Ten Years Thailand

หากยูโทเปียของรัฐบาลจีนสำเร็จ หรือ แผนยุทธศาสตร์ของชาติ 20 ปี ของประเทศไทย ซึ่งกลายมาเป็นโซ่ตรวนขนาดใหญ่ที่ล่ามความเจริญรุ่งเรืองให้อยู่ภายใต้กรอบแนวคิดของชนชั้นนำ

11 ประเด็นหลังชมภาพยนต์สั้นสี่เรื่อง Ten Years Thailand ซึ่งเป็นงานร่วมของภูมิภาคเอเชียของเราที่มีฮ่องกง ญี่ปุ่น ไต้หวัน และไทยในโครงการนี้ แน่นอนว่าประเด็นมุ่งตรวจสอบอดีต และมองหาอนาคตที่มืดหม่นของเราชาวผิวเหลือง ที่ดูเหมือนว่าแต่ละประเทศก็มีปัญหาเฉพาะตนที่กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง แก้ไขไม่ได้ จนกลายเป็นว่าโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เป็นปัจจัยฉุดคุณภาพชีวิต สิทธิเสรีภาพ การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอย่างอิสระลงไปจนหมด อาจจะรวมถึงยุคที่สังคมเปลี่ยนผ่านด้วยความเร็ว คุณค่าเดิมๆ ได้กลายเปลี่ยน การโหยหาอดีต แล้วต้องการเก็บสังคมอุดมคติ หรือสร้างยูโทเปียผ่านอำนาจเผด็จการเกิดขึ้นให้เห็นเป็นโมเดลสำคัญในอนาคต เช่น จีน ใช้การตรวจจับใบหน้าเพื่อให้คะแนนคุณธรรมโดยมี AI ทำหน้าที่ตรวจสอบพฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งสิ่งที่พวกเขาทำไม่ได้ผิดกฎหมายเช่นซื้อเหล้ามากเกินไป ซื้อเกมมากเกินไป หรืออาจจะเผลอทิ้งขยะลงบนทางเท้า แต่การให้คะแนนกลับมีผลในชีวิตเช่นคุณอาจจะซื้อตั๋วรถไฟ กับเครื่องบินไม่ได้ นั่นหมายความว่ามนุษย์จะถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพมากขึ้นไปอีกหากยูโทเปียของรัฐบาลจีนสำเร็จ หรือ แผนยุทธศาสตร์ของชาติ 20 ปี ของประเทศไทย ซึ่งกลายมาเป็นโซ่ตรวนขนาดใหญ่ที่ล่ามความเจริญรุ่งเรืองให้อยู่ภายใต้กรอบแนวคิดของชนชั้นนำ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เดินทางอย่างรวดเร็ว อนาคตของยุทธศาสตร์ชาติจึงเป็นการร่างภาพอนาคตที่มองไม่เห็นอะไรเลย เพราะเอาเข้าจริงๆ การทำนายเศรษฐกิจปีต่อปี เดือนต่อเดือน ยังพังทลายมาแล้ว จะเอาดวงตาใดไปมองอนาคตที่แสนยาวนานขนาดนั้น บางทีผู้เขียนคงตายก่อน หรือไม่ก็นอนพะงาบบนเตียงพร้อมเครื่องช่วยหายใจ

Ten Years Thailand
#image_title

1.หนังสี่เรื่อง สี่ผู้กำกับได้แก่ Sunset (อาทิตย์ อัสสรัตน์) / Catopia (วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง) / Planetarium (จุฬญาณนนท์ ศิริผล) / Song of the city (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) ผู้กำกับทั้งสี่คนต่างมีรูปแบบนำเสนอเป็นของตัวเอง เรียกว่าเป็นลายเซ็นที่แน่นอน 

2.อาทิตย์ อัสสรัตน์ ศิลปินศิลปาธร สาขาภาพยนตร์ ประจำปี พ.ศ. 2553 เป็นผู้กำกับและผู้เขียนบทภาพยนตร์ที่มีผลงานการกำกับภาพยนตร์อิสระ ภาพยนตร์สั้น ภาพยนตร์สารคดี และมิวสิกวิดีโอ เกิดเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2515 เขาย้ายไปเรียนไฮสคูล ที่บอสตันและเติบโตที่ต่างประเทศตั้งแต่อายุ 15 ปี เมื่ออายุได้ประมาณ 18-19 ปี เขาศึกษาต่อปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์จาก New York University เขาเลือกศึกษาต่อด้านการสร้างภาพยนตร์ในระดับปริญญาโทที่ University of Southern California เพื่อต่อยอดจากการเรียนประวัติศาสตร์ สิ่งสำคัญเขาต้องการศึกษา มนุษย์ และผู้คน ภาพยนตร์สั้นเรื่องแรกของเขาคือผลงานเรื่อง Motocycle งานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ปี  พ.ศ. 2549 อาทิตย์ทำ Wonderful Town ภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกที่ถือกำเนิดขึ้นพร้อมบริษัท ป็อบ พิคเจอร์ ซึ่งต่อมาได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ นอกจากนี้เขายังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “ที่รัก” ของ ศิวโรจน์ คงสกุล และภาพยนตร์เรื่อง “Mary is Happy, Mary is Happy” ของ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ จนหนังประสบความสำเร็จอีกด้วย

3.วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เกิดที่กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2507 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำงานด้านโฆษณา ในตำแหน่งครีเอทีฟมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นทำงานในวงการภาพยนตร์ ด้วยการเขียนบทภาพยนตร์ เรื่อง 2499 อันธพาลครองเมืองในปี พ.ศ. 2540 และ นางนาก ในปี พ.ศ. 2542 ให้กับ นนทรีย์ นิมิบุตร ในปี พ.ศ. 2543 เขาทำหนังเรื่อง “ฟ้าทะลายโจร” ซึ่งกลายเป็นหนังที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ดำเนินเรื่องในแบบเหนือจริง การจับเอาคาแลคเตอร์ตัวละครที่เป็นคาวบอยมาผสมผสานแนวทางแบบการ์ตูนอเมริกัน และดำเนินเรื่องแบบไทยๆ ทำให้หนังเป็นที่กล่าวขวัญถึง หมานคร เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องที่ 2 ของ วิศิษฏ์ ได้รับการตอบรับอย่างดี ด้วยเนื้อหาในแบบเมจิกคอล และยังมีหนังอีกหลายเรื่องเช่น เปนชู้กับผี, อินทรีแดง และล่าสุด “สิงสู่” ในปี พ.ศ. 2561

4.จุฬญาณนนท์ ศิริผล เกิด 2529 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชานิเทศศิลป์ สาขาภาพยนตร์และวิดีโอ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จุฬญาณนนท์ มาจากสายหนังสั้น หนังทดลอง และยังมีผลงานศิลปะสื่อผสม เจ้าของรางวัลช้างเผือก ปี พ.ศ. 2551 (ชนะเลิศระดับนักศึกษา) เทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 12 จัดโดย มูลนิธิหนังไทย คาแรกเตอร์ที่โดดเด่นในงานจุฬญาณนนท์เลือกใช้เพื่อยั่วล้อกับฟอร์มของหนังหรือความเชื่อ รวมทั้งเป็นการเสียดสีที่มีเสน่ห์กว่าการเล่าอย่างตรงไปตรงมา

 5.อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เกิดวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2513 ที่กรุงเทพฯ แต่ไปเติบโตในจังหวัดขอนแก่น สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และปริญญาโท ศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาภาพยนตร์ จากสถาบันศิลปะชิคาโก (Art Institute of Chicago) เริ่มต้นผลิตภาพยนตร์และวิดีโอตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2533 เป็นหนึ่งในผู้ผลิตภาพยนตร์ไม่กี่คนในประเทศไทยที่ทำงานนอกระบบสตูดิโอ อภิชาติพงศ์มักทดลองโดยยึดหลักโครงเรื่องที่อิงมาจากละครโทรทัศน์ ละครวิทยุ การ์ตูน และภาพยนตร์เก่า ๆ มักได้แรงบันดาลใจมาจากเมืองเล็กๆ มักใช้นักแสดงที่ไม่มีประสบการณ์ ไม่ใช่มืออาชีพ และใช้บทสนทนาสด ภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องแรกของเขา “ดอกฟ้าในมือมาร.. 2543  (Mysterious Object at Noon) “ลุงบุญมีระลึกชาติ” (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) พ.ศ. 2553รางวัลปาล์มทองคำ เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ครั้งที่ 63

Ten Years Thailand
#image_title

6.Sunset (อาทิตย์ อัสสรัตน์) เป็นหนังเรื่องแรกใน 10 Years Thailand เปิดเรื่องที่แกลอรี่ Artist-Run จัดงานแสดงภาพถ่ายขาวดำ และตัวหนังก็เป็นขาวดำ แต่งานแสดงถูกร้องเรียนไปยังหน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่ทหารสามนายประสานตำรวจเข้ามาตรวจสอบว่าภาพในงานแสดงสร้างความแตกแยกในสังคมหรือไม่ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เราจะเห็นจนเจนตาหลังจากรัฐประหารในปี 2557 โดยพลเอกประยุทธ และพวก โดยตั้งเป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.เข้าควบคุมอำนาจ ความพยายามที่จะใช้ยาแรงแทรกแซงสิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางความคิดและการเมืองของประชาชน ทำให้ก่อให้เกิดความหวาดกลัวที่จะต่อต้าน Sunset เล่าเรื่องยิบย่อยผ่านตัวละครทหารหนุ่ม กับแม่บ้านสาว ที่กำลังสานสัมพันธ์ความรัก ตัวหนังพยายามสอดแทรกสัญลักษณ์ทางการเมืองผ่านภาพ บทสนทนา รวมถึง อนาคตของความปรองดอง ด้วยมุมมองที่โรแมนติก แต่ช่วงเวลานั้นมันก็ใกล้ค่ำลงไปเรื่อยๆ

catopia Ten Year Thailand
#image_title

7.Catopia (วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง) เมื่อโลกถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง แมวครองโลก และมนุษย์กำลังถูกล่า วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ทำหนังในแนวทางของเขาได้อยู่มือ มีทั้งบู๊ มีทั้งการทวิต แม้จะชั้นเดียวและเดาออกได้ตั้งแต่เริ่ม หนังเล่าเรื่องในแบบตรงตัวไม่อ้อมค้อม ประเด็นการเปลี่ยนข้าง หักหลัง และการลงทัณฑ์ โลกที่ถูกควบคุมโดยรัฐ และไม่มีการตรวจสอบ ความยุติธรรมจึงเป็นการใช้อำนาจแบบเผด็จการ โหดร้าย ป่าเถื่อน 

#image_title

8.Planetarium (จุฬญาณนนท์ ศิริผล) ท้องฟ้าจำลองของจุฬญาณนนท์ เป็นหนังทดลองที่เด็ด และสะกิดแผลเก่าที่ยังไม่ตกสะเก็ดให้กลายเป็นแผลที่เปิดขึ้นมาให้ความเจ็บปวดแสบอีกครั้ง การเล่าเรื่องด้วยภาพตลอดทั้งเรื่องกลับสื่อสารภาพสังคมไทยที่ถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากการโหยหาอดีตอันรุ่งเรือง และความพยายามกำหนดกรอบความคิดของคนรุ่นใหม่โดยคนรุ่นเก่า ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะส่งผลต่ออนาคตของประเทศไทย ภาพของผู้คนที่หมดสภาพถูกบดขยี้ ความดีในแบบคนดีสร้างกลายเป็นเบ้าหลอมทางสังคมสำคัญ หรืออาจจะกล่าวได้ว่ายุทธศาสตร์ของชาติ 20 ปี นั้นได้ถูกส่งออกผ่านอำนาจของรัฐผ่านรัฐธรรมนูญ ไปสู่สื่อของรัฐ สื่อของเอกชน โซเชียลมีเดีย และทำให้ควบคุมประชาชนด้วยปุ่มเพลย์เพียงปุ่มเดียว 

Song of the city : Ten Year Thailand
#image_title

9.Song of the city (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) สิ่งที่อภิชาติพงศ์นำเสนอในหนังสั้นชิ้นนี้ช่างเรียบง่ายแต่ทรงพลังเหลือเกิน ภาพซูมอนุสาวรีย์เต็มตัวในฉากเปิดเรื่อง พร้อมกับเสียงดนตรีจากดรงเรียนที่ไหนสักแห่งดังอยู่โดยไม่เป็นเพลง แต่เมื่อภาพค่อยไ ตัดไปมุมอื่น หรือมุมกว้าง ผู้ชมเริ่มเห็นแล้วว่าอนุสาวรีย์กำลังถูกซ่อมแซม ผ่านนายช่าง ที่มีเพื่อนมาเยี่ยม ผ่านคนงานกำลังก่อสร้าง รถตักกำลังตักดิน คนขายเครื่องหายใจกับหมอ บทสนทนาที่ไม่ปะติดปะต่อ ผู้คนที่ไม่มีที่มาที่ไป การประกอบสร้างการเมืองไทยที่ไม่ยอมเสร็จ เสียงเพลงชาติในท่วงทำนองที่แปลกเปลี่ยน ไม่สมบูรณ์ และเสียงที่ซ้ำ มุมกล้องคนละมุมที่ซ้ำ ภาพปะติมากรรมนูนสูง 

10.สัญลักษณ์ต่างๆในหนังทั้งสี่เรื่องดูเหมือนจะพยายามสื่อสิ่งที่เราอาจจะพูดไม่ได้ การที่เราพูดไม่ได้นั้นไม่ได้หมายความว่าเรากลัว หรือเรายอมจำนนต่ออำนาจ ไม่ว่าจะเป็นฉากกินพิซซ่าใน Sunset ความยุติธรรมใน Catopia น้ำข้นเหนียวใน Planetarium และ ภาพซูมอนุสาวรีย์เต็มตัวใน Song of the city ซึ่งใน Song of the city นั้น ยิ่งทำให้เราเห็นเลยว่าการที่เรามองเห็นภาพอนุสาวรีย์ในมุมมองเดียวนั้น เราแทบไม่เห็นโครงสร้างโดยรอบของสังคมเลยแม้แต่นิดเดียว แม้ว่าอนุสาวรีย์นั้นจะมีความศักย์สิทธิ์ในฐานะของอะไรก็ตาม หรือมีคนกราบไหว้บูชา แต่สังคมไม่ได้ส่งต่อจากสิ่งเหล่านั้น ผู้คนรอบข้างต่างหากที่มีส่วนสำคัญในการสร้างโครงสร้างของประเทศ น้ำที่ข้นเหนียวอาจจะเป็นเพียงการสำเร็จความใคร่ของบิ๊กบอสก็เป็นได้ ขณะเดียวกันความยุติธรรมในแคทโทเปียก็เป็นสิ่งที่หายากพอๆ กับมนุษย์ หรือสัญลักษณ์ทางการเมืองในภาพถ่ายในห้องแสดงภาพคือความขัดแย้งที่ไม่ควรนำเสนอ สัญลักษณ์ทั้งหมดของหนังทั้งสี่เรื่องจึงวนลูปอยู่ในสภาพการเมือง สังคมไทย จนทุกวันนี้ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร

11. Ten Years Thailand จะเข้าฉายตามปกติในโรงหนังสัปดาห์นี้ ผู้ชมที่สนใจไม่ควรพลาด แม้หนังจะไม่ใช่หนังการเมืองจ๋าๆ และต้องเข้าใจสภาพการถูกปิดกั้นที่จะนำเสนอเรื่องราวสังคมการเมืองอย่างตรงไปตรงมาในประเทศนี้อยู่พอสมควร Ten Years Thailand ได้แสดงออกให้เห็นว่าหนังการเมือง อาจจะไม่ต้องใช้การเมืองเข้ามาเป็นโครงเรื่องหลัก แต่มันสามารถสื่อสารผ่านรูปแบบได้หลากหลาย ส่วนใครคิดว่าจะเข้าไปดูหนังสั้นแบบยากๆ ก็ไม่ใช่แบบนั้น เพราะหนังทั้งสี่เรื่องต่างมีสตอรี่เรื่องเล่าในแบบของตัวเอง มีทั้งสนุก โรแมนติก มีทั้งเสียดสี บู๊ และความเป็นกวีนิพนท์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *