Home Art & Culture winter’s night a traveler

winter’s night a traveler

by niwat59
13 views

หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว กับ Boléro: Maurice Ravel

winter’s night a traveler บทความนี้เขียนถึงนวนิยายเรื่อง หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว ผลงานเรื่องเยี่ยมของ อิตัลโล คัลวิโน นักเขียนชื่อดังชาวอิตาเลียน เหตุที่ผลงานนวนิยายเรื่องนี้เกี่ยวพันกับบทเพลงของ Maurice Ravel สามบทเพลง เรามาลองคลี่กันดูว่า ความเชื่อมโยงของนวนิยาย กับบทเพลงทั้งสามเป็นอย่างไรกันบ้าง บทเพลงแรกเป็น Boléro บทเพลงที่สอง Concerto in G และ บทเพลงที่สาม String Quartet ขอให้ท่านนั่งในสบายบนเก้าอี้ตัวโปรด เตรียมรีโมตคอนโทรลให้พร้อม ปรับระดับความดังเสียงให้พอดี เอนหลัง ฟังเพลงของราเวลด้วยหัวใจที่เบิกบาน หลับตาแล้วนึกถึงภาพที่เกิดขึ้น

เหตุที่ผู้เขียนนำเสนอผลงานของ Ravel ก็เนื่องมาจากบทประพันธ์ตอนหนึ่งในนวนิยายเรื่อง “หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง” (Se Una Notte’ D’ Inverno Un Viaggiatore) ของ อิตัลโล คัลวิโน นักเขียนคนสำคัญของอิตลียุคใหม่ ที่ผลิตผลงานในแนวทดลองออกมา ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าอยากนำเสนองานของ Ravel ผ่านนิยายเรื่องดังกล่าว

“หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง” เป็นผลงานเล่มท้ายๆ ของคัลวิโน ที่เขียนในช่วงปี 1979 อาจกล่าวได้ว่าเป็นนวนิยายที่กลั่นกรองมาจากประสบการณ์ในการเขียนอย่างแท้จริง เนื่องจากในตัวเรื่องนั้นแบ่งการเล่าเรื่องออกเป็นสองแบบ แบบแรกคือเนื้อเรื่องที่เป็นโครงเรื่องหลัก และแบบที่สองคือเนื้อเนื่องเริ่มต้นของนิยายที่คัลวิโนเขียนขึ้นเพื่อเป็นการล้อเลียนนิยายด้วยกัน ความซับซ้อนของนิยายทำให้ผู้อ่านทั้งสนุกตื่นเต้น ผนวกกับน่าเบื่อหน่ายได้ในคราวเดียวกัน แต่ท้ายแล้วผู้อ่านจะจับได้ว่ามันเป็นนิยายที่มีความซับซ้อนในระดับที่น่าสนใจเลยทีเดียว

บทหนึ่งของนิยายเรื่องนี้ กล่าวถึงบทบันทึกนักเขียนไซลัส ฟลันเนอรี ตัวละครสำคัญของเรื่อง ฟลันเนอรียกตัวอย่างนักเขียนสองคน คนแรกคือนักเขียนจอมขยันผู้ผลิตผลงานเป็นที่ชื่นชอบของนักอ่าน นักเขียนคนที่สองคือนักเขียนอมทุกข์ที่เขียนไม่ค่อยออก และผลงานส่วนใหญ่เป็นในแนวครุ่นคิด นักเขียนอมทุกข์ส่องกล้องมองนักเขียนจอมขยัน เขาอิจฉาสิ่งที่นักเขียนจอมขยันเป็น โดยตัวเองหงุดหงิดทำอะไรไม่ถูกใจ ขณะที่กำลังจะสร้างอารมณ์ในการเขียน เขาใส่แผ่นเสียงผลงานของ Ravel ลงในเครื่องเล่น ในนิยายมิได้บอกว่าเป็นเพลงของ Ravel บทใด ผู้เขียนเชื่อว่าแผ่นเสียงที่อ้างในนิยายเรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นเพลง Boléro ทำไมจึงเป็นเพลงนี้ เนื่องจากเพลง Boléro เป็นเพลงยอดนิยมของราเวลเลยทีเดียว โดยราเวลแต่งเพลง Boléro ด้วยการนำท่วงทำนองเพลงเต้นรำของสเปนมาเรียบเรียงเสียงประสานใหม่

เหตุที่เพลงดังกล่าวเป็นที่นิยมก็เนื่องมาจากทอสคานินี่ได้นำไปเผยแพร่ที่นิวยอร์คในปี 1929 จึงทำให้เพลงได้รับความนิยม ทว่าหากกล่าวเช่นนี้อาจจะไม่เป็นธรรมนักเพราะผลงานของราเวลที่ยอดเยี่ยมนั้นมีอยู่มากมาย

Boléro เป็นเพลงเต้นรำที่มีจังหวะคงที่เรียบง่าย เสียงกลองสแนร์กำหนดจังหวะของเพลง ท่วงทำนองบรรเลงด้วยเพลงพื้นบ้านที่มีลักษณะงดงาม อ่อนหวาน เพลงบรรยายภาพความรู้สึกถึงชนบท เริ่มด้วยเดี่ยวฟลูต โอโบ บาสซูนส์ ฮาร์ฟ คลาริเน็ต และกลุ่มเครื่องสายเริ่มผสานเข้าคุมจังหวะเบสด้วยการดีด ท่วงทำนองเพลงตอกย้ำด้วยลีลาเดิม ก่อนที่เครื่องลมทองเหลืองจะเริ่มบรรเลงเดี่ยวทีละชิ้น และเสียงจากวงเริ่มดังขึ้นพร้อมกับจังหวะที่เร่งเร้ามากขึ้น โดยกลุ่มเครื่องสาย ทิมพานี่

บทเพลงนี้มีจังหวะเร่งเร้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้เพลงมีลักษณะลึกลับ น่าสนใจน่าติดตาม การบรรเลงซ้ำวนของท่วงทำนองเหมือนการตามหาในเขาวงกต และการลากซ้ำของฉากเดิมหลายๆ ฉาก แต่เปลี่ยนการเล่าเรื่อง โดยตัวแทนของเครื่องดนตรีในแต่ละชนิด ซึ่งบทเพลงดังกล่าวนั้นเข้ากับเนื้อเรื่องในนิยายของ อิตัลโล คัลวิโน ไม่น้อย เนื่องจาก นิยายเรื่อง “หากค่ำคืนหนึ่งฯ” มีลักษณะเลเยอร์ที่ถูกวางซ้อนทับระหว่างนิยายในฉากเริ่มต้นหลายๆ เรื่อง กับการดำเนินตัวบทของเรื่องราวจริงๆ คู่ขนานไปเหมือนเสียงประสานของวงที่ค่อยๆ เริ่มด้วยเครื่องดนตรีทีละชิ้น ดังนั้นหากท่านผู้อ่านปรารถนาอ่านนิยายเล่มนี้ บทเพลงของราเวล คือเพลงประกอบหนังสือที่น่าสนใจไม่น้อย

Boléro

นอกจากผลงานเพลง Boléro ผู้เขียนยังมีเพลงของราเวลที่ปรารถนาจะนำเสนออีกสองบท บทแรกคือ คอนแชร์โต้ในบันไดเสียง G เมเจอร์ บทเพลงนี้ของราเวลมีแนวคิดที่จะนำเพลงที่แตกต่างจากงานเพลงคลาสสิกทั่วไป เขาผสมผสานแนวดนตรีแจ๊สเข้ามาในผลงาน ทำให้โครงสร้างเพลงมีอิสระ โดยเฉพาะในการบรรเลงดี่ยวเปียโน และการผสานเสียงของวงก็เต็มไปด้วยการสร้างสรรค์ บางช่วงยังอบอวลด้วยการบรรยายในแบบดั้งเดิม นั่นคือเล่นด้วยความไพเราะตามแบบยุคคลาสสิก ขณะที่การบรรเลงเดี่ยวแสดงให้เห็นถึงทักษะของนักดนตรี ในกระบวนที่หนึ่งเริ่มต้นด้วยกรับไม้หนึ่งจังหวะ จากนั้นวงโหมจังหวะเร็ว พร้อมด้วยเปียโนเล่นด้วยความกระฉับกระเฉง สลับจังหวะช้า สอดแทรกสำเนียงในแบบสเปน เครื่องลมทองเหลืองมีบทบาทในการประสานเสียง บทเพลงนี้จึงเป็นเสมือนบทเพลงสำหรับนักเปียโนโดยไม่ต้องสงสัย เพราะผู้เล่นต้องใช้ปฏิพานทางดนตรีที่ตอบสนองต่อวง

ในกระบวนที่สอง เริ่มด้วยจังหวะเนิบช้า ไพเราะงดงาม อ้อยสร้อย เอื่อยอาด เรื่อยไหล ในแนวทางแบบโมสาร์ท ซึ่งแตกต่างจากกระบวนแรกที่เน้นเสียงอึกทึกเร้าโรม ในกระบวนสองกลับสงบ เต็มไปด้วยการนำเสนอที่นิ่งเรียบ เสียงเมโลดี้สงบสุข เยือกเย็น ผ่อนคลาย มือซ้ายของเปียเสริมด้วยท่วงทำนองวอลซ์ และจบลงด้วยความละเมียด

กระบวนที่สาม เริ่มต้นด้วยจังหวะเร็ว วงโหมจังหวะ เปียโนสอดแทรก เป็นการกลับมาสู่บทเริ่มต้น เพื่อสนองตอบบทเพลงให้จบลง เครื่องลมไม้และทองเหลืองเหมือนเล่นท่วงทำนองไม่สอดรับกัน และจบบทเพลงด้วยจังหวะพร้อมเพรียง คอนแชร์โต้บทนี้คือคอนแชร์ดต้บทหนึ่งที่ได้รับความนิยมในหมู่นักฟัง และนักดนตรีร่วมสมัย เป็นเพราะการเขียนเพลงให้อิสระต่อการแสดงเดี่ยวเปียโน

เพลงต่อมาของราเวล ค่อนข้างที่จะแปลกและมหัศจรรย์ไม่น้อย เพราะเขาแต่งเปียโนคอนแชร์โตบทนี้สำหรับ “มือซ้าย” เพียงข้างเดียว Piano Concerto for the Left Hand บทเพลงนี้ของราเวลทรงพลังไม่น้อย โดยเฉพาะการบรรเลงของฌอง เอฟฟลาม ทำให้เห็นได้ว่าการเล่นด้วยมือเดียวนั้นสร้างเสียงในรูปแบบที่น่าทึ่ง หากเป็นไปได้ การชมเพลงนี้ผ่านคอนเสิร์ตจะมองเห็นพลังของนักดนตรีมากกว่าฟังแผ่นซีดี

เพลงขึ้นต้นด้วยเสียงต่ำอึมครึมของดับเบิลเบส ตามด้วยเครื่องลม โดยมีกลุ่มเครื่องสายบรรเลงคลอเคลียร์ ก่อนที่จะโหมจนเสียงมีความเคลียร์ใส เปียโนมือซ้ายซึ่งอยู่ในตำแหน่งเสียงต่ำกระแทกลงกับคีย์ โน้ตตัวแรกเป็นอิสระ แล้วจึงค่อยๆ คืบคลานเข้าสู่เนื้อดนตรีอย่างค่อยเป็นค่อยไป โการบรรเลงระหว่างเปียโนมือซ้ายมือเดียวส่งต่อให้วงออร์เครสตร้ารับช่วงบรรเลงด้วยท่วงทำนองที่โอ่อ่า และสลับกันไปมาเป็นช่วงๆ ท่วงทำนองของเพลงอยู่ในรูปแบบ ช้า-เร็ว-ช้า แทนที่จะเป็น เร็ว-ช้า-เร็ว ตามแบบแผน และเพลงยาวสิบแปดถึงสิบเก้านาทีโดยไม่มีการหยุดพัก ในแต่ละช่วงถูกแบ่งออกเป็นหลายๆ เซ็คชั่น ทั้งท่วงทำนองและคีย์เพลง

อาจกล่าวได้ว่าบทเพลง Piano Concerto for the Left Hand ของราเวล ทรงพลังเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะช่วงกลางเพลง ดนตรีโหมกระหน่ำ เปียโนต้องเล่นด้วยพลังงานมากกว่าสองมือ การควบคุมบนคีย์บอร์ดเต็มไปด้วยห้วงเวลามหัศจรรย์

บทเพลงสุดท้าย String Quartet ในบันไดเสียง F เมเจอร์ เพลงนี้ราเวลประพันธ์ขึ้นในปี 1903 ช่วงเดือนเมษายน โดยอุทิศให้กับเพื่อนที่เป็นครูนาม Gabriel Fauré ราเวลกล่าวถึงสตริงควอตเต็ตบทนี้ของตัวเองว่า เพลงบทนี้ตอบสนองความปรารถนาทางโครงสร้างดนตรี ซึ่งมันยังไม่เพียงพอต่อสิ่งที่คิดเอาไว้ แต่อย่างไรก็ตามมันสามารถทำให้กระจ่างชัดกว่าผลงานที่ผ่านมาของตน

String Quartet ในบันไดเสียง F เมเจอร์ เป็นเพลงที่มีลีลาไพเราะสวยงาม ขณะเดียวกันก็มีความดุดัน เคร่งขรึม ตระหนักถึงอารมณ์ภายในที่พรั่งพรูออกมา การฟังเพลงจากวงแชมเบอร์ให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากวงใหญ่ตรงที่ว่า มันสามารถกระเทาะหัวใจผู้ฟังได้มากกว่า ดนตรีถูกดึงให้เข้าถึงอารมณ์เนื่องจากผู้เล่นสามารถแสดงฝีมือได้โดยแท้จริง

นี่คือบทเพลงสามบทที่เหมาะแก่การฟังขณะอ่านนิยายเล่มนี้ โดยเฉพาะ Boléro นั้นถือได้ว่า “อาจจะ” เป็นเพลงประกอบของหนังสืออย่างแท้จริง หากเพลง Boléro ที่ในหนังสือเล่มนี้จริง มันยิ่งเหมาะสม เพราะเพลงวางโครงสร้างดนตรีอย่างมีระบบ เช่นเดียวกับโครงสร้างในนิยายที่มีความละเอียด ซับซ้อน โดยตั้งคำถามถึงโลกการอ่านว่า ผู้อ่านอยู่ส่วนใดของเรื่องราวทั้งหมด (หรืออาจจะไม่มีอยู่เลย) ท่านผู้อ่านก็คงเป็นหนึ่งที่จะตัดสินใจได้ว่า แท้จริงแล้วเรามีอยู่จริง หรือถูกอุปโลกย์ขึ้นมาให้มีชีวิต การตั้งคำถามว่าตอนจบของนิยายควรจะเป็นนอย่างไร จบด้วยคววามสุข หรือจบลงด้วยการดำรงอยู่นั้น ยากไปที่จะตัดสิน

“หากค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว นักเดินทางคนหนึ่ง” ของอิตัลโล คัลวิโน และสามบทเพลงของราเวล ไม่ว่าจะเป็น Boléro , Concerto หรือ String Quartet น่าจะนำความสุขมาให้กับท่าน

อ่านบทความเพิ่มเติม: Hear the Wind Sing

You may also like

Leave a Comment

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More