Home Art & Culture การออกแบบ ปกหนังสือ สร้างอิทธิพลให้ผู้อ่านได้ไหม

การออกแบบ ปกหนังสือ สร้างอิทธิพลให้ผู้อ่านได้ไหม

by Editor
143 views

คุณเคยไหม กับการเลือกซื้อหนังสือบางเล่ม ที่อาจเป็นหนังสือประเภทเดียวกัน มีเนื้อหาคล้ายกัน แล้วอะไรกันล่ะ คือสิ่งที่จะมาช่วยคุณตัดสินใจว่าคุณควรเลือกหนังสือเล่มไหนดี และแน่นอนสิ่งที่คุณจะได้เห็น ได้สัมผัสเป็นอย่างแรกมีเลือกหนังสือก็คือ ปกหนังสือ นั่นเอง ทีนี้ มาดูกันว่าปกหนังสือนั้น จะสามารถสร้างอิทธิพลให้กับผู้อ่านได้ไหม

ก่อนอื่น ต้องยอมรับว่า นอกจากสื่อบันเทิงหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น เพลง ภาพยนตร์ ละคร ฯลฯ ก็มีหนึ่งสิ่งที่สามารถถ่ายทอดความรู้ ความรู้สึก อารมณ์ เรื่องราวต่างๆ ได้อย่างดีคือ หนังสือ  ด้วยเหตุนี้เอง เรียกได้ว่าเป็นโจทย์สำคัญสำหรับผู้เขียนที่จะต้องถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ให้กับผู้อ่านผ่านเนื้อหาของหนังสือ และไม่ใช่แค่นั้น สิ่งที่เปรียบเสมือน saleman ของหนังสือ นั่นก็คือหน้าปก ที่ผู้ผลิตหนังสือจำเป็นต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน 

“Don’t judge a book by its cover” คงเป็นสำนวนที่ใครหลายๆ คนรู้จักเป็นอย่างดี ในแง่ของความหมาย หากแปลตรงตัว จะแปลได้ว่า อย่าตัดสินหนังสือที่หน้าปก แต่ในแง่ของความหมายแฝงคือ อย่าตัดสินใครหรืออะไรที่ภายนอก นับว่าเป็นสำนวนสอนใจได้เป็นอย่างดี ว่าคนเราต้องมองลึกเข้าไปก่อนที่จะตัดสินใจใดๆ ได้

ถึงกระนั้นในการผลิตหนังสือสักเล่ม คงไม่สามารถที่จะเพิกเฉยกับการให้ความสำคัญของหน้าปก เพราะองค์ประกอบของหนังสือที่ผู้อ่านจะได้เห็นหรือสัมผัสเป็นสิ่งแรก นั่นคือปกหนังสือนี่แหละ ด้วยเหตุนี้เอง ผู้ผลิตหนังสือต่างต้องออกแบบหน้าปกให้เหมาะสมตามประเภท ชนิด ของหนังสือนั้นๆ ทำให้ปัจจุบันนี้มีครีเอทเตอร์มากมายที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบปกหนังสือ เพื่อช่วยเพิ่มยอดขายให้กับผู้เขียน

ยกตัวอย่าง วรรณกรรมเรื่อง ร้านขายเวลา วรรณกรรมแปลจากประเทศเกาหลีใต้ที่ได้รับการแปลเป็นฉบับภาษาไทยและได้นักวาดภาพประกอบมืออาชีพมาถ่ายทอดเรื่องราวผ่านหน้าปก โดยคุณศศิ Sasi การเดินทางของพระจันทร์ อ่านบทสัมภาษณ์ของ ‘หยอย’  ศศิ วีระเศรษฐกุล

วรรณกรรมเรื่อง ร้านขายเวลา ที่ได้รับการออกแบบปกโดยคุณศศิ Sasi การเดินทางของพระจันทร์

ความสำคัญประการแรกของหน้าปกหนังสือคือการรักษารูปทรงของกระดาษในหนังสือให้คงทน หากขาดส่วนประกอบสำคัญอย่าง หน้าปกของหนังสือไป ก็ไม่อาจเรียกชุดกระดาษนั้นว่าหนังสือได้ ซึ่งปกหนังสือจะมีทั้งแบบแข็ง แบบอ่อน แบบหนา แล้วแต่ผู้ผลิตจะเลือกใช้ 

ตัวอย่างเช่น มิโล แมวน้อยกระโดดไม่เป็น วรรณกรรมแปลจากนักเขียน คอสตันซา ริซซาคาซา ดอร์ซอนญา (Costanza Rizzacasa d’Orsogna) ที่ได้ออกแบบปกมาสองรูปแบบ มีทั้งแบบปกแข็งและปกอ่อน ที่ผู้อ่านสามารถเลือกซื้อได้ตามอัธยาศัย แต่ด้วยความแข็งแรง ความทนทานที่ต่างกันทำให้นำมาซึ่งราคาที่ต่างกันด้วย

ปกหนังสือ
มิโล แมวน้อยกระโดดไม่เป็น แบบปกแข็ง
ปกหนังสือ
มิโล แมวน้อยกระโดดไม่เป็น แบบปกอ่อน

และอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของปกหนังสือคือการบ่งบอกชื่อ ชนิด ประเภท ของหนังสือนั่นเอง

ตามธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนต่างล้วนมีความหลงใหลกับสิ่งที่มีความน่าสนใจ ปกหนังสือก็เปรียบเสมือนประตูที่จะนำผู้อ่านเข้าสู่เนื้อหาด้านใน ปกหนังสือที่ดีจะสามารถดึงดูด กระชากความสนใจ หรือที่เรียกว่าการสร้าง first impression ให้กับผู้ที่ได้พบเจอ อีกทั้งยังถูกใช้ในแง่การตลาด ทำให้ผู้ที่พบเห็น มีความสนใจหรือต้องการที่จะซื้อไปครอบครอง หากเราได้อ่านหนังสือสักเล่มและมีความหลงใหลกับมัน เรื่องราวหรือเนื้อหาของหนังสือก็จะอยู่กับเราตลอดไป ปกของหนังสือก็เช่นกัน เพราะนอกจากเนื้อหาของตัวหนังสือแล้ว ปกของหนังสือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จะทำให้เราสามารถจดจำมันได้

ความสร้างสรรค์ในการออกแบบปกหนังสือสามารถช่วยเพิ่มพูนความน่าอ่านและดึงดูดความสนใจผู้อ่านมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หนังสือเกี่ยวกับการเรียนธุรกิจที่จะมีเนื้อความค่อนข้างละเอียด ซับซ้อน ชวนให้ผู้อ่านรู้สึกเครียดและเบื่อหน่าย แต่ถ้าหากได้รับการออกแบบหน้าปกมาเป็นอย่างดี ก็จะสามารถช่วยลดทอนความยาก ความซับซ้อนให้กับผู้อ่าน อีกทั้งยังสามารถช่วยเพิ่มพูนการตัดสินใจในการเลือกซื้อให้กับผู้อ่านได้ ในบางครั้ง การสร้างสรรค์หน้าปกสามารถบอกเรื่องราวคร่าวๆ ภายในหนังสือได้อีกด้วย เพราะการที่ได้เห็นความสวยงาม ความอัศจรรย์ของหน้าปก สามารถทำให้ผู้อ่านจินตนาการเกี่ยวกับเนื้อหาภายในตัวหนังสือ ราวกับถูกมนต์สะกดผ่านหน้าปกหนังสือที่เชื้อเชิญให้ผู้อ่านเข้าไปค้นหา ซึ่งปกหนังสือลักษณะนี้สามารถพบได้ในหนังสือประเภท นิทาน วรรณกรรม มหากาพย์ ฯลฯ

อีกหนึ่งสิ่งที่สร้างความแตกต่างให้กับตัวของหนังสือประเภทต่างๆ ได้นั่นคือโทนสี การเลือกใช้โทนสีที่เหมาะสมกับประเภทของหนังสือจะช่วยทำให้ผู้อ่านไว้วางใจหนังสือได้ หรือหากใช้โทนสีของหน้าปกหนังสือที่ขัดแย้งกับตัวเนื้อหาในหนังสือ ก็อาจทำให้ผู้อ่านอาจเกิดความสับสนได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีหนังสืออีกหลากหลายชนิด ที่ปกอาจจะไม่มีอะไรมากมาย เป็นเพียงภาพเรียบๆ และมีโทนสีที่ไม่สะดุดตา แต่ยังสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้อ่านได้ เพียงเพราะหนังสือเหล่านั้น ต้องการความ “ขลัง” ความเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง เมื่อมีผู้พบเห็นก็จะสามารถเข้าใจผ่านปกหนังสือนั้น โดยหนังสือส่วนใหญ่ที่ใช้ปกโทนนี้จะเป็นหนังสือประเภท ปรัชญาชีวิต ประวัติศาสตร์ อัตตชีวประวัติ ศาสนาฯลฯ

สรุปง่ายๆ อิทธิพลของปกหนังสือนั้นสามารถส่งผลกับผู้คนได้ ในบางครั้ง แม้ผู้อ่านอาจจะไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย แต่ถ้าหากได้รับการดึงดูดผ่านปกหนังสือ มันจะช่วยสร้างความรู้สึกอยากอ่านให้กับเรา ทำให้เราสามารถมองเห็นเรื่องราวที่ซ่อนเร้นผ่านปกหนังสือ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองเห็นอะไรจากสิ่งนั้น

แหล่งที่มาของข้อมูล

เกี่ยวกับกองบรรณาธิการ
เกี่ยวกับกองบรรณาธิการ

บทความนี้สร้างสรรค์โดยนักศึกษาฝึกงานมหาวิทยาลัยนเรศวร คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาภาษาอังกฤษ ประจำปี 2564-65
ผู้เขียน: นายชยุตพงศ์ ปรางโท้
บรรณาธิการ:  นางสาวนัทมล ศรีสุข
ผู้ช่วยบรรณาธิการ:
นางสาวนุศรา เตชะมานิ
นางสาวเนตรนภิส จำนงค์บุญ
พิสูจน์อักษร:
นางสาวนัฏฐกานต์ รัตนเศรณี
นางสาวญาดา รักษาวงศ์

You may also like

Leave a Comment

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More