ในตัวเอง เธอประทับใจวิธีการจัดการของแกลลอรี รูปแบบกิจกรรม ความพร้อมของเครื่องมือ เธอเอ่ยถึงหนังของ Jean-Marie Straub / Daniele Huillet เร่ื่อง Empedocles และ Cezanne ที่ต้องใช้เครื่องฉายหนังสิบหกมิลลิเมตร เสียงเครื่องฉายที่ดังอึงอลในห้องเล็กๆ ของแกลลอรีอยู่ในความทรงจำ เมื่อสนทนาถึงช่วงนี้ดวงตาของเธอมีประกายฉายแววความสุข
ผมถามเธอว่าผู้คนที่นิวยอร์กสนใจกิจกรรมแบบนี้ขนาดไหน เธอตอบว่ามีอยู่จำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่ก็เป็นพวกชนชั้นสูง (Elite) เธอตอบแล้วหัวเราะอย่างเข้าใจ แล้วเสริมว่ามันก็เป็นแบบนี้ เราเข้าใจว่ามันเป็นสิ่งที่ไปเสริมความต้องการของพวกเขา และเราก็ไปตอบสนองพวกเขาอย่างพอเหมาะ นอกจากศิลปะแล้วสิ่งต่างๆ ที่นิวยอร์กก็มีให้มากมาย ไม่ว่าคุณต้องการอะไรสามารถหามาสนองความต้องการได้หมด ส่วนเรื่องประชาสัมพันธ์งานทางด้านศิลปะวัฒนธรรม ที่นิวยอร์กค่อนข้างมีระบบ เธอบอกว่าหนังสือพิมพ์ต่างๆ จะมีพื้นที่ให้กับการประชาสัมพันธ์ เมื่อมีกิจกรรมทางหนังสือก็จะลงข่าวให้ ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวได้ และเลือกไปร่วมงานตามรสนิยม
สิ่งที่ผมสงสัยมากก็คือทำไมเธอจึงกลับเมืองไทย เธอตอบผม แต่ผมไม่แน่ใจว่าเธอจะให้พูดหรือเปล่า แต่เป็นว่าระยะเวลาห้าปีที่นิวยอร์ก เป็นความทรงจำ เป็นประสบการณ์ ทั้งเต็มไปด้วยความยากลำบาก ทั้งสุขและทุกข์ การขอเวิร์กเพอร์มิตที่ยากเหลือหลาย และแกลลอรีบางแห่งก็ไม่อยากจะทำให้ ทว่าการใช้ชีวิตที่มองไม่เห็นอนาคตเป็นจุดหนึ่งของการตัดสินใจ เธอรู้สึกว่าการงานที่ทำอยู่ไม่สามารถก้าวหน้าได้มากกว่านี้ เพื่อนหลายคนที่จบออกไปแล้วต่างก้าวหน้าในหน้าที่การงาน การเป็นคนต่างชาติถูกใช้งานอย่างหนัก ทำแทบทุกอย่าง แต่มองไม่เห็นเลยว่าจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไร การกลับเมืองไทยจึงอยู่บนพื้นฐานที่เธอมีความเชื่อ นั่นคือการประเมินชีวิตของตนเองเป็นระยะ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลง แล้วตัดสินใจในสิ่งที่ควรจะเป็น
ผมถามเธอว่าจากบ้านไปนานถึงห้าปี เมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปไหมสำหรับเธอ เธอตอบว่าถ้ากรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงไปไม่มาก เธอคงหมายถึงตึกรามบ้านช่อง ถนนหนทาง การก่อสร้างที่ไม่เคยเสร็จ รถติดทุกวันจันทร์ถึงศุกร์รวมถึงเสาร์เช้า แต่ถ้าเรื่องการเมืองมันมีความกดดันอยู่สูง เธอกลับมาในช่วงหลังรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 ช่วงเวลาดังกล่าวคาบเกี่ยวกับรัฐบาลสุรยุทธ จุลานนท์ เธอบอกว่าที่เมืองนอกแทบจะไม่มีข่าวเรื่องเมืองไทย แต่เมื่อกลับมาถึงมันมีความเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก นั่นเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เธอสนใจสภาพการเมืองและสังคมของไทย น้ำเสียงของเธอเจือด้วยความเชื่อมั่นว่า สภาพการเมืองและสังคมไทยควรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ผู้คนต้องทำความเข้าใจยอมรับความหลากหลาย ยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า
