คังคุไบ
Home Art & Culture ทำไม คังคุไบ จึงเป็นกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนสภาพสังคมอินเดีย?

ทำไม คังคุไบ จึงเป็นกระจกบานใหญ่ที่สะท้อนสภาพสังคมอินเดีย?

by Rujapa Promvisat 
552 views 2 mins read

นาทีนี้คงไม่มีใครไม่รู้จัก Gangubai Kathiwadi หญิงแกร่งแห่งมุมไบ ภาพยนตร์จากแดนภารตะที่กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นจากเค้าโครงเรื่องจริงของคังคุไบ หรือ คังคุบาอี โสเภณีคนดังจากย่านกามธิปุระที่ภายหลังได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิให้กับผู้หญิงขายบริการ จุดเด่นของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการสะท้อนภาพของสังคมอินเดียที่หลายๆ คนอาจไม่เคยรู้มาก่อน ทั้งภาพลักษณ์เชิงบวกและภาพลักษณ์เชิงลบ บทความนี้จะพาผู้อ่านไปรู้จักกับวัฒนธรรมและปัญหาในประเทศอินเดียที่ถูกหยิบมานำเสนอผ่าน คังคุไบ

วัฒนธรรมอินเดียเสน่ห์ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

ต้องยอมรับว่านอกจากคังคุไบจะสะท้อนปัญหาในสังคมอินเดียได้เป็นอย่างดีแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่นำเสนอได้ดีไม่แพ้กันคือการนำเสนอวัฒนธรรมของประเทศ ถึงขนาดที่ว่าดูหนังจบหลายคนต้องลุกขึ้นไปหาส่าหรีมาสวม ไปหาสีแดงมาแต้มกลางหน้าผาก หรือไปวาดลวดสะบัดลายเต้นตามนางเอกของเรื่อง อาเลีย บาตต์ กันเลยทีเดียว 

สำหรับส่าหรี ผืนที่เราเห็นนางเอกของเรื่องสวมจะเป็นผืนที่มีสีขาวขลิบทอง ซึ่งแน่นอนว่าสีขาวของส่าหรีที่สวมใส่ก็มีความหมายซ่อนอยู่ สีขาวสามารถสื่อความหมายได้หลายอย่าง ส่วนใหญ่จะเป็นความหมายด้านบวก เช่น ความบริสุทธิ์ ความสะอาด ความไร้เดียงสา รวมไปถึงการเริ่มต้นใหม่ โดยปกติสามารถสวมใส่ได้ทั่วไป อย่างไรก็ดี ในสังคมอินเดียส่าหรีสีขาวคือสัญลักษณ์ของแม่ม่าย หญิงพรหมจรรย์ และนักการเมือง (ในยุคของคังคุไบ) การใส่ส่าหรีของคังคุไบจึงเป็นเหมือนการพลิกโฉมเพื่อประกาศให้ทุกคนรู้ว่าตั้งแต่นี้ฉันคือคนใหม่ เป็นคังคุไบที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม และทรงพลังนั่นเอง

ส่วนจุดแดงบนหน้าผาก หรือที่เรียกว่า บินดิ (Bindi) คือสัญลักษณ์แห่งความแข็งแกร่งและโชคลาภ หญิงอินเดียที่เชื่อหรือนับถือศาสนาฮินดูจะแต้มบินดิไว้กึ่งกลางหน้าผากบริเวณที่แสกผม เพื่อบ่งบอกให้รู้ว่าพวกเธอแต่งงานแล้วเช่นเดียวกับนางเอกของเรา ทั้งนี้ขนาดของบินดิยังสามารถบอกอายุของผู้แต้มได้อีกด้วย เพราะเมื่ออายุมากขึ้นบินดิก็จะใหญ่ขึ้นตามอายุ ปัจจุบันบินดิยังคงเป็นที่นิยมในหมู่สาวอินเดีย โดยนอกจากบินดิแบบกลมแล้วก็ยังมีบินดิรูปแบบอื่นๆ ที่พัฒนาให้มีความสวยงามนำสมัยเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ด้านการเต้น ถือว่าเป็นจุดเด่นของภาพยนตร์จากฝั่งบอลลีวูดที่ถ้าใครเป็นคอหนังอินเดียจะรู้ว่าเต้นสะบัดกันแทบทุกเรื่อง คังคุไบก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ผู้กำกับให้ความสำคัญกับการเต้นไม่แพ้องค์ประกอบอื่น ๆ สาเหตุที่หนังอินเดียให้ความสำคัญกับการเต้นเพราะการเต้นถือเป็นประเพณีทางศาสนาและกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในสังคม จึงไม่น่าแปลกใจที่คนอินเดียจะเป็นคนที่มีดนตรีในหัวใจและหลงใหลการเต้นถึงขนาดที่ถูกหยิบมาใส่ไว้ในภาพยนตร์อยู่ตลอด

นอกจากแง่มุมที่สวยงามและน่าสนใจของวัฒนธรรมอินเดียที่ทำให้เราตื่นตาตื่นใจแล้ว ในอีกด้านหนึ่งซึ่งเป็นแง่มุมที่สะท้อนปัญหา ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ทำได้ดีไม่แพ้กัน โดยปัญหาที่ภาพยนตร์พยายามการนำเสนอคือ ปัญหาการค้ามนุษย์และปัญหาการค้าประเวณี

คังคุไบ – เมื่อศักดิ์ศรีความเป็นคนถูกขาย 

“การค้ามนุษย์” คือประเด็นแรกที่เราเห็นได้ตั้งแต่ฉากเปิดของภาพยนตร์ คังคุไบ บุตรสาวจากตระกูลที่มีฐานะ ถูกคนรักของเธอ รามนิก หลอกไปขายให้กับซ่องในราคา 1000 รูปี ก่อนจะชี้ให้เห็นว่าไม่ใช่แค่เพียงนางเอกของเรื่องเท่านั้นที่ถูกหลอกมาขาย ผู้หญิงในซ่องอีกหลายคนก็ถูกหลอกมาขายเช่นเดียวกัน บางคนถูกหลอกจากคนรัก บางคนถูกหลอกจากครอบครัว น่าเศร้าที่คนเหล่านั้นต่างก็เป็นคนที่พวกเธอไว้ใจ ปัจจุบันปัญหาการค้ามนุษย์ในอินเดียยังคงมีอยู่และดูเหมือนจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ก่อให้เกิดปัญหาการค้าประเวณีตามมา

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ คังคุไบพยายามจะบอกกับเราว่าการเป็น “โสเภณี” ไม่ใช่เรื่องที่ผิดและไม่ใช่เรื่องที่ต้องอาย กลับกันโสเภณีเป็นอีกหนึ่งอาชีพสุจริตเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ มีศักดิ์ศรี ควรได้รับการให้เกียรติ และควรได้รับสิทธิทางกฎหมายอย่างเท่าเทียม ซึ่งประเด็นนี้กลายเป็นไวรัลและถูกพูดถึงอย่างแพร่หลายบนโลกโซเชียล

แม้ในส่วนของการสะท้อนปัญหาสังคมอินเดียผู้กำกับจะใช้ คังคุไบ ซึ่งเป็นผู้หญิงในการดำเนินเรื่อง แต่หากพิจารณาลึกลงไปจะพบว่าอีกหนึ่งปัญหาที่ซ่อนอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้แต่ไม่ได้ตั้งใจนำเสนอออกมาโดยตรง คือ การที่ผู้หญิงตกอยู่ภายใต้ระบอบปิตาธิปไตย ดังจะเห็นได้จากความเลวร้ายและความสำเร็จของคังคุไบที่ล้วนมีผู้ชายเป็นตัวผลักดันทั้งสิ้น  

เธอต้องมาขายบริการเนื่องจากถูกหลอกโดย รามนิก คนรักเก่า เธอขึ้นมามีอำนาจได้ โดยอาศัยแรงสนับสนุนจาก ราฮิม พี่ชายมาเฟีย เธอได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ด้วยความช่วยเหลือของ เฟซี นักข่าวต่างชาติ รวมถึงได้มีโอกาสแก้ไขกฎหมายก็เพราะความเห็นใจของ ยาวะฮาร์ลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรี ความสำเร็จของคังคุไบชวนให้ตั้งคำถามในใจว่าหากไม่ได้ความช่วยเหลือจากผู้ชายเหล่านี้ คังคุไบจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรือไม่ เมื่อโอกาสและอำนาจทั้งหมดต่างก็ยึดโยงอยู่ที่เพศชาย

อย่างไรก็ตาม Gangubai Kathiwadi หญิงแกร่งแห่งมุมไบ ถือเป็นภาพยนตร์น้ำดีอีกหนึ่งเรื่องที่ควรเปิดใจดูสักครั้ง เพราะระหว่างทางคุณจะได้เห็นในสิ่งที่คุณไม่เคยเห็น ได้สัมผัสในสิ่งที่คุณไม่เคยสัมผัส อีกด้านหนึ่งของ “โสเภณี” อาชีพที่ “หากขาดไปแม้แต่สวรรค์ก็ไม่สมบูรณ์”  ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำหน้าที่เป็นกระจกบานหนึ่งที่ส่องสะท้อนทั้งแง่งามและแง่ทรามในสังคมอินเดียได้อย่างตรงประเด็นและทรงพลัง อีกทั้งองค์ประกอบต่างๆ อย่างนักแสดง ฉาก แสง เงา และดนตรี ก็เต็มไปด้วยเสน่ห์โดดเด่นและเข้ากันอย่างลงตัว ถือเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จากอินเดียอีกเรื่องที่ควรค่าแก่การรับชม

About the Author
About the Author

บทความนี้เขียนและสร้างสรรค์โดย ธุวพร มีโพธิ์ นักศึกษาปี 3 – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชา: ภาษาไทย


About the illustrator
About the illustrator

ภาพประกอบบทความนี้ออกแบบและสร้างสรรค์โดย รุจาภา พรหมวิเศษ นักศึกษาปี 3 – มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม สาขาวิชา: ภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล – เอก : การผลิตภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล


Leave a Comment

You may also like

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More