ตำนานนิรันดร์

ตำนานนิรันดร์ หรือ The Immortal Story เป็นนิยายขนาดสั้น เขียนโดย ไอแซค ไดนิเสน เป็นหนังสือ ที่ไม่ซับซ้อน จังหวะในการเล่าดี เหมาะสมเป็นหนังสือแนะนำ
isak dinesen

ตำนานนิรันดร์ หรือ The Immortal Story เป็นนิยายขนาดสั้น เขียนโดย ไอแซค ไดนิเสน – Isak Dinesen ที่รวมอยู่ในหนังสือ Anecdotes of Destiny ว่าด้วยเรื่องราวของ มิสเตอร์เคลย์ เศรษฐีชราผู้เชื่อมั่นในอำนาจและอิทธิพลของตนด้วยความนิยมข้อเท็จจริงที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้มากกว่าเรื่องเล่ายกเมฆหลอกลวง มิสเตอร์เคลย์จึงได้วางแผนเปลี่ยนตำนานที่เล่าขานกันในหมู่กะลาสีเรือให้กลายเป็นความจริงเพื่อให้กะลาสีเรือคนหนึ่งบนโลกสามารถ “เล่าเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจนจบพร้อมรายละเอียดทุกประการตามที่ได้เกิดขึ้นกับเขาจริงๆ” 

คำนำ ตำนานนิรันดร์ ของ ไอแซค ไดนิเสน

โดย สนธยา ทรัพย์เย็น

สำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม อยากให้ผมเขียนถึงสิ่งที่คนอ่านควรรู้ก่อนที่จะลงมืออ่านหนังสือเล่มนี้  ทำให้ผมต้องย้อนถามตัวเองเป็นครั้งแรกว่ารู้อะไรที่มีประโยชน์กับคนอ่านจริงๆ หรือเปล่า  นอกเหนือจากอยากทำ เพราะมองว่าในเมืองไทยยังมีคนรู้จักผลงานด้านเรื่องแต่งของ ไอแซค ไดนีเสน ค่อนข้างน้อย

ภาพลักษณ์ของ ไอแซค ไดนีเสน (นามปากกาของ คาเร็น บลิกเซ็น) ที่คุ้นเคยกันดีในบ้านเราก็คงหนีไม่พ้น  Out of Africa งานบันทึกความทรงจำของเธอในแอฟริกา ที่กลายเป็นภาพยนตร์กึ่งชีวประวัติรางวัลออสการ์  แต่สำหรับเรื่องสั้นหรือนิยายขนาดสั้นของเธอที่มีลักษณะเฟื่องฝันเต็มไปด้วยสีสันทางจินตนาการ ห่างจากการเน้นความสมจริงกลับถูกละเลยไป

เดิมทีผมเสนอเรื่องสั้นเรื่องอื่นของไดนีเสน ให้น้องพิ้งค์ อรจิรา แปล  แต่วันหนึ่งค้นหนังสือเก่าที่บ้าน  เกิดระลึกชาติถึงเรื่องนี้ขึ้นมา เลยรบกวนให้น้องเปลี่ยนเป็นเรื่องนี้แทน  ทำงานกับน้องแล้วหายห่วง  เพราะเธอเป็นคนใส่ใจในรายละเอียด น่าประทับใจเสมอตั้งแต่ทำงานกันมาจากเว็บฟุ้งและงานพ็อคเก็ตบุ๊ค

ผมคิดว่าท่านผู้รักการอ่านหนังสือเป็นทุนคงถูกชะตากับ ‘ตำนานนิรันดร์’ ได้ไม่ยาก  ประการแรก  เพราะเรื่อง (story) มันเกี่ยวกับมนต์ขลังและความมหัศจรรย์ของการเล่าเรื่อง (storytelling) ในลักษณะเรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า  ซึ่งประกอบด้วย  เรื่องเล่าปากต่อปาก  (aural tale), ตัวหนังสือเขียน (word / text) ในลักษณะของพระวจนะ และเรื่องแต่ง (fiction) ที่มีบทบาทเหนือชีวิตตัวละคร