เมื่อกลับถึงเมืองไทยเธอต้องเริ่มตั้งหลักอีกครั้ง เธอบอกว่าตอนกลับมาเธอไม่รู้จักใครเลย ไม่ค่อยมีเพื่อน ไม่ค่อยมีหนทาง โชคดีมีคนแนะนำให้เธอทำงานให้กับ Asia Art Archive ที่ฮ่องกง โดยเธอทำงานเก็บรวบรวมข้อมูลศิลปะในประเทศไทย ซึ่งตอนเริ่มงานเธอพบว่าปัญหาที่หนักมากก็คือ ศิลปินไทยไม่มีระบบจัดเก็บข้อมูล ไม่ค่อยมีประวัติ ไม่มีหนังสือให้เลือกศึกษา เธอพูดติดตลกว่าข้อมูลทั้งหมดมีหนังสือเพียงสองเล่ม แต่เท่านี้สามารถรอบรู้แวดวงศิลปะไทยได้เหมือนคนที่คลุกคลีมาเป็นสิบปี ซึ่งเธอคิดว่ามันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น
นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แวดวงศิลปะไม่ทำงานตามที่ควรจะเป็น เมื่อทำงานที่ Asia Art Archive ได้สักพัก เศรษฐกิจทางฮ่องกงเริ่มมีปัญหา และทาง Asia Art Archive แจ้งว่าอาจจะต้องจ้างเธอในแบบฟรีแลนซ์แทน จากจุดนี้เธอก็เริ่มมองหาทางที่จะขยับขยายทำบางอย่างที่เป็นของตัวเอง และภาพของ The Reading Room (TRR) เริ่มเป็นรูปเป็นร่างในช่วงเวลานี้

The Reading Room เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 2009 เธอใช้บ้านสองชั้นเล็กๆ ของญาติที่ถูกปล่อยร้าง เธอกับเพื่อนช่วยกันทำความสะอาด ทาสี และตกแต่งด้วยตัวเอง เธอต้องการทั้งออฟฟิศที่สามารถจัดกิจกรรมได้ ตอนทำครั้งแรกก็มีคนมาร่วมกิจกรรมพอสมควร โดยใช้ชั้นสองเป็นห้องฉายหนัง กิจกรรมยังต้องเดินด้วยเงิน เธอบอกว่ายอมผ่อนส่งเครื่องฉายโปรเจ็คเตอร์ เพื่อที่จะได้มีการจัดฉายหนังบนชั้นสอง ไม่นานนักคนที่รู้จักเสนอว่ามีตึกและพื้นที่ที่กำลังรีโนเวตใหม่ และอยากได้พื้นที่ที่เป็นศิลปะวัฒนธรรมเข้าไปอยู่ตรงนั้นด้วย เธอจึงตัดสินใจย้ายจากบ้านหลังเล็กไปยังตึกใหม่บนชั้นสี่ที่มีเนื้อที่ใหญ่ขึ้น สะดวกสบายต่อการเดินทางมากขึ้น อยู่ใจกลางเมือง แล้วไม่ถึงกับแออัดมาก
เธอบอกว่าเป็นการตัดสินใจที่ยากมากในการย้ายมาที่ใหม่ เหตุผลแรกก็คือสถานที่แห่งใหม่มีค่าเช่า นั่นหมายความว่ามันจะมีตัวเลขค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาอย่างไม่ต้องสงสัย ค่าเช่า ค่าไฟ ค่าน้ำ และค่าเน็ต ล้วนแล้วเป็นค่าใช้จ่ายหลักพันที่เกิดขึ้นตลอดทุกเดือน ปีละสิบสองหน ไม่มีวันหยุด ขณะเดียวกันต้องเพิ่มจำนวนหนังสือของห้องสมุด เธอบอกว่าหนังสือแต่ละเล่มที่ซื้อมาล้วนมีราคาสูง แต่เธอไม่เคยเสียดายเงิน เพราะต้องการเพิ่มพูนศักยภาพของห้องสมุด เพื่อบริการคนที่เข้ามาใช้และอ่าน เธอเคยโพสต์ข้อความใน โซเชียลมีเดียอย่าง Facebook ว่า รายจ่ายกับรายรับที่ The Reading Room ตัวเลขยังไม่สมดุลย์ มันยังคงขึ้นตัวแดงอยู่ ข้อนี้ผมสงสัยว่าเธอหารายได้จากไหนมาสนับสนุนให้ TRR ดำเนินการอยู่ได้ เธอตอบว่ารายได้ส่วนหนึ่งมาจากการบริจาคโดยผู้ที่มาใช้ห้องสมุด ตอนหลังเธอเริ่มมีเครื่องดื่มมาขาย แต่ก็ไม่ได้อะไรมากมาย เงินส่วนใหญ่นำมาจากรายได้จากงานที่เธอทำหรือกิจกรรมที่มีคนจ้าง พูดให้เข้าใจง่าย ใช้เงินส่วนตัวสนับสนุนให้ห้องสมุดดำเนินการได้
