จากบุคคลที่ไม่สนโลก: หมาป่าผู้โดดเดี่ยว
โดย ปิยภาณี เฮ็นท์ซ
จากบุคคลที่ไม่สนโลก: หมาป่าผู้โดดเดี่ยว บทความนี้เป็นคำนำของ ปิยภาณี เฮ็นท์ซ ผู้แปล Steppenwolf จากภาษาเยอรมันมาเป็นภาษาไทย เพื่อที่ผู้อ่านจะได้มองเห็นแรงบันดาลใจที่เธอทำงานแปลชิ้นนี้ได้อย่างไร
ครั้งแรกที่เกริ่นต่อหลายคนว่าอยากแปลงานของแฮร์มานน์ เฮสเซอ นั้น ไม่มีใครคิดว่าเราจะแปล สเตปเปนวูล์ฟ แต่เมื่อเราประกาศ (เบาๆ) ออกไปว่าเราจะแปลเล่มนี้ พี่เชื้อที่เคารพท่านหนึ่งถึงกับตบเข่าอุทานว่า “มึงคิดยังไงของมึง!” อย่าว่าแต่พี่เชื้อหรือคนรอบข้างทั้งหลายเลย แม้แต่เพื่อนสนิทชาวเยอรมันคนหนึ่งยังหลุดคำอุทานของชาวเยอรมันอย่างหยาบคายว่า “ไชส์เซอะ !!! (scheiße) สเตปเปนวูล์ฟ ของ เฮสเซอ เล่มนี้ ไม่ใช่เรื่องที่อ่านแล้วเข้าใจได้ง่ายเลยนะ ถ้าเธอคิดจะแปลเรื่องนี้เป็นภาษาไทย นั่นหมายความว่าเธอกำลังหยิบหินมาเคาะหัวตัวเองชัดๆ”
สเตปเปนวูล์ฟเป็นชิ้นงานหนึ่งของเฮสเซอที่เขียนขึ้นมาเมื่อเกือบร้อยปีที่แล้วในวัยห้าสิบของเขา แต่เนื้อหายังคงร่วมสมัยและมีร่องรอยการเปิดเผยตัวเองอย่างลึกล้ำ ระหว่างทางของการอ่านสเตปเปนวูล์ฟหลายต่อหลายรอบนั้น เราได้มองเห็นภาพของการที่ตกติดอยู่กับกับดักของความอ้างว้าง ความโดดเดี่ยว การติดอยู่บนจุดเชื่อมต่อของยุคสมัย ความอยากเป็นคนดีและสุภาพในระดับชนชั้นกลาง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังอยากเป็นคนก้าวร้าวนอกกรอบ การตกอยู่ในความขัดแย้งสับสนของคนสองอารมณ์สองบุคลิก ต่อต้านกันเองจนหาจุดยืนที่ชัดเจนของตัวเองไม่ได้ สเตปเปนวูล์ฟเล่มนี้ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกกลัว แต่ในขณะเดียวกัน มันกลับท้าทายให้เราหยิบขึ้นมาอ่านรอบแล้วรอบเล่า ความคิด ถ้อยคำแต่ละประโยค แต่ละความหมายที่ผันผ่านไปตามประสบการณ์
ของการตีความในแต่ละช่วงวัย วัน และเวลา
เพื่อนวัยหกสิบอีกคนหนึ่งเคยพูดถึงเรื่องนี้กับเราว่า “ผมอ่านหนังสือเรื่องนี้เมื่ออายุสิบแปด ซึ่งเป็นช่วงบุปผาชนของผม ในช่วงนั้นผมรู้สึกได้ถึงความเคว้งคว้างล่องลอยของแฮร์รี่ ฮัลเลอร์ และสรุปว่ามนุษย์สเตเปนโวล์ฟนั้นเป็นบุคคลที่ไม่สนโลก สนุกสนานไปกับความบันเทิง คบหาคนประเภทเดียวกัน ใช้ยาเสพติดเพื่อสร้างความสุขให้กับตัวเองในบางขณะ
แต่เมื่อเวลาผ่านไปในช่วงวัยสี่สิบ การได้อ่านสเตปเปนวูล์ฟอีกครั้ง กลับรู้จักสเตปเปนวูล์ฟแตกต่างไปจากเดิม เขาเป็นพวกเพ้อฝันในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อขัดใจก็ต่อต้าน ก้าวร้าว และยังเป็นพวกอคติคิดลบเสียจนทำให้ชีวิตไม่มีความสุข เป็นพวกหาความทุกข์ให้ตัวเอง ทั้งยังพยายามหาเรื่องฆ่าตัวตายอย่างไร้สาระ
จนเมื่อครั้งล่าสุด ผมได้อ่านสเตปเปนวูล์ฟอีกครั้งในวัยหกสิบ…โอ สเตปเปนวูล์ฟเป็นภาพของชายที่มีชีวิตอยู่กับความเจ็บปวด เจ็บช้ำใจจากความเหลื่อมล้ำ ตกค้างอยู่ท่ามกลางระหว่างยุคสมัย จะถอยหลังหรือก้าวไปข้างหน้าเพื่ออะไร เขาหดหู่ สิ้นหวังเสียจนต้องหาทางออกให้ตัวเอง โดยการคิดจบชีวิตให้พ้นไป แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็ยังเสียดายและยังรักการมีชีวิตอยู่ สิ่งที่พอจะทำได้ในชีวิตที่เหลือ คือจงใจทำร้ายตัวเองให้ตกต่ำ ให้เจ็บช้ำจนถึงที่สุด”
อย่างไรก็ตาม เหตุผลหนึ่งที่เราไม่อาจปฏิเสธคือ สิ่งแท้จริงในเบื้องลึกของการหยิบงานเล่มนี้ขึ้นมาแปล เพื่อตอบสนองอารมณ์บ้าบอของเราเอง เพื่อต้อนความรู้สึกของเราให้ไปอยู่ในมุมๆ หนึ่ง มุมที่จะได้ถูกเหยียดหยาม ถูกเยาะเย้ย ถูกถ่มถุย ถูกชื่นชม หรืออีกนัยหนึ่ง เพื่อตอบสนองต่อสเตปเปนวูล์ฟอีกตัวหนึ่งซึ่งซ่อนอยู่ในเรา
เกี่ยวกับ ปิยภาณี เฮ็นท์ช
- กว่าครึ่งชีวิตในประเทศเยอรมัน
- เป็นผู้บุกเบิกเปิดคลาสสอนวัฒนธรรมไทยให้ Volkhochschule Langenhagen (2000 – 2007)
- ครูผู้สอน โรงเรียนมัธยมปีที่ 3 (เกรด 9) IGS Langenhagen Hannover Germany (2000 – 2007)
- ล่ามอาสาให้กับคนไทยในเมือง Langenhagen Hannover
- ปัจจุบันทำหน้าที่เลขานุการผู้บริหาร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
- มีงานอดิเรกสอนภาษาเยอรมันให้แก่ผู้สนใจในทุกระดับชั้น (โฆษณาแฝง)
[block id=”cat”]