Porcupine Review : The Cult of Monte Cristo เขียนโดย นพพันธ์ บุญใหญ่
ผมรู้จัก นพพันธ์ บุญใหญ่ ครั้งแรกจากหนังสือที่ซื้อมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้อ่าน จนกระทั่งในงานหนังสือจากเสียงประกาศเชิญชวนให้ชมละครเวทีชื่อ The Cult of Monte Cristo เรียกยากน้ำเสียงของเขาชวนฟัง บรรยายฉากได้น่าสนใจ ระหว่างที่ผมฟังเสียงประกาศ ผมจำชื่อหนังสือเล่มนั้นได้แล้ว นึกถึงปกคร่าวๆ ของมัน ผมหันไปบอกเขาว่าผมจะกลับไปลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดู มันมีอะไรน่าสนใจดี เขาบอกว่าหนังสือเล่มนี้ดัดแปลงมาจากละครเวที แปลกดี ปกติเราจะเห็นว่าละครเวทีส่วนใหญ่จะมาจากนิยาย หรือถ้าเขียนเป็นบทละครแล้ว ก็ไม่ค่อยมีใครเอาขยายเป็นนิยายเท่าไหร่ แล้วเป็นโชคดีที่ผมไม่ได้ดูละครเรื่องนี้ก่อนอ่านหนังสือที่เป็นนิยาย มานั่งนึกดูแล้วถือเป็นโชคดี
คำเตือน: ในบทความมีการเปิดเผยเนื้อหาบางตอน
The Cult of Monte Cristo เปิดเรื่องได้น่าสนใจดี เขาเล่าทุกอย่างของเสถียรตัวละครเอกของเรื่อง ที่มีสองบุคลิกพูดคุยกับเพื่อนในจินตนการคือสถิต ตัวหนึ่งขาว ตัวหนึ่งดำ ตัวแทนในจินตนาการที่อีกคนไม่มี เขาสร้างเรื่องจากโลกจินตนาการ เจ้าหน้าที่รัฐแผนกวัฒนธรรม แม้เขาจะไม่มีหัวทางศิลปะ หรือดนตรี เขาเป็นสถาปนิก แต่เข้ามาทำหน้าที่นี้เพราะความบังเอิญ เมียของเขาทิ้งไป เพราะเธอไม่สามารถยอมรับเขาได้ เรื่องลูก เรื่องชีวิต ล้วนแตกต่าง
เสถียรต้องเดินทางไปที่โรงเรียน Monte Cristo โรงเรียนคอทอลิกแห่งหนึ่ง เพื่อบอกข่าวว่าโรงเรียนได้เป็นตัวแทนในการแข่งขันระดับประเทศ แต่การไปเยือนโรงเรียนที่ห่างไกลความเจริญอย่าง Monte Cristo กลายเป็นความพินาศในชีวิตของเขาอีกระดับหนึ่ง เนื่องจากเขาต้องไปค้นพบความลับอันดำมืดของที่นั่น ตั้งแต่ครูใหญ่ (สมแสด) ครูดนตรี (สมผล) และเด็กสาวคณะดนตรีสุดแสบร้ายกาจ ที่ผมชอบมากๆ คือวิธีการตั้งชื่อตัวละครของเขา เสถียร-สถิต สมแสด-สมผล เขาสร้างคู่ขัดแย้งด้วยชื่อได้ดีมาก แล้วมันก่อให้เกิดพลังในการเล่าเรื่องเพิ่มขึ้น
นอกจากเรื่องราวลึกลับใน The Cult of Monte Cristo จะทำให้ตัวนิยายน่าติดตามแล้ว ส่วนที่เป็นนัยสำคัญของเรื่องน่าสนใจไม่แพ้กันโดยเฉพาะเรื่องการผลักดันในระบบการศึกษาที่พยายามหลอมรวมเด็กให้ออกมาเป็นเบ้าหลอมเดียวกัน จากภาพที่เราจะเห็นหน้าตาของนักเรียนเป็นแบบเดียวกัน ตัดผมทรงเดียวกัน ใส่เครื่องแบบที่เหมือนกัน การเพาะบ่มแบบนี้ทำให้เด็กถูกครอบงำให้อยู่ภายในระบบที่ผู้นำประเทศต้องการ เพื่อปกครองผู้คนให้เชื่อง เช่นเดียวกับวงดนตรีของ Monte Cristo ที่ทุกคนเอาแต่เล่นเพื่อตัวเอง ไม่มีใครเล่นเพื่อวง หรือเพลงที่จะเล่นได้จะต้องเป็นที่ถูกกำหนดเอาไว้แล้ว ต้องเป็นเพลงที่สื่อถึงชาติ มาตุภูมิ รวมถึงความภูมิใจต่อสถาบัน แม้น่าเสียดายที่ The Cult of Monte Cristo จะแตะเรื่องเหล่านี้แบบเป็นนัย แล้วแตะแล้วถอย แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เรื่องเหล่านี้ถูกตั้งคำถามผ่านนิยายที่สามารถเข้าถึงวัยรุ่น อย่างน้อยมันคงทำให้โลกการอ่านของกลุ่มวัยรุ่นไม่เหมือนเดิม
ขณะเดียวกันนพพันธ์ บุญใหญ่ ยังกล้านำเสนอเรื่องราวของเซ็กซ์ผ่านตัวละคร โดยเฉพาะความคิดที่เสถียร เจ้าหน้ารัฐวัยสามสิบปลาย จะรู้สึกกับเด็กสาวในโรงเรียน หรือความสัมพันธ์ของครูสมผล ครูหนุ่มกับเด็กสาว ทำให้นิยายเรื่องนี้ได้เปิดเปลือยด้านในความเป็นชาย ความขัดแย้งในเรื่องเพศสภาพเป็นเรื่องที่น่าค้นหาเสมอ มันช่วยวิพากษ์สังคม เพื่อบอกกล่าวถึงความเป็นไป ทำไมถึงเป็นแบบนี้ ทำไมไม่มีสังคมอุดมการณ์ รวมถึงพยายามทำความเข้าใจว่าเรื่องเซ็กซ์นั้นไม่ใช่ปัญหาของต้นเหตุ แต่มันเกิดจากภาวะภายในจิตใจที่แสนเปราะบาง แล้วบางทีมันอาจจะเกิดกับใครก็ได้
ภาษาของเขาน่าสนใจ มันดูประหลาด ไม่ปะติดปะต่อ ไม่ไหลลื่นเวลาอ่าน แต่ถ้าอ่านออกเสียงเหมือนที่ผมฟังในวันนั้นมันลื่นไหลดีเหลือเกิน แสดงว่ามันมีความแตกต่างในฟังก์ชั่นการใช้งาน แต่ไม่ได้เป็นข้อเสีย ผมมองว่ามันเป็นข้อดี เป็นเอกลักษณ์ที่เขาสามารถผสมผสานภาษาการเล่าที่กระชับ เมื่อได้อ่านประวัติผู้แต่ง นพพันธ์ บุญใหญ่ น่าสนใจมาก นั่นอาจทำให้เขามีภาษาที่ต่างจากที่ผมตั้งข้อสังเกตก่อนหน้านี้ เขาอยู่เมืองไทยจนอายุแปดขวบ ตอนนั้นเริ่มอ่านการ์ตูนอะไรได้แล้ว พอเก้าขวบคุณแม่ของเขาพาไปอยู่อังกฤษเขาจึงเติบโตที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่นั้นจนเป็นวัยรุ่น เขายังอธิบายว่าการย้ายถิ่นฐานเป็นความแปลกแยก บรรยากาศ อากาศ ผังเมือง ผู้คนที่ไม่เหมือนกัน สร้างบางสิ่งบางอย่างให้กับเขา
อาจจะกล่าวได้ว่า The Cult of Monte Cristo นั้นอยู่เหนือคาดมหมายต่อการอ่านไม่น้อย อย่างน้อยนิยายเรื่องนี้ก่อให้เกิดภูมิทัศน์ทางวรรณกรรมในรูปแบบใหม่ๆ ในแวดวงงานวรรณกรรมไทยร่วมสมัยไม่น้อย ด้วยการเล่าเรื่องที่แสนสดใหม่ กระชับ น่าติดตาม แม้จะจุดตินิดๆ เช่นใช้คำว่า ‘กะพริบ’ สัก ห้าสิบครั้งได้ แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่พอที่จะมาบอดบังความดีงามของนิยายเรื่องนี้