“ไม่ใช่ว่างานที่เรารับทำจะได้เงินทั้งหมดนะคะ” เธอพูดติดตลก เพราะบางทีงานที่ได้ก็มักจะฟรีบ้าง ราคาถูกบ้าง เพราะคนยังคิดว่าเรื่องศิลปะยังไม่เวิร์กมองไม่เห็นคุณค่าของค่าแรงที่เธอลงไป
นอกจากเธอจะทำ The Reading Room เธอยังคงเป็นผู้ติดต่อประสานงานทางศิลปะให้กับองค์กร เชื่อมโยงระหว่างศิลปิน อาร์ตแกลลอรี และงานอีเวนต์ซึ่งมีอยู่ทั่วโลก ทั่วภูมิภาคเอเชีย
เมฆฝนตั้งเค้า
เมฆฝนที่ตั้งเค้ามาตั้งแต่บ่ายเริ่มแปรเปลี่ยนเป็นสายฝนหลั่งรินลงมา ใน TRR มีผม เกี๊ยว น้องน้ำส้ม และพี่เจน ระหว่างที่เราคุยกัน พี่เจนพูดขึ้นว่า “ต่อไปคงไม่มีใครซื้อหนังสือแล้ว และร้านขายหนังสือก็จะอยู่ไม่ได้” เกี๊ยวตอบในทันทีว่า “ไม่จริง หนังสือยังต้องอยู่”
คำตอบนี้คนทำหนังสือ คนอ่านหนังสือ และคนเสพติดหนังสือ (อย่างพวกเรา) ต่างรู้ดีว่าหนังสือยังไม่ตาย เธอบอกว่าดูสิกระดาษ การออกแบบ รูปเล่ม ตัวหนังสือ การมีชั้นหนังสือในห้อง มันเป็นสิ่งที่อธิบายเป็นรูปธรรมไม่ได้ มันเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ผมก็รู้สึกเช่นนั้น หนังสืออาจจะมีราคาสูงขึ้น แต่ก็เป็นของที่คนต้องการ ส่วนร้านหนังสือจะอยู่ได้อาจต้องปรับตัวให้กัยกับยุคสมัย แต่ถ้าคิดจะทำธุรกิจให้ได้ผลกำไรจำนวนมาก อาจไม่ใช่คำตอบ แต่ร้านหนังสืออยู่ได้แน่นอน และเธอยืนยันอย่างมั่นใจว่ามีวิธีทำให้มันอยู่ได้
ผมเองก็เสริมไปว่าเมื่อมนุษย์เรามีอายุมากขึ้นจะหันกลับไปหาความเป็นอนาล็อค เพราะดิจิตอลมันจับต้องไม่ได้ ลองสังเกตดูสิ แผ่นเสียง ฟิล์ม ภาพถ่าย หนังสือ มันยังไม่หายไปไหน

มาถึงชั่วโมงสุดท้ายของการสนทนา ผมถามถึงเรื่องกิจกรรมของ TRR เกี๊ยวบอกว่าเธอเป็นคนที่มีโปรเจ็คอยู่ในหัวมากมาย ทั้งที่ทำไปแล้ว กำลังวางแผนทำให้เป็นรูปร่าง และยังอยู่ในความคิด เธอบอกว่าเป็นเรื่องยากหากจะทำทุกอย่างตามที่คิดเอาไว้ให้หมด มีอุปสรรคหลายประการที่ต้องเผชิญหน้า ข้อดีอย่างหนึ่งเธอไม่ใช่คนใจร้อน เธอจึงทำในสิ่งที่ทำได้ไปก่อน เช่นห้องเรียนพลบค่ำ ที่มีการเชิญวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญมาบรรยายในเรื่องที่ไม่มีใครบรรยายหรือสอนในห้องเรียนวิชาการ กิจกรรมนี้น่าสนใจเพราะแม้จะเป็นเรื่องหนักๆ แต่เป็นเรื่องที่น่าติดตามน่าศึกษา บวกกับบรรยากาศของ TRR ไม่ใช่ห้องเรียน ทำให้กิจกรรมเป็นไปอย่างเป็นกันเอง
ล่าสุดเธอกำลังจัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้ใช้ห้องสมุด TRR ได้มายืมหนังสือ เมื่อยืมไปแล้วก็ช่วยกันรีวิวหนังสือเล่มนั้นๆ กิจกรรมเช่นนี้นอกจากจะใช้ศักยภาพของห้องสมุดได้เต็มที่แล้ว ยังเป็นการเผยแพร่หนังสือไปสู่ผู้อ่านคนอื่นๆ หนังสือมากมายในโลกนี้ยังต้องมีคนแนะนำ เพราะตลอดทั้งชีวิตเราคงอ่านหนังสือทุกเล่มไม่หมด

ส่วนเรื่องขำๆ ที่เราคุยกันเล่นๆ ก็คือ เรื่องกรุงเทพฯ เมืองหนังสือโลก เธออยากจะจัดกิจกรรมทางเลือกให้กับชุมชน อาจจะเป็นเรื่องที่ กทม. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่คิดจะทำ หรือละเลย ทั้งไม่รู้ หรือว่าไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เธอบอกว่ามันต้องมีนิทรรศการในพื้นที่สาธารณะ ในหมู่บ้าน ในชุมชน มีการออกแบบโปสเตอร์เพื่อบอกว่าชุมชนต่างๆ ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นวางหนังสือเอาไว้ที่หน้าบ้านเพื่อแชร์ให้คนอ่าน
ผมชอบไอเดียนี้มาก ในหมู่บ้านที่ผมอยู่ เราอาจจะมีวันแชร์หนังสือเดือนละหนที่สวนสาธารณะของหมู่บ้าน หรือการวางหนังสือในห้องน้ำสาธารณะ ตู้โทรศัพท์ที่พังแล้ว (ปัจจุบันไม่มีตู้โทรัพท์สาธารณะเหลือบนทางเท้า) วางให้เต็มไปหมด ใครจะหยิบเล่มไหนก็หยิบไปอ่านได้เลย เธอคิดว่าเมืองหนังสือ มันจะต้องสัมผัสถึงผู้คน ไม่ใช่ทำเพื่อเป็นข่าว จบกิจกรรมก็จบกันไป หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่มีประโยชน์
ระหว่างสนทนาเด็กหนุ่มสองคนขึ้นมายัง TRR เพื่อดูหนังสือและแวะทักทายเกี๊ยว ผมไล่เก็บภาพหนังสือบนชั้นและบรรยากาศของห้องสมุด เกี๊ยวบอกว่าถึงแม้จะเป็นห้องสมุด แต่ทุกอย่างของที่นี่เป็นงานบริการ ดังนั้นเธอไม่ลืมเรื่องนี้เป็นอันขาด เธอจึงเป็นกันเองกับผู้มาเยือน เธอคิดว่าสิ่งที่จะทำให้อยู่รอดได้ต้องไม่ลืมว่าเราทำสิ่งใดอยู่ ถึงแม้จะไม่ได้มรรคผลในด้านการเงิน แต่งานบริการไม่ใช่เรื่องที่จะปฏิเสธหรือมองข้ามมันไป ทุกคนที่มาที่นี่อาจจะแปลกหน้าต่อกัน ทว่าก็ได้ความอบอุ่นที่แผ่ออกมาจากดวงใจของหญิงสาวร่างบอบบางคนนี้
บทเพลงลาจาก
เสียงเพลงแจ๊สดังขึ้นเบาๆ ฝนยังตกลงมาปอยๆ สลับหยุด ผมจ่ายเงินค่าเบียร์มานั่งดื่ม เพื่อรอให้สายฝนซาสาย อ่านหนังสือ เช็ครูปภาพที่ถ่าย และทยอยเก็บอุปกรณ์ลงในกระเป๋า
ไม่รู้สิ ผมไม่มีคำถามปิดท้ายเหมือนนักสัมภาษณ์คนอื่น ผมไม่ใช่นักสัมภาษณ์ที่ดี แต่ผมรู้ว่าตัวเองชอบเขียนถึงบรรยากาศและความรู้สึก ผมชอบที่เกี๊ยวพูดว่า “เธอประเมินผลงานตัวเองและปรับปรุง” เหมือนที่เธอสมัครใจไปตรวจสุขภาพทุกๆ กำหนดการตรวจ เธอจะรู้ว่าตัวเองเจ็บไข้ได้ป่วยอะไรบ้าง จะได้รักษามันตั้งแต่ต้นอย่างถูกวิธี เธอพูดว่า “ไม่ควรมีคำอ้างสำหรับความจริงที่เกิดขึ้น” แล้วที่เธอไม่อยากเขียนหนังสือ เพราะเธอรู้สึกว่าสิ่งที่เธอทำได้ดีที่สุดไม่ใช่การเขียน เธอรู้ว่าตัวเองชอบสิ่งใด นั่นคือตัวเธอ
ผมบอกลาเธอและเหล่าผู้คนแห่ง The Reading Room เดินลงบันไดจากชั้นสี่สู่ถนนเบื้องล่าง สายฝนยังคงตกลงมา ถนนหนาแน่นด้วยรถ สรรพสิ่งรอบข้างแปรเปลี่ยน ผมคิดว่า The Reading Room คือรังไหม ไม่มีความคิดอื่นในหัวของผมในเวลานั้น
1 comment
สารจากคนรักหนังสือ ร้อยเรียงจากคนรักการเขียน เป็นบทความที่สวยงามมากค่ะ