เรื่องเล่าเกี่ยวกับโลกที่เปลี่ยวเหงา และโลกกำลังเปลี่ยนแปลง
Table of Contents
1990
กลางทศวรรษ 90 วิดีโอหนังเรื่องหนึ่งที่ตัดต่อใหม่ด้วยความผิดพลาดหรือเซ็นเซอร์ตัวเองจากผู้ผลิตก็ไม่อาจทราบได้ เรื่อง Chungking Express (ผู้หญิงผมทองซัดหัวใจให้โลกตะลึง) ดังขึ้นมาในหมู่คนดูหนังอิสระโดยไม่รู้ตัว ปรากฏการณ์ หว่อง คาร์ไว ถูกจุดกระแสขึ้นมาเล็กๆ ในเมืองไทยตั้งแต่บัดนั้น แล้วดูเหมือนว่าอารมณ์ของหนังได้เข้ามามีส่วนเปลี่ยนแปลง Pop Culture ของไทยในระดับสึนามิ หนังของหว่องเต็มไปด้วยสีสันในแบบเอ็กซ์เพรสชันนิสต์ อารมณ์รักที่มีเส้นบางๆ ขวางอยู่ กำแพงความสัมพันธ์ที่มองไม่เห็น การตามหาความฝันที่เหมือนไกลเกินเอื้อม ความรวดร้าวเงียบงัน การทำร้ายตัวเองด้วยวิธีการต่างๆ ที่แสนน่ารักปนเศร้า ภาพจากหนังที่ถ่ายทำด้วยฟิล์มหลายชนิดในเรื่องเดียวกัน ทำให้หนังมีโทนที่ฉุดฉาด เทคนิคถ่ายภาพแบบแฮนด์เฮลของ Christopher Doyle ได้กลายเป็นเอกลักษณ์หนังหว่องไปในบัดดล
เรื่องราวของหนังมีความเป็นศิลปะป๊อปอาร์ตแบบเต็มตัว ภาพแบบไทม์แลปยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความเร็วกับความเชื่องช้าของเวลา การวางเนื้อเรื่องตัดสลับการเล่าเรื่อง ผ่านน้ำเสียงของตัวเอกทำให้ผู้ชมเข้าถึงหัวใจของตัวละคร แม้ตัวละครที่เย็นชาที่สุดก็ตาม
ภาพเหลียง เฉา เหว่ย ในชุดตำรวจ 663 คือภาพแทนของคนเมืองที่เต็มไปด้วยความเศร้า เหงา ขาดความมั่นใจ ไร้จินตนาการ ทำทุกสิ่งเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง จนไม่เคยสังเกตเห็นสิ่งรอบข้างเปลี่ยนแปลงไป เขาพกเอาความเจ็บช้ำเก็บงำไว้เดียวดาย อกหักเพียงลำพัง
663 เป็นตัวละครที่คนดูอยากจะค้ำจุนความเศร้าของเขา ขณะเดียวกันก็ไม่อาจมั่นใจได้ว่า 663 จะทำให้คุณต้องเดินจากเขาไปหรือปล่า เฟย์ คือตัวแทนของความฝันสำหรับหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่ไม่มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองมี เช่นความสามารถ ความสวย และความเชื่อมั่นในตัวเอง แต่อีกมุมหนึ่งพร้อมจะเผชิญหน้ากับชะตากรรม ทดลองที่จะใช้ชีวิต แม้การเลือกนั้นจะทำให้เธอต้องไปไกลจากความรัก
ส่วน 223 คือตัวแทนของคนที่ลงโทษตัวเองให้จมจ่อมอยู่กับอดีตซ้ำแล้วซ้ำเล่า คิดถึงแต่เรื่องเดิมๆ ความทรงจำ วันหมดอายุ การเสี่ยงดวง เพื่อที่จะพบคนที่ไม่ใช่ ผู้หญิงสวมแว่นดำ เสื้อกันฝนและวิกสีทอง คือภาพของความเย็นชา อาชญากรรม ไร้รัก คุณไม่อาจก้าวเข้าไปในโลกของเธอได้ แม้เธอจะเหนื่อยล้าเพียงใด ตัวละครสี่ตัวนี้คือภาพร่างคร่าวๆ ของยุค 90 ที่แสดงถึงความเหงา ความเศร้า ความรักที่อธิบายไม่ได้ และการตามหาตัวตนที่เจ็บปวด
หนังได้ก่อเกิดเทพนิยายของยุคสมัยใหม่ โรมีโอกับจูเลียตในป่าคอนกรีตท่ามกลางแสงไฟและผู้คนในเมืองใหญ่ Chungking Express ทำลายภาพหนังบู๊ หรือแก๊งค์สเตอร์ของฮ่องกงในทศวรรษก่อนลงสิ้นเชิง อาจจะกล่าวได้ว่า หว่องก้าวมาเป็นศาสดาของคนรุ่นนี้อย่างเต็มตัว เขาได้สร้าง Chungking Express ให้กลายมาเป็นภูเขาลูกหนึ่ง