isak dinesen ตำนานนิรันดร์

พลังของตัวหนังสือ จินตนาการทางความคิด ทางการเขียนที่ผ่านเรื่องเล่าในลักษณะกึ่งนิทานปรัมปรา  เป็นเทคนิคที่ ไดนีเสน เขียนออกมาได้แพรวพราว  ผมไม่แน่ใจว่าสำนักวรรณศิลป์เขาจะจัดงานเขียนแบบนี้อยู่ในกลุ่มของเรื่องเชิงอุปมาอุปไมย ทำนอง parable หรือ  allegory ไหม  เพราะมันตรงกันข้ามกับงานเขียนในลักษณะของ Out of Africa หรือวรรณกรรมที่ยืนอยู่บนฐานของสัมพันธ์ทางจิตวิทยาบนโลกแห่งความสมจริง  ไม่ว่าจะเป็นขนบของ มาร์ค ทเวน, จอห์น สไตน์เบ็ค, ชาร์ลส์ ดิกเก้นส์ หรือตามรอยปอกเปลือกมนุษย์แบบ สต็องดาล, บัลซัค, ดอสโตเยฟสกี้ เช่นที่ได้กลายมาเป็นบรรทัดฐานในงานเขียนส่วนใหญ่ทุกวันนี้

แต่ในที่นี้ชื่อเรียกหรือคำนิยามทางวรรณกรรมใดๆ คงไม่สำคัญ  เพราะบทบาทของตัวละคร 3 ตัวซึ่งเปรียบเหมือนฐานตั้งจั่วแห่งอำนาจ โดยมีบุคคลที่ 4 ที่เป็นทั้งส่วนหนึ่งของวงในและวงนอก อีกทั้งเป็นบุคคลที่จับตาความเปลี่ยนแปลงทางพลังงานภายในสามเหลี่ยมนี้อีกที  น่าจะทำให้คนอ่านได้เพลิดเพลินจนลืมนิทานหน้าจอเรืองแสงบนฝ่ามือไปได้ชั่วคราว

แม้ว่าการเจาะลึกในอณูเนื้อของตัวละครจะไม่ใช่เป้าประสงค์  แต่มันก็มีดรามาและไดนามิคที่รุกรับกันระหว่างทุกบทบาท ซึ่งช่วยงอกเงยความหมายและความบันเทิงจากการไล่ตามจินตนาการของคนแต่งอยู่ค่อนข้างมาก โดยที่คนอ่านไม่จำเป็นต้องศึกษาทฤษฎีศิลปะหรือองค์ความรู้พิเศษแต่อย่างใด

แต่แน่นอนว่า หากท่านใดพอจะโยงเรื่องชาวยิวและเนื้อหาทางพระคัมภีร์ได้บ้าง  เราจะเข้าใจได้ทันทีว่าบทบาทของ มิสเตอร์เคลย์ เศรษฐีผู้ไม่เคยใส่ใจในทางความสัมพันธ์ฉันท์มนุษย์ต่อเพื่อนร่วมโลก  ทั้งชีวิตสนใจแต่เพียงธุรกิจเงินทอง  ไม่เหลือบแลความงามทางศิลปะ ไม่แยแสหนังสือที่ไม่ใช่สมุดบัญชีหรือตำรา  แถมยังรำคาญเรื่องแต่งที่ไม่เป็นจริงนั้น  ที่ทางตัวละครแบบนี้ท่านได้แต่ใดมา

ตัวหนังสือที่ลูกจ้างคือ เอลีชามา นำมาอ่านให้มิสเตอร์เคลย์ ฟัง ทำให้ชายเฒ่าหัวรั้นที่เป็นโรคเก๊าต์  อยากเอาชนะในเรื่องกะลาสีเรือยอดเฮงที่เล่าขานต่อกันมา  อันเป็นเหตุนำไปสู่ละครโรงใหญ่ที่เจ้าของโรงนึกสนุกอยากเล่นบทบาทเป็นพระเจ้าเสียเอง

ตำนานนิรันดร์

ใครกันที่เป็นเจ้าของเรื่อง ผู้ใดที่มีสิทธิเป็นเจ้าของชีวิตและเป็นผู้สร้างชีวิต ไม่ว่าจะเป็นวิคเตอร์ แฟรงเกนสไตน์ หรือเจ้าของบริษัทผลิตมนุษย์เทียมใน Do Androids Dream of Electric Sheep?  (Blade Runner) ไม่ต้องอธิบายให้มากความ  ไม่ต้องฝากข้อความไปถึง แมรี่ เชลลี่ หรือ ฟิลิป เค. ดิ๊ค ผู้แต่งนิยาย 2 เรื่องนั้น  และไม่ต้องไปพลิกอ่านพันธสัญญาเดิม  ทุกท่านคงเดาได้ไม่ยากว่าพระเจ้านั้นจะเวนคืนทุนกับมนุษย์ผู้ไม่ภักดีเยี่ยงไร

ชื่อของมิสเตอร์เคลย์ บอกชัดว่าอ้างอิงก้อนดิน (clay) ที่พระเยโฮวาห์ใช้สร้างสรรพสิ่ง รวมทั้งมนุษย์ เช่น อดัม และ อีฟ (หนังสือปฐมกาล บทที่ 2) และชื่อของ เอลีชามา ซึ่งลี้ภัยจากโปแลนด์มา เดิมทีก็เป็นชื่อหัวหน้ากลุ่มคนยิวกลุ่มหนึ่งที่เคยเร่ร่อนกับโมเสสในทะเลทราย  บทพูดตอนหนึ่งของ เวอร์จินี (หรือ เวอร์จิ้น ในภาษาอังกฤษ) ยังบอกว่านึกถึงเอลีชามาในบทบาทยิวเร่ร่อน

“ดูเถิด ประชาอิสราเอลเอ๋ย เจ้าอยู่ในมือของเรา อย่างดิน เหนียวอยู่ในมือของช่างหม้อ”

(เยเรมีห์ 18:5-11)

ในยุคโบราณมีช่างปั้นหม้อที่ทำมาจากดิน  หม้อจะถูกปั้นขึ้นมาในรูปทรงต่างๆ ไว้ใส่เอกสารหรือสิ่งสักการะ  พระเจ้าเปรียบร่างกายคนเหมือนหม้อที่พระองค์ปั้นขึ้นมา ไม่ต่างจากมนุษย์ที่หน้าตารูปร่างแตกต่างกัน ซึ่งสามารถแตกย่อยได้ สูญสลายได้ ตายได้  แต่สารที่พระเจ้าจะมอบให้มนุษย์ต่างหากที่เป็นประจักษ์แจ้งแห่งนิรันดร์

แน่นอนช่างปั้นหม้อที่ทำจากดินที่สับสนระหว่างความจริงกับเรื่องแต่ง ทั้งยังต้องการสร้างเรื่องแต่งให้เป็นความจริง ย่อมเป็นการเทียบเคียงตัวเองกับผู้สร้าง

พระเยโฮวาห์ (ไทยเรียกพระยาห์เวห์)  ตรัสว่า “เจ้าทั้งหลายเป็นพยานของเรา และเป็นผู้รับใช้ของเราซึ่งเราได้เลือกไว้แล้ว…ก่อนหน้าเรา ไม่มีพระเจ้าใดถูกปั้นขึ้น และภายหลังเราก็จะไม่มี (อิสยาห์ บท 43)

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการอ่าน ‘ตำนานนิรันดร์’ แต่อย่างที่ผมเรียนให้ทราบแล้วว่าเรื่องแต่งใดๆ จะอมตะแค่ไหน อย่างไรนั้น ขึ้นอยู่ความเป็นไปได้ในหลากหลายมุมมอง ซึ่งสามารถตีความได้ไม่รู้จบ  โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับกรอบทฤษฎีวิเคราะห์ชนิดเดียว  แม้ว่าชื่อผู้เขียน ไอแซค (นามปากกา) จะสืบทอดจากลูกของอับราฮัม ในพระคัมภีร์ก็ตาม  แต่คุณค่าของตัวเรื่องเล่าเอื้อให้ตีความได้ในทุกวัฒนธรรม ไม่จำเป็นต้องถือมั่นตายตัว

เพราะโลกเรามีเรื่องแต่งเพื่อสะท้อนละครชีวิต และมีนักเล่าเรื่อง (storyteller) ที่คมคายเช่นนี้  โลกของนักอ่านจึงมีมิตรแท้ให้คบหาและสนุกนึกกันต่อๆ ไปจนชั่วกัปชั่วกัลป์

ขอบคุณสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรมอย่างมาก ที่เปิดโอกาสให้ผมทำหนังสือเล่มนี้ครับ ไม่แน่ใจว่านี่คือสิ่งที่ควรรู้ก่อนอ่านหรือเปล่า  จึงได้แต่หวังว่าคงไม่ทำให้อรรถรสลดลงไป

หนังสือ : ตำนานนิรันดร์

บทความอื่นเกี่ยวกับ ไอแซค ไดนิเสน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *