อนาคตของความหวัง หรือการสิ้นสุด
สปอย 100% ผู้เขียนไม่ได้ดู หนังเกาหลี มานานแล้ว Train to Busan ตัดสินใจไปดูเพราะมีความชอบหนังซอมบี้เป็นทุนเดิม เนื่องจากหนังซอมบี้ส่วนใหญ่จะสามารถรีดเค้นวิกฤติของสังคมออกมาสู่รูปแบบหนังผีดิบได้ดีกว่าหนังที่เกี่ยวเนื่องทางสังคมจริงๆ เหตุผลนี้ไม่รู้จะหาเหตุผลอะไรมาอธิบาย แต่ถ้าไล่เรียงหนังซอมบี้กันจริงๆ ก็เป็นแบบนั้น สำหรับ Train to Busan ก็อยู่ในระนาบเดียวกับหนังผีดิบอื่นๆ อย่างที่ตั้งใจไปดู แถมยังคงไปด้วยความบันเทิง ประเภทนั่งลุ้นตัวเก็งกันเลยทีเดียว
ตัวละครในเรื่องนี้น่าสนใจไม่น้อย เพราะถ้าแบ่งกลุ่มของตัวละครออกไปก็จะเห็นได้ว่ากลุ่มตัวละครจะประกอบไปด้วย ผู้ปกป้อง โดยพื้นของตัวหนังเน้นจุดนี้ตั้งแต่ตอนต้นอยู่แล้ว โดยมองปัญหาครอบครัว การปกป้องครอบครัวเป็นเรื่องใหญ่ ครอบครัวตัวเอก Seok-Woo เป็นพ่อที่แยกกับเมีย โดยเลี้ยงดูซูอาน ลูกสาว เขามีอาชีพเป็นตัวแทนขายหุ้นของบริษัทเคมีที่ก่อปัญหาต้นตอ แน่นอนว่าหนังพยายามเชื่อมโยงทุนนิยมเข้ามาสู่เนื้อเรื่องเพื่อเพิ่มน้ำหนักของปัญหาของหนังให้แน่นขึ้น อย่างน้อยเราก็คงเห็นว่าเกาหลีที่เป็นเสือทางเศรษฐกิจของเอเชีย ก็ยังกังวลใจกับทุนนิยม อันนี้จะจริงแค่ไหนไม่อาจรู้ได้ แต่เพราะเป็นหนังหรือเปล่า ทุนนิยมก็เลยต้องเป็นผู้ร้ายเอาไว้ก่อน
รายชื่อผู้แสดงทั้งหมด: Train to Busan
กลุ่มผู้ปกป้องอีกกลุ่มก็ยังคงเน้นเรื่องครอบครัวคือ Sang-hwa หนุ่มนักกล้ามที่ปกป้อง Seong-kyeong เมียที่กำลังท้องใกล้คลอด เราจะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดวิกฤติ กลุ่มนักปกป้องจะปกป้องคนในครอบครัวเป็นลำดับแรก ซึ่งถือเป็นอนาคตของพวกเขา แม้กลุ่มนักปกป้องจะเต็มไปด้วยทักษะการเอาชีวิตรอด มีความรู้ มีไหวพริบที่จะต่อสู้กับผีดิบ มีพละกำลัง และเปี่ยมล้นด้วยพลังที่จะปกปักรักษาอนาคตของพวกเขาให้อยู่รอด แม้ว่าอนาคตของพวกเขาอาจจะต้องไปเจอวิกฤติข้างหน้า (การถูกปืนของทหารจ่อยิง) ในตอนท้ายเรื่อง พวกเขาก็ยินดีที่จะสละชีวิต
กลุ่มที่สองเด็กวัยรุ่นนักเบสบอล เราจะเห็นว่ากลุ่มนี้แม้จะเป็นอนาคต แต่ความเป็นวัยรุ่น มีความรักในแบบหนุ่มสาว รักเพื่อนพ้อง แต่พวกเขาไม่สามารถทนต่อแรงกดดันของปัญหาได้ การตัดสินใจต่อสู้จึงขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าการแก้ปัญหาจริงๆ เด็กหนุ่มสาวในหนังเรื่องนี้จึงถูกทำให้กลายเป็นปัญหาของวิกฤติ พวกเขาไม่ได้เข้าไปสู่การเป็นกลุ่มนักปกป้องเหมือนกลุ่มแรก มุมมองทางสังคมที่มองกลุ่มหนุ่มสาวเหล่านี้จึงมีลักษณะที่ไม่เชื่อมั่น เช่นเด็กสาวถูกกันไม่ให้ช่วยแฟนหนุ่ม ส่วนเด็กหนุ่มรู้สึกผิดที่ช่วยเพื่อนไม่ให้ตายไม่ได้
กลุ่มที่สามคือคนแก่ และอาจจะรอบชายจรจัดรวมไปด้วยก็ได้ คนแก่ในเรื่องนี้เหมือนตัวถ่วงไร้อนาคต มีชีวิตอยู่กับความหลัง ไม่เชื่อมโยงกับอนาคต พวกเขาไม่ได้มองว่าคนอื่นจะรอดชีวิตไปเพื่ออะไร เช่นการเปิดปะตูของยายป้าที่ทำให้ผีดิบบุกมากัดคนในโบกี้จนตายหมด นั่นเป็นเหตุผลที่ไร้สาระ ที่พวกเขาแทบมองไม่เห็นอนาคตของการมีชีวิตอยู่เลย การตายๆ จากไปจึงเป็นทางที่พวกเขาคิด ส่วนชายจรจัดนั้นก้ำกึ่งจากกลุ่มนี้ ชายจรจัดเป็นตัวแทนของคนถ่วงในสังคม คนสิ้นไรความสามารถ ไม่มีอนาคต ไม่มีความหวัง ไม่สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติให้ไปได้ไกลกว่านี้ แต่ตอนท้ายที่เขาเสียสละตัวเพื่อช่วย “อนาคต” นั่นไม่ใช่ตัวเขา แต่เป็นความคาดหวังของสังคมที่มองว่าถ้าเกิดวิกฤติ คนที่ถ่วงสังคมจำเป็นต้องเสียสละชีวิตของตัวเอง ดังนั้นมันดูโหดร้าย แต่สังคมก็คาดหวังคนกลุ่มนี้เฉกเช่นนี้
กลุ่มที่สี่ คนที่เห็นแก่ตัว คนกลุ่มนี้ที่ชัดสุดก็คือชายตัวร้ายที่ต้องการไปหาแม่ที่ปูซาน ที่จริงเขาก็มีเหตุผลในช่วงวิกฤติ การเอาตัวเองให้รอด คนอื่นตายก็ช่าง คนพวกนี้มีวิธีชักจูงให้ผู้คนมองเห็นศีลธรรมที่ต่ำช้าได้ดีกว่าคนอื่น พวกเขาทำให้คนกลุ่มหนึ่งเดินตามไปด้วยได้ (เพื่อที่จะไปตาย) แต่มันก็ทำให้เห็นว่าชายตัวร้ายมีชีวิตอยู่จนถึงฉากท้ายๆ เขาเอาตัวรอดไปได้ ฆ่าคนไปก็เยอะ แต่ท้ายสุดหนังก็ทำให้เขาตาย
เป็นสิ่งที่น่าแปลก หนังผีดิบจำนวนมากกลับโฟกัสภาพสังคมได้แจ่มชัด อาจจะเป็นเพราะโมเดลที่ทำให้สังคมล่มสลายด้วยวิกฤติอย่างรุนแรงรวดเร็ว และการทำให้ความเป็นมนุษย์กลายสภาพไปเป็นผีดิบ (ที่วิ่งเร็วไม่เหนื่อย) ทำให้สะท้อนภาพสังคมที่กำลังแตกสลายได้ดีกว่าภาพหนังธรรมดา หรือบางทีเป็นเพราะเราไม่ต้องสนใจว่าหนังจะไปวิจารณ์การเมืองการปกครองแบบตรงๆ มันได้กลายเป็นปากเสียงของหนังที่สื่อออกมาได้เต็มปากเต็มคำกว่า
ในวิกฤติทางสังคม จะมีคนรอดชีวิต จะมีผู้เสียชีวิต บางทีเราก็อาจจะเลือกไม่ได้ว่าเราจะเป็นคนกลุ่มไหน หรือบางทีเมื่อถึงวิกฤติจริงๆ อาจจะเหลือเพียงกลุ่มคนแบบเดียวก็เป็นได้ การที่หนังผลักดันให้เด็กหญิงและคนท้องรอดจากรถด่วนสายผีดิบ แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะดำรงชีวิตต่อไปได้หรือไม่ กับการเผชิญความสูญเสียที่ยากเกินกว่าจะรับมันได้
อ่านรีวิวหนังซอมบี้: La Revolution