เพลงประกอบภาพยนตร์ในเรื่อง Chungking Express มีสองเพลงที่โลดแล่นคือ California Dreamin’ ของวง The Mamas & Papas เพลงดังกล่าวเป็นดังอุโมงเวลาที่เชื่อมโยงยุครุ่งเรืองของบุฟผาชน หรือฮิปปี้มาสู่ยุค 90 ยุคบุปผาชนกลายเป็นอดีตที่หอมหวานสำหรับคนยุค 90 เมื่อย้อนเวลาไปในยุคนั้น ผู้คนหนุ่มเรียกร้องสันติภาพ เสรีภาพ ความเสมอภาพ และภราดรภาพ ผ่านทางเสียงเพลง บทกวี หนัง การเดินขบวนประท้วง สงครามเย็น สงครามเวียตนาม การต่อสู้กับคอรัปชัน ต่อสู้กับรัฐเผด็จการ แม้เพลง California Dreamin’ จะไม่ใช่เพลงขบถต่อต้านเผด็จการโดยตรง ทว่าเป็นเพลงพ๊อพที่สร้างอิทธิพลแบบ pop culture โดยเฉพาะการโหยหาความหวังอันแห้งผาก เพื่อจุดประกายให้ตัวละครเดินหน้า
ขณะเดียวกันคนหนุ่มสาวในยุค 90 กลับพบว่าความฝันเป็นเพียงภาพความทรงจำ พวกเขาไม่มีงานดี ไม่มีเงินเดือนสูงๆ มีชีวิตปราศจากความหวัง คนยุค 70 เติบโตเป็นผู้ใหญ่ในทศวรรษ 90 บ้างละทิ้งอุดมการณ์ กลายเป็นทุนนิยม เด็กวัยรุ่นยุค 90 ต้องใช้ชีวิตไปตามกระบวนการทางสังคม ถูกกำหนดให้เดินไปสู่กลไกที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งใดได้ เหมือนคนสยบยอม และรับใช้สังคมที่กดขี่พวกเขาผ่านความเจริญเติบโตของเมือง เพลง Dream (เพลงแปลงภาษาจีนร้องโดยเฟย์ หว่อง) ท่วงทำนองจากวง The Cranberries เป็นวง Britpop ยุค 90 ซึ่งตั้งคำถามจากความฝันของคนรุ่นใหม่
เพลง Dream ของ The Cranberries จึงเป็นอะไรที่เจ็บปวด เต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ซึ่งเพลงยังตอกย้ำวิถีชีวิตของ Genneration 90 ได้เป็นอย่างดี และมันเป็นเพลงแกนหลักเพื่อคลี่คลายความหวังของตัวละครให้ก้าวออกมาจากเส้นทางเดิมๆ
What a Diff’rence a Day Makes เพลงสแตนดาร์ดแจ๊ซ ขับร้องโ่ด่งดังโดย Dinah Washington กลายมาเป็น love’s theme ของเรื่อง ยิ่งสร้างให้บรรยากาศของหนังมีกลิ่นของความโหยหาวันเวลาเก่าก่อน รอยกรีดจากแผลความรักเก่าซ้อนทับกันกับความรักใหม่ เสียงเพลงจากวิทยุที่ถูกสลับแผ่นซีดีไปมา
Chungking Express จึงได้กลายมาเป็นหนังเรื่องหนึ่งที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ทำให้ชื่อของหว่อง คาร์-ไว เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว หนังของเขาก่ออิทธิพลต่อคนหนุ่มสาว และยังส่งผลย้อนกลับไปสู่หนังเรื่องเก่าๆ ของเขา ได้ถูกนำมาฉายในเทศกาลหนังของเมืองไทย ‘Day of Being Willd’ ยิ่งตอกย้ำถึงอิทธิพลที่หว่อง คาร์-ไว ทิ้งเอาไว้ให้กับคนชมภาพยนตร์ชาวไทยเป็นอย่างมาก จนวลีอย่าง “นกไร้ขา” กลายเป็นวลีติดปากติดต่อกันมานานหลายทศวรรษ
‘Day of Being Willd’ ความละเมียดละไม ความโรแมนติก ในหนังเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นภาวะทางสังคมได้เป็นอย่างดี แม้จะเป็นหนังย้อนยุค แต่กลับฉายภาพความรู้สึกต่อคนร่วมสมัย ไม่ต่างจากงานที่พูดถึงสังคมอื่นๆ จึงไม่แปลกที่จะก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อนักวิจารณ์ฝ่ายซ้าย
ศิลปะเพื่อชีวิตทรงอิทธิอยู่ในสังคมไทยมาตั้งแต่ยุคก่อน 14 ตุลาคม 2516 (1973) งานวรรณกรรม ดนตรี และภาพยนตร์ ศิลปะเพื่อชีวิตโดนกระแสเมืองสั่นคลอนอย่างหนัก งานของหว่องชูธงในแบบ pop culture ยิ่งทำให้ฝ่ายซ้ายเห็นว่าเรื่องราวเหล่านี้เป็นเพียงการรับใช้ปัจเจกบุคคลเท่านั้น ไม่ได้สะท้อนปัญหาสังคมที่แท้จริง เป็นการหยิบฉวยเอาเปลือกมานำเสนอ แม้จะโดนฝ่ายซ้ายวิจารณ์อย่างหนักเท่าไร กระแสหว่องกลับไม่หายไปจากสังคม
การต้านทานกระแสใหม่ของโลกไม่อาจจะทำได้ ยิ่งการมาของยุคอินเตอร์เน็ต ยูทิวป์ สมาสโฟน กูเกิล และในปัจจุบัน ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก อินทาแกรม ได้บอกเราแล้วว่ากระแสธารความเปลี่ยนแปลงของโลกไม่สามารถหยุดยั้งได้ ศิลปะเพื่อชีวิตกลายเปลี่ยนมาเป็นศิลปะสร้างสรรค์ อิทธิพลของยุค 90 แม้ดูเป็นยุคที่แสนสิ้นหวังของคนหนุ่มสาวที่เติบโตมาในยุคดังกล่าวก็จริง แต่อิทธิพลของโลกที่เปลี่ยวร้าง เศร้าเหงา โดดเดี่ยว ไร้ที่พึ่ง ได้ก่อรูปก่อร่างเจนเนอเรชั่นที่แตกต่างขึ้นมา บางครั้งมันถูกมองว่าเป็นยุคที่ผู้คนสันโดษจากสังคม แฟชั่นที่ฉาบฉวย ความเศร้างามที่เต็มไปด้วยความปลอมของอารมณ์ แต่สิ่งเหล่านั้นล้วนเปลี่ยนแปลงองคายพของสังคมมาถึงปัจจุบัน
2018
แปลกใจไหมเราผ่านยุค Millennium มา 18 ปีแล้ว
ถ้าคุณเติบโตขึ้นมาในปลายทศวรรษที่ 90 คุณจะพบว่า มีเรื่องบ้าบอเกิดขึ้นมากมาย วิกฤต Y2K คือ วิกฤติหนึ่งที่ทำให้ประเทศโลกที่สามหวาดกลัวว่าโลกจะถึงวันพินาศ คอมพิวเตอร์บางตัวจะทำงานผิดพลาด ปัญหานี้เกิดกับระบบเอกสารและการบันทึกข้อมูล ทั้งในแบบดิจิตอล (เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์) และระบบอนาล็อก สืบเนื่องมาจากการบันทึกปีคริสต์ศักราชจำนวนสี่หลัก ย่อเหลือเพียงสองหลักท้าย โดยละสองหลักแรก คือ “19” และ “20” ไว้ในฐานที่เข้าใจ
ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่ออุปกรณ์ต่างๆ ใช้งานจนถึงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 1999 และเข้าสู่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2000 แต่ระบบกลับเข้าใจว่าเป็น ค.ศ. 1900 ทำให้การทำงานของระบบผิดเพี้ยน สร้างความตื่นตัวในแวดวงธุรกิจ การธนาคาร การแพทย์ และการทหาร ว่าอาจทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ทำงานผิดพลาด อาจทำให้ระบบสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า โทรศัพท์ ระบบอาณัติสัญญาณ ถึงขั้นหยุดการทำงาน
การนับถอยหลังเพื่อสู่ปีมิเลเนียม อีกซีกโลกหนึ่งเฉลิมฉลองด้วยการบรรเลงซิมโฟนีหมายเลข 9 ของบีโธเฟน ส่วนอีกโลกหนึ่งเฝ้าจับตานับถอยหลังถึงวันสิ้นโลก ระบบคอมพิวเตอร์ล่มใช้งานไม่ได้ เงินในบัญชีธนาคารหายไปกับตา เกิดการจราจล รถชนกันที่สี่แยก และอุกาบาตพุ่งชนโลก ผู้คนล้มตาย รัฐบาลไม่สามารถควบคุม
กระแสโหยหาอดีต (nostalgia) แผ่ขยายเหมือนม่านหมอกบางจางในยามเช้า ภาพ 663 ในชุดตำรวจหนุ่ม กลายเป็นภาพไอคอนของยุค 90 ราวกับกระแสลมหวนกลับมา กลิ่นของหว่อง คาร์-ไว ยังอวลอบอยู่ในหมู่คนดูหนัง เมื่อกลับไปดูหนังเรื่อง Chungking Express ภาพวันเวลาเก่าของยุคในหัวของผู้เขียนลอยล่องอยู่บนธารกระแสสำนึกอย่างเปี่ยมล้น ภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความเหงา ความเศร้า ความสับสน ยังคงอยู่ในสังคม ภาวะโรคซึมเศร้าได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่ภาพความเงาเศร้าในแบบยุคก่อน แต่เป็นการทำความเข้าใจต่อยุคสมัยที่ท้าทายมากขึ้น โรคของคนเมืองใหญ่แผ่ขยายอาณาบริเวณ แบ่งย่อยลงไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่มีความหลากหลาย
อิทธิพลของหว่อง คาร์-ไว จึงเป็นเหมือนโลกที่หวนกลับไปดูภาพยุค 90 ที่แสนเปราะบาง เต็มไปด้วยความสัมพันธ์ที่มีกระจกใสบางกางกั้นอยู่ กำแพงนั้นอาจถูกทลายลง หรือก่อตัวเพิ่มระยะความห่างออกไป และเรื่องราวอื่นๆ ในยุค 90 ไม่ว่าจะเป็นนิยายเรื่อง Generation X ของ Douglas Coupland นิยายของฮารูกิ มูราคามิ Norwigian Wood, South of the Border, West of the Sun และ The Wind-up Bird Chronicel จนมาถึงภาพยนตร์สำคัญอีกเรื่องของฝั่งอเมริกา Reality Bites งานเหล่านี้สามารถอธิบายห้วงเวลาของยุค 90 ที่ดูเลือนลางไม่ปะติดปะต่อให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง แล้วเมื่อหวนไปถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในวัยหนุ่มของผู้เขียน สิ่งเหล่านี้ก็คือต้นทุนทางศิลปะที่ก่อร่างมาจากยุคดังกล่าวชัดเจน
แต่กระนั้นยุค 90 ก็มีอันจบลงอย่างสั้นๆ เศร้าๆ และดูเหมือนหลักความตายของเคิร์ท โคเบน นักร้องแนวกรั๊นท์ร็อคแห่งวง Nirvana จะเป็นการปิดฉากของยุคลงอย่างสิ้นเชิง และเป็นการตัดจบอย่างขมขื่นไม่หวนคืนสิ่งใด เช่นเดียวกับสายนำ้ กาลเวลา และความเปลี่ยนแปลง
2020
ไวรัสโคโรนา หรือ COVID-19 ทำให้โลกทั้งโลกต้องประสบปัญหาเดียวกัน นั่นคือการระบาดใหญ่ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับแสนคน และคนติดเชื้อนับล้านจากทั่วโลก ไม่เคยมีครั้งไหนที่โลกทั้งใบต้องหยุดชะงัก ปิดประเทศ ปิดเมือง ระงับการบิน ปิดร้านอาหาร ปิดสถานบันเทิง ปิดโรงเรียน โรงหนัง มาตรการ social distancing หรือการเว้นระยะห่างทางสังคมถูกบังคับใช้ด้วยเหตุผล เพื่อทำให้ทุกคนปลอดภัยขึ้นจากการติดเชื้อไวรัส และสาเหตุนี้อาจจะทำให้รัฐทั่วโลกก่อร่างสร้างแนวทางเผด็จการขึ้นมากกว่าเดิม
ในประเทศไทยการต่อ พรก.ฉุกเฉินออกไปเรื่อยๆ บ่งบอกถึงการใช้อำนาจของรัฐ ที่ไม่ต้องการผ่านกระบวนการปกติ พวกเขาต้องการอำนาจเบ็ดเสร็จในการบริหารโดยใช้โคโรนาไวรัสมาเป็นข้ออ้าง แม้ว่าสถานการณ์ของเชื้อไวรัสจะทุเราลงแล้วหลายเท่า
ขณะเดียวกันคนหนุ่มสาวที่ไม่พอใจต่อการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลประยุทธและพรรคร่วมรัฐบาล เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปสถาบันหลักของชาติ และยุบสภา เพื่อที่จะไม่นำประเทศไปสู่จุดตกต่ำทางด้านศีลธรรมทางการเมือง และระบบยุติธรรมที่กำลังเสื่อมลงอย่างเห็นได้ชัด
เช่นเดียวกับฮ่องกงที่จะไม่มีวันเหมือนเดิม อารมณ์หนังแบบหว่องได้เสื่อมสลายไปจริงหรือ รัฐบาลปักกิ่งได้ผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่จะทำให้ “การโค่นล้ม การแยกดินแดน การก่อการร้ายและการแทรกแซงจากต่างประเทศ” เป็นความผิดอาญา กฎหมายฉบับดังกล่าวจะทำให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การประท้วงและการคัดค้านเป็นอาชญากรรม และอาจหมายรวมถึงจุดจบของอิสรภาพที่ทางจีนเคยให้การรับรองไว้กับฮ่องกงสมัยที่เป็นเขตปกครองพิเศษ ในช่วงส่งฮ่องกงกลับคืนกลับสู่จีนในปี 1997
“ฮ่องกงเข้าสู่ระยะใหม่ แต่หลังจากสิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาฮ่องกงอาจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปในอนาคต” อลิซ เฉิง อดีตผู้นำนักเรียนกล่าว
การประกาศร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของจีนลบภาพความสำเร็จของการตอบสนองต่อไวรัสของรัฐบาลจีนไปในชั่วพริบตา แม้การพูดธรรมดาก็อาจกลายเป็นอาชญากรรมได้ ผู้คนหวาดกลัวกันว่า วัฒนธรรมการประท้วงที่คนฮ่องกงหวงแหนกำลังจะหายไป เหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 ของนักศึกษาที่ปักกิ่ง ได้สร้างแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งให้กับชาวฮ่องกงนับล้านคนให้ออกมาจากบ้านเพื่อต่อต้านรัฐบาลจีน…สิ่งต่างๆ กำลังเปลี่ยนไป ฮ่องกงที่เคยมีเสรีภาพหลายอย่างที่คนในจีนแผ่นดินใหญ่ไม่มี แต่เสรีภาพเหล่านี้ค่อยๆ ลดลง หลังจากทางการจีนต้องการมีอำนาจมากขึ้น
ประเทศไทยที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากโลกยุคเก่าสู่โลกยุคใหม่ รัฐบาลประยุทธที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จมาตั้งแต่รัฐประหาร การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 60 ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ขณะที่แผลเก่ายังคงไม่ได้ชำระ แผลใหม่ก็เกิดขึ้น เราประชาชนไม่สามารถบอกได้ว่าอนาคตของลูกหลานจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร หรือพวกเขาจะเป็นเพียงแค่เฟืองหนึ่งให้ชนชั้นนำก้าวเดินเหยียบขึ้นไป และเราเป็นผู้อาศัยในประเทศ
จาก Chungking Express จนถึงวันนี้ โลกได้คืบหน้าสู่การเปลี่ยนแปลง เราทุกคนต่างอยู่ภายใต้การบงการจากมือที่มองไม่เห็น ในสถานะเพื่อปกป้องประเทศชาติ-มาตุภูมิ แต่เราคิดว่ามันเป็นเช่นนั้นหรือไม่ หรือเราเป็นแค่เครื่องมือให้คนเหล่านั้นปกครองเรา โดยที่เราไม่ต้องคิดอะไร ตัดสินใจไม่ได้ และถ้าเราเป็นแบบ 663 ตำรวจในเครื่องแบบไปตลอดชีวิต เราคงไม่ได้เป็น 663 ที่ใส่เสื้อลายสก๊อต เจ้าของร้านอาหารฟาสฟู้ดส์ที่มีความรัก กล้าตัดสินใจ และมีอิสรภาพ
2 comments
[…] อาจจะไปได้ไกลกว่าฮ่องกง […]
[…] วัฒนธรรม pop culture ไม่ใช่เพียงกระแสชั่ววูบ